วารสารฯ ธรรมศาสตร์
บูรณาการความรู้สู้ยุคดิสรัปชั่น
"ค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเยอะ อาจเป็นเพราะงานวงการสื่อเริ่มไม่มั่นคง จนตอนนี้เกิดคำถามว่า “จะมีอาชีพนี้อยู่หรือไม่ แต่ก่อนอาชีพนักข่าว คือ คนขายข่าว แต่ทุกวันนี้ข่าวได้มาฟรี และหลังๆ พื้นที่สื่ออื่นๆ เปิดมากขึ้น เด็กที่มีความสามารถในตัวเองก็เป็น Startup, Freelance หรือ Youtuber ในยุคนี้ใครก็เป็นสื่อได้ ดังนั้น วันนี้ศาสตร์เดียวจึงไม่ตอบโจทย์ และต่อไปจะมีการข้ามศาสตร์เกิดขึ้น วันนี้เราบูรณาการศาสตร์ในการสื่อสาร แต่ในอนาคตเราอาจจะไปข้ามศาสตร์กับรัฐศาสตร์ สถาปัตย์ฯ ก็ได้
มุมมองจาก ผศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มองด้วยว่า วันนี้โจทย์ของตลาดแรงงาน วิชาชีพสื่อ บัณฑิตที่จบออกไปต้องมีทักษะที่หลากหลาย ดังนั้น หากนักศึกษาคนใดจบวิทยุโทรทัศน์ จะเล่าเรื่องแค่ในวิทยุโทรทัศน์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ปัจจุบันตลาดงานจริงๆมีแต่เอาคนออก คนที่จบออกไปในวันนี้จะไปอยู่ในตลาดออนไลน์มากกว่า เช่น The Matter เขาไม่ได้เรียกคุณว่านักข่าว แต่เรียก Content Creator เป็นมากกว่าผู้สื่อข่าว ไม่ใช่รายงานแค่ 5W1Hอีกต่อไป
“นักศึกษาที่จบไป แม้มีบางส่วนที่ทำงานในวงการสื่อ แต่ต้องยอมรับว่าเด็กทุกวันนี้มีธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น ค่านิยมปริญญาตรีทางด้านนิเทศฯ วารสารฯ ของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ สูงมาก แต่พอเข้ามาแล้วถามว่าเขาต้องการจะทำงานสื่อไหม...ไม่ เพราะพอถึงจุดหนึ่งเริ่มฝึกงาน เด็กจะรู้สึกว่างานหนัก เงินเดือนน้อย เด็กจึงนิยมมีธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น ดังนั้น การประเมินของ สกอ. ที่บอกว่าเด็กจบไปทำงานตรงสาขากี่คนมันใช้ไม่ได้แล้ว และเด็กรุ่นใหม่ไม่มีทางถูกล้อมคอกแน่นอน"
ผศ.วิไลวรรณ เล่าว่า ในปี 2561 คณะวารสารศาสตร์ฯ ได้มีการใช้หลักสูตรปริญญาตรีใหม่ โดยปรับในกลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนเป็น กลุ่มสาขาวารสารศาสตร์ และกลุ่มสาขาประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนเป็น กลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร รวมถึงการจัดกลุ่มวิชาแกนที่เรียกว่า “กลุ่มกระเช้า” แบ่งเป็น กลุ่มกลยุทธ์ ประกอบด้วย กลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร, กลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร และกลุ่มวิชาโฆษณา และ กลุ่มมีเดีย ประกอบด้วย กลุ่มวิชาสาขาวารสารศาสตร์, กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ และกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย
ปัจจุบัน คณะวารสารศาสตร์ มีหลักสูตรทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยปริญญาตรีมี 2 หลักสูตร ประกอบด้วย ปริญญาตรีภาคปกติ หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต เน้นกลุ่มวิชาเฉพาะตามความถนัดและความสนใจทางสื่อสารมวลชน 6 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร, กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์, กลุ่มวิชาโฆษณา, กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์, กลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร และกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย โดยนักศึกษาจะได้รับการศึกษา ฝึกฝนทักษะให้มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนสามารถนำไปใช้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน รวมทั้งมีความเป็นผู้นำและเข้าใจในปรัชญาวิชาชีพ มีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบ อันจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและประเทศโดยส่วนรวม
ส่วนปริญญาตรี ภาคภาษาอังกฤษ หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อมวลชนศึกษา (B.J.M.) เป็นหลักสูตรที่มุ่งหวังผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทางด้านการสื่อสาร โดยเตรียมบัณฑิตให้เป็นผู้นำทางด้านสื่อสารมวลชน มีศีลธรรม ความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
ขณะเดียวกัน มีหลักสูตรปริญญาโท 3 หลักสูตร ประกอบด้วย ภาคปกติ หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน (Master of Art Program in Mass Communication: MA) ภาคพิเศษ หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารองค์กร (Master of Art Program in Corporate Communication Management: MCM) และ หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน (Master of Art Program in Mass CommunicationAdministration: MCA) รวมถึง หลักสูตรปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารวิทยา (Doctor of Philosophy Program in Communicology)
“จะเห็นมิติว่า เริ่มมีการผสมกันเกิดขึ้น โดยใช้ตัวคอนเทนต์เป็นตัวนำ รวมถึงมีวิชาบังคับในกลุ่มมีเดีย คือ การเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะตอนนี้เราไม่ได้เล่าเรื่องแค่สิ่งพิมพ์ แต่มันข้ามไปวิทยุ โทรทัศน์ ออนไลน์ หรือแม้แต่สื่อภาพยนตร์ก็เข้ามาอยู่สื่อทีวี รวมถึงมีการตั้งคณะทำงานเตรียมหลักสูตรปริญญาตรี ปี 2561 ประกอบด้วย อาจารย์ผู้รับผิดชอบสอนใน 13 รายวิชาใหม่ ที่ไม่เคยมีในหลักสูตรเก่า เช่น การเล่าเรื่องข้ามสื่อ ดังนั้น เราต้องเตรียมทีมผู้สอนใหม่ เพราะมองว่ามันมีองค์ความรู้ใหม่ ตั้งงบประมาณเพื่อให้อาจารย์ไปพัฒนาตัวเอง ไปอบรม หรือไปดูงาน ที่ทำให้ได้องค์ความรู้ มาสอนในวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งแต่ละรายวิชาจะมีอาจารย์สอนเป็นทีม และแต่ละคนก็เชี่ยวชาญในศาสตร์ของตัวเอง และเราต้องมาดูว่าเราจะข้ามสื่อกันอย่างไร เด็กจะต้องเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสื่อที่หลากหลายได้” ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว
ผศ.วิไลวรรณ เล่าว่า คณะวารสารศาสตร์ฯ มีอาจารย์ประมาณ 40 คน สำหรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติ เปิดรับปีละ 200 คน, หลักสูตรภาษาอังกฤษร 80 คน หลักสูตรปริญญาโท ตั้งเป้าที่ภาคปกติ 30 คน ส่วนภาคพิเศษหลักสูตรละ 45 คน และหลักสูตรปริญญาเอก 10 คน ขณะนี้ปริญญาตรียังคงเป็นไปตามเป้า แต่ในส่วนของปริญญาโท และปริญญาเอก ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยในปีที่ผ่านมา การสอบเข้าเรียนของระดับปริญญาโททั้ง 3 หลักสูตร และปริญญาเอก มีทิศทางที่ดิ่งลง ซึ่งพบว่าทุกมหาวิทยาลัยมีปัญหานี้เช่นเดียวกัน
สาเหตุหลัก มาจากปัจจัยภายนอก คือ หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวารสารศาสตร์มีหลายสถาบันเปิดมากขึ้น จากเดิมที่จะนึกถึงแค่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งก็เปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชนก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ณ ขณะนี้อาจจะพูดได้ว่า ซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์แล้ว และมีอีกตัวแปรหนึ่งคือ การเกิดขึ้นของคณะนวัตกรรมสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ก็ถือเป็นตัวแปลที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาซึ่งสนใจเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ไปเรียน เพราะชื่อหลักสูตรดูทันสมัยมากกว่า
อีกปัจจัยคือ ค่านิยมของสังคมเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อ 10 -20 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่จะคิดว่าจบแค่ปริญญาตรีไม่ได้แล้ว ต้องเรียนปริญญาโท ค่านิยมนี้ทำให้หลายคนแห่กันเรียนปริญญาโท เพราะมองว่าเป็นความก้าวหน้าในอาชีพการงาน จะทำให้เงินเดือนเพิ่ม แต่พอถึงวันนี้ วันที่ทุกอย่าง Disruption ก็พบว่าเกิดสถาบันการศึกษาขึ้นมากมาย บางที่ก็ไม่ได้อยู่ในรูปแบบสถาบัน แต่อยู่ในรูปแบบหน่วยงานองค์กรวิชาชีพที่นำความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองมาถ่ายทอดในลักษณะการ Work Shop การอบรมแล้วได้ใบ Certificate
”20 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของหนังสือ How To ดังมาก แต่ตอนนี้มันเคลื่อนจาก How to ที่เราอ่าน มาเป็นการ Work Shop ที่เราสามารถทำได้ และถ้าเราอยากรู้เรื่องการบริหารองค์กร เราไม่จำเป็นต้องมาเรียนหลักสูตร MCM หรือ MCA แต่เราสามารถไป Work Shop ในหน่วยงานที่เก่งทางด้านนี้ 15 ชั่วโมง ก็ได้ความรู้แล้ว ดังนั้น ความรู้ที่ต้องใช้เวลา ที่ต้องเป็นเครดิต ที่ต้องมีหน่วยกิต มันไม่ตอบโจทย์ และการให้ค่ากับปริญญาบัตรมันน้อยลง เมื่อก่อนคนดูวุฒิ ตอนนี้คนดูเรื่องประสบการณ์ว่าตรงหรือไม่ คุณมี Multi Skill หรือเปล่า” ผศ.วิไลวรรณ กล่าว
ผศ.วิไลวรรณ กล่าวว่า วันนี้ทุกสถาบันต้องปรับปรุงหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่ง ม.ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านมาก็มีการปรับเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์ตลาดวิชาชีพสื่อ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการปรับหลักสูตรใหญ่ทุก 5 ปี แต่เนื่องจากต้องใช้เวลา และมีขั้นตอน จึงมีการปรับย่อยๆ ด้วยเพื่อความรวดเร็ว เพราะความจริงแล้ว การปรับที่สำคัญที่สุดในแต่ละวิชาเรียน คือ อาจารย์ผู้สอนที่สามารถสอดแทรกความรู้ใหม่ๆ ในรายวิชาเดิม เราสามารถปรับได้ อยู่ที่ผู้สอนปรับตัวได้ทันกับการสื่อสารที่เปลี่ยนไปหรือไม่ จากที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตรอย่างเดียว ปัญหาใหญ่มากกว่านั้นคือ ผู้สอน ปรับตัวได้ทันกับความรู้ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ตรงนี้สำคัญ ดังนั้น ในส่วนของอาจารย์ก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน