ไขความลับ 10 ปี “ไทยรัฐออนไลน์” 3 ปัจจัย สู่เบอร์หนึ่งเว็บไซต์ข่าว

รายงานพิเศษ

โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

ไขความลับ 10 ปี “ไทยรัฐออนไลน์” 3 ปัจจัย สู่เบอร์หนึ่งเว็บไซต์ข่าว


 

หลายสิบปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผูกขาดครองแชมป์ยอดพิมพ์และจัดจำหน่าย สูงสุดในประเทศที่ยังไม่มีใครมาแย่งตำแหน่ง

แต่ในยุคดิสรัปชั่น “สมรภูมิข่าว” เปลี่ยนแปลงไป หลายสื่อเริ่มกระโดดไปแข่งขันในโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นของใหม่และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ผ่านไป  10 ปี  นอกจาก ไทยรัฐออนไลน์ จะก้าวสู่ตำแหน่งเว็บไซต์ข่าวที่มียอดวิวสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศแล้ว ล่าสุดยังเริ่มหยิบเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเล่าใช้เล่าเรื่อง สร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับคอนเทนต์ของตัวเอง ซึ่งว่ากันว่าจะปลุกให้ห้อีกหลายสื่อเริ่มขยับและปรับตัวกันยกใหญ่

“อภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์” กล่าวว่า “มันคือการปรับตัว”  ไทยรัฐออนไลน์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะ 2-3 ปีหลังมีการปรับตัวสูงมาก

องค์กรข่าวทั่วไป มีความเข้มแข็งทางด้านข่าวอยู่พอสมควรเพราะอยู่ในสนามมานาน โดยเฉพาะองค์กรข่าวที่มีหนังสือพิมพ์ หรือ ทีวีเป็นเบส แต่สิ่งที่สำคัญบนโลกออนไลน์ นอกจากความเข้มแข็งทางด้านข่าวแล้ว มันเป็นเรื่องความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ด้วย ซึ่งมีหลายอย่างมากที่จะมาเสริมทำให้คนหันมาสนใจคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ มันคือการปรับตัว

 

อภิรักษ์  มองว่าสิ่งที่ทำให้ ไทยรัฐออนไลน์ก้าวสู่เว็บไซต์ข่าวที่มีคนอ่านมากที่สุดมาจากหลายปัจจัย

1. มายด์เซ็ต ของ กองบก.ออนไลน์ ทั้งหมด ทั้งวิธีการมองว่า กลุ่มคนอ่านเขา เขาเสพคอนเทนต์ ประเภทอะไร เพื่อจะได้เสนอให้ตรงความต้องการของเขา พอทำแล้วก็มีการปรับตัว พาดหัวให้น่าสนใจขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือเหมือนเดิม

2. กองบก.เองก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน  เป็นบริษัทที่มีรูปแบบเทคโนโลยีเบส เป็นทีมเล็ก ๆ ทำงานคล่องตัวขึ้น ตัดสินใจได้เร็วขึ้น  มีการเทรนนิ่งในแต่ละทีมให้เขาเลือกนำเสนอ คอนเทนต์ ข่าวได้เร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านการตัดสินใจหลายกระบวนการ

 

กระบวนการตรงนี้ค่อนข้างเข็มแข็งมาก เพราะถ้ามีอะไรหลุดออกไป ก็จะส่งผลเสียสูงสมาก ดังนั้น การอบรมเทรนนิ่งจะเป็นไปอย่างเข้มแข็ง

เพราะไม่อยากปล่อยให้มีอะไรหลุดไป”

ทั้งนี้ โครงสร้างจะแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมแรก  Data Driven ซึ่งเป็นปกติของทีม บก. ที่จะต้องนำดาต้าของยูสเซอร์ พฤติกรรมของยูสเซอร์มาวิเคราะห์ว่า คอนเทนต์แบบไหนที่คนอ่านเยอะ คอนเทนต์แบบไหนที่คนใช้เวลาอ่านนาน ที่จะสะท้อนถึงคุณภาพ คอนเทนต์ที่ดี   ตรงนี้กอง บก.ทุกคน จะดูทุกวันแบบเรียลไทม์

ทีมที่สอง เป็นการนำดาต้ามาทำเป็นคอนเทนต์ คือ Data Journalism  Data Visualisation ซึ่งมีทีมรับผิดชอบโดยเฉพาะ การจะได้ผลงานออกมา 1 คอนเทนต์ จะใช้เวลามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ประเด็นนั้นๆ ว่าเล็กหรือใหญ่

 

DNA ไทยรัฐ คือข่าวชาวบ้าน

แต่ต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้วย

บก.บห. ไทยรัฐออนไลน์” อธิบายว่า การอบรมคนในกองบก. จะมีทั้งสองทีม เช่น  ส่วนแรกจะอบรม Google Analytics  วิเคราะห์ ข้อมูล วิเคราะห์ ยูสเซอร์  อีกฝั่งหนึ่ง ก็จะอบรมการเล่าเรื่องผ่านดาต้าว่าจะใช้วธีไหน การจัดเก็บข้อมูล Data Cleaning  ทำให้เป็นงานที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเรื่องไหนที่คนอ่านน้อย แล้วจะไม่ทำเลย เพราะหากเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศ เช่น ข่าวการเมืองบางข่าว ข่าวเศรษฐกิจบางข่าวที่คนอ่านน้อยมากแต่ในฐานะองค์กรข่าวเราก็ยังต้องทำ

แต่ดีเอ็นเอความเป็นข่าวของไทยรัฐคือข่าวชาวบ้านอยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่า คนอ่านข่าวในประเทศไทย อาจจะชอบข่าวสีสัน ข่าวบันเทิง เราก็ยังให้ความสำคัญ ไม่ได้ทิ้ง เพียงแต่เรา อยากจะเพิ่มสัดส่วน แต่แต่ก่อนตรงนี้อาจจะเยอะ 90 % เราก็จะเพิ่มองค์ความรู้ การพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่เราอยากทำทั้งสองขา

อภิรักษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของข่าวฮิวแมนอินเทอเรสต์ ถ้าสังเกต ดู หลังๆ ไม่ได้นำเสนอแบบปล่อยออกไปแล้วจบ เพราะพยามตามต่อว่าเกิดอะไรขึ้น สมมติข่าวจากคอนเทนต์โลกโซเชียล ก็จะพยามตามสัมภาษณ์ต่อให้มีมากกว่าแค่เกิดอะไรขึ้นบนโลกออนไลน์แล้ว ก็อปปี้มาวางแล้วปล่อยออกไป

 

3. เราปรับตัวและเรียนรู้สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ถ้าเราสังเกตช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ทุกเว็บจะแข่งกันด้วยความเร็วอย่างเดียว อะไรที่เป็น กระแสก็ทำตามกันไป ข่าวทุกอย่างก็จะออกมาคล้ายๆ กัน เป็นโทนเดียวกันอย่างเรื่องในโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะนำเสนอคล้ายๆ กัน จนเรารู้สึกว่า  มองไปทางไหนก็เห็นอะไรคล้ายๆ มันจึงเกิดคำถามว่า คนที่เสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ควรจะได้อะไรมากกว่าข่าวทั่วไปอย่างนี้หรือไม่

“เป็นอีกการปรับตัวครั้งใหญ่ประกอบกับเป็นการเก้าเข้าสู่ปีที่ 10 คนมองไทยรัฐเป็นองค์กรข่าวที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเราจะเป็นองค์กรข่าวที่เป็นมมากกว่าการนำเสนอข่าวแค่ใครทำ อะไรที่ไหน แต่เราจะเป็นมากว่านั้น”

 

ปลาทูไทย ศาสตร์ใหม่ของคนทำข่าว

บก.บห.ไทยรัฐออนไลน์ ขยายความว่า ข่าวทั่วไปเราก็ยังทำอยู่ในสิ่งที่ประชาชนสนใจเป็นฮิวเแมนอินเทอเรสต์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่ชอบอ่านสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือเราอยากทำ คอนเทนต์ที่กระตุ้น หรือ สร้างองค์ความรู้อะไรให้กับสังคมไทยบ้าง  ซึ่งพวกคอนเทนต์แบบนี้ เป็นข่าวที่มีความเข้มข้น ซับซ้อน ของข้อมูลสูงมาก

 

ยกตัวอย่างเรื่อง  “ปลาทู” https://www.thairath.co.th/showcase/platu

"ปลาทูไทย" กำลังจะหายไปจากโลก - thairath.co.th

"ปลาทูไทย" ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย

www.thairath.co.th

 

 

ซึ่ง อภิรักษ์ มองว่าป็น ศาสตร์ใหม่ของคนทำข่าวที่ไม่ใช่การเขียนข่าวแบบมีย่อหน้าแรก ย่อหน้าสอง ย่อหน้าสาม แต่มันต้องมองว่า เรื่องนี้จะแปลเป็นภาพยังไง แปลเป็นวิชวลไลซ์แบบไหนให้คนเข้าใจ โดยที่ดูแป็บเดียวแล้วเข้าใจได้เลย นี่เป็นอีกการปรับตัว ที่จะต้องทำงานร่วมกันหลายส่วนทั้ง ฝั่ง ดาต้า วิชวลไลซ์ กราฟฟิค

รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ ตกลงว่าจะทำเรื่องปลาทู  ก็ไปสู่ขั้นตอนทำรีเสิร์ช สัมภาษณ์นักวิชาการ หลายท่าน หลายหน่วยงาน ไปขอข้อมูล คลีนนิ่งข้อมูล เกือบ 2 เดือน และมาทำเป็นกราฟฟิค วิชวลไลเซชั่นอีกเดือนหนึ่ง

 

ปัญหาอย่างหนึ่งของการทำคอนเทนต์แบบนี้คือ ถ้าเราไม่มีข้อมูล ก็จะเอามาเล่นอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นต้องมาดูว่าเรื่องไหนมีข้อมูลเอามาเล่นได้ บางครั้งก็ขาดๆ หายๆ ปัญหาหนึ่งของราชการคือ ข้อมูล ขาดๆ หายๆ เก็บปีนี้ อีกสองปีไม่มี น่าเสียดาย เราก็ต้องตัดออกไป

อภิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับยอดคนอ่านหลักแสนจริงๆ ถือว่าเยอะสำหัรบคอนเทนต์ที่เป็นแนวนี้  แต่ที่น่าดีใจกว่ายอดคนอ่านคือ มันทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ได้มีแค่ข่าวที่เราเคยดูๆ มันมีมากกว่านั้นได้ โดยเรื่องนี้ใช้เวลาทำ 3 เดือน ใช้คนทำรวมหลักสิบคน ใช้เงินไปเยอะ แต่เสียงตอบรับกลับมาก็เป็นที่น่าพอใจ

“สิ่งที่เราได้กลับมามันมีค่ามากในเชิงความรู้สึก มุมมองที่มีต่อไทยรัฐออนไลน์ อยากให้คนมองไทยรัฐซึ่งเป็นสถาบันข่าว มีคอนเทนต์ที่ดี และสร้างองค์ความรู้อะไรให้กับคนไทย สะท้อนมาจากคนที่มีชื่อเสียงบนโลกออกนไลน์ชื่นชม แม้แต่คนทั่วไปที่แชร์และบอกต่อว่าคอนเทนต์เหล่านี้มีประโยชน์ ซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อน เลย ว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปจากโลก”

สำหรับเหตุผลที่เลือกทำเรื่องปลาทูไทยเป็นเรื่องแรกนั้น ประการแรกเพราะ  เราคิดว่าคนไม่รู้ว่าทุกวันนี้ปลาทูที่กินอยู่ไม่ใช่ปลาทูไทย แล้วจะทำยังไงให้เกิดการ ฉุกเคิดขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่กินอยู่ไม่ใช่ปลาทูไทย ซึ่งจะกระจายไปได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นเรื่องที่คนคิดไม่ถึงไปกระตุ้นเขาว่า “อ้าว....มันเป็นแบบนั้นหรือ” ปลายทางก็อยากให้คนช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่งั้นปลาทูไทยก็จะหายไปเรื่อยๆ

อีกส่วนเราคิดว่าถ้าเราจะทำคอนเทนต์แบบนี้ขึ้นมาสักอัน แล้วทำเป็นเรื่องหนักๆแบบข่าวไปเลย ก็เป็นเรื่องปกติที่ไทยรัฐจะทำ แต่คงไม่มีใครจะคิดว่า ไทยรัฐ จะหยิบเรื่องที่เหมือนจะไม่ใช่ข่าวอย่างปลาทูมาทำ อยากให้คนที่เขาเห็นคอนเทนต์นี้ได้เห็นอีกมุมของไทยรัฐออนไลน์ว่าเราก็ไม่ใช่มีแค่ข่าวอย่างเดียว คอนเทนต์แบบนี้ เบาหน่อยเราก็สามารถหยิบขึ้นมาทำไ้ด้

 

ปัญหาพับลิเชอร์ไทยคือ ทักษะ และ การลงทุน

ปัจจุบัน ไทยรัฐออนไลน์ถือเป็นกองบก.ที่แยกออกมาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  เป็นเหมือนสำนักข่าวหนึ่งที่ทำข่าว ดูแลเนื้อหาในแพลตฟอร์มของตัวเอง มีพนักงานทั้งหมดประมาณร้อยคน เป็นกองบก.ประมาณ 40-50 คน ที่เหลือจะมีทั้งฝ่ายสนับสนุน ทั้ง โซเชียลมีเดีย กราฟฟิค ฯลฯ

 

บก.บห. ไทยรัฐออนไลน์. กล่าวว่า การปรับโฉม 10 ปี ไทยรัฐออนไลน์ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ โลโก้ดูทันสมัยขึ้น  เพิ่มคอนเทนต์ “The Story” หยิบยกประเด็นเรื่องหนึ่งมาเป็นประเด็นหลักแล้วแตกเป็นประเด็นย่อยไปเรื่อยๆ 6-9 เรื่อง เช่นทำเรื่องกัญชาก็จะมีทั้งเรื่องการรักษาโรค เศรษฐกิจ สังคม เอากัญชามาทำขนม โดยจะทำ 2 อาทิตย์ หนึ่งประเด็น

อภิรักษ์” กล่าวว่า ก้าวต่อไปที่กำลังจะทำคือในส่วนของ “หลังบ้าน” ที่จะนำเอา AI และ อัลกอริทึ่ม มาจับพฤติกรรมคนอ่านว่าเขาชอบอ่านอะไร ดังนั้นในหน้าแรกก็จะมีกล่องหนึ่งที่หากเขาเปิดขึ้นมาก็จะเห็นสิ่งที่เขาชอบอ่านอยู่ในกล่องนี้  อีกส่วนหนึ่งคือการปรับ วิชวลไลเซเชั่น นำเทคโนโลยีมาทำให้เว็บดู “ว้าว” ดูน่าสนใจขึ้น เทียบเท่ากับต่างประเทศ ที่เขาทำกัน อย่างที่ บลูกเบิร์ก เซาธ์ไชนามอร์นิ่งโพสต์ทำ ซึ่งเราอยากไปให้ถึงขั้นนั้น ซึ่งต้องลงทุนพอสมควร

ในแง่เทคโนโลยีไม่ได้มีปัญหาแต่ปัญหาของพับลิเชอร์ไทย คือ เรื่องทักษะ และการลงทุน เช่น กว่าจะเป็นปลาทูได้ต้องผ่านการเรียนรู้มาเยอะมาก กว่าจะออกมาแบบนี้ ในอนาคตยังมีวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่มีโอกาสจะหยิลมาใช้ได้อีกเยอะ แต่จะต้องใช้วิธีการเรียนรู้ปและปรับไปเรื่อยๆ

อภิรักษ์ ย้ำตอนท้าย ว่า หลังจากที่เปิดตัวเรื่อง ปลาทู หรือ เดอะ สตอรี่ เรารู้สึกว่าคนอ่านยังต้องการคอนเทนต์ที่กระตุ้นอะไรบางอย่างกับเขา  และทำให้เขารู้สึกว่ามีองค์ความรู้อะไรเพิ่มขึ้น  ที่ผ่านมาเราอาจจะสนุกอยู่กับการทำคอนนเทนต์แบบเป็นกระแสอยู่ในที่เดิมๆ แต่พอเราลองมาทำอะไรใหม่ๆ แล้วเราเคยคิดว่าคนอ่านอาจจะไม่ชอบ ก็อาจจะไม่จริง คนอ่านอยากอ่านและรอตรงนี้อยู่ พอมีอะไรมาเสิร์ฟเขา เขาก็รับได้ ตรงนี้น่าจะเป็นจุปดเปลี่ยนจุดหนึ่งให้สำนักข่าวไทย พยายามทำคอนเทนต์ที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับคนอ่านมากขึ้น