ทางออกที่ “คนสื่อ” ต้องทำ คือ ต้องอยู่ในที่ที่คนมองเห็น ในที่ที่คนอยู่เยอะๆ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ine today สามารถเจาะในสิ่งที่สำนักพิมพ์ กับ ผู้อ่าน ต้องการ เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งสองฝั่ง สำนักพิมพ์อยากได้ช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ก็สามารถใช้ line today ความน่าจะเป็นของคนใช้งานไลน์ 42 – 43 ล้านคน ความเร็วไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอข่าวในยุคปัจจุบันแล้ว แต่ความจริง ถูกต้อง และส่งเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย” หัวหน้าธุรกิจ LINE TODAY, LINE ประเทศไทย ................... ทางเลือก-ทางรอด โมเดลธุรกิจสื่อ ดิ้นสู้คลื่นดิจิทัล ปฏิวัติโลก เมื่อโลกขยับ....ต้องปรับตัว เป็นประโยคที่ “คนในวงการสื่อ” ได้ยินกันจนชินหูมานานนับ 10 ปี โดยเฉพาะ 2-3 ปีหลัง ในห้วงที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่ 4 หลายธุรกิจไม่ว่าเล็ก-กลาง-ใหญ่ ถูกผลกระทบจาก Disrupt technology รวมถึงธุรกิจสื่อ ไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร หรือ ทีวี คนที่เคยจับกระดาษ อ่านหนังสือ เปลี่ยนมาถือสมาร์ทโฟน เลื่อนหน้าจอมือถืออ่านเนื้อหาข่าวบนแอพพลิเคชั่น คนที่เคยดูโทรทัศน์ วันนี้ หันมาดูแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า youtube Netflix ทำให้ “สำนักข่าว” ผู้ผลิตคอนเทนท์ต้องปรับกระบวนท่าใหม่ ขายเนื้อหาของตนเองบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เรียกว่า โซเชียล มีเดีย ไม่ว่า Facebook - Youtube - Google - Line เพราะเป็นช่องทางที่ใช้เข้าถึงคนอ่านได้มากกว่า และยิ่งใครๆ ก็ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ สามารถสร้างคอนเทนท์ของตัวเองขึ้นมาแข่งกับสื่อ – สำนักพิมพ์ได้อีก แล้วสื่อหลักจะปรับตัวกันอย่างไร? ต่อไปนี้คือ มุมมองของผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์ม” ใหม่ๆ ที่สื่อต้อง “พึ่งพา” และอาจมีความสำคัญถึงขนาดเป็นทางเลือก - ทางรอดคนสื่อยุค 4.0 จากภาวะ disrupt technology @ Line คนกลาง เชื่อมสื่อ - คนอ่าน “ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย” หัวหน้าธุรกิจ LINE TODAY, LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ส่งที่เปลี่ยนแปลงมากๆ คือ เทคโนโลยีซึ่งมาเร็วมาก คนสามารถสร้างสรรค์คอนเทนท์ได้เร็วมากขึ้น ณ ตอนนี้ publisher (สำนักพิมพ์) และผู้อ่านมีเยอะมากขึ้น สามารถใช้โซเชียล มีเดีย หลายๆ ช่องทาง ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งในมุมมองคนอ่านการที่มีคอนเทนท์เยอะมหาศาลจนเสพคอนเทนท์ไม่ทัน เพราะมีการอัพเดทแทบทุกวินาที แต่สิ่งสำคัญคือ จะไปหาอ่านที่ตรงไหน ...ดังนั้น โซเชียล มีเดีย คือ “คีย์” หลักสำคัญเป็น “ทางเลือก” มากกว่า “ทางรอด” ให้ผู้สื่อข่าวสามารถอยู่ได้ ให้คอนทนท์ออกไปสู่คนทั่วไปได้มากขึ้น เครื่องมือในการผลิตคอนเทนท์ก็มีมากขึ้นเมื่อเทียบแต่ก่อน ปัจจุบันการใช้นิ้วมือเลื่อนขึ้นเลื่อนลง ทุก action ที่เกิดขึ้นเวลาคนเล่นสมาร์ทโฟนสามารถจับได้หมดว่าวันๆ หนึ่งเลื่อนนิ้วกี่ครั้ง สามารถเอาข้อมูลมาทำให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสรรค์คอนเทนท์ ตามความต้องการของผู้รับสารได้ แม้ว่าคนดูทีวีน้อยลง อ่านกระดาษน้อยลง แต่มีช่วงเวลาที่คนใช้สมาร์ทโฟนค่อยๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ แพลตฟอร์มที่คนใช้เวลาไปกับมันบ่อยที่สุดคือ ไลน์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล “ชรัตน์” แนะทางออกที่ “คนสื่อ” ต้องทำ คือ ต้องอยู่ในที่ที่คนมองเห็น ในที่ที่คนอยู่เยอะๆ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “line today สามารถเจาะในสิ่งที่สำนักพิมพ์ กับ ผู้อ่าน ต้องการ เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งสองฝั่ง สำนักพิมพ์อยากได้ช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ก็สามารถใช้ line today ความน่าจะเป็นของคนใช้งานไลน์ 42 – 43 ล้านคน” “ชรัตน์ “ มองว่า ความเร็วไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอข่าวในยุคปัจจุบันแล้ว แต่ความจริง ถูกต้อง และส่งเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย “ไม่ใช่ทำคอนเทนท์เดียวแล้วจะเหมาะกันทุกๆ แพลตฟอร์ม ให้คิดถึงว่า ณ ตอนนี้แพลตฟอร์มนี้เหมาะกับอะไร สามารถใช้แพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์เท่าที่เป็นไปได้ สิ่งที่เรียกว่า smart device สามารถเรียนรู้ว่าที่ผ่านมาเราเคยเข้าเว็บอะไร ประเภทไหน เคยดูคอนเทนท์อะไร จับพฤติกรมก่อนหน้านี้ว่าผู้อ่านสนใจอะไร ซึ่ง Line มี AI เข้ามาช่วยคัดกรองเนื้อหา เพื่อให้สามารถดูอัลกอริทึมว่า ผู้อ่านชอบอ่านข่าวหมวดหมู่ใด เพื่อคัดเลือกคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายของ Line today ช่วยสื่อให้อยู่รอดได้” @ Google สร้างหลักสุตร “อัพเกรดคนข่าว” ในปี 1998 หรือ 20 ปีที่แล้ว Google เริ่มต้นเป็นบริษัทเทคโนโลยี Search engines จากโรงจอดรถ และสร้างอัลกอริทึมที่เรียกว่า “Pagerank” ขึ้นมา เพื่อเรียงลำดับเว็บไซต์ที่คนค้นหา บนหน้า Google เว็บไหนที่คนคลิกมากที่สุดจะอยู่อันดับแรกของการค้นพบ 20 ปีให้หลัง Google กลายเป็นทางเลือก – ทางรอดที่สำนักข่าวที่ขาดไม่ได้ เพราะเวลาผู้อ่านต้องการค้าหาข่าว คำตอบแรกที่อยู่ในพฤติกรรมของผู้บริโภคคือ ค้นหาข่าวผ่าน Google“นส.สายใย สระกวี” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ Google (Thailand) Company Limited
“นส.สายใย สระกวี” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ Google (Thailand) Company Limited ขยายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า Google ตั้งมา 20 ปี มีภารกิจที่ไม่เคยเปลี่ยนคือต้องการมีส่วนร่วมจัดการข้อมูลข่าวสารบนโลกใบนี้ โดยผู้สื่อข่าวทำสิ่งเหล่านี้มาก่อนที่จะมี Google เพราะผู้สื่อข่าวนำข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการให้กับผู้อ่านได้อ่าน เมื่อ Google เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยี จึงมีโปรเจกต์ที่ให้ผู้สื่อข่าวมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี คือ Google News Initiative โดยลงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนานักข่าวและสำนักข่าวทั่วโลก โดยใช้พัฒนาการเทคโนโลยีในการผลิตข่าว และนำข่าวไปถึงผู้เสพข่าวรอบโลก ซึ่ง Google News Initiative จะมีหลักสูตรเป็นภาษาไทยภายในปีนี้ “Google มีคอร์สออนไลน์ มีเครื่องมือที่เหมาะกับการทำข่าว เช่น Google Translate จากแปลภาษาเป็นคำๆ ปัจจุบันเริ่มเข้าใจรูปประโยคภาษาไทยได้ ช่วยให้ทำงานข่าวได้ง่ายขึ้น Image Search สามารถค้นหารูปภาพต้นฉบับได้ว่ามาจากแหล่งใด ส่วน Google doc online เป็นประโยชน์มากสำหรับงานข่าว หากใช้จดโน้ตนอกสถานที่ คนที่ใช้ Google doc online ร่วมกันอยู่ในออฟฟิศสามารถเห็นแบบเรียลไทม์ได้ อาจทำให้การอัพเดตข่าวง่ายขึ้น” “Google trends มีประโยชน์มากต่อข้อมูลข่าวสาร เพราะในต่อปีมีการค้นหาเป็นล้านๆ ครั้ง มีเว็บไซต์ 130 ล้านเว็บไซต์ ที่ค้นหาเจอในโลก ซึ่ง Google trends สามารถรู้ได้ว่าคนในโลกสนใจเรื่องอะไรต่อไปนี้ คีย์เวิร์ดแบบไหนที่คนกำลังสนใจอยู่ เช่น ในอเมริกา มีคำค้น “ย้ายไปแคนาดา” สูงมากในช่วง โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง หรือ หาได้ว่าพื้นที่ไหน ชอบเพลงแบบไหน จะได้เขียนข่าวหรือสัมภาษณ์บุคคลได้ตรงกับความสนใจมากที่สุด” “นอกจากนี้ Google news lab ช่วงเลือกตั้งในสหรัฐฯ สามารถดูได้เลยว่าคนสนใจข่าวอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเลือกตั้ง นโยบายใดที่คนสนใจ เครื่องมือทั้งหมดใช้ฟรี ดังนั้น ถ้าเราสนใจเรื่อง Big data นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วเข้าไปใช้มัน เราสามารถนำข้อมูลมาเขียนข่าว นำเสนอให้น่าสนใจมากขึ้น” เป้าหมาย 3 ข้อ ของ “Google News Initiative” 1.ต้องการผลิตเครื่องมือช่วยให้นักข่าวทำงานได้อย่างง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีออนไลน์ เทรนนิ่ง 2.ต้องการสร้างรายได้ สร้างการเติบโตธุรกิจร่วมมือกับเจ้าของสื่อ สมาคมนักข่าว เพราะเชื่อว่าเราคือแพลตฟอร์ม เป็นโลกที่เปิดให้ทุกคนมาอยู่บนโลกออนไลน์ ต้องการให้โตไปด้วยกัน Google มีทีมในเมืองไทยที่จะดูโดยเฉพาะว่า ขึ้น youtube อย่างไรให้ธุรกิจเติบโต การใช้ Google Ads อย่างไร 3.ทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าวทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องข่าวปลอม ซึ่ง Google ให้ความสำคัญ และเพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่ผิด “อนาคตเราทำงานร่วมกับนักข่าวเยอะมากๆ และอนาคตเราต้องทำงานร่วมกัน มีหลายอย่างที่ต้องทำร่วมกัน เพื่อการนำเสนอข่าวในโลกเทคโนโลยี ซึ่งกูเกิล พร้อมที่จะทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ สำนักข่าว ที่จะโตไปด้วยกัน” @ ใช้ “จอบ” ขุดดิน เป็นใช้ “แบคโฮ” ด้านคนทำสื่ออย่าง “ก้าวโรจน์ สุตาภักดี” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองหาทางรอดของสื่อในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ว่า คนปัจจุบัน คนอ่านหนังสือพิมพ์คือคนแก่ ส่วนวัยรุ่นคือ กินกาแฟ ใส่หูฟังเพลง เทคโนโลยีปัจจุบันมีแค่กล้องโทรศัพท์และสมาร์ทโฟน ทำสื่อยุคปัจจุบันไม่ต้องไปซื้อแท่นพิมพ์ราคา 200 ล้านบาท ไม่ต้องซื้อเครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์บนโทรศัพท์ก็จบในที่เดียว “ตรงไปตรงมาคือ ต้องวิเคราะห์ผู้บริโภค บรรณาธิการต้องมีความเชื่อมั่นในเทรนด์ของข่าวที่นำเสนอ ในปัจจุบันถ้าทำคลิปวีดีโอที่เป็นไวรัล ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คนอ่านอะไรเวลาไหนเราต้องรู้ ข่าวอยู่ไม่ถูกที่คนก็ไม่อ่าน เพราะข่าวออกทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม Line Facebook Whatsapp ต้องรู้จักการเผยแพร่ รู้จักกระแส รู้จักเซ็ตให้ไปอยู่เชแนลที่ส่งต่อได้ง่าย ข่าวจะมีประโยชน์ต่อเมื่อถเข้าถึงมือผุ้คนได้เยอะที่สุด ในเวลาที่ถูกต้อง เวลานี้เอนเกจเมนท์คนได้เยอะที่สุดคือ วีดีโอ ถ้าอยากให้คนอ่านเยอะ สามารถบูทโพสต์ เลือกกลุ่มเป้าหมายได้” “เพราะวันนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค มีการวิจัยว่าวันหนึ่งคนก้มๆ เงยๆ หยิบโทรศัพท์มือถือ 200-300 ครั้งเป็นเรื่องจริง ทุกวันนี้จะต้อง Change ห้าม Transform ถ้าองค์กรใดยังไม่เปลี่ยนเป็น ยุคดิจิทัลมี 2 ตำแหน่งที่ควรเปลี่ยนคือ หัวหน้า HR กับ CEO ถ้าไม่เข้าใจมาย์เซ็ต โลกของดิจิทัล ก็บริหารองค์กรที่เป็นดิจิทัลไม่ได้” “ก้าวโรจน์” ฉายทางรอดคนทำงานสื่อว่า มี 3 แกน ที่ควรทำแกนแรกทำ digital marketing – big data monetization เปลี่ยนคลังข้อมูลให้กลายเป็น “เงิน” มีการ วิเคราะห์ Big data & analysis และหารายโฆษณาได้ผ่าน ad monitor (eCPM) แกนที่ 2 Technical Technics Create Our platform การใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อนนำข่าวไปถึงมือผู้บริโภค การเอาคอนเทนท์ออกไปทุกแพลตฟอร์มที่มี แกนที่ 3 คอนเทนท์ไหนเยอะ ต้องทำให้หมด เอนเกจเมนท์ไหนเยอะต้องแชร์ให้หมด แล้วไม่ต้องซื้อบูทโพสต์เลย แชร์ครั้งเดียวคนดูเป็นพันคน ทั้ง คอนเทนท์ออนไลน์ คอนเทนท์ในโซเชียล วีดีโอคอนทนท์ “คนไทยก็ยังบริโภคคอนเทนท์แบบเดิม เพียงแต่คอนเทนท์ไปอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว เช่นเทรนด์วันหวยออก คนก็เสิร์ชชื่อเว็บไซต์ แปลว่า สำนักพิมพ์หรือเว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือหรือข้อมูลที่เขาต้องการอยู่ ทุกแพลตฟอร์มมีเงินเข้ามาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับเข้าใจกระบวนการหาเงินหรือเปล่า ทำอย่างเดียวไม่ได้ต้องรู้ว่าเงินมาอย่างไร รอดแน่นอน เพียงต้องศึกษา เหมือนวันหนึ่งใช้จอบ มีแบคโฮก็ต้องลองหัดขับ” @ ทางรอดใหม่ สไตล์ “สุทธิชัย” ความกลัว กลัวว่าฉีกตัวออกมาแล้วจะไหวไหม จะรอดไหม...? กลัวว่าทำผ่านโซเชียลมีเดียแล้วจะมีคนดูไหม จะเอาอะไรไปพูด...? “ความไม่กลัวอย่างเดียวไม่พอ แต่ก็สำคัญมาก เพราะทำให้กล้าลองสิ่งต่างๆ ถ้ามันไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไร แค่ลองใหม่ ฉะนั้น พอมีทวิตเตอร์ มีบล็อก ผมก็เข้าไปลองเลย ไม่ได้รู้เรื่องเทคโนโลยีมาก แต่ระหว่างความกลัวเทคโนโลยี กับความตื่นเต้นที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ความตื่นเต้นมีมากกว่า ผมจึงลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ” เป็นคำพูดของนักข่าวอาวุโสระดับตำนาน “สุทธิชัย หยุ่น” ที่วันนี้เขากลายเป็น Content Creator เต็มตัว คนในสังเวียนข่าวทุกคนย่อมรู้ดีว่า “สุทธิชัย” คือนักข่าวที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้รายงานข่าว เพื่อสร้างมติใหม่ให้กับค่ายเนชั่นอยู่เสมอ หลังออกจากเครือเนชั่น “สุทธิชัย” ก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า “บริษัท กาแฟดำ จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิต และรับจ้างทำรายการทางโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อ โมเดลธุรกิจใหม่ของ “สุทธิชัย” ยังคงเป็น “ข่าว” แต่ไม่ใช่สื่อกระดาษอีกต่อไป เขากระโจนคลุกวงในกับเทคโนโลยี ใช้เรือลำใหม่ที่เขาเรียกว่า “สปีดโบ๊ท” โต้กับลูกคลื่นเทคโนโลยีอย่างไม่มีฝ่ายใดยอมให้แก่กัน “ต้องปรับวิธีการนำเสนอและเนื้อหา คำถามแรกๆ ที่ผมชวนทีมคิดคือ สิ่งที่เราผลิตอยู่ทุกวันนี้ยังมีคนต้องการไหม ถ้าเราไม่มีอะไรที่ลึกและฉีกแนวกว่าคนอื่น คนจะมาเสพเราไหม คนต้องการสิ่งที่หาเสพจากที่อื่นไม่ได้” สำหรับสื่อทั่วไป การปรับตัวยังไม่เกิดขึ้น เพราะคิดว่ายังทำงานแบบเดิมได้ ก้มหน้าก้มตาทำงาน หัวหน้าก็คงพาเราไปรอดได้ ผมขอเปรียบเทียบว่าสื่อดั้งเดิมเหมือนอยู่ในเรือเอี้ยมจุ๊น เทอะทะ ผุผัง รั่วแล้ว ในภาวะปกติก็อาจจะพอแล่นได้ แต่ทุกวันนี้เรือเอี๊ยมจุ้นกำลังเจอพายุ และเป็น perfect storm เสียด้วย ผู้โดยสารก็เยอะ สัมภาระก็หนัก แล้วเรือมันจะไปหมดได้อย่างไร อย่าคิดว่ากัปตันหรือเจ้าของเรือจะพาเรารอดได้เสมอไป เราเป็นสปีดโบ๊ทลำเล็กๆ ทุกคนต้องหาสปีดโบ๊ทของตัวเอง มีคนไม่ต้องเยอะ แต่ต้องนั่งคุยกันให้ชัดว่าเราจะทำเนื้อหาอะไรที่คนต้องการและหาจากที่อื่นไม่ได้ ใครเชี่ยวชาญในด้านข่าวสิ่งแวดล้อมก็ทำให้ลึกอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์จนนำไปสู่การแก้ปัญหา นำเสนอผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย ไม่ต้องลงทุนเยอะ มือถือนี่แหละ เนื้อหาต้องลึก ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม และสร้างให้เกิดกลุ่มผู้ติดตามเราให้ได้ “สื่อจะถูกหรือผิดไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณได้เรียนรู้ ในโลกสมัยใหม่นี้ คุณ fail ได้ ล้มเหลวได้ ไม่มีใครล้ม แต่ fail fast ล้มเร็ว แล้วลุกทำให้ เรียนรู้ใหม่ จะได้ปรับตัว แก้ไขทัน และเริ่มต้นใหม่” กับคำถามที่ว่า วงการสื่อปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทำอย่างไรให้การแข่งขันเป็น climb to the top (ไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุด) ไม่ใช่ race to the bottom (แข่งกันลงต่ำ)? “ถ้าเป็นการแข่งขันที่ race to the bottom แข่งกันต่ำเตี้ยลงก็อยู่ไม่รอดอยู่ดี แต่ถ้าแข่งเพื่อเรตติ้ง หรือ ยอดไลค์ คนก็จะรู้ ทุกวันนี้คนอ่านฉลาดขึ้น เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ถ้าเป็นการแข่งกันสร้างคุณภาพ คนจะเห็น ผมฝันถึงขนาดคนไทยพร้อมจะจ่ายเงิน ถ้าคุณทำอย่างมีคุณภาพถึงจุดหนึ่ง คุณจะเห็นว่าถ้าไม่สนับสนุนก็จะไม่มีสื่อแบบนี้ต่อไป” สื่อหลักในเมืองนอกอย่าง The New York Times ที่เคยมีปัญหาทางการเงิน ก็ฟื้นขึ้นมาด้วยระบบจ่ายเงินแบบวันนี้? “ฟื้นมาและดีขึ้นกว่าเดิมด้วย คนอื่นที่ตายไปก็เพราะไม่ปรับตัว เหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตัวจริงยังอยู่ แถมแข็งแกร่งขึ้นอีก รายได้มาจากสมาชิกที่พร้อมจะจ่ายเงิน ซึ่งแสดงว่าต้องรักสถาบันนั้นมาก และมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ นิตยสารอย่าง The New Yorker ก็อยู่รอดได้ The Economist ก็เช่นกัน ใช้สูตรเดียวกัน อ่านออนไลน์ก็ต้องจ่ายเงิน หลายเจ้าอ่านในมือถือก็ราคาเท่ากับนิตยสารเลย เพื่อแลกกับเนื้อหาที่คนอื่นสู้ไม่ได้ “เราคิดว่าคนไทยคงไม่จ่ายเงิน แต่ถ้าคุยกับคนไทยจำนวนหนึ่ง จะพบว่าเขาเบื่อสื่อหลักมาก ไม่มีอะไรดูจึงมาดูในมือถือ ถ้าสื่อมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาได้ ถ้าคนไทยไม่พร้อมจ่าย สื่อคุณภาพก็เจ๊งหมด” ทุกบรรทัด - ทุกวรรคตอน เป็นทางเลือก - ทางรอด ของสื่อเพื่อนดิ้นสู้ Disrupt technology หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย