นิเทศ ม.อ.ปัตตานี ปั้นเด็กจบใหม่ไปสตาร์ทอัพ

นิเทศ ม.อ.ปัตตานีปั้นเด็กจบใหม่ไปสตาร์ทอัพ


“คนที่มาเป็นสื่อยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนโดยตรง แต่ต้องรักในการทำงานข่าวและรักที่จะอุทิศตนเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ของสังคม มีวิจารณญาณในการใคร่ครวญเรื่องราว ประเด็นต่างๆ สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องไม่จริงได้ และต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารได้หลายรูปแบบ ทั้งการเขียนเล่าเรื่อง การบรรยายด้วยเสียง การถ่ายภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว”


ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ในฐานะอดีตคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร  ม.อ.ปัตตานี  กล่าวว่า การทำงานของสื่อในยุคหลอมรวมมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานแข่งกับเวลา ยุคของสื่อใหม่ การแข่งขันความเร็วไม่ได้เป็นเรื่องของระดับวัน หรือ ชั่วโมง หากแต่แข่งกันเป็นรายนาที และคู่แข่งขันของสื่อมิใช่เพียงแต่องค์กรสื่อด้วยกัน หากแต่ทุกคนในสังคมที่เข้าถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารสามารถกลายมาเป็นผู้แข่งขันกับบุคลากรสื่อได้ทั้งหมด

อีกประเด็นหนึ่งที่ท้าทายคือการใช้สื่อใหม่และช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ สร้างตัวตนหรืออัตลักษณ์ให้กับตนเอง จากเดิมที่ผู้สื่อข่าวจะมีพื้นที่สื่อสารกับสังคมได้เฉพาะพื้นที่ที่องค์กรสื่อที่ตนเองสังกัดกำหนดให้เท่านั้น ปัจจุบันทุกคนสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสื่อสารกับสังคมได้โดยตรงผ่าน เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแสดงความเห็นส่วนตัวที่สามารถเอนเอียงเลือกข้างได้กับการรายงานข่าวที่ต้องละไว้ซึ่งความเห็นและอคติ

ผศ.วลักษณ์กมล กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  มีอาจารย์ จำนวน 12 คน นักศึกษาทั้ง 4 ชั้นปี ประมาณ 200 คน ปกติรับรุ่นละ 100 คน จะได้นักศึกษาประมาณร้อยละ 50-60 แต่ใน 2 ปีหลัง นักศึกษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ของเป้าการรับนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ไม่มีนักศึกษานอกพื้นที่ไปเรียน และนักศึกษาในพื้นที่ออกไปเรียนนอกพื้นที่ รวมทั้งสถานการณ์ประชากรภาพรวม ที่พบว่า จำนวนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาลดลง ประกอกกับความนิยมด้านนิเทศศาสตร์ของคนในพื้นที่มีไม่มากอันเนื่องจากวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่เข้าใจว่านิเทศศาสตร์คือ สาขาวิชาเกี่ยวกับการแสดง การเต้นกินรำกินขัดกับหลักการของบางศาสนา ที่สำคัญมีแรงกระทบจากความเสื่อมถอยของวิชาชีพนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ในตลาดแรงงาน

สำหรับ คณะวิทยาการสื่อสาร เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เป็นหลักสูตรแรกของคณะ เมื่อปี 2545-2550 ออกแบบให้นักศึกษาเรียนนิเทศศาสตร์แบบองค์รวมบูรณาการทางเทคโนโลยีสื่อ ทั้งด้านเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ แต่เมื่อสถานการณ์สื่อเปลี่ยนแปลงไป คณะจึงได้ปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การสื่อสารที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มีการจัดการเรียนการสอนเป็น 2 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาการสื่อสารมวลชน และ กลุ่มวิชาการสื่อสารการตลาด ปรับปรุงรายวิชาที่เปิดสอน การรวมรายวิชาที่มีความซ้ำซ้อนของเนื้อหา เพิ่มรายวิชาใหม่ที่ทันสมัยกับบริบทสังคมสื่อ และการออกแบบหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติการและทักษะทางวิชาชีพเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติให้มากที่สุด โดยมีรายวิชาบังคับเอกสาขานิเทศศาสตร์

“การพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จำเป็นจะต้องพัฒนาบัณฑิตให้มีพื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ที่เข้มแข็ง ทั้งด้านเนื้อหาเพื่อการสื่อสารสู่สาธารณะ การพัฒนาทักษะทางวิชาชีพที่หลากหลาย เพื่อรองรับการสื่อสารข้ามสื่อได้ รู้จักใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เป็นประโยชน์สำหรับการเป็นนักสื่อสารในโลกยุคใหม่ สามารถทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลายในองค์กรด้านการสื่อสารขนาดเล็กและขนาดย่อม และองค์กรระดับชาติ ที่สำคัญต้องมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจอิสระด้านการสื่อสารด้วยตัวเองในอนาคตได้  มีทักษะการคิด วิเคราะห์ และวิพากษ์ เพื่อรับมือการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายทิศทาง รวมถึงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของอาเซียน และโลกาภิวัตน์ ” ผศ.วลักษณ์กมล กล่าว

ดังนั้น หลักสูตรทางด้านการสื่อสารจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ทางวัฒนธรรมการสื่อสารของผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย องค์กรด้านการสื่อสารมวลชนจะมีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น แต่จะมีลักษณะของการพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาด บุคลากรในองค์กรสื่อจำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะทางด้านเทคโนโลยีสื่อดิจิทัล แต่หัวใจของการสื่อสาร ซึ่งก็คือ “เนื้อหา” (Content) ยังมีความสำคัญเป็นหลักพื้นฐานอยู่

ผศ.วลักษณ์กมล กล่าวว่า การปรับปรุงหลักสูตรในครั้งนี้ ได้พิจารณาจากบริบทแวดล้อมที่รอบด้านมากขึ้น นอกเหนือจากบริบทเทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารยุคดิจิทัลแล้ว ยังเชื่อมโยงกับโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการออกสู่สนามการทำงานในลักษณะของผู้ประกอบการอีกด้วย โดยในประเด็นนี้ คณะปรับปรุงหลักสูตรฯ ได้พิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีลักษณะใช้ทุนน้อย เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่เรียกว่า Start Up จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการธุรกิจลักษณะดังกล่าว

“การเป็นนักสื่อสารในโลกยุคใหม่ สามารถทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลายในองค์กรด้านการสื่อสารขนาดเล็กและขนาดย่อม และองค์กรระดับชาติ รวมทั้งมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจอิสระด้านการสื่อสารด้วยตัวเองในอนาคตได้ ในการปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ปี 2560 มีการจัดการเรียนการสอนเป็น 2 กลุ่มวิชาเช่นเดิม ได้แก่ กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ดิจิทัล และกลุ่มวิชาการสื่อสารการตลาด โดยมีการพัฒนารายวิชาให้มุ่งไปสู่การสร้างนักวิชาชีพ นักวิชาการและผู้ประกอบการด้านการสื่อสารที่มีความรู้ ความชำนาญ มีจริยธรรมและจิตสำนึกสาธารณะ โดยมีรายวิชาบังคับเอกสาขานิเทศศาสตร์ แบ่งตามกลุ่มวิชาเรียน”

ผศ.วลักษณ์กมล กล่าวว่า แต่ละปี นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วจะไปทำงานในองค์กรสื่อ ที่เป็นองค์กรวิชาชีพส่วนกลาง (professional) ประมาณร้อยละ 10 ในองค์กรสื่อวิชาชีพในท้องถิ่นร้อยละ 10 ในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ผลิตสื่อ หรืองานที่เกี่ยวข้องของหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ประมาณร้อยละ 50 ที่เหลือประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับการวางแผนการสื่อสาร การผลิตสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาต้องเน้นการปลูกฝังผู้เรียนให้มีศิลปะทางการสื่อสารมากกว่าการเน้นเรื่องการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เพราะหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคือ การเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีระดับความยากง่ายต่างกันออกสู่สังคมในวงกว้าง เน้นการปลูกฝังให้ผู้เรียนคิดและวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้วิจารณญาณแยกแยะความจริงออกจากความเท็จและรู้จักตั้งข้อสังเกตในเรื่องราวต่าง ๆ ที่หลั่งไหลอยู่ในสื่อสมัยใหม่

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย