“ถอดบทเรียน “ข่าวสายมู”  จริยธรรมต้องอยู่เหนือยอดไลค์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาวิถีวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ “ตามรอยความเชื่อศรัทธา ท้าวเวสสุวรรณบนดินแดนเมืองยักษ์ฯ” เพื่อเป็นแนวทางการนำเสนอข่าว “ไสยศาสตร์” ภายใต้กรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนที่วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา และวัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม  วัดดังใกล้กรุงเทพที่ขึ้นชื่อความสวยงามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนเดินทางไปสักการะ ขอพรท้าวเวสสุวรรณพร้อมทั้งกราบสรีระสังขารหลวงพ่อเนื่อง อดีตเจ้าอาวาสเกจิชื่อดังซึ่งเป็นผลพวงจากดาราและ Influencer ที่มาไหว้ขอพรแล้วสำเร็จนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อ

วัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ บอกกับ “จุลสารราชดำเนิน”  กล่าวว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ เพราะสมาคมเห็นว่า ควรทำกิจกรรมเกี่ยวกับข่าวสายมูเนื่องจากกระแสแรงมากในปีนี้  จึงตัดสินใจพาคณะไปที่วัดจุฬามณีกับวัดอินทาราม เพราะสื่อหลายสำนักเขียนข่าวเป็นกระแสเชิงชักชวนชาวบ้านและนำเสนอเนื้อหาบางอย่างค่อนข้างมัวเมา  องค์กรวิชาชีพจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าข่าวไสยศาสตร์เชิงสายมู เชิงความเชื่อควรเขียนให้ถูกต้อง  สอดแทรกสาระที่เป็นประโยชน์

ชาย ปถะคามินทร์ อดีตเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ   กล่าวว่า แนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวความเชื่อ ทางไสยศาสตร์ และสลากพนัน ทางสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติออกมาบังคับใช้นานแล้ว และที่ผ่านมา ก็มีแนวปฏิบัติหลายเรื่อง เช่น เรื่องเอดส์   ล่วงละเมิดทางเพศ   ไสยศาสตร์  การไปดูงานต่างประเทศ  การรับของขวัญ ซึ่งก่อนจะมีการร่างเป็นแนวปฏิบัติจะเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม  องค์กรวิชาชีพ มากำหนดเป็นตุ๊กตาหารือกันแล้วลงรายละเอียด จากนั้นจะเชิญสื่อมวลชนมารับฟังความคิดเห็นว่าเรื่องนี้พอทำได้หรือไม่  เกินไปหรือไม่ แล้วมาตบมาแต่งให้เข้าเพื่อให้แนวปฏิบัติเป็นความจริง

สื่อมืออาชีพต้องเป็นสถาบัน

เร็วไม่พอ ต้องลึกและถูกต้อง 

ชาย ปถะคามินทร์ อดีตเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ


ชาย ปถะคามินทร์ อดีตเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาระหว่างเรตติ้งกับจริยธรรมเป็นเรื่องยากที่จะพูด  เพราะเมื่อต้องการเรตติ้ง ความรวดเร็วก็ต้องตามมา แต่ถ้าตามกระแสเอาแต่ความเร็ว กดไลค์กดแชร์อย่างเดียว แล้วสื่อหลักจะอยู่อย่างไร ฉะนั้นคงต้องหันมาทบทวน  

“วันนี้จะเห็นว่าสื่อบางสำนัก ไปหยิบยกดาราหรือ Influencer โพสต์เฟสบุ๊คมาเป็นข่าวเพราะว่าง่ายแตกต่างจากสมัยก่อนที่เวลาน้ำท่วมเราต้องประชุมโต๊ะข่าว ลงไปแช่น้ำรายงาน แต่ปัจจุบันไม่ต้องหรือมีน้อย  ทั้งนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สื่อถูกดิสรัปมากทำให้ในเชิงธุรกิจสื่ออยู่ลำบาก จึงต้องเอาง่ายเข้าว่า  แต่หลายที่ก็ปรับตัวโดยเชิญคนนอกเข้ามาให้ความรู้ แล้วปรับระดับคุณภาพ 
 
....กรณีข่าวหลวงปู่แสง เป็นกรณีตัวอย่างที่ควรศึกษามากสำหรับนักข่าวใหม่ทั้งกองบรรณาธิการแต่ละที่ เป็นอะไรที่ผิดพลาดมาก ผมคิดว่าในเรื่องความรวดเร็ว เรื่องกรอบจริยธรรม บางทีเราต้องชั่งใจเพราะถ้าเรายืนยันว่าเราเป็นสื่อที่เป็นมืออาชีพน่าจะยังใช้คำว่าสถาบันได้อยู่  ควรต้องมีอะไรมากกว่า ความเร็ว มากกว่ายอดคลิกยอดไลค์ โดยเฉพาะเรื่องความลึก ความถูกต้องของข้อมูล ก็ต้องทำให้รอบคอบสมบูรณ์และดีกว่านี้ไม่ใช่แค่รายงานว่าคนนั้นพูดอย่างนั้น หรือ คนนี้โพสต์ Instagram หรือลง Tiktok ว่าอย่างนี้ มันง่ายไป ถ้าเป็นการรายงานที่เราต้องการจะยืนอยู่ในระยะยาวคู่กับสังคมเป็นสถาบัน ผมคิดว่าจะต้องทำเรื่อง กรอบจริยธรรมวิชาชีพ คือข่าวต้องรวดเร็ว ถูกต้อง และอยู่ในกรอบจริยธรรมก็ต้องอยู่ที่สื่อแต่ละที่ว่าทำอย่างไร

อย่าทำข่าวแบบรูทีน

ตั้งคำถามเชิงโครงสร้างและหาทางออก 

ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล   ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล   ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ามองในแง่การรายงานข่าว “สายมู” หรือ “ไสยศาสตร์” ในเชิงวัฒนธรรม ส่วนตัวมองว่าในภาพกว้างไม่ผิด เช่น  เรื่องการท่องเที่ยวหรือวัดนี้มีลักษณะพิธีกรรมแบบนี้แต่การรายงานข่าวจะมี key word อยู่คำหนึ่ง ก็คือ human interest   หรือ ความสนใจของมนุษย์ ถ้าเราเป็นสื่อและอ้างทุกอย่างว่า มนุษย์สนใจ เช่น สนใจที่จะเห็นรถชนกลางสี่แยกซ้ำไปซ้ำมา หรือมนุษย์สนใจที่จะเห็นเด็กเดินข้ามถนน แล้วถูกรถชนกระโดดไปกระโดดมา ถ้าเราตีความแค่ยอดแชร์ยอดไลค์ คือสิ่งที่มนุษย์สนใจ ก็อาจจะดูถูกความเป็นมนุษย์ไปนิด ในแง่ของ human interest  ควรจะมีกรอบอย่างน้อย คือ การให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ดูแล้วทุกคนก็พูด นักข่าวก็จะยัดคำพูดเข้าไปว่า อยากให้ญาติผู้เสียชีวิตพูด ไม่อยากให้เกิดเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นอุทาหรณ์  แต่เราไม่ได้ตั้งคำถามในเชิงโครงสร้าง  ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

อีกเรื่องที่สำคัญมากกว่า  คือ public interest คือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสิ่งที่เป็นความสนใจของมนุษย์  แล้วเป็นประโยชน์สาธารณะด้วยหรือไม่ก็ต้องมี 2 ปัจจัยในการตัดสินใจว่า สิ่งไหนควรจะเป็นข่าว บางครั้งคนสนใจแต่ไม่เป็นประโยชน์  ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะนำเสนอหรือไม่  แต่เวลาที่เราทำข่าว เราให้ความรู้สังคมหรือไม่  ถ้าสื่อบอกว่าเรารายงานตามข้อเท็จจริง เพราะเขาขูดฝาโลงแบบนี้เห็นตัวเลขอย่างนี้ แล้วเราบอกว่าเรารายงานข่าวตามความเป็นจริง ก็ต้องถามด้วยว่าเป็นประโยชน์หรือไม่  แต่สื่อจำนวนไม่น้อยไปใส่ความเชื่อ ความเห็นต่างๆ  สิ่งที่ทำให้เกิดภาพซ้ำ เช่น กรณีของแตงโม ก็มีการสร้างเรื่องสร้างราว  สรุปแล้ว สื่อต้องทำขนาดนั้นหรือไม่ ที่ติดตามเรื่องแบบนี้มันเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่  แม้จะสามารถรายงานได้ แต่ต้องใส่ความพยายามเข้าไปอีก  เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ต้องให้มีหลายหลายมิติกับสิ่งที่เรารายงานข่าวด้วย


 หรือที่บอกว่าคนนี้ถูกหวยทุกงวด คำว่าทุกงวดมัน 100 % หรือไม่ หรือทุกงวดที่ซื้อแล้วซื้อบ่อยแค่ไหน  อธิบายในเชิงสถิติได้หรือไม่ ลักษณะของที่มาที่ไป

  • ข่าวไสยศาสตร์ ต้องต่อยอดด้านศก. และความรู้ 

ดร.สุดารัตน์ ยกตัวอย่างว่า  มีคนบอกว่านักข่าวภูมิภาค มักจะส่งข่าววัดหลวงพ่อปากแดงมาบ่อยๆ  เราก็ต้องนึกถึงแล้วว่ามี วาระในเชิงพาณิชย์หรือไม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย  เพราะตอนนี้ทุกอย่างเป็นพุทธพาณิชย์หมด เป็นไสยศาสตร์เชิงทุนนิยมทั้งนั้น คือ เป็นกุศโลบายในการหารายได้ เมื่อคนมามากก็มีรายได้มากๆก็วางระบบกิจการ ถ้าคนน้อยก็ต้องกระตุ้นยอดขาย   แต่เราควรนำเสนอ เช่น ดอกไม้ในการไหว้ ทำไมต้องเป็นกุหลาบแดง ส่งผลอย่างไรต่อวิถีของท้องถิ่น  เศรษฐกิจชุมชน  มีคนที่ปลูกกุหลาบแดงอัตราส่วนเท่าไหร ที่เปลี่ยนจากอาชีพอื่น มาปลูกกุหลาบแดง เพื่อส่งต่อให้กับวัด แล้วช่วงที่คนมามากโควิดหายไป อาชีพนี้มีปัญหาหรือไม่  แล้วเขาไปทำงานอะไร ตรงนี้เป็นความรู้ที่ใส่เข้ามาเป็นสกู๊ปข่าวได้ จะทำเป็นซีรีย์ ว่าหลวงพ่อวัดนี้มีมุมการสร้างรายได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ความเชื่อ  เรื่องที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์อย่างไร แต่ถ้าสื่อไปยอมจำนนว่าประชาชนสนใจแค่นี้ แล้วสื่อก็หยุดนำเสนอ หรือตามประเด็นโดยสื่อบอกเพียงว่า ประชาชนต้องการสั้นๆเร็วๆ แค่นี้ก็ทำได้ แต่สื่อสามารถทำมุมอื่นด้วยที่ประเทืองปัญญา หลายๆแง่มุมได้   

ดร.สุดารัตน์  ยกตัวอย่างอีกว่า การรายงานข่าวเรื่องหวยก็น่าสนใจ เรามักจะได้ยินเรื่องคนที่ถูก แต่เราไม่ได้พูดถึงคนที่ไม่ถูกซึ่งเยอะกว่า  สมมุติว่าเรามีผ้าขาวทั้งผืน แล้วมีจุดดำเพียงจุดเดียว แล้วเราไปเพ่งที่จุดดำคือคนที่ถูกรางวัล  แต่คนที่ไม่ถูกเยอะมาก  ถ้านำสถิติของการขายหวยทั้งหมดมาเป็นเงินเท่าไหร่ อัตราส่วนของคนที่ได้รางวัล คือกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขพวกนี้ต้องนำเสนอบ่อยๆ ให้คนรู้ 

“คุณจะซื้อแบบพอหอมปากหอมคอ แต่สัดส่วนการออมของคุณมีหรือไม่ คุณเสียเงินไปกับค่าหวยเท่าไหร่ แล้วโอกาสที่คุณจะลืมตาอ้าปากได้ มีหรือไม่ เราต้องให้ปัญญากับสังคมด้วย ไม่ใช่ลงข่าวว่า คุณไปเจอต้นตะเคียน แล้วนำแป้งไปโรยแล้วขูดๆๆ คุณใช้เวลากับเรื่องแบบนี้เท่าไหร่ ถ้าคุณไปนั่งขายของ ไปทำสวนไร่นา ให้ออกดอกออกผล คุณจะมีเงินมากกว่าหรือเปล่า ต้องให้อีกมุมด้วย ไม่ใช่ว่าทำให้เกิดความงมงายและเสียทรัพย์ 

...หรือ วันนั้นเราเห็นธูปที่คนมาวัดซื้อ 10 บาท แล้วพอมันละลายไป จะเห็นตัวเลข คำถามคือถ้าเราลองนับ จำนวนธูปทั้งหมดตั้งแต่วันหวยออกครั้งนี้จนถึงครั้งหน้ามีทั้งหมดเท่าไร  ถ้าเราเอาตัวเลขเหล่านั้น มาดูว่าตกลงมีกี่ตัวที่ถูกหวย  เรื่องแบบนี้มันสนุก  สามารถทำเป็นงานวิจัยเล็กๆของนักข่าว ถ้านักข่าวมีความสงสัย มันจะได้อะไรอีกเยอะมาก แล้วลองดูว่าสถิติของคนซื้อไป ซื้อกี่อัน ซื้อไปเป็นของที่ระลึก หรือซื้อไปเพื่อให้เห็นตัวเลขจริงๆ   

สื่อคือโรงเรียนของสังคม

อย่านับจำนวนชิ้นเป็น KPI 

เธอบอกว่า  สื่อไม่ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของตัวเอง  ทำงานแบบรูทีน ทำส่งๆ แต่ไม่ค่อยคิด นับจำนวนชิ้นตาม KPI   แต่อาจไม่ได้คิดว่า เราทำไปครบชิ้นแต่สังคมได้ประโยชน์อะไร ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นสื่อไปทำไม เราก็ไปนั่งเป็นสื่อโดยไม่จำเป็นต้องมีสังกัด กินเงินเดือนประจำก็ได้ การที่เราเป็นมืออาชีพ เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สื่อมวลชนเป็นสถาบัน ที่เหมือนกับโรงเรียนของสังคม  ต้องช่วยสังคมในเรื่องการกล่อมเกลา ให้ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้อง และต้องถามด้วยว่า เราให้ปัญญาให้ทางออกกับสังคมไหม หรือ หรือเราสร้างเฉพาะเรื่องความงมงาย เรื่องทำให้เสียทรัพย์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สื่อต้องคิดด้วย จะบอกว่าไม่มีเวลาก็ไม่ใช่

  
ดร.สุดารัตน์ สรุปว่า เส้นแบ่งของความถูกต้อง กับความผิดจริยธรรมมันนิดเดียว คุณทำให้งมงายก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง คือผิดแบบหนึ่งเหมือนกัน

อีกสิ่งที่ฝากเป็นข้อสังเกต ในส่วนของผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่ ในต่างประเทศ มักต้องเป็นผู้อาวุโส  เพราะต้องมีความคิดรอบคอบ แต่ของเรามันกลับกันเอาเด็กๆลงพื้นที่ พอเด็กลงก็มีความอ่อนต่อโลก อ่อนประสบการณ์ ถูกชักจูงง่าย ฉะนั้นในแง่ของตัวบรรณาธิกาอาจถูกกดดันด้วยระบบบางอย่าง  เช่น  บางกรณี บก.อาจบอกว่าไม่ได้รับผิดชอบ พอถูกกดดันและเกิดปัญหา บก.ก็ชี้ไปที่ทีมข่าวต้องรับผิดชอบ  เด็กก็ชี้ไปที่บก. กอง บก.ก็ชี้ไปที่นายทุนบอกว่า ก็เพราะคุณอยากได้ยอดวิว ยอดไลค์ยอดแชร์อยากได้มูลค่าทางการตลาด 

ทั้งหมด เป้าหมายของสื่อ เราต้องช่วยกันส่งเสริมข่าวดีๆ ส่งเสริมการคัดเลือกข่าว โดยมีเกณฑ์เรื่อง quality media เช่นคุณถูกหักเรื่องจริยธรรมไปเท่าไร ปลายปีก็ถูกประเมิน ถ้าคุณอยู่ในส่วนที่ต้องส่งเสริม คุณก็ต้องเสียสิทธิ์ตรงนั้นไป อาจจะต้องมีระบบบางอย่างที่บังคับให้ต้องทำดี  แต่การที่เราพูดว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของเรา ต้องเริ่มที่ตัวเราเอง อย่างนั้นมันไม่ได้แน่ เพราะมีกี่คนที่มีจิตสำนึก  ในเมื่อเราเห็นจุดดำๆในพื้นขาวใหญ่ เราเห็นคนที่ทำผิดแต่ไม่เห็นคนที่ทำดี  เราก็ต้องเน้นคนที่ทำดีเยอะๆ เช่น นักข่าวคนนี้สีบข่าวเก่งมาก  องค์กรก็ควรจะต้องให้รางวัลคนแบบนี้ ไม่ใช่ไปเพ่งเล็งหรือดุคนที่ผิด

เตรียมเดินสายคุย ผู้บริหารสื่อ

แนวปฏิบัติ ไม่นั่งเทียนร่างกันเอง

นิภาวรรณ แก้วรากมุข เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

นิภาวรรณ แก้วรากมุข เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สภาการฯ กำลังหารือเพื่ออาจเตรียมเดินสายพบกับผู้บริหาร บรรณาธิการ สื่อต่างๆที่เป็นสมาชิก เพื่อพูดคุยถึงแนวปฏิบัติว่าตรงไหนที่เราจะช่วยกันพัฒนา แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนำเสนอข่าวเพราะความร่วมมือของพวกเรา ไม่ใช่ว่าการร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ จะนั่งเทียนร่างกันเอง แต่เกิดจากการสะท้อนปัญหา ความห่วงใยปัญหาร่วมกัน โดยมีนักวิชาการเข้ามาร่วมกันพยุง เพื่อให้ความเป็นสื่อของเรา มีมาตรฐานสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด กรรมการบริหารสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบก.ข่าวภูมิภาคและอาชญากรรม บ้านเมืองออนไลน์ บอก ว่า  สื่อหลายฝ่ายต้องช่วยๆกันปรับ ตอนนี้สื่อก็ตื่นตัวในเรื่อง การสร้างความงมงาย เราก็ช่วยกันปรับอยู่ แต่จะให้ทิ้งเลยมันทิ้งไม่ได้  เพราะมันไม่ขาดหายไปจากสังคม   เพราะว่าบริบทสังคม ยังเชื่อในเรื่องพวกนี้อยู่ ยกตัวอย่างทุกวันนี้ตอนเช้าของบ้านเมืองออนไลน์ แทบทุกวัน  คอลัมน์เรื่องดวงของบ้านเมือง จะติดท็อป 4 ของข่าว  ซึ่งบ้านเมืองก็จะมีลงประจำวันอยู่ตลอด  ก็แสดงว่าคนก็ยังเชื่ออยู่ ถ้ามองในมุมของธุรกิจมันยังขายได้

เราตกผลึกกันในสมาคมนักข่าว  พร้อมกับการได้รับเรื่องร้องเรียน มาจากบุคคลภายนอกหลายเรื่องแล้วเราคิดว่า สื่อมีส่วน ทำให้คนหลงเชื่อได้ ดังนั้น เมื่อคุณเป็นผู้ชักนำ คุณก็ควรที่จะแก้ด้วย   สื่อก็เลยมากระตือรือร้นกับเรื่องนี้ว่าต่อไปคงต้องมีแนวทางการนำเสนอที่ซอฟลง ไม่ใช่คลั่งไปทางงมงายอย่างเดียว