“จ๊ะ โอ๋” การ์ตูนนิสต์ไทยรัฐคนใหม่
ผู้รับไม้จาก “ชัย ราชวัตร”
โดย –จุลสารราชดำเนินออนไลน์
ปิดตำนานการ์ตูนการเมืองประจำหน้า 5 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังการแขวนปากาของ “ชัย ราชวัตร” หรือ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ การ์ตูนนิสต์เจ้าของคอลัมน์ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” อันเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยมายาวนานร่วม 40 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่ใช่ว่าพื้นที่ การ์ตูนการเมือง หน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทยจะถูกปรับเปลี่ยนไป ล่าสุด ไทยรัฐ ได้เปิดตัว “จ๊ะ โอ๋” การ์ตูนนิสต์ฝีมือดี มารับไม้ต่อนำเสนอผลงานความคิดมุมมองกับผู้อ่าน ด้วย ลีลา ภาษา และ ลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
จ๊ะโอ๋ หรือ ชัชวาลย์ ผ่องแผ้ว ปัจจุบัน อายุ 53 ปี เล่าถึงที่มาที่ไปกับการได้มารับหน้าที่สำคัญในครั้งนี้ว่า ได้รับการติดต่อจาก คำรณ ชูดี หัวหน้าข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่าสนใจจะมาทำงานตรงนี้ไหม ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ได้รับคำแนะนำจากใครมาอีกทีหรือไม่ ตอนนั้นก็บอกเขาไปว่าสนใจ เขาก็ให้ส่งงานเก่าๆ ไปให้ดูทางไลน์ ส่งไป 2-3 รอบ สุดท้ายเขาก็เรียกเข้าไปคุย
“ตอนนั้นเข้าไปคุยกับคุณสราวุธ (วัชรพล บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐ) กับ คุณอาชัย (ราชวัตร) คุณสราวุธก็ไม่ได้คุยอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็คุยกับคุณอาชัย คุยกันเรื่องทั่ว ๆ ไป จากนั้นคุณสราวุธ ก็ถามคุณชัยว่าโอเคไหม คุณชัยตอบว่าไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ถามเราว่าเริ่มงานได้เมื่อไหร่จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ”
ถามว่า ชัย ราชวัตร ฝากฝังอะไรเป็นพิเศษไหม จ๊ะโอ๋ บอกว่า เป็นแค่การคุยกันธรรมดา ไม่มีการจำกัดเรื่องความคิด จะเขียนอะไรก็ได้ ไม่จำกัด โอเพ่นมาก ให้อิสระเต็มที่”
“ส่วนตัวก็ไม่รู้จักกับคุณชัยมาก่อนเพิ่งเจอกันครั้งแรก เราก็รู้จักผ่านหนังสือพิมพ์มานานตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้น เปิดหนังสือพิมพ์จะดูอะไรก็ต้องดูการ์ตูนก่อน เลยรู้สึกว่ายิ่งใหญ่มาก ทำงานมายาวนาน 40 กว่า ปี ก็มีเกร็งๆ เหมือนกัน ย้อนไปตอนนั้นก็ไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้มาเขียนในพื้นที่ตรงนี้”
จ๊ะโอ๋ ยอมรับว่า แรกๆ ก็มีความกดดันเพราะเราเข้าใจว่ามันมีความคาดหวัง คนที่ดูเขาก็จะมองว่าคนนี้หรือที่มาแทน ชัย ราชวัตร จะเป็นไงบ้าง แต่ก็โทรปรึกษากับเพื่อนหลายคน ก็สบายใจขึ้น เราก็ทำเต็มที่ของเราเท่าที่ทำได้
“ทำแบบสไตล์ของเรา ไม่ได้เป็นเงาของใคร เราเป็นของเราแบบนี้ ถ้าโอเคก็โอเค ถ้าไม่โอเคก็ไม่เป็นไร เพราะหากไปกดดันก็จะทำอะไรไม่ออก”
จ๊ะโอ๋ เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่การ์ตูนเริ่มตีพิมพ์ในไทยรัฐวันแรกก็มีหลายคนโทรมา ผู้ใหญ่หลายคนโทรมา เป็นคนรุ่นผู้ใหญ่เกิน 50 ปี ยังเป็นรุ่นที่อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ เพราะไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์หลัก มีทุกที่ก็สอบว่าว่ามาเขียนให้ไทยรัฐแล้วหรือก็ได้พูดคุยกับหลายๆคน
“ในแง่ฟีดแบ็คก็จะมีจากนักข่าวการเมืองไทยรัฐบ้าง หรือ ฟีดแบ็คด้านเทคนิคก็จะมาจากฝ่ายเทคนิค ฝ่ายจัดหน้าที่จะรับงานเราไปลงหน้าหนังสือพิมพ์ ก็จะมาจากนักข่าวการเมืองไทยรัฐ ด้านเทคนิค ก็จะมาจากฝ่ายจัดหน้า รับงานเราไปลงหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะมี เรื่องเทคนิคเรื่องเส้นที่ต้องปรับเข้าหากันได้ คล้ายกับที่เราทำมา”
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องปรับตัวคือเรื่องการเขียนเป็นการ์ตูน 3 ช่อง จากเดิมที่เคยเขียนแต่การ์ตูน 1-2 ช่อง เป็นหลักซึ่งทางไทยรัฐก็ต้องการให้รูปแบบหนังสือยังเป็น แบบ 3 ช่อง และ เขาเสนอว่าน่าจะหาตัวละครของตัวเองซึ่งคิดว่าเดี๋ยวก็คงมาเอง จะให้คิดเลยก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน เพราะการ์ตูนของ ชัย ราชวัตร เท็กซ์เยอะ ตัวละครน้อย แต่ของเราใช้เท็กซ์น้อย ไม่เหมือนกัน
สำหรับประวัติความเป็นมาของ จ๊ะ โอ๋ นั้น แรกเริ่มทำงานบริษัททั่วไป แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 บริษัท ล้ม ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ใช้วิชาความรู้จากที่ทำและร่ำเรียนมาจากคณะจิตรกรรม เอกวิชาภาพพิมพ์ (กราฟฟิคอาร์ต) มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการขีดๆเขียนๆ ก่อนมาปักหลักเป็นการ์ตูนนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ตั้งแต่เปิดจนปิดหนังสือพิมพ์กว่า 16 ปี นอกจากนี้ยังมีผลงานวาดปกการ์ตูนให้กับหนังสือจุลสารราชดำเนินของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหลายครั้ง
“ช่วงเริ่มต้นก็ไม่เคยเป็นการ์ตูนนิสต์มาก่อน แต่เรียนมาทางศิลปะก็จะมีพื้นฐาน drawing เราก็มาปรับให้เข้ากับเรื่องงาน เพราะเรื่องวาดเขียนได้อยู่แล้ว เพียงแต่โฟกัสอะไรก็มาเจาะด้านนั้น ที่มาเป็นการ์ตูนนิสต์ก็เพราะมีน้อย เลยอยากลอง ถามว่ายากไหมก็ต้องปรับตัวอยู่นาน 3-5 ปี กว่าจะนิ่ง กว่าจะเข้าใจว่าอะไรได้ไม่ได้ เขียนแค่ไหนพอ เวลาเท่านี้ต้องจบ”
จ๊ะโอ๋ เล่าว่า เป็นเรื่องปกติที่งานรายวันบางวันก็มีไม่ดีบ้างก็ต้องยอมรับ บางครั้งคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ก็ไปเขียนเรื่องอื่นแทน เพราะเวลาวาดจริง 2-4 ชม. แต่การจะหาข้อมูลว่าจะเขียนเรื่องอะไร ใช้สัญลักษณ์ยังไง ร้อยเรื่องยังไง ต้องมีกระบวนการคิด บางทีก็ค่อนข้างอึดอัด กำหนดเวลาไม่ได้ บางทีก็คิดอยู่นั่น หรือบางทีเดินไปเข้าห้องน้ำแล้วเกิดคิดออกขึ้นมา
“เวลาคิดงานไม่ออกก็จะใช้ประสบการณ์เก่าๆ เช่นไปดูว่างานเขาของเราเขียนอะไร เปิดการ์ตูนล้อเลียนของฝรั่ง ดูว่าเขาใช้สัญลักษณ์อะไร เพราะมันเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ ศิลปะยุคนี้รวมถึงการ์ตูน การเล่าเรืองด้วยภาพต้องเป็นอย่างนั้น “
สำหรับการติดตามข่าวสารนั้น ช่วงที่อยู่ โพสต์ทูเดย์ ก็จะเขียนการ์ตูนทั้ง การเมือง และ เศรษฐกิจ ก็ต้องอ่านข่าว อ่านวิเคราะห์ ถึงจะเขียนภาพประกอบได้ ดังนั้น พอตอนนี้มาทำการ์ตูนการเมือง ก็มีเรื่องแรงๆ หลายเรื่อง อย่างเรื่องตั้งรัฐบาลก็มีเรื่องให้เขียนเยอะ
“เสน่ห์ของการ์ตูน ส่วนตัวมองว่าการเล่าเรื่องด้วยภาพจะต้องใช้เท็กซ์ให้น้อยที่สุดในนิยามของเรานะ เวลามองภาพๆ หนึ่งมันก็จะเล่าเรื่องใช้สัญลักษณ์ ต่าง ๆ ตัวหนังสือเราจะใช้ไม่เยอะ ความคมมันจะอยู่ตรงนั้น ประเด็นพวกนี้มาจากการเสนอ กลั่น ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เราก็อ่านว่ามีเรื่องอะไร รายละเอียดอะไร แล้วคิดว่าจะไปเปรียบเทียบกับอะไร เชื่อมโยงอะไร”
ในแง่งานด้านศิลปะแล้ว จ๊ะโอ๋ ยังมีความสนใจด้านดนตรี จนถึงขั้นเปิดบ้านแบบเรียบง่าย ไม่มีแอร์ ไม่ต้องไปเช่าที่ สอนกีตาร์คลาสสิค สอนโน้ต ให้กับคนที่สนใจ เพราะบางคนเล่นกีตาร์ได้แล้วก็อยากรู้เรื่องการอ่านโน้ตก็จะไปต่อยอดได้เยอะ ไม่งั้นก็จะแค่ไปพิมพ์นิ้วเล่นตามยูทูป
ด้วยความรู้จากที่เคยหางานเสริมเก็บเงินสมัยเรียนมหาวิทยาลัยไปเรียนดนตรี จนช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ไม่ได้ไปเรียนอีก ใช้วิธีศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง หาหนังสืออ่านตามห้องสมุดสยามกลการ สิรินธร หอสมุดแห่งชาติ เพราะสมัยก่อนไม่มียูทูป เพราะโน๊ตเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ถ้าเรารู้ต่อให้เพลงที่ไม่เคยฟังก็สามารถเล่นออกมาได้
ถามว่างานชิ้นไหนภูมิใจที่สุด จ๊ะโอ๋ บอกว่า เขาเป็นแค่คนทำงานคนหนึ่ง ดีใจที่ได้ทำงานซึ่งตรงกับที่เรียนมา ไม่ได้คิดว่าจะเหนือกว่าคนอื่น หากไปคิดว่าเหนือกว่าคนอื่น หรือ ไปคิดเรื่องภูมิใจก็จะเป็นการกดดันตัวเอง แต่ก็รู้สึกดีที่ดีคนติดตามผลงานของเราเช่นมีคนมาบอกว่า เพจของแบงก์ชาติมีคนมาคอมเมนต์ชมการ์ตูนประกอบวิเคราะห์ของโพสต์ทูเดย์ หรือในหนังสือแบงก์ชาติมีผลงานของเรา ก็แสดงว่ามีคนในสายงานมองงานของเราอยู่
“ถามว่าภูมิใจมันก็เหมือนกับคนทำงานคนหนึ่ง ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อทำได้สำเร็จ เราก็โอเคกับมัน” จ๊ะโอ๋ กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย