จาก 16 ปี โพสต์ทูเดย์ ฯ สู่วิถีชีวิต เกษตรกร เต็มตัว กับข้อคิด อยากทำสวน-ทำไร่ ต้องทำอย่างไร?

ผมคิดอยู่ในใจอยู่แล้วว่า สักวันหนึ่งต้องมีวันนี้ ตอนที่หนังสือพิมพ์ปิดตัว ผมก็ไม่กลุ้มใจอะไร ก็กลับมาบ้านลพบุรี ทำไร่ ..ต้องเตรียมทางด้านจิตใจ ต้องถามตัวเองว่าจะอดทนทำได้หรือไม่ ทนร้อน ทนเหนื่อย ...ก่อนทำ ก็ต้องศึกษาก่อนว่าพืชที่จะปลูกเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าลงมาทีเดียวเลย สองหมื่น สามหมื่นบาท ห้าหมื่นบาท ถ้าไม่ศึกษาก่อนก็อาจเจ๊งได้


 

รายงานพิเศษ

โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

จาก 16 ปี โพสต์ทูเดย์ ฯ

สู่วิถีชีวิต เกษตรกร เต็มตัว

กับข้อคิด อยากทำสวน-ทำไร่ ต้องทำอย่างไร?


จากผลกระทบเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสื่อสารมวลชน จนทำให้ธุรกิจสื่อหลายแห่ง ได้รับผลกระทบกันไปตามๆกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อค่ายใหญ่หรือค่ายเล็ก  ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การประกาศปิดตัว สื่อสิ่งพิมพ์สองฉบับในเครือ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด    คือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ที่ผลิต-จำหน่ายมา 16  ปี และ ‘M2F’ หนังสือพิมพ์ free copy ซึ่งได้ปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  และ ‘M2F’ จำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก็มีอดีตคนข่าว-คนสื่อ ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ ‘M2F’หลายคนก็ยังคงปักหลักทำอาชีพสื่อต่อไปในสังกัดใหม่ แต่ก็มีอีกหลายคน ที่หันไปประกอบอาชีพอื่น และหนึ่งในอาชีพ ที่คนสื่อ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ก็มีความคิด ความฝัน อยากจะไปทำ ก็คือการทำไร่-ทำสวน เป็น “เกษตรกร” เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้ว ยั่งยืน เลี้ยงตัวเองได้ยาว  จนแก่เฒ่า และยังเป็นอาชีพอิสระ มีชีวิตที่สบายๆ ไม่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เช่นการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร เลยมีคนสื่อจำนวนไม่น้อย ก็ฝันอยากจะไปเป็นเกษตรกรในบั้นปลายชีวิต

เพื่อให้รู้ว่า “อาชีพเกษตรกร”ที่มีคนสื่อ วาดฝัน –วางแผนชีวิตว่าจะไปทำในอนาคต โดยเฉพาะหากวันหนึ่งต้องเจอกับปัญหาที่องค์กรต้นสังกัด เลิกจ้าง-กิจการไปไม่รอด แท้จริงแล้ว การทำเกษตรฯ ต้องทำอย่างไร มีความยากลำบากอย่างไร ต้องวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง “ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน”เลยไปพูดคุยสอบถามเรื่องนี้กับตัวจริงเสียงจริง อดีตคนในฝ่ายผลิต กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตด้านนี้ให้รับรู้กัน

 

“ธนพรชัย ศรีอุดร อดีต Sub-Editor  หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์“ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสื่อสิ่งพิมพ์ –หนังสือพิมพ์มายาวนาน รวมเวลา 20 กว่าปี  ซึ่งสำหรับ หนังสือพิมพ์  โพสต์ทูเดย์ เขาเข้าไปทำงานในแผนก Sub-Editor  หลังจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์   เปิดตัวมาได้ประมาณ 3  เดือน โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานฟรีแลนซ์เพื่อรอการบรรจุ ทำงานอยู่ 6เดือน ก็ได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำ จากนั้น ก็ทำงานปักหลักอยู่ที่  โพสต์ทูเดย์ ยาวนานถึง 16  ปี จนถึงวันสุดท้าย ที่หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์วางจำหน่ายบนแผงหนังสือพิมพ์

“ธนพรชัย”หรือ”ขวัญ “ที่คนในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ คุ้นเคย กับการทำงาน ด้านกราฟฟิก ดีไซเนอร์ -Sub-Editor ที่รับผิดชอบด้าน ออกแบบ จัดหน้า ทำภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันมายาวนาน  ในวันนี้ ได้เปลี่ยนจากการทำงานหลักในตึกบริษัท บางกอก โพสต์ ย่านคลองเตย มาเป็น “เกษตกรเต็มตัว ”ในไร่ของตัวเองที่อำเภอ อำเภอท่าหลวง  จังหวัดลพบุรี ซึ่งใช้ชื่อไร่ว่า Srijun Farm ที่มีอาณาบริเวณ   10 ไร่

“ธนพรชัย”เล่าให้ฟังถึงการเข้าไปทำงานที่โพสต์ทูเดย์ว่า เข้าไปทำงานที่ โพสต์ทูเดย์ ตั้งแต่เขาเปิดหนังสือพิมพ์มาได้สามเดือน ก็เข้ามา ก็อยู่มาตลอด รวมแล้วร่วม 16 ปี ตอนแรกเข้ามา ก็เป็นพนักงานฟรีแลนซ์ ทดลองงานให้โพสต์ทูเดย์ ทำจนหกเดือนจึงได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ เพราะก่อนหน้านั้น ยังไม่มีตำแหน่งลง จนสุดท้ายได้บรรจุเป็นพนักงาน อยู่มา 16ปีกว่า ก็อยู่จนเจ๊งกันไปข้าง

..ก่อนหน้าไปอยู่โพสต์ทูเดย์ ผมอยู่โรงพิมพ์มาก่อน เป็นโรงพิมพ์ย่านบางขุนเทียน ก็รับจ้างพิมพ์หนังสือทั่วไป ผมก็ทำงานในวงการหนังสือมาตลอด ตอนนั้นก็ทำหลายอย่างเช่น พ็อตเก็ตบุ๊ค หนังสือพระ รวมเวลาแล้วผมทำอาชีพจัดหน้า ทำหนังสือพิมพ์ รวมแล้วก็ยี่สิบกว่าปี ตอนนี้ ก็กลับมาทำไร่ อย่างจริงจัง โดยมีการขายพืชผลการเกษตรและสิ่งอื่นๆที่ทำควบคู่กันไปเช่นการขายปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งมีทั้งนำไปขายในตลาด หรือการขายผ่านโซเชียลมีเดีย ขายออนไลน์ โดยบางเดือน การขายออนไลน์ก็ทำให้มีรายได้ต่อเดือนร่วม 20,00-30,000 หมื่นบาท ส่วนการขายในพื้นที่ ก็มีทั้งมีคนมาซื้อที่ไร่เลย และขายในตลาดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รายได้ก็พออยู่ได้ บางวันขายได้  2,500 บาท แต่บางวันก็มีบ้างขายได้ 500-600 บาท แต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ

“ผมคิดอยู่ในใจอยู่แล้วว่า สักวันหนึ่งต้องมีวันนี้ ตอนที่หนังสือพิมพ์ปิดตัว ผมก็ไม่กลุ้มใจอะไร ก็กลับมาบ้านลพบุรี ทำไร่ ทำอะไรต่างๆ แต่ปัจจุบัน ผมก็ยังไม่ได้ทิ้งอาชีพเดิม เพราะทุกวันนี้ก็ยังรับจ๊อบอยู่ รับจ๊อบทำอาร์ตเวิร์ค ทำกราฟฟิคดีไซน์เหมือนเดิม โดยใช้วิธีการส่งงานทางออนไลน์ ไม่ต้องเจอหน้ากัน แต่เรารู้จักกัน พอเขาส่งข้อมูลมา ผมก็จัดหน้า ทำรูปเล่ม แล้วส่งกลับไป หากเขาดูแล้ว งานเรียบร้อยดี ก็ส่งโรงพิมพ์ไป รายได้ส่วนนี้ ก็จะมีแบบเข้ามาเรื่อยๆ บางรายก็จ้างประจำ ลูกค้าสัญจรก็มี ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ “


... ไร่ Srijun Farm ปลูกพืชอยู่หลายอย่างมีไผ่ดง ไผ่กิมชู ต้นเพกา มะนาว โดยการปลูกจะแบ่งเป็นโซนๆ บนเนื้อที่สิบไร่ ซึ่งก่อนที่จะมาเกษตรอย่างทุกวันนี้ จริงๆแล้ว ครอบครัวแต่ดั้งเดิม เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว มีที่ดินของตัวเอง จึงทำให้เห็นการทำเกษตรตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ยุคที่เริ่มศึกษา เริ่มทำ ลงมือปลูกพืชในไร่ ใช้วิธีการทำเกษตรแนวใหม่ไม่ใช้สารเคมี

“ผมศึกษาทำจริงจัง เมื่อสัก 2-3 ปีที่แล้ว โดยก็เริ่มจากปลูกฝังญาติพี่น้องที่บ้านให้ลดการทำเกษตรโดยใช้สารเคมี ผมทำให้ดูก่อน ตอนแรกญาติๆ ก็ไม่ค่อยเชื่อ ก็เริ่มทำให้เห็น จนหลายคนเริ่มเห็นดีเห็นงามด้วย ก็เริ่มมาเรื่อยๆ โดยผมทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีเรื่อยๆ ตอนแรก คนแถวบ้าน ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เขาก็มองว่า บ้าหรือเปล่า เอาไผ่มาปลูก เอาเพกามาปลูก เพราะในละแวกเดียวกัน เขาทำไร่ยืนต้นกันหมด แต่ของผม ก็มีเอาไผ่มาปลูก เอาเพกามาปลูก ตอนแรก เขาก็พูดกันว่าผมจะทำอะไร ไม่มีอะไรปลูกหรือ ถึงมาปลูกพืชเกษตรพวกนี้ แต่ผมก็เฉยๆ ก็นึกในใจ ไร่ก็ไร่เรา ที่ดินก็ของเรา เงินก็เงินเรา แต่ผมไม่ได้พูดนะ แค่คิดในใจ แต่พอมาวันหนึ่งเมื่อผลิตผลออกมาแล้วขายได้ คนก็เห็น ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ผมไม่ได้บ้านี้หว่า ก็อยู่ได้ กินได้”

“อดีต Sub-Editor โพสต์ทูเดย์” เล่าชีวิตเกษตรกรฯของเขาต่อไปว่า  ทุกวันนี้ ผมก็ทำหลายอย่างในที่ดินของตัวเอง เช่น เพาะกิ่งพันธุ์ขายบ้าง เก็บผลผลิตไปขายในตลาดบ้าง ที่ก็ขายดี ไปขายช่วงวันอาทิตย์ก็ขายได้ร่วมวันละ 2,000-3,000 บาท เอาไปตั้งแผงขาย ก็ขายหมดทุกครั้ง ที่นำไปขายก็เช่น เพกา หน่อไม้ ยอดฟักทอง ลูกมะเดื่อ ยอดน้ำเต้า บางอย่างก็เก็บได้หลังบ้านก็นำไปขายได้เช่น เห็ด ตำลึง คือผมไม่ได้ลงทุนเลยสักบาท ลงทุนแค่ค่าแรง ค่าน้ำมันรถ

 

ที่หลายคนอาจอยากรู้ก็คือ เขาเริ่มวางแผนทำเกษตรฯ ตั้งแต่ช่วงไหน ตั้งแต่ตอนเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจว่าธุรกิจสื่อจะมีปัญหาและอาจได้รับผลกระทบ เลยคิดวางแผนไปทำเกษตร หรือว่าทำเพราะหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปิดตัวเลยไปทำ ข้อสงสัยดังกล่าว “ธนพรชัย”บอกเล่าไว้ว่า จริงๆ ก่อนหน้านี้ที่อยู่โพสต์ทูเดย์ ก็วางแผนจะทำเกษตรพวกนี้อยู่แล้ว  ต่อมา ผมก็เริ่มเห็นสัญญาณของธุรกิจสื่อ ก็เลยวางแผนรองรับ ก็โชคดี ผมมีมรดก พ่อแม่ เขามีที่ดินไว้ให้ ผมก็ไม่ต้องไปลงทุนอะไร ก็ลงทุนแค่ คิดและมา ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เดินทีก้าว ผมก็เริ่มทำทีละเล็กทีละน้อย ไม่ได้มาถึงก็ทำหมดเลยทั้งไร่ ทำแค่พอไหว ค่อยๆ ทำ พอสัปดาห์ไหนได้วันหยุดสองวัน เสาร์-อาทิตย์ ผมก็ขับรถกลับมาที่ไร่ เพราะที่ลพบุรี ขับรถไป-กลับ ก็แค่สองชั่วโมง ไม่ไกลมาก

..ผมค่อยๆ ทำเรื่อย ๆทุกอย่างวางแผนไว้ล่วงหน้า แต่มาเริ่มทำจริงจังก็เมื่อสองปีที่แล้ว เพราะใจก็อยากทำ สายเลือดเกษตร อยู่แล้ว คือตอนทำงานที่โพสต์ทูเดย์ ผมก็มีความสุขดี วันๆ ก็อยู่ที่ออฟฟิศมากกว่าอยู่บ้าน อยู่บ้านก็แค่นอน

..ตอนแรกเลยที่คิดไว้ว่าจะทำเกษตร ลำดับแรก ที่คิดก็คือ เราจะปลูกอะไรดีที่ไม่ต้องดูแลมาก ซึ่งที่ตอบโจทย์เลยก็เช่น ไผ่ เพราะไม่ต้องดูแลมาก ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องใช้สารเคมี แล้วก็ต้นเพกา หรือลิ้นฟ้า ที่ก็ไม่ต้องใช้สารเคมี แล้วก็มะนาว ก็นำไปขายแม่ค้าส้มตำ นอกจากนี้ก็ทำกิ่งพันธุ์ ก็เป็นรายได้ ที่ทำให้อยู่ได้ บางวันก็ได้หนึ่งพัน บางวันก็ได้ 2000-2500  ถ้าน้อยหน่อยก็ 500 บาท ก็อยู่ได้ แต่ว่าต้องขยันเก็บ ส่วนรายได้รวมต่อเดือน ไม่แน่นอน แต่เฉลี่ยแล้วรายได้ต่อวันจากที่ทำเกษตร ก็เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1พันบาท บางวันก็ได้2500  บาท บางวันก็ 600 บาท มันก็เบี้ยหัวแตก เราก็ต้องกินพอประมาณ พอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย เพราะอยู่ต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายไม่ค่อยมากเหมือนอยู่กรุงเทพฯ อาหารพืชผัก เราก็เก็บกินในไร่ได้เลย เว้นแต่หากอยากกินพวกหมู ไก่ ก็ไปซื้อ  ซึ่งผมก็เลี้ยงไก่ด้วย รวมถึงขุดบ่อเลี้ยงปลา

..การทำเกษตร อันดับแรกเลยคือมีน้ำ โดยที่ไร่ของผม เป็นที่ดอน ซึ่งน้ำจะไม่ค่อยมี ต้องรอน้ำรอฝน ผมก็ขุดบ่อบาดาล แล้วดูดน้ำจากสระมาพักไว้ก่อนในบ่อใหญ่แล้วสูบออกไปรดน้ำต้นไม้อีกรอบ แล้วหากอยากจะใส่ปุ๋ย ผมก็โยนไปในบ่อเลย แล้วรดน้ำใส่ต้นไม้โดยตรง ซึ่งที่ไร่หลักๆ ก็คือทำไร่ข้าวโพด และหลังจากข้าวโพดก็ทำยาสูบ ที่เขานำมาทำบุหรี่ แล้วก็มีปลูกพริก แต่ที่ทำแบบไร้สารที่ผมทำเลยและเป็นพืชหลักก็คือ ไผ่ –เพกา และมะนาว ซึ่งเราก็ต้องขายในราคาที่ชาวบ้านเขารับซื้อได้ เพราะขายแพง เขาก็ไม่ซื้อ ก็ต้องขายในราคาที่เขาก็อยู่ได้ เราก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะให้มีรายได้ดีๆ ก็ต้องขายกิ่งพันธุ์ กิ่งตอน ที่ก็ขายทั่วไป บางคนมาเห็นที่ไร่ ก็มาขอซื้อ แล้วผมก็ขายผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะก็จะนำไปโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัว ขายออนไลน์  ก็ซื้อขายผ่านออนไลน์ ก็สั่งซื้อกันมา หนึ่งร้อยกิ่ง สองร้อยกิ่ง แต่ต้องสั่งล่วงหน้า

...นอกจากนี้ก็ขายพวกปุ๋ย อย่างปุ๋ยมูลไส้เดือน ก็ขายได้เรื่อยๆ แม้ไม่ได้นำไปขายที่ไหนเพราะใช้วิธีโพสต์ขายกับคนรู้จัก กับเพื่อนฝูง ทำให้เขาดูเขาเห็น อย่างผมนำไปใช้ที่ไร่ ชาวบ้านเขาเห็นก็มาถามทำไม ใบไม้ในไร่ใบใหญ่ ใบสีเขียว ผมก็บอกว่าใช้น้ำหมักมูลไส้เดือน เพราะเวลาทำ ผมไม่ใช้สารเคมี ก็มีคนมาขอซื้อ

 

หากคิดทำเกษตรฯ ต้องทำอย่างไร?

เมื่อพูดคุยกันว่า การเตรียมตัวหากจะมีคนข่าว คนทำสื่อ เขาสนใจ อยากมาทำเกษตร ฯ เพื่อหารายได้เสริม หรือเป็นอาชีพสำรอง หากต้องเจอภาวะว่างงาน จะต้องเตรียมพร้อมในการทำเกษตรฯ อย่างไรบ้าง”ธนพรชัย” ให้ข้อมูลผ่านประสบการณ์ชีวิตจริงของตัวเองว่า อันดับแรก ต้องเตรียมทางด้านจิตใจ ต้องถามตัวเองว่าจะอดทนทำได้หรือไม่ ทนร้อน ทนเหนื่อย เพราะอย่างผมมาทำตรงนี้ น้ำหนักผมลดลงมาร่วม 5-10 กิโลกรัม เหงื่อออกทั้งวัน ร้อนมาก ต้องลงมือทำหมด

..ก่อนทำ ก็ต้องศึกษาก่อนว่าพืชที่จะปลูกเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าลงมาทีเดียวเลย สองหมื่น-สามหมื่นบาท ห้าหมื่นบาท ถ้าไม่ศึกษาก่อนก็อาจเจ๊งได้ ต้องศึกษาพืชแต่ละพันธุ์ก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่น ปลูกอย่างไรให้ผลผลิตออกมาสวย เพราะอย่างที่ผมปลูกมะนาว จะเป็นพืชที่มีแมลง ศัตรูพืช เยอะมาก ก็ต้องศึกษาก่อนว่าจะทำอย่างไรให้มะนาวออกมาสวยในช่วงใบเขียวอ่อนจนถึงใบเขียวแก่ ต้องดูแลอย่างดี และช่วงออกดอกก็สำคัญมาก การให้น้ำจะให้อย่างไร ให้พอดี

“ธนพรชัย”ย้ำว่า ลำดับแรก สำหรับคนที่อยากลองทำ อยากศึกษา ก็แนะนำว่าให้เริ่มจากการทำทีละน้อยก่อน ศึกษาให้เชี่ยวชาญแล้วค่อยขยาย อย่างเคยมีคนที่ผมรู้จักตอนทำงานหนังสือพิมพ์ เขาก็ไปทำ ลงทุนไปเกือบล้าน ก็เจ๊ง เพราะยังไม่มีพื้นฐานการเกษตรก่อนเลย แต่เขามีที่ดิน ก็ลงไปเยอะโดยไม่มีพื้นฐาน แต่ต่อมา เขาก็เริ่มทำใหม่ หลังมีความรู้แล้ว ตอนนี้ก็เริ่มประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ก็มีเพื่อนที่เคยเป็นช่างภาพอยู่ที่เดียวกัน  เขาก็เริ่มมาทำแล้ว เพราะได้มรดกมาเป็นที่ดิน 28ไร่ แต่ของเขาเพิ่งเริ่ม ส่วนมาก เป็นไม้ยืนต้น ของเขาเท่าที่ทราบเริ่มมาทำตอนโพสต์ทูเดย์ปิด เขาก็มาคุยมาถามผมบ้างเหมือนกันว่าพืชบางอย่างปลูกอย่างไร ก็ให้คำแนะนำไป เช่น การดูแล การฉีดป้องกันแมลง แต่ของผม ทำมาก่อนแล้ว 2-3 ปี บนพื้นฐานที่บ้านของผมเป็นเกษตรกมาตั้งแต่เกิด ลืมตามา ปู่ย่าตายายก็ทำอยู่แล้ว ก็เลยมีพื้นฐานมาก่อนแล้ว

…อาชีพนี้ หากมีที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ก็จะดี เพราะจะทดลองปลูกอะไรก็ได้ จะปลูกไม้ยืนต้นก็ได้ แต่หากไปเช่าที่ดินคนอื่น เราจะปลูกไม้ยืนต้นไม่ได้ แนะนำก็คือ ควรต้องมีที่ดินของตัวเอง แล้วก็เริ่มจากทดลองปลูกสักหนึ่งไร่ก่อน ศึกษาให้เชี่ยวชาญก่อนแล้วค่อยขยายพื้นที่ ก็ขยายในสวนของตัวเอง เช่น ปลูกสักสิบต้น แล้วพอได้จังหวะก็ตอนกิ่งพันธุ์ไป หากเรามีการศึกษามาดี ศึกษาจนเชี่ยวชาญ  มันก็ทำได้  อย่างตอนแรกที่ผมมาทำ ผมก็เริ่มเลย ชาวบ้านแถบๆเดียวกัน เขาใช้สารเคมี แต่ของผมทำแบบธรรมชาติ ฉีดน้ำหนัก พอละแวกเดียวกัน เขาฉีดสารเคมี พวกแมลงเต่าทอง ก็บินหนีมาสวนของผม ตอนนั้นก็กระวนกระวาย ก็วิ่งไปเอาน้ำหมักฉีด จนคนเห็น ก็หัวเราะกันว่าผมบ้าหรือเปล่า ต่อมาผมก็ถึงมานั่งดู ถึงรู้ว่าแมลงพวกนั้น บินมาก็จริง แต่ไม่กินพืชที่ผมปลูกไว้ มาแค่หลบภัยจากสารเคมี มาหลบที่สวนผมเฉยๆ เพราะผมฉีดน้ำหมักไว้

“ไม่ใช่ว่ามีเงินก้อนแล้วมาลงทำเลย ก็ควรค่อยๆ ศึกษา คืออาจทำได้ แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จทันทีเลย ควรค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป”

-หากมีคนเช่นเขามีที่ดินไม่มาก สัก 4-5 ไร่ แล้วมีเงินมาลงทุน กว่าจะได้ดอกผล ใช้เวลานานแค่ไหน ?

ก็ขึ้นอยู่กับพืชเกษตรที่ปลูก ต้องปลูกเป็นชั้นๆ สำหรับการเก็บ แบ่งเป็นรายวัน รายเดือน รายปี เป็นไม้ระยะกลาง ไม้ระยะยาว ไม้กินผล ไม้กินดอก พืชกินยอด ก็จะไล่ระดับลงมา มะเขือ พริก มะละกอ ก็จะมีสเต็ปวงจรเกษตรของเขา แต่ต้องขยันเก็บไปขาย

 

ขายผ่านโซเชียลฯ-ออนไลน์

รายได้หลัก 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน

“ธนพรชัย”ให้ข้อมูลการขายสินค้าเกษตรฯ ในไร่ของเขาผ่านโซเชียลมีเดียว่า สังคมโซเชียลมีเดีย ทำให้โลกแคบลง เราอยู่กับบ้าน ก็โพสต์พืชผล สิ่งที่ในไร่ผมทำ ก็โพสต์ไป ก็มีคนเห็น บางทีก็เป็นเพื่อนของเพื่อน เขาเห็น ก็เข้ามาถาม สนใจ ก็สั่งซื้อมา ส่วนการจัดส่ง ผมก็ส่งทาง เคอรี่ เอ็กซ์เพรส  ส่งทางไปรษณีย์ก็มี แต่หากสั่งซื้อมาก ๆผมก็ไปส่งให้เลย ก็ขอค่าน้ำมันเพิ่มเข้ามา

“เช่นสั่งต้นไผ่ กิ่งพันธุ์ 200-300 ต้น หรือมะนาว ผมก็ใส่กระบะขับไปส่งให้เขาเลย ก็คิดค่าน้ำมัน คิดตามกิโล ฯ เส้นทางการขนส่ง แต่บางที เขาก็มีขับรถมารับเองที่ไร่ก็มี  ส่วนพวกที่ส่งทางเคอรี่ ฯ จะเป็นของที่หนักๆ หน่อยเช่น พันธุ์เพกา พันธุ์ไผ่ แต่ไม่มากเช่น 30 ต้น ก็ส่งแบบนี้ได้ โดยการสั่งซื้อทางโซเชียลมีเดีย เฉลี่ยแล้ว ต่อเดือนก็ประมาณ 20,000-30,000 กว่าบาท แต่กว่าที่จะมีคนรู้จัก มาติดต่อซื้อขายแบบนี้ได้ ก็ต้องดิ้นรนเยอะเหมือนกัน อย่างไผ่ ตอนแรกๆ ก็นำไปแจกให้คนรู้จักกินฟรีก่อน พอกินแล้วถูกใจ ก็มีการมาสั่งซื้อ สั่งกินพันธุ์ จนเริ่มมีคนสั่งซื้อ อย่างเช่น เพื่อนร่วมงาน คนรู้จักในโพสต์ทูเดย์ด้วยกัน “

-แบบนี้ก็รายได้ดีกว่าตอนอยู่โพสต์ทูเดย์อีก?

(หัวเราะ) แล้วก็อิสระดีด้วย มันก็รายได้ดี ก็อยู่สบายๆ slow life ด้วย อยากตื่นตอนไหนก็ตื่น เพราะเป็นไร่ของตัวเอง

ธนพรชัย”ทิ้งท้ายไว้ว่า หากจะมีคนในวงการสื่อ-เพื่อนๆ ในสายงานสื่อ สนใจอยากทำเกษตรฯ สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา ก่อนลงมือมาทำเต็มตัวก็คือ อันดับแรก ต้องมีทีดิ่นเป็นของตัวเอง เราจะได้ปลูกไม้ยืนต้นได้ แล้วต้องมีแหล่งน้ำ เพราะต้นไม้ หากไม่มีน้ำ ก็ตาย แล้วก็วางระบบ วางแผนดีๆ ช่วงแรก ไม่ควรปลูกเยอะ ค่อย ๆศึกษา ว่าพืชที่เราจะปลูกวิถีชีวิตเป็นอย่างไร แล้วจากนั้นก็ขยายไปเรื่อยๆ ก็อาจใช้วิธี ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เช่น ชอบกินมะละกอ ก็ปลูกมะละกอ ชอบกินตำลึง ก็ปลูกตำลึง เราก็จะได้ไม่ต้องไปซื้อกิน เก็บกินเองได้ เดินไปหลังน้ำ ก็เก็บกินได้แล้ว

..จากนั้น ก็นำผลผลิตไปแจก เพื่อให้คนรู้ว่าเรามีของ จากนั้นก็เริ่มขาย ค่อยๆ เริ่ม จากนั้นรายได้ก็จะมาเอง แต่ก็อาจไม่แน่นอน แล้วก็ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะตามมาในการทำเกษตร เช่นเรื่องภัยแล้ง จะทำอย่างไร เช่นการเก็บกักน้ำ รวมถึงการรับมือกับแมลง ศัตรูพืช ต้องคุมให้ดี ไม่อย่างนั้น หากเกิดอะไรขึ้นมา ก็จะลงทุนเสียเปล่า ต้องใช้วิธีอย่าปลูกพืชในไร่อย่างเดียวกันหมด เพราะหากราคาพืชผลชนิดไหน ราคาไม่ดี ก็จะมีปัญหาทั้งหมด แต่หากเราปลูกพืชหลายอย่าง บางอย่าง ราคาในตลาดไม่ดี แต่อีกอย่างที่เราปลูกด้วย ราคาดี ก็จะชดเชยกันได้

...หากว่าทำงานอยู่ด้วย แล้วจะปลูกพืชด้วย ก็ขอแนะนำว่าควรปลูกพืชแบบที่ไม่ต้องดูแลมาก ให้มันโตตามธรรมชาติ อย่างเช่น ไผ่ –เพกา ที่เป็นพืชซึ่งไม่ค่อยมีศัตรูพืชเลย แล้วก็ปลูกพวกไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจ เช่นขายไม้ ขายต้นสัก  แต่กรณีแบบนี้ต้องใช้ที่ดินเยอะ