ถ้าสื่อไม่ปรับตัวก็ต้องตาย ยากที่สุดคือ การเปลี่ยน Mind Set ตัวเอง

ถ้าสื่อไม่ปรับตัวก็ต้องตาย ยากที่สุดคือ การเปลี่ยน Mind Set ตัวเอง



"ส่วนตัวยังเชื่อว่า สื่อไม่มีวันตาย แต่สื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเป็นตัวกลางสำคัญในการต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงและขับเคลื่อนสังคม ซึ่งปัจจุบันสื่อยังไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ประเทศไทยมีหลายเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ทำให้สื่อไม่สามารถขับเคลื่อนได้ 100% ตราบใดที่ยังปิดหูปิดตาปิดปากกันอยู่ หรือตราบใดที่ยังคิดว่า คนดูจะเสพแบบนี้เราก็ต้องทำละครให้มันน้ำเน่า แบบนั้นมันก็ตายได้”

ผศ.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  เรื่องที่เปลี่ยนยากที่สุด คือ Mind Set  ถ้า Mind Set คนไม่เปลี่ยน ทุกอย่างก็อาจจะตายได้  คนที่จะอยู่รอด อาจมีจำนวนไม่มาก  นอกนั้นก็อยู่ในคอมฟอร์ทโซน เล่นไปตามมีตามเกิดในสิ่งที่เคยสร้างมาแค่นั้นเอง มันก็เลยอยู่ไม่รอด รู้อยู่แล้วว่าคนไม่อ่านก็ยังทำเนื้อหาเดิมๆ แล้วใครจะอ่าน ถ้าไม่ปรับตัว ไม่เผชิญปัญหา มีแต่วิ่งหนี ก็เลยตายจริงๆ

 

“เราต้องมามองว่า ทำไม The Crown, The Matter มีคนอ่าน เขาอยู่ได้ ทำไม BKซึ่งฟรีแต่รวยแล้วรวยอีก วิธีคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้าคนยังไม่ปรับเปลี่ยนตรงนี้ ไม่มียุทธศาสตร์ใหม่กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปในสังคม ก็ตาย ท้ายที่สุดทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน ถูกต้องที่สุด ที่ว่า สิ่งมีชีวิตถ้าจะอยู่รอดต้องปรับตัวเท่านั้น ถ้าไม่ปรับตัวก็ตาย เราไม่คิดว่าตลาดเลวร้ายหรือตลาดปิด มันก็เหมือนที่ทุกคนบอกว่าวิศกรเต็มประเทศชาติ แต่ก็ยังต้องใช้อยู่ เพียงแค่ว่าคนที่อยู่รอดคือคนที่เก่งจริงในสายนั้น อย่างที่เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยกำลังจะตาย ใช่มันตายแน่ๆ

 

มหาวิทยาลัยมหิดล ถือ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย มีชื่อเสียงด้านการผลิตนักศึกษาแพทย์ กระนั้น มหิดลได้เปิดสอนสาขาวิชาทางด้านเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนเช่นกัน อยู่ในส่วนของ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ “มหิดลอินเตอร์” โดยมี ผศ.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบ

เธอ กล่าวถึงการปรับตัวของสาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร มหิดลอินเตอร์ว่า ที่ผ่านมา ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสื่อและการสื่อสาร (Media and Communication) มา 4 ปี ปัจจุบันมี 2 สาขาให้เลือก ได้แก่ สาขา Mass Communication and Journalism เน้นการเล่าเรื่องจากข้อเท็จจริง และ สาขา Creative Content เน้นการเล่าเรื่องจากเรื่องสร้าง โดยอนาคต เตรียมเปิดสาขา Communication Management ซึ่งเป็นการรวมตัวของ Advertising / PR / Marketing / Brand Communication เข้าด้วยกัน  ขณะที่ระดับปริญญาโท และเอก ต้องรอความพร้อมของบุคลากรก่อน

หลักสูตรเหล่านี้ค่อนข้างจะเน้นการต่อสู้ในตลาด Southeast Asia ซึ่งคู่แข่งของเราคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ยากมาก เพราะการศึกษาเขาก้าวหน้าไปมาก เขาไม่ย้ำอยู่กับที่ ดังนั้น เราจึงต้องมีคลาสที่ทำให้เด็กเข้าใจในสื่อ Southeast Asia ด้วย ทั้งการเขียน กฎหมาย ทฤษฎี ฯลฯ

ปัจจุบันสถาบันมีอาจารย์ทั้งหมด 5 คน เป็นต่างชาติ 4 คนและคนไทยอีก1 คน โดยสถาบันใช้อาจารย์พิเศษค่อนข้างมาก  นักศึกษาตอนนี้มี 300 คน ที่อยู่ปี 4 มีจำนวน 26 คน แต่ปี 1 ที่เข้ามาใหม่เพิ่มขึ้นมากจำนวน 150 คน ก้าวกระโดดมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นบอกว่าไม่มีเด็กสมัคร ที่นี่เยอะขึ้น ทั้งเด็กไทย เด็กต่างชาติ และลูกครึ่ง เช่น อินเดีย-ไทย,  ไทย-อังกฤษ, ไทย-เยอรมัน รวมไปถึงเด็กแลกเปลี่ยนที่มาจากหลายๆ ที่ โดยสัดส่วนอยู่ที่เด็กต่างชาติ 30% และไทย 70% แต่เป็นคนไทยที่ภาษาอังกฤษดี

ผศ. วรรณ์ขวัญ กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรของสถาบัน ไปไกลมาก แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนเกือบล้าน บาท ขั้นตอนการคัดเลือกนักศึกษา เราคัดแค่ภาษาอังกฤษ และการสอบสัมภาษณ์ เพราะเราคิดว่าที่เหลือสร้างได้ แต่ในช่วงหลังก็มีเด็กที่เขาสนใจทางด้านนี้เมื่อรู้ว่าเราเปิดหลักสูตรก็เข้ามาเรียน บางคนชนะประกวดหนังมา ทำนิตยสารเป็นเล่มได้ตั้งแต่เรียนมัธยม ดังนั้น ครูก็ต้องพัฒนาตัวเองและสามารถไกด์เด็กได้ด้วย ครูต้องเป็นผู้ใหญ่พอสมควร ต้องดีเบตกันได้ อาจารย์ ก็ต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวก็ตาย ท้ายที่สุดการปรับตัวสำคัญที่สุด

“เด็กบางคนเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์หาเงินได้เป็นหมื่นๆ หรือบางคนไปจัดคอนเสิร์ต ได้แล้ว 3 แสน ดังนั้น ทุกครั้งที่เราได้เด็กแบบนี้ เราต้องมาคิดว่าต้องสอนอีกแบบ จะมานั่งสอนมาร์เกตติ้งคืออะไร ไม่ได้แล้ว เพราะเขาไปอีกสเกลหนึ่งแล้ว โจทย์ยากขึ้น ครูต้องเก่งขึ้น ซึ่งในอนาคตเราก็ต้องการเพิ่มครูคนไทยอีก แต่ก็ต้องคัดเลือกพอสมควร ตัวอาจารย์เองต้องมีความก้าวหน้าทางความคิดพอสมควร จะมาแบนๆ ไม่ได้ “

ผศ.วรรณ์ขวัญ ย้ำว่า แม้สถาบันจะเพิ่งเปิดสาขา วิชาสื่อและการสื่อสาร ได้ไม่นาน แค่  4 ปี  แต่ว่าข้อดีก็มีคือ ได้เห็นความล้มเหลวและการไม่สามารถขับเคลื่อนของหลักสูตรที่มีมาก่อนและไม่สามารถแข่งขันบนโลกนี้ได้ มีอะไรบ้าง ดังนั้น ตอนที่เราเขียนหลักสูตรจึงไม่เล่นตามฟอร์มวิทยุโทรทัศน์ ฟิล์ม วารสาร แต่เราพูดในเรื่องการสร้างคอนเทนต์ เพราะสื่อคือ การเล่าเรื่องว่าจะออกมาในฟอร์มไหน เช่น GAME OF THRONES  ถ่ายเป็นหนังแต่ออกมาเป็นซีรีย์ ดังนั้น จะมานั่งแบ่งไม่ได้แล้ว มันเป็นการหลอมรวมสื่อ  ถ้ามีเรื่องเล่าแบบหนึ่ง เราจะเล่าได้กี่ฟอร์ม และจะกระจายไปได้กี่แพลตฟอร์มจาก 1 คอนเทนต์เท่านั้น

...ดังนั้น ไอเดียจึงค่อนข้างต่างมากจากนิเทศศาสตร์ที่มีอยู่ เพราะเราไม่ได้แบ่งตามฟอร์ม แต่แบ่งตามหน้าที่ ได้แก่ Cross-Major Electives, Directing, TV Production, Writing, Acting, Critical Studies, Cinematography และ Marketing ดังนั้น ถ้าเขาเป็น Director ต้อง Director ได้ทุกรูปแบบ

ผศ.วรรณ์ขวัญ กล่าวว่า ตอนที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้น  สิ่งที่คิดไว้ก็คืออยากจะแข่งกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งเขาเรียนสั้นกว่าเรา คือเรียน 3 ปี ตอนที่เขียนหลักสูตรเอามาเทียบกันเลยว่าเขาสอนอะไร คนที่จบออกมาเขาทำอะไร แต่สิงคโปร์ปฏิบัติไม่เยอะจะเป็นวิชา Concept และทฤษฎีเยอะมาก แต่ของมหาวิทยาลัยเรา ในปีสูงๆ จะเป็นปฏิบัติเพื่อให้นักศึกษาทำงานเป็น และทำได้ดี จึงค่อนข้างต่างกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เปิดมา 4 ปี สถาบันมีการปรับลำดับขั้นของคลาส แต่เมื่อรุ่นแรกจบ จะต้องปรับใหญ่ โดยการลดคลาสที่ซ้ำกันและเพิ่มสาขาใหม่ที่เป็นด้าน Communication Management ขึ้นมา เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกในงานด้านเอเจนซี่ ที่เป็นตัวกลางระหว่างโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์และลูกค้า ในตลาดแรงงานยังขาดคนเก่งอยู่ เพราะส่วนใหญ่ตีความความต้องการของลูกค้าไปทางไหนก็ไม่รู้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องมีการเรียนการสอนในด้านพื้นฐานนิเทศศาสตร์อยู่

สำหรับความคาดหวังในตัวนักศึกษานั้น ผศ.วรรณ์ขวัญ กล่าวว่า  เด็กรุ่นแรกที่ไปฝึกงานพบว่า ได้ไปฝึกงานในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น บริษัทโฆษณาอย่าง บริษัท โอกิลวี่ฯ  หรือโปรดักชั่นเฮ้าส์อย่าง  หับ โฮ้ หิ้น ทางอาจารย์ ไม่ได้ช่วยหา นักศึกษาเขาหาเอง พอเขาไปทำ เราก็ไปสัมภาษณ์นายจ้าง ก็ได้ฟีดแบคค่อนข้างดีมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องงานด้านสายข่าว เนื่องจากเด็กพวกนี้เขาไม่ฮาร์ดคอร์ ความลุ่มลึกและความอดทนในการค้นหาความจริงไม่พอ แต่ถ้าให้ทำ Documentary ให้ทำเกี่ยวกับหนังนั้นสามารถทำได้

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย