อย่าปล่อยให้เทคโนโลยี ทำให้การดำรงอยู่ของ “คนข่าว” ลดน้อยลง

 

ทางพรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้ช่องทางไลน์ที่ตั้งขึ้น เป็นเครื่องมือในการส่งข่าวทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง รวมถึงเนื้อหาข่าว ผลิตข่าวให้เสร็จ ซึ่งแบบนี้อันตรายมาก ... ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าถ้าทำงานแบบนั้นเรากำลังฆ่าตัวตาย ลดทอนคุณค่าของตัวเรา เตรียมตัวตกงานได้เลย ...ถ้าเราจ้างนักข่าวไว้แล้วเขาไปอยู่ในกลุ่มไลน์ กลุ่มโน้น กลุ่มนี้แล้วแค่ลำเรียงข้อมูลมาสู่กองบรรณาธิการ ทำตัวเองให้กลายเป็นของโหล หมดคุณค่า และไม่อาจเรียกว่าเป็นนักข่าวได้อีกต่อไป

ภัทระ คำพิทักษ์- อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์



รายงานปรากฏการณ์สื่อ

โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

................................

อย่าปล่อยให้เทคโนโลยี

ทำให้การดำรงอยู่ของ “คนข่าว” ลดน้อยลง


การพัฒนาของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่ออิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบัน และยังครอบคลุมไปถึงการนำเสนอประเด็นข่าวสารของสื่อมวลชน ตัวอย่างที่เห็นชัด เห็นได้จากในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลายพรรค กระโดดเข้ามาเล่นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างมากเพื่อสร้างการสื่อสารทางการเมือง บนเป้าหมาย เพื่อให้ ข่าวสารที่ถูกส่งออกไป เข้าถึงฐานเสียง-กลุ่มเป้าหมายทางการเมืองให้ได้มากที่สุด

สังเกตได้จากการจัดทัพทีมงานการประชาสัมพันธ์ของแต่ละพรรค ที่ทำการสื่อสารกับนักข่าวภาคสนาม ที่รับผิดชอบการทำข่าวในพรรคการเมืองนั้นๆ ในช่วงการเลือกตั้งทุกกระบวนท่า ตั้งแต่ ถ่ายภาพ เขียนข่าว ถ่ายคลิป ทำสื่อเองก็มี และยังตั้งกรุ๊ปไลน์ของแต่ละพรรคเพื่อคอยส่งข่าวสาร-ภาพนิ่ง-คลิป กับนักข่าวภาคสนาม –กองบรรณาธิการข่าวโดยตรงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง จนถึงปัจจุบันที่มีการตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นไปหลายเดือนแล้ว

และเมื่อโฟกัสไปที่กรุ๊ปไลน์ที่แต่ละพรรคการเมืองตั้งขึ้นเพื่อเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมกลุ่มไลน์  เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารแจ้งข่าวสาร เนื้อหาประเด็นต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสะดวกสบายรวดเร็ว ตอบสนองทั้งผู้รับสารและส่งสารได้ดี ในแต่ละพรรคมีจำนวนนักข่าวเข้าร่วมไม่น้อย อาทิ พรรคอนาคตใหม่ 389 คน พรรคภูมิใจไทย 156 คน พรรคประชาธิปัตย์ 348 คน ,พรรคพลังประชารัฐ 404 คน พรรคเพื่อไทย 346 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 168 คน  เป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำข่าวมากขนาดนี้ และแหล่งข่าว ที่มีทั้งแหล่งข่าวตัวบุคคล แหล่งข่าวที่เป็นองค์กร มีการปรับวิธีการสื่อสารกับนักข่าว-กองบรรณาธิการ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มุมมอง อดีตคนข่าว-นักข่าวภาคสนาม มองความเคลื่อนไหวในภาพรวมเรื่องดังกล่าวอย่างไร”ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน” พาไปติดตามมุมคิด ในเรื่องนี้


เริ่มที่  “ภัทระ คำพิทักษ์- อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ –อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ” มองปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า การทำข่าวของผู้สื่อข่าว สิ่งที่จะมีผลต่อเรามากที่สุดคือเทคโนโลยี ถ้าย้อนกลับไปช่วงชีวิตที่เคยทำข่าวสมัยนั้นก็จะมี โทรสาร แฟกซ์ แพคลิ้งค์ การส่งข้อความสั้น และก็พัฒนาจนมาถึงนิวส์มีเดีย ฉะนั้นรูปแบบการทำงานของสื่อผันผวนไปตามเทคโนโลยี ผันผวนตามช่องทางการส่งสาร เพราะเราเป็นผู้ส่งสาร

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องระวังคือ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นประโยชน์ และสิ่งที่อาชีพเราต้องไม่หายไป คือ “จิตวิญญาณของความคนข่าว”

“เทคโนโลยี เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งและเราสามารถเรียนรู้ได้ เทคโนโลยีไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เป็นคนข่าว ทันที่ทีเราไปทำงานใหม่ๆ พวกผู้ใหญ่เขาสอนเลยว่า ไม่ว่าคุณจะอายุงาน 30 ปี 20 ปี 10 ปี หรือทำงานเพียง 1 วัน ถ้าเราไปเจอกันในสนามข่าว ทำข่าวเดียวกัน รายงานข่าวเดียวกัน แล้วเราจะทำงานนั้นอย่างไร นี่คือจิตวิญญาณของการทำงานของเรา”

“อดีตคนข่าวโพสต์ทูเดย์”มองว่า เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่เมื่อไหร่ที่ไม่ได้ถูกใช้ควบคู่ไปกับ “จิตวิญญาณ” ไม่ได้ยึดมั่น มันจะกลายเป็นความสะดวกที่กลับมาฆ่าเรา บวกกับข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ยุคนี้โรงพิมพ์ใช้งบประมาณน้อยลง จ้างผู้สื่อข่าวน้อยลง ใช้คนลงพื้นที่ไปต่างจังหวัดน้อยลง ต้องปรับวิธีการบริหารกองแบบใหม่ ใช้ต้นทุนจำนวนนักข่าวลดลง ดังนั้นคนข่าวที่เขาต้องการคือคนที่มีเซ้นต์ข่าว รู้วิธีการเชื่อมโยง เชื่อมต่อที่ไปนำไปสู่การหาข้อมูลได้ สามรถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้จริง ซึ่งคุณค่าของนักข่าวจะประสบปัญหาไปตามสภาพแวดล้อมเหล่านี้ด้วย

“ภัทร”ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้แหล่งข่าวกำลังปรับตัว เขียนข้อความต่างๆ ผ่านโซเซียลมีเดีย เราไปลอกเขามาลงในแพลตฟอร์มช่องทางการสื่อสารต่างๆ ใครไวกว่าได้รับการยอมรับนับถือ แต่ถามว่ามันใช่ไหม?  เพราะแหล่งข่าวไม่ได้ถูกตั้งคำถาม เขาลอยนวลจากการตั้งคำถามจากเรา(คนข่าว) ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้ตั้งคำถามเราทำเป็นกระจก(Reflex) สะท้อนอย่างเดียว จะส่งผลให้ความจำเป็นของเราลดน้อยลง แง่มุมการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงต่างหาก ที่จะทำให้เรามีคุณค่าขึ้นมา

“ดังนั้นเราต้องไม่ให้เทคโนโลยีมาทำลายเรา มาทำลายวิชาชีพของเรา มันจะทำให้พวกเราเป็นมนุษย์ที่ไม่จำเป็น และจะกลายป็นวิชาชีพที่เป็นส่วนเกิน”

... เมื่อตราบใดที่คนอื่นสามารถเป็น Gate keeper เป็นผู้ส่งข่าวสารได้ และมีช่องทางของตัวเอง สามารถสร้างความสนใจให้สปอร์ตไลท์หันมาเขาได้เอง พวกเราจะไปอยู่ที่ไหน คุณค่าของพวกเราคือคนทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน ที่มีแง่มุม มีหลักคิด มีการตรวจสอบ ลงแรง  ถ้าเราเพลินๆ ไปกับแหล่งข่าวที่เขาสื่อสารข้อมูลต่างๆเอง ถูกปล่อยให้ลอยนวล ไม่ผ่านการตรวจสอบด้วยการตั้งคำถามจากเรา แหล่งข่าวสามารถสื่อสารในสิ่งที่เขาอยากพูด ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ เราต้องตั้งคำถามเพื่อความกระจ่าง ต้องปรุงข้อมูลข่าวสารให้มีคุณค่ามากขึ้น มันคือ หน้าที่ของเรา

“ภัทร”มองว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีแรก ขณะเดียวเป็นยุคที่โซเซียลมีเดียเติบโตขึ้นมาก เพราะฉะนั้นเราจึงเฝ้าดูอยู่ว่าทุกคนใช้ยังไง ปรากฎว่าทางพรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้ช่องทางไลน์ที่ตั้งขึ้น เป็นเครื่องมือในการส่งข่าวทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง รวมถึงเนื้อหาข่าว ผลิตข่าวให้เสร็จ ซึ่งแบบนี้อันตรายมาก

“ถ้าเราทำงานเราต้องถือว่าอันนั้นคือเบาะแสเบื้องต้น มันคือสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นว่า มีความเคลื่อนไหวอะไร แต่เราจะหยิบอะไรมาแต่ละอันเราต้องลงมือทำ ต้องออกแรง  ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้ทำหน้าที่ของเรา ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าถ้าทำงานแบบนั้นเรากำลังฆ่าตัวตาย ลดทอนคุณค่าของตัวเรา เตรียมตัวตกงานได้เลย เพราะว่าข่าวสารของคุณไม่ได้มคุณค่าแตกต่างกับคนอื่น กลายเป็นของโหลที่หาที่ไหนก็ได้ กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นต่อโลก ก็หมดสภาพไป”

...คนข่าวต้องทำการบ้านติดตามข่าวสาร เชื่อมโยง หาคุณค่าที่แท้จริงออกมา ไปหยิบประเด็นต่างๆมาตรวจสอบ มาขยาย อย่าทำตัวเป็นเครื่องกรองที่พังแล้ว ที่ไม่ได้กรองข้อมูลข่าวสารก่อนส่งถึงประชาชน เมื่อโซซียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมันคือเกิดภาวะของการท่วมท้นข้อมูลข่าวสาร ประชาชนได้ฟรีคอนเทนมากเกินไป

“ถ้าเราจ้างนักข่าวไว้แล้วเขาไปอยู่ในกลุ่มไลน์ กลุ่มโน้น กลุ่มนี้แล้วแค่ลำเรียงข้อมูลมาสู่กองบรรณาธิการ ทำตัวเองให้กลายเป็นของโหล หมดคุณค่า และไม่อาจเรียกว่าเป็นนักข่าวได้อีกต่อไป

นักข่าวสมัยใหม่ถ้าคุณมีคอนเนคชั่นเข้าถึงแง่มุมของข่าว ยังไงก็มีคุณค่า เพราะข้อมูลข่าวสารจะสร้างประโยชน์ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การตื่นรู้ทางสังคม การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญ “

“ภัทร-อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์”ย้ำว่า ถ้าเราพัฒนาตัวเองทุกวัน ตื่นมาตั้งใจว่าต้องหาแหล่งข่าวได้หนึ่งคน เดินหน้าข้อมูลให้ได้ในหนึ่งวัน ทำข่าวที่ทำด้วยตัวเองไม่เหมือนข่าวแถลง ไม่เหมือนข่าวคนอื่น รับรองว่าถ้าทำตัวให้มีคุณค่าเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหนมาอยู่ที่ไหนเราก็อยู่ได้ จะทำงานแบบมีสังกัดหรือไม่มีสังกัดไม่สำคัญ และอาชีพนี้เราจะลาออกไปก็ไม่มีใครปลดเราออกจากความเป็นนักข่าวไปได้เว้นแต่ตัวของเราที่ออกจากสติปัญญา หยุดนิ่ง ไม่พูด ไม่คิด ไม่เขียน วันนั้น คือวันที่เราพ้นออกจากอาชีพนี้

 


One way Communication

เหมาะกับข่าวที่มาแล้วผ่านไป

ด้านความเห็นจากนักข่าวภาคสนาม “ไอซ์ ปรัชญา นงนุช-  นักข่วสายทหารจากค่ายมติชน” ให้มุมมองว่า  โซเชียลมีเดียกับการทำงานข่าว สื่อโซเซียลมีเดียเปรียบเหมือนเหรืยญสองด้าน แม้การทำงานข่าวโดยใช้โซเซียลมีเดียที่ง่ายและรวดเร็ว อำนวยสะดวกให้เรามาก โดยมีทั้งกรุ๊ปไลน์ ที่ใช้เป็นช่องทางในสื่อสารทั้งเรื่องการ ส่งภาพ ส่งข่าว ส่งคลิป อีกทั้งยังมี เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารเนื้อของคอนเทนได้หลากหลายมากขึ้น แต่เหรียบอีกด้านมันก็นำมาซึ่งผลลบเช่นกัน


...การที่มีโลกโซเชียลมันทำให้กลายเป็นว่าใครก็เป็นสื่อได้ มีการตั้งกรุ๊ปไลน์ระหว่างแหล่งข่าวกับประชาชน รวมทั้งแหล่งข่าว นักการเมืองกับนักข่าวฯลฯ เท่ากับว่า แหล่งข่าวหรือนัการเมืองสามารถสื่อสารทางตรงกับประชาชนได้ กลายเป็นว่าสื่อมวลชนไม่จำเป็น แต่จะเห็นว่าแต่ละพรรคการเมือง นักการเมืองไม่ว่าจะคนรุ่นเก่า เช่น ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา หรือคนรุ่นใหม่แทบจะทุกพรรคการเมืองก็ใช้โซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นเป็นพลวัตรว่า ต่อไปนี้แหล่งข่าวมีวิธีการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง แต่ส่วนตัวเราคิดว่ายังไงสื่อมวลชนก็มีความสำคัญ

“ไอซ์ ปรัชญา” กล่าวต่อไปว่า เหตุเพราะเมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งในสังคม สื่อจะนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือในฐานะที่เป็นตัวกลาง ที่เป็นเนื้อหาสารที่ไม่ได้มาจากคู่ขัดแย้งนั้นๆ เพื่อให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ ขณะที่ตัวละครในความขัดแย้งนั้นๆ ก็ยังหวังพึ่งสื่อใช้เป็นตัวกลางในการนำเสนอข่าวเพื่อหวังให้ข่าวนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะออกมาจากปากสื่อเอง รวมทั้งในสถานะการณ์ที่อ่อนไหวต่างๆ สื่อก็ต้องทำหน้าที่หาคำตอบให้สังคม โดยได้คำตอบที่ถูกต้องและไม่ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก รวมทั้งสู้กับข่าวปลอมต่างๆ การที่เราบอกว่าใครก็ได้เป็นนักข่าวได้ จึงอาจไม่ใช่เสียหมด หากดูตามภารกิจและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบจริงๆ ทั้งนี้การนำเสนอข่าวสารได้โดยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมันก็สะท้อนผลลัพธ์ในทางลบออกมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Fake news ข่าวปลอม ข่าวลวงต่างๆ

...อีกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือข้อมูลที่หลั่งไหลผ่าน New Feed ที่เป็นเนื้อหาเดียวกันหมด เพราะถูกส่งจากแหล่งข่าวผ่านกรุ๊ปไลน์เดียวกัน กลายเป็นการสื่อสานแบบ One way Communication จึงขาดความลึกซื้งของข่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องเป็น Two way communication ที่จะทำให้สื่อได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทั้งแหล่งข่าวและประชาชนยังเห็นความสำคัญของสื่อมวลชนอยู่

“เราต้องทำการบ้านต่อจากข้อมูลที่ถูกสื่อสารมาทางเดียว หยิบข้อมูลข่าวสารนั้นไปขยายต่อได้ นักข่าวหนึ่งคนต้องทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ทำได้หลายแพลตฟอร์ม หลากหลายประเด็น ซึ่งถ้าเรามองในมุมบวก มันคือความท้ายทายของวิชาชีพสื่อที่มาถึงจุดที่เราต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของคนในสนามข่าวเอง ในอนาคตเราไม่อาจหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีได้เลย ไม่ว่าจะ Ai หรืออะไรก็ตาม วิกฤตทั้งหมดพาเราไปสู่การพัฒนา และสิ่งหนึ่งที่คนข่าวจะอยู่ได้คือ เราต้องมีData หรือชุดข้อมูลที่หุ่นยนต์เทคโนโลยีทำแทนเราไม่ได้ ข้อมูลนั้นเราสามารถที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์มันออกมาได้ สร้างให้เกิดคุณค่า”

สุดท้าย “ปรัชญา”มองว่า ข่าวแบบ One way Communication ไม่ได้ผิดเสียหมด แต่เหมาะกับข่าวที่มาแล้วผ่านไป เช่น ข่าวดินฟ้าอากาศ การแจ้งเตือน จราจร เป็นต้น ไม่ควรเป็นเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนในสังคม ข่าวการตรวจสอบหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ และสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนหรือประเทศ จะเป็นข้อมูลที่ถูกสื่อสารทางเดียวไม่ได้ ต้องซักคาน ซักถาม สื่อต้องสงวนการทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการสร้างคุณค่า คิดวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอต่อประชาชน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในที่สุด

ปิดท้ายที่ความเห็นของอีกหนึ่งนักข่าวภาคสนาม  “ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย-จากเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์ “ผู้สื่อข่าวสายการเมือง-รัฐสภา ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้การทำงานด้านสื่อสารมวลชน แม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการทำงานจะอยู่ที่ความถูกต้องเป็นสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“การจะทำให้ความรวดเร็วและความถูกต้องไปด้วยกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นหลัก”

“ไพบูลย์” เล่าย้อนถึงการทำงานแบบยุคเก่าจนพัฒนามาในปัจจุบันว่า ในอดีตการส่งข้อมูลข่าวสารจากผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จะใช้รูปแบบของการส่งแฟ๊กซ์ พัฒนามาจนถึงการส่งอีเมล หรือการโทรศัพท์บอกกล่าว จนกระทั่งมายุคที่มีการใช้สมาร์ทโฟน โดยเป็นการพิมพ์ข่าวลงในโทรศัพท์หรือถ่ายเป็นคลิบวีดีโอและส่งทางแอพพลิเคชั่นไลน์หรือช่องทางอื่นๆ  ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ขั้นตอนการทำงานลดลงมากกว่าในอดีต ดังนั้น แง่ของการทำงานสื่อสารมวลชนไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เนื่องจากยังคงต้องยึดหลักการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ การมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวจะเอื้อต่อการทำงานทางด้านบวกและลบอย่างไรของนักข่าว “ไพบูลย์”มองว่า  ด้านบวกจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำงานลงไปได้พอสมควร เช่น ในอดีตการเรียบเรียงข้อมูลข่าวสารจะต้องใช้พิมพ์ดีด หรือ คอมพิวเตอร์พกพา ซึ่งมีต้นทุนที่แพงมาก แต่ปัจจุบันต้นทุนทางเทคโนโลยีมีราคาถูกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถทำงานและมีประสิทธิภาพได้ดีไม่น้อยไปกว่าการใช้คอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังช่วยต่อการตรวจสอบและหาข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้สะดวกมากขึ้น เช่น ร่างพระราชบัญญัติ บันทึกการประชุมของรัฐสภา เป็นต้น อันจะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอสู่สาธารณะ  สำหรับด้านลบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคสื่อสังคมออนไลน์ต้องการความรวดเร็ว ทำให้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงสามารถตอบสนองด้านความรวดเร็วได้ แต่อาจมีข้อบกพร่องตรงที่การนำเสนอนั้นอาจขาดความรอบคอบ สื่อจึงต้องปรับตัวพอสมควร โดยเฉพาะการคิดและรูปแบบการนำเสนอ เดิมถ้าใครเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะคิดแค่เนื้อหาและรูปภาพนิ่ง แต่ในปัจจุบันต้องคิดเพิ่มขึ้นไปถึงภาพเคลื่อนไหวและภาพอินโฟกราฟิก เพราะเพิ่มเติมองค์ประกอบในส่วนนี้เข้าไปในเนื้อหาจะมีส่วนช่วยให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจต่อข้อมูลข่าวสารได้ง่ายมากขึ้น

“ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ใครก็สามารถตั้งตนเองเป็นสื่อสารมวลชนได้ อันนำมาสู่ปรากฎการณ์ fake news ที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน ดังนั้น หน้าที่ของสื่อสารมวลชนอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวก่อนนำเสนอทุกครั้ง”