สื่อหลักต้องรุกให้เป็น ต้องสร้างสรรค์และแตกต่าง

 

สื่อหลักต้องรุกให้เป็น

ต้องสร้างสรรค์และแตกต่าง



“ตลาดอาชีพด้านนิเทศ  จะไม่มีทางตกงาน เพราะถึงอย่างไร บุคลากรที่มีความชำนาญด้านการสื่อสารยังมีความจำเป็นในสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอยู่เสมอ เนื่องจากทุกภาคส่วนจำเป็นต้องใช้หลักการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานขององค์กร ตลาดงานด้านนิเทศศาสตร์ไม่ได้ปิดกั้นอยู่เพียงในวิชาชีพสื่อมวลชน หรือในองค์กรสื่อเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างอย่างมากในทุกส่วนของสังคม ขอเพียงแต่บุคคลนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้”


ผศ.กมลชนก เศรษฐบุตร หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แสดงความมั่นใจว่า ในโลกใหม่ยุคดิจิตัล ตลาดนิเทศศาสตร์ไม่มีวันตาย  แต่สำหรับคนทำสื่อต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะปัจจุบันเป็นสังคมออนไลน์ สื่อมักนำข้อมูลจาก Social Media มานำเสนอ ทำให้ให้ผู้รับสารได้รับรู้เนื้อหาเดิมๆ แบบซ้ำซาก เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อควรหันไปรายงานข่าวหรือข้อมูลในเชิงลึก ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่าย ผ่าน Platform ที่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือ สื่อหลักต้องเป็นผู้รุก ไม่ใช่ผู้ตั้งรับ หาช่องทางใหม่ๆ เข้าไปหาผู้รับสาร  ไม่ใช่รอให้ผู้รับสารเข้ามาเสพ ต้องสร้างเนื้อหา ให้ตรงกับความต้องการของผู้รับสารในแต่ละกลุ่ม  โดยทำการตลาดควบคู่ไปกับการนำเสนอ เหนือสิ่งอื่นได้จะต้องมีการสร้างสรรค์และแตกต่าง

เช่นเดียวกับ นิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพาก็ต้องปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย  ผศ.กมลชนก ระบุว่า ที่นี่มีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 4 ปี เพราะธรรมชาติของหลักสูตรที่เป็นเรื่องของการสื่อสาร จำเป็นต้องปรับเนื้อหารายวิชาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถปรับประยุกต์ใช้เมื่อทำงานจริงได้

ผศ.กมลชนก กล่าวว่า การเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา ปัจจุบันจัดเป็นภาควิชานิเทศศาสตร์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดการเรียนการสอน ระดับปริญญาตรี หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต ที่มีการปรับปรุงล่าสุดเป็น ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2559 แบ่งเป็น 3 สาขาวิชา ได้แก่ 1.วิชาเอกการสื่อสารตราสินค้า 2.วิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ 3. วิชาเอกการสื่อสารองค์กร และระดับปริญญาโท เปิดสอน 2 สาขา คือ หลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารการตลาด และหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมสื่อสารทางการเมือง

ในปีการศึกษา 2561 จำนวนนิสิต 113 คน ลดลง 27 คน จากปีการศึกษา 2560 เมื่อเทียบกับในอดีตมีจำนวนนิสิตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กำหนดให้มีจำนวนอาจารย์ต่อนิสิต ในอัตรา 1 ต่อ 25 คน  ส่งผลให้ภาควิชาจำเป็นต้องกำหนดจำนวนรับนิสิตน้อยลงตามลำดับ    ขณะที่จำนวนอาจารย์ประจำ 17 คน อาจารย์พิเศษ 10 คน เมื่อเทียบกับในอดีตมีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้น แต่เป็นการค่อยๆ เพิ่มตามลำดับ ไม่ได้เพิ่มเป็นจำนวนที่เด่นชัดในปีใดปีหนึ่ง

ย้อนกลับไปปี 2545 นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดสอน 4 สาขาวิชา คือ 1.การประชาสัมพันธ์ 2.วาทวิทยา 3.การโฆษณา 4.วารสารศาสตร  ในปี พ.ศ.2549 มีการปรับปรุงหลักสูตรจึงเปิดสอน 4 สาขาวิชาใหม่ คือ 1.การประชาสัมพันธ์ 2.วาทวิทยาและสื่อสารการแสดง 3.การโฆษณา 4.วารสารศาสตร์  ปี พ.ศ.2554 มีการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้ง เปิดสอนเป็น 5 สาขาวิชา ได้แก่ 1.การประชาสัมพันธ์ 2.วาทวิทยาและสื่อสารการแสดง 3. การโฆษณาและการสื่อสารการตลาด 4. ภาพยนตร์และโทรทัศน์ และ 5.วารสารศาสตร์ และปรับปรุงล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2559 เปิดสอนเพียง 3 สาขาวิชาดังกล่าวข้างต้น

“การปรับปรุงล่าสุดปี 2559 นับเป็นครั้งที่ 5 เหตุผลหลักเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ความต้องการของตลาด และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการศึกษาที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาขึ้นมา และหลักสูตรทุกหลักสูตรต้องถือปฎิบัติ เพื่อให้เนื้อหาทันสมัย” เธอ กล่าว

ปรัชญาของหลักสูตรมุ่งสร้างบัณฑิตทางด้านสาขาวิชานิเทศศาสตร์ให้มีความสามารถในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์

1.ต้องการผลิตบัณฑิตด้านสาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถคุณธรรม จริยธรรม เพื่อไปประกอบอาชีพนักสื่อสารการตลาด นักสื่อสารมวลชน นักสื่อสารองค์กร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

2. เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว บัณฑิตจะมีสมรรถนะ 6  ข้อสำคัญ คือ 1.มีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต มีวินัย และยึดมั่นจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ 2.นำความรู้ ความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีการสื่อสารมาประยุกต์ในการปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม 3.แสวงหาความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างเหมาะสม 4.รับผิดชอบ มีภาวะผู้นำ สามารถทำงานเป็นทีมและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และบริบทของสังคม 5.ใช้และสื่อสารข้อมูลเชิงตัวเลขเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาได้อย่างเหมาะสม และ 6.ผลิตและสร้างสรรค์เนื้อหาสาระ รวมทั้งเลือกใช้สื่อและช่องทางการสื่อสารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องการให้สถาบันการศึกษาเพิ่มความสำคัญ คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กที่มีมาตั้งแต่ ประถม มัธยม 2.ทำให้อาจารย์มีรายได้ที่เพียงพอ เพราะมีหน้าที่หลายด้านนอกเหนือจากการสอนและการทำวิจัย 3.ส่งเสริมให้อาจารย์มีองค์ความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับสอนนิสิต เนื่องจากบริบทโลกเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล ในการนำความรู้ความสามารถไปถ่ายทอดให้นิสิตนั้น อาจารย์ต้องการมีทักษะใหม่ๆ เพื่อแข่งขันกับ Digital Disruption หรือการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากผลการประเมินผู้ใช้บัณฑิตปีการศึกษา 2559  จำนวนรวม 58 คน พบว่า บัณฑิตนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีงานทำคิดเป็นร้อยละ 100  ในจำนวนนี้เป็นการทำงานที่มีความสอดคล้องกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ 39 คน คิดเป็นร้อยละ 67.24 และไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับสาขาที่เรียน จำนวน 19 คน หรือร้อยละ 32.76 บัณฑิตที่ทำงานไม่ตรงกับสาขานิเทศศาสตร์นั้น พบว่า ทำงานในหน่วยงานราชการ 7 คน ร้อยละ 12.07 บริษัทเอกชน 45 คน ร้อยละ 77.59  รัฐวิสาหกิจ 1 คน ร้อยละ 1.72  ธนาคาร/สถาบันการเงิน 2 คนร้อยละ  3.45 และอื่นๆ 3 คน ร้อยละ 5.17

 

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย