ม.รามคำแหงเตรียมปิดวิชา นสพ. มุ่งสอนสื่อแนวใหม่

ม.รามคำแหงเตรียมปิดวิชา นสพ. มุ่งสอนสื่อแนวใหม่


“บัณฑิตสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง ส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาศักยภาพตนเอง ทำอาชีพอิสระ ไม่ได้มุ่งเข้าสู่งานในองค์กรวิชาชีพสื่อโดยตรง เช่น กลุ่มเฟ็ดเฟ่ ที่เด็กรามรวมตัวกันแล้วทำงานเป็น ยูทูเบอร์ มียอดวิวหรือยอดคนดูเป็นล้านคน โดยเด็กรวมตัวกัน 6 คน แล้วทำกลุ่มของตนเองในการรับงานผลิตสื่อต่างๆ เพื่อตอบโจทย์เข้ากับสังคมยุคใหม่ หรือบางคนจบแล้ว กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด และรับเขียนบทพิธีกร ตัดต่อและถ่ายทำรายการ โดยเป็นการส่ง-รับงานกันผ่านทางระบบออนไลน์ บางรายนำความรู้ด้านหลักการสื่อสารมวลชนไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอื่นๆ ด้วย เช่น ค้าขายออนไลน์ เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้ อัตราการมีงานทำของบัณฑิตสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงถือว่ามีงานทำ 100%”


จะเลิศ เจษฎาวัลย์ อดีตคณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เพิ่งพ้นวาระ เล่าถึงการปรับหลักสูตรนิเทศาสตร์ของ ม.รามคำแหงเพื่อให้ทันกับโลกยุคดิจิตัลว่า เดิมที การเรียนการสอน “สื่อสารมวลชน”  ในรามคำแหงเป็นรูปแบบของ “ตลาดวิชา” เริ่มต้นจากการเป็นวิชาเลือกในภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษศาสตร์ ก่อนตั้งเป็นภาควิชาสื่อสารมวลชน ในปี พ.ศ.2535 และจัดตั้ง “คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน” ในปี 2545 อยู่ภายการดูแลของคณะมนุษยศาสตร์ กระทั่ง ปี 2555 จึงเปลี่ยนเป็น “คณะสื่อสารมวลชน”

ปัจจุบัน รามคำแหง เปิดการเรียนการสอนสื่อสารมวลชนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท  ในส่วนของระดับปริญญาตรี เปิดสอนสาขาเดียวโดยให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนผสมผสานได้ระหว่างวารสารศาสตร์  วิทยุโทรทัศน์ และการสื่อสารบูรณาการ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทุกศาสตร์สาขา

ส่วนระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต เดิมเปิดสอน 2  สาขา คือ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน และสาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน โดยกลุ่มแรกเป็นไปตามเทรนด์ของประเทศ  ในการผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านสื่อสารมวลชน  บวกกับมองเห็นว่า เทคโนโลยี เข้ามาเป็นตัวกำหนดบทบาทในการสื่อสาร แต่พบปัญหาว่า หากดำเนินการแบบเดิม จำนวนนักศึกษาที่รับกับอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้สัดส่วน ซึ่งอาจเกิดปัญหากับนักศึกษา ขณะนี้จึงหยุดรับนักศึกษาชั่วคราว เพื่อที่จะดูแลนักศึกษาทั้ง 2 สาขา ให้สำเร็จการศึกษาก่อน รวมทั้งอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโทให้ตอบรับการDisruption ของเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

ขณะที่ ระดับปริญญาเอก ตั้งเป้าจัดการสอนโดยเลือกเฉพาะคนที่ต้องการเป็นนักคิด นักเทคโนโลยี หรือนักนวัตกรรม ขณะนี้กำลังรอเวลาในการรับอาจารย์ใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกให้ได้เกณฑ์และหลากหลายสาขาวิชาเข้ามาจัดหลักสูตรให้กับคณะในอนาคต เพื่อสร้างนักพัฒนาการสื่อสาร และสร้างองค์ความรู้ด้านการสื่อสารให้กับประเทศ

การรับนักศึกษาเข้าศึกษาของรามคำแหง เนื่องจากไม่มีการคัดเลือกเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี แต่ละปีจึงมีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนคณะสื่อสารมวลชนโดยตรงราว 2,000 คน อีกทั้งมีนักศึกษาที่ย้ายคณะระหว่างปีอีกจำนวนหนึ่ง และมีนักศึกษาคณะอื่นเลือกเรียนสื่อสารมวลชนเป็นวิชาโทอีกนับหมื่นคนด้วย เช่น คณะรัฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดการ Disruptionของเทคโนโลยี ความต้องการของคนที่เข้ามาเรียนสายนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชนจึงน้อยลง  ไม่ใช่เพราะคนสนใจนิเทศศาสตร์น้อย แต่เป็นเพราะโครงสร้างประชากรของประเทศเปลี่ยน เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุ เด็กที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยจึงมีสัดส่วนที่น้อยลงตามไปด้วย จากราว 3,000 คนต่อปี เหลือประมาณ 2,000 คนต่อปี ถือว่ายังอยู่ในจำนวนที่สูง ซึ่งโดยภาพรวมของคณะสื่อสารมวลชน รามคำแหงยังไม่น่ากังวล

สำหรับจำนวนอาจารย์ เนื่องจาก รามคำแหง เป็นตลาดวิชา จึงไม่ต้องมีสัดส่วนอาจารย์ตามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนี้มีอาจารย์ประจำ 20 คน โดยเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งสื่อสารมวลชนเดิม และรับใหม่อีก 7 คน ที่มีพื้นฐานแตกต่างจากด้านสื่อสารมวลชน เช่น การตลาด นวัตกรรม สถาปัตยกรรม สื่อใหม่ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น แต่ทั้งหมดจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้านสื่อสารมวลชน เพื่อให้มีอาจารย์ที่มีพื้นฐานหลากหลายในการสอนสื่อสารมวลชนแนวใหม่ และร่วมออกแบบหลักสูตรที่สร้างสื่อที่สร้างสรรค์ให้สังคมในอนาคต และอยู่ระหว่างการเปิดรับอาจารย์เพิ่มอีก 2 คน ซึ่งเน้นรับคนที่มีพื้นฐานหลากหลายสาขา เช่น อินโฟกราฟฟิก แอนิเมชั่น  บิ๊กดาต้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น คนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนไม่สามารถเรียนเฉพาะเรื่องสื่อสารมวลชนอย่างเดียวแบบเดิมได้  จะต้องเรียนการสร้างสื่อที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในสังคมยุคใหม่


อ.จะเลิศ ระบุว่า ในปี 2562-2563  จะมีการปรับหลักสูตรใหญ่อีกครั้ง โดยจะทำหลักสูตร Digital Communication  เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในศตวรรษที่ 21

“เมื่อต้องการคนที่ออกไปทำงานในแวดวงสื่อสารทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือวิชาชีพสื่อสารมวลชน  ต้องมีทักษะการสื่อสารยุคใหม่ เช่น ทักษะความคิด การรู้เท่าทันสื่อ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะนำเข้ามาอยู่ในหลักสูตร ไม่ผลิตนักสื่อสารมวลชนตามแบบเดิม ไม่ผลิตเพื่อไปเป็นนักข่าว นักวิทยุ แต่จะเป็นนักสื่อสาร หรือนักพัฒนาการสื่อสาร หรือ นวัตกรสื่อสาร หรือนักสื่อสารดิจิทัล”


ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตรที่สอดรับกับการเป็นตลาดวิชาของมหาวิทยาลัย คิดค่าหน่วยกิตที่มีราคาไม่แพง  อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ได้เน้นลงทุนในห้องปฏิบัติการมากเท่ามหาวิทยาลัยอื่น แต่จะเน้นด้านความคิด และทดลองทำ จะทิ้งวิชาอะนาล็อกทั้งหมด แม้แต่วิชาด้านหนังสือพิมพ์ บางวิชาอาจจะต้องปิด เพราะต้องให้อาจารย์ไปสอนวิธีคิดตามสื่อแนวใหม่  หนังสือพิมพ์ก็จะต้องไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ แต่จะต้องมากกว่าหนังสือพิมพ์ จะต้องผสมผสานทั้งหนังสือพิมพ์ที่มีคลิปเสียง มีวิดีโอในตัว รวมถึงจะมีวิชาเกี่ยวกับการเล่าเรื่องมากขึ้น เพราะสื่อใหม่ไม่สามารถจะใช้วิธีการเขียนข่าวที่ยาวแบบเดิมได้อีกต่อไป เด็กจึงจะต้องรู้การเล่าเรื่องที่โดนใจสังคมมากขึ้น

สำหรับผู้ที่มาเรียนสื่อสารมวลชนที่รามคำแหง มีลักษณะเด่นคือ เรียนเพื่อเติมเต็มตัวเอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 จะเรียนด้วยทำงานด้วย จึงไม่ได้เรียนเพื่อเป็นนักสื่อสารมวลชน แต่ต้องการความรู้ด้านการสื่อสารไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น วิธีการติดต่อสื่อสารหรือการพูดกับคนมากขึ้น ทำให้ตัวเขาเองเข้มแข็งขึ้น ซึ่งใบปริญญาอาจจะไม่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงาน จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีสติปัญญามากขึ้น แต่ไม่ได้ใช้เพื่อเปลี่ยนหน้าที่การงาน วุฒิการศึกษาเพียงแต่ไปทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนหนึ่งที่เข้าสู่วิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นคนที่มุ่งมั่นจะเป็นนักข่าว ทำงานด้านโทรทัศน์มีประมาณร้อยละ 1 ซึ่งน้อยมาก อย่างไรก็ตาม นักศึกษาต้องเรียนเขียนข่าวเพื่อให้สามารถสรุปประเด็นได้ สรุปเรื่องได้ เขียนได้ และเล่าเรื่องได้ เพราะหากไม่มีทักษะเหล่านี้ก็จะไม่สามารถไปสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกการทำงาน

ตลาดงานที่เป็นงานด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนน้อยลง  เนื่องจากงานในองค์กรด้านสื่อเริ่มลดลงและรับคนเข้าทำงานน้อยลง แต่ในแง่ของงานอื่นที่ใช้หลักการการสื่อสารมวลชนไปดำเนินการไม่ได้ลดลง แต่ยังมีงานให้ทำอีกมาก อย่างเช่น การใช้องค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชนเป็นช่องทางในการขายผลผลิตของตนเองผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีหลายช่องทาง ซึ่งการโปรโมทหรือนำเสนอสินค้าให้น่าสนใจล้วนจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านการสื่อสารทั้งสิ้น

สำหรับผู้ที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนได้เรียนรู้เรื่องวิธีการสื่อสาร การนำเสนอ ส่วนช่องทางในการส่งสารไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อมวลชนอีกต่อไป โดยผู้รับสารที่จะเป็นกลุ่มใหญ่ในอนาคต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดที่นำเสนอเนื้อหาตอบสนองกลุ่มนี้ยังเปิดกว้าง รวมถึง กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันยังมีสื่อเพื่อคนกลุ่มนี้น้อย

อ.จะเลิศ  ยังกล่าวถึงสถานกรณ์สื่อในปัจจุบันด้วยว่า หนังสือพิมพ์ ต้องปรับบทบาทมากขึ้น  ไม่สามารถทำข่าวแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะปัจจุบันคนจำนวนมากเข้าถึงช่องทางการสื่อสาร และทำหน้าที่เป็นคนส่งข่าวผ่านช่องทางสื่อใหม่ได้อย่างรวดเร็ว อาจจะต้องปรับตัวเองเป็น “นิตยสารข่าว” เพื่อตอบสนองต่อผู้สูงอายุที่พื้นฐานจะเป็นคนอ่านหนังสือ ตรงนี้น่าจะไปได้รอดกว่าการทำหนังสือแบบมุ่งมวลชนจำนวนมากแบบเดิม หรือปรับตัวให้มีขนาดเล็กลง และมุ่งบทบาทตอบสนองต่อชุมชน เช่น หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ในส่วนของโทรทัศน์นั้น ทีวีดิจิตัลเป็นเครื่องมือทรงพลัง แต่น่าห่วงเพราะข่าวทีวีปัจจุบันลอกข่าวจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอ ทำให้ข่าวทีวีลดความน่าเชื่อถือไป ทั้งที่ หากมีการปรับบทบาทจะยังคงทรงพลัง เช่น บทบาทการเสริมความคิด เพิ่มการศึกษาของประชาชน ไม่ใช่เพื่อความ

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย