การแข่งขัน -ปรับตัว สื่อ-นิตยสาร-นสพ. รายสัปดาห์ (1)

Media Spotlight

โดย กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน


 

การแข่งขัน -ปรับตัว

สื่อ-นิตยสาร-นสพ. รายสัปดาห์ (1)

ในยุคที่ข่าวสารเกิดขึ้นและถูกนำเสนอแบบรวดเร็ว ตลอดทั้งวันทั้งคืน ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วสื่อ ที่นำเสนอ-ผลิตเผยแพร่ ในรูปแบบสื่อรายสัปดาห์ ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แนววิเคราะห์ข่าว-ประมวลข่าว ทั้งข่าวการเมือง-เศรษฐกิจ  ในสภาวะปัจจุบัน จะดำรงอยู่และปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจ

ข้อสงสัยข้างต้น นำมาสู่การที่”ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”ได้พูดคุยกับ คนทำสื่อแนวรายสัปดาห์ ทั้งแนวการเมืองและแนวเศรษฐกิจ โดย เริ่มที่ สื่อที่เคยทำในรูปแบบสิ่งพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์แล้วปิดตัวไป แต่ตอนนี้กลับมาทำใหม่แต่ทำในรูปแบบออนไลน์-เว็บไซด์ไม่ได้ทำสิ่งพิมพ์ นั่นก็คือ เว็บไซด์ เนชั่นสุดสัปดาห์ -www.nationweekend.com

“ประชาไท ธนณรงค์ –บรรณาธิการเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์”ซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในวงการสื่อโดยเฉพาะข่าวการเมืองมายาวนาน กับบทบาทในวันนี้ ที่มาปลุกปั้น กับทีมงาน กองบก.และฝ่ายผลิต เพื่อทำเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้พูดถึง การกลับมาของ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ที่ก่อนหน้านี้ คนรู้จักคุ้นเคยกันดี กับการเป็นนิตยสารแนววิเคราะห์สรุปข่าว ที่ยืนหยัดบนแผงหนังสือมาถึง 25ปี ก่อนจะเลิกไปเมื่อ 2 มิถุนายน 2560 ส่วนการกลับมาในรูปแบบของเว็บไซด์ข่าว รอบนี้ “ประชาไท-บก.เว็บเนชั่นสุดสัปดาห์”เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า ตอนเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ ยังมีการผลิต  ก็มีการสื่อสารทางช่องทางอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ทั้งเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์ และ facebook  ช่องทางสื่อสารทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ต่อมา เมื่อเนชั่นสุดสัปดาห์ ยุติการตีพิมพ์ไป ทำให้คนที่ติดตามการนำเสนอข่าวสารทางเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์และเพจของเนชั่นสุดสัปดาห์ ที่ส่วนใหญ่เป็น”คอข่าวการเมือง”ที่มีเป็นจำนวนมากเกือบสองล้านคนคน

 

…เราก็เลยคิดว่า ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีการ ทรานส์ฟอร์มฯไปสู่ยุคดิจิตอลมากและรุนแรง ทางผู้บริหารเครือเนชั่นฯ ก็เห็นว่า แฟนๆ ที่ติดตาม เนชั่นสุดสัปดาห์ประมาณสองล้านคน อันเป็นตัวเลขที่เห็นได้จากเพจของเนชั่นสุดสัปดาห์ เขาน่าจะได้มีโอกาสรับข่าวสารที่มีคุณภาพ จากเรา เพราะว่าของเครือเนชั่นฯเวลาเดิน เราเดินพร้อมกันไปหมดทุกสื่อในเครือเนชั่นฯ ซึ่งหากมีช่องทางการสื่อสารที่ไม่เหมือนกับข่าวรายวัน อย่างเนชั่นสุดสัปดาห์ ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แฟนข่าวของเราจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่าง

“ประชาไท-บรรณาธิการเว็บไซด์เนชั่นสุดสัปดาห์”เล่าต่อไปว่า จึงทำให้มีการคิดกันว่าจะต้องกลับมาทำเนชั่นสุดสัปดาห์ในรูปแบบของออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง สิ่งนี้คือเป้าหมายที่เราต้องการส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแฟนของเนชั่นสุดสัปดาห์ที่ไม่ได้หายไปไหนเลยเกือบสองล้านราย ได้มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารทางช่องทางนี้ นอกเหนือจากช่องทางอื่นๆ ซึ่งจะมีทั้งเว็บเนชั่นทีวี -www.nationthailand.com ที่เป็นเว็บข่าวเดอะเนชั่นภาคภาษาอังกฤษ  เว็บกรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com และเศรษฐกิจรายสามวัน ก็มี ฐานเศรษฐกิจ  www.thansettakij.com ดังนั้น เว็บเนชั่นสุดสัปดาห์ก็จะมาเติมเต็มในส่วนที่ว่างอยู่ ในรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับเรา

“บก.เนชั่นสุดสัปดาห์”พูดถึงสิ่งที่เป็นจุดแข็ง-ความแตกต่างของเว็บเนชั่นสุดสัปดาห์ว่าข่าวสารทุกวันนี้ สู้กันด้วยความเร็ว ใครได้ก่อน ใครอัพก่อน ใครลอกก่อน คนนั้นก็จะดึงคนดู ได้เพจวิว ซึ่งข่าวก็ซ้ำๆ ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันเลย ข่าวมาจากแหล่งข่าวเดียวกัน บางเว็บไซด์ข่าวรายวัน บางเว็บ ก็ไม่ได้มีการแก้ไขโปรย แก้ไขการพาดหัว ก็เล่นยกมาทั้งดุ้นใส่เลย ก็เลยมีความรู้สึกว่า คนอ่านไม่มีทางเลือก เพราะไปอ่านเว็บไหนก็ได้ มันก็เหมือนกันหมด แล้วโลกยุคข่าวสาร ข่าวทุกอย่างไปรวมอยู่ในสมาร์ทโฟนหมด เราก็เลยคิดว่า เนชั่นสุดสัปดาห์ เคยเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์แบบวิเคราะห์เจาะลึก ที่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการข้อมูลข่าวสารลักษณะดังกล่าว และเราก็เห็นว่าในโลกยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน มันมีแต่ข่าว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นข่าวรายวัน มันไม่มีความลึก มันไม่มีคำตอบในข่าว

“เนชั่นสุดสัปดาห์ของเรา เราจึงนำข่าวที่เกิดขึ้น ทั้งข่าวกระแสรายวัน มาเขียนในสไตล์ของเรา เรานำข่าวที่เราที่เราดีไซน์ assign ขึ้นมา แล้วเราก็ไปเจาะทีละเรื่อง ทีละเรื่อง และข่าวไหนที่มีมุมที่น่าสนใจ และยังไม่มีคำตอบให้คนอ่าน เราก็ไปหาข้อมูลมาเทียบเคียง มาวิเคราะห์แล้วก็ใส่คำตอบเข้าไปว่า ข่าวชิ้นนั้น มันจะจบอย่างไร อันนี้คือที่มาของเรา ที่เป็นสโลแกนของเนชั่นสุดสัปดาห์ ที่ว่า ข่าวเจาะ วิเคราะห์เหตุการณ์”

“ประชาไท-บก.เนชั่นสุดสัปดาห์”ย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้ คนที่ติดตามข่าวโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ต้องการมาก เพราะเขาต้องการมุมคิดต่างๆ เช่น ข่าวนั้นจะจบอย่างไร ข่าวนั้นมีมุมคิดอย่างไร ซึ่งปัจจุบันเว็บไซด์ข่าวรายวัน ไม่มีมุมคิดนี้ไว้ให้ ไม่มีคำตอบ มีแต่โจทย์ โจทย์ โจทย์ เต็มไปหมด แต่ไม่มีคำตอบ ไม่มีมุมคิดให้คนอ่านได้คิดตาม

..การดีไซน์รูปแบบการเขียนข่าวของเว็บข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว เราไม่ได้เขียนข่าว ให้คำตอบที่เป็นการชี้นำ แต่เราให้มุมคิด ส่วนคนอ่าน เขาจะคิดเหมือนเรา หรือจะคิดแตกต่างจากเรา ก็เป็นสิทธิของเขา เพราะปัจจุบัน ข้อมูลที่มาประกอบข่าวเยอะมาก ทุกคนสามารถค้นคว้าแล้วนำมาเทียบเคียงได้ว่า สิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่ แต่สิ่งที่เราต้องการนำเสนอก็คือ ข้อมูลข่าวสารที่มีโจทย์แล้วก็มีคำตอบอยู่ในตัว แล้วก็เป็นเหตุการณ์ที่ลึก และเกิดขึ้นล่วงหน้า เพราะเราจะทำก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวเสมอ

ส่วนที่ว่าเราจะทำเพื่อปลุกคนประมาณสองล้าน กลับมาดูเรา กลับมาอ่านเราแล้ว เพิ่มคนใหม่ๆเข้ามาติดตามเราได้มากขนาดไหน ด้วยสไตล์ของเรา พอเป็นเนชั่นสุดสัปดาห์พอเป็นออนไลน์ มันก็จะแตกต่างจากหนังสือ นิตยสารรายสัปดาห์  เพราะหนังสือพิมพ์ นิตยสารรายสัปดาห์ ฉบับพิมพ์ ก็จะมีการพิมพ์เผยแพร่ออกมาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แต่พอมาเป็นฉบับออนไลน์ เราไม่สามารถผลิตเนื้อหาข่าวได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพราะคนที่เข้ามาเสพข่าวในเว็บไซด์และเฟซบุ๊กเนชั่นสุดสัปดาห์ เขาต้องการข่าวทุกวัน ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เราจะต้องใช้บุคลากรที่มีอยู่ ไปเจาะข่าว ไปวิเคราะห์ข่าว กลายเป็นว่าเรา ไปวิเคราะห์ข่าว เจาะข่าวรายวัน ซึ่งมันยากมาก แต่เราจำเป็นต้องหาข้อมูลเหล่านี้มาหาประเด็นข่าว แล้วนำไปสู่การวิเคราะห์ข่าวรายวัน

“เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับออนไลน์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเว็บไซด์ข่าวออนไลน์ เว็บไซด์ข่าวรายสัปดาห์ที่เดียวในประเทศไทย ที่มีการวิเคราะห์และเจาะข่าวรายวัน คือชื่ออาจเป็น สุดสัปดาห์ก็จริงอยู่ แต่พอมาเป็นออนไลน์แล้ว ความรู้สึกของคน เขาต้องบอกว่า ผมอยากอ่านการวิเคราะห์ข่าวที่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่ แต่ละสัปดาห์จะมีแค่การวิเคราะห์ห้าชิ้น ห้าหัวข้อ

กองบก.เนชั่นสุดสัปดาห์จึงมีการปรับกระบวนการผลิตของเรา โดยใช้แนวคิดว่า เราแข่งกับเว็บไซด์ข่าวรายวันที่มีอยู่ โดยข่าวที่อยู่บนกระแสรายวัน ข่าวร้อนทั้งหลาย เราก็มีการอัพ เราแข่ง แต่เราไม่ได้เอาข่าวเพียวๆ รายวัน มาลงในเว็บ แต่เรานำข่าวที่เป็นกระแสร้อนรายวัน มาเขียนในสไตล์เรา เอาข้อมูลเข้าไป ใส่เบื้องหลังข่าวลงไป เอาเบื้องหน้าใส่ไป มันก็จะเป็นข่าวอีกสไตล์ ที่เป็นสไตล์ของเนชั่นสุดสัปดาห์”

..ในขณะเดียวกัน เราก็แข่งกับรายสัปดาห์ด้วย เราจะวิเคราะห์ล่วงหน้าว่า ในอีก 2-3 วันต่อไปจากนี้ จะมีเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็จะเขียนล่วงหน้าให้คนอ่านได้รู้ล่วงหน้าเช่น ในอีก 2-3 วัน ต่อไปนี้ จะมีการตัดสินคดีสำคัญๆ เช่น ในอีกสามวันข้างหน้า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในคำร้องคดีสำคัญ เราก็จะประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดมาเขียน แล้วใส่คำตอบให้ว่า หากผลออกมาเป็นหัว จะเป็นอย่างไร หรือหากผลออกมาเป็นก้อย ผลจะเป็นอีกแบบอย่างไร

“ประชาไท-บก.เว็บเนชั่นสุดสัปดาห์”สรุปว่า สิ่งที่บอกข้างต้น คือสิ่งที่เนชั่นสุดสัปดาห์ทำอยู่ คือเรามีการวิเคราะห์ข่าวรายวัน แล้วเราก็มีการวิเคราะห์นำเสนอแบบข่าวรายสัปดาห์ด้วย และต่อไปที่จะเพิ่มเข้ามา คือจะปรับด้านเทคนิคของเว็บไซด์อยู่ ก็คือ เราจะทำข่าวแบบที่มีภาพ มีคลิป มีเสียง แบบทีวี คืออนาคตก็พร้อมจะแข่งกับทีวีด้วย โดยเมื่อคอข่าว เข้าไปที่เว็บไซด์ข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ จะได้ทั้งสามอย่าง คือเห็นข่าวรายวัน เห็นการวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ และจะได้เห็นภาพทีวีอยู่ในเว็บไซด์นี้ด้วย

... เข่น หากมีเหตุการณ์อะไรด่วนๆ เราก็จะมีการไลฟ์สด มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์คนในข่าว ออนแอร์บนเว็บไซด์ เนชั่นสุดสัปดาห์ด้วย

“ประชาไท”พูดถึงเสียงตอบรับจากผู้ที่เข้ามาติดตามเว็บข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ที่เริ่มคิกออฟไปเมื่อ 1สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันว่า กระแสตอบรับถือว่า น่าพอใจ โดยเฉพาะหลังจากมีการเลือกตั้ง และมีฟิลลิ่งว่ามีความเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนราษฏรไว้ตรวจสอบรัฐบาล เลยทำให้ข่าวการเมืองได้รับความสนใจจากคนอ่านมากเป็นพิเศษ ยิ่งเมื่อเสถียรภาพรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ก็ทำให้คนที่ติดตามข่าวการเมืองก็มีความรู้สึกตื่นเต้น ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ตลอดเวลา

“ทำให้คนที่เป็นคอข่าวการเมืองจริงๆ ก็เข้ามาติดตามข่าวต่างๆ ในเว็บไซด์ข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์กันจำนวนมาก มากชนิดเกินกว่าที่กองบก.เราคาดหมายกันไว้ และตอนนี้ก็กำลังดีวันดีคืน จึงทำให้เชื่อว่าแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของเรา ทางเว็บเนชั่นสุดสัปดาห์เดินมาถูกทางแล้ว ยังเหลือทางด้านเทคนิค ที่จะมีการปรับเปลี่ยนหน้าเว็บไซด์ไปเรื่อยๆ เพราะอนาคต เราก็จะไปทุกแพลตฟอร์ม ของสื่อโซเชียลมีเดีย”

..ที่สำคัญก็คือว่า สื่อในเครือของเนชั่นทั้งหมด ก็จะมีการครอสข่าวเช่น ข่าวในเว็บเนชั่นสุดสัปดาห์ ก็จะนำไปครอสในเว็บฐานเศรษฐกิจ  ,เนชั่นทีวี ,กรุงเทพธุรกิจ ก็จะมีการครอสข่าวแบบนี้เพื่อกระจายให้ถึงคนอ่านในทุกช่องทางที่เรามี

อย่างไรก็ตาม”ประชาไท-บก.เนชั่นสุดสัปดาห์”ขอสงวนข้อมูลที่จะบอกว่า ปัจจุบันกองบก.ของเนชั่นสุดสัปดาห์ ทั้งกองบก.ข่าว และฝ่ายผลิต มีจำนวนคนมากน้อยแค่ไหน แต่ได้ย้ำว่า บุคลากรของเว็บข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ ถึงตอนนี้ถือว่า มีคนเพียงพอในการผลิตคอนเทนต์ดีๆให้คอข่าวได้อ่าน ซึ่งหากคอนเทนต์ดี แต่ภาพประกอบ ภาพกราฟฟิคไม่สวย ไม่ดึงดูด ไม่เร้าใจ มันก็ทำให้คนไม่คลิกเข้ามาอ่าน ดังนั้น ทีมงานของเรา ทั้งทีมกองบก. ที่ผลิตคอนเทนต์ เจาะข่าวและทีมหลังบ้านเช่นทีมทำกราฟฟิค ล้วนแต่เป็นระดับที่เราคัดเลือกมาเป็นพิเศษ เป็นมืออาชีพจริงๆ

-สื่อแนววิเคราะห์ข่าว รายสัปดาห์  รายเจ็ดวัน ทั้งแนวทางการเมือง เศรษฐกิจ ที่เขาทำทั้งสิ่งพิมพ์ด้วยและมีเว็บไซด์ มีเพจของตัวเองด้วย ถ้าจะลงมาแข่งขัน มาทำเว็บ สื่อโซเชียลมีเดีย แบบจริงจังด้วย จะเป็นอย่างไร ?

ผมคิดว่าดี เพราะตอนนี้ข่าวสารไปรวดเร็วมากและโลกดิจิตอลยุคปัจจุบัน ระบบฐานข้อมูลมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับชีวิตคน ตอนนี้คนทั้งโลกไปรวมกันอยู่ในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ในอนาคต ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ก็จะแย่ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ความเร็ว ความลึก ความแหลมคมของคอนเทนต์ จึงสำคัญมาก

“หากใครมีทั้งความเร็ว ความลึก ความแหลมคม บนพื้นฐานคือมีความถูกต้องในข้อมูลที่นำเสนอ ก็จะได้เปรียบในสนามนี้ เพราะว่าโลกมันหมุนไปเร็ว ข่าวสารมันหมุนไปเร็ว หากสื่ออื่น ยังวิเคราะห์ข่าวสัปดาห์ต่อสัปดาห์จะไม่ทัน เนชั่นสุดสัปดาห์เพราะเราวิเคราะห์ข่าวรายวัน เพราะข่าวของเราในเว็บจะไปล่วงหน้าก่อนแล้วเจ็ดวัน หากสำนักไหน ทำข่าวรายสัปดาห์ ก็หมายถึงช้าแล้ว เป็นข่าวเก่าที่เรานำเสนอไปก่อนหน้านี้ และเราคิดว่าสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์อาจต้องปรับตัวตามเรา”

 


คนบอก สื่อสิ่งพิมพ์ ทรงกับทรุด

แล้วทำไม เกิดBusiness Today

กับกลยุทธ์ O2O -Online to Offline

มาที่อีกหนึ่งสื่อรายสัปดาห์ แต่เป็นสื่อแนวเศรษฐกิจ  ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความสนใจ การถูกพูดถึงมากพอสมควรในเรื่องคุณภาพการผลิตและเนื้อหาที่อัดแน่น และน่าสนใจ   นั่นก็คือ หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจรายสัปดาห์ ที่ชื่อ Business Today ซึ่งเวลานี้ พิมพ์ออกมาได้หลายสัปดาห์ หลายฉบับแล้ว  ขณะเดียวกัน   ก็มีแพลตฟอร์มสื่อๆ ควบคู่กันไปด้วยทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย -รายการโทรทัศน์ในช่องนิว 18 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่หลายคนโดยเฉพาะวงการสื่อ ตั้งคำถามสงสัยกันมากก็คือ การทำหนังสือพิมพ์ ของ BusinessToday  ในภาวะที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนวงการสื่อมองว่า สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นธุรกิจสื่อที่มีแต่”ทรงกับทรุด”  แล้วเหตุใด ผู้บริหาร-เจ้าของ-กองบก. BusinessToday ถึงสวนกระแส มาผลิตหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นรายสัปดาห์ ก็ตาม

เพื่อให้หายสงสัย และได้รู้ทิศทางของสื่อต่อจากนี้ จากผู้อยู่ในวงการสื่อมายาวนาน เราได้สอบถามพูดคุยกับ“อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร Business Today ”ซึ่งชื่อนี้ แวดวงสื่อมวลชนรู้จักกันเป็นอย่างดี กับประสบการณ์ในการทำข่าว-ทำสื่อมายาวนานตั้งแต่นักข่าวภาคสนามสายเศรษฐกิจ จนไปถึงระดับบริหารในเครือเนชั่นฯ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเนชั่นทีวี

“อดิศักดิ์-ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจรายสัปดาห์ Business Today” เล่าถึงวัตถุประสงค์ในการทำหนังสือพิมพ์ Business Today ให้ฟังว่า Business Today เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มใหญ่ของสื่อที่เรามีทุกสื่อ ทั้งสื่อออนไลน์ พวกเว็บไซด์โซเชียลมีเดียต่างๆ และออนแอร์เช่น วิทยุ –โทรทัศน์- Podcast  และ On print  คือหนังสือพิมพ์ และOn ground  คือพวกอีเวนต์ - activity ต่างๆ จะเห็นได้ว่า Business Today คือส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะแต่ละแพลตฟอร์ม ก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง

“ก็มีคำถามกันมากเกี่ยวกับเรื่องของหนังสือพิมพ์ มีการพูดกันว่า หนังสือพิมพ์ตายแล้ว ซึ่งผมไม่เชื่อว่าตาย เพราะในต่างประเทศก็ไม่ได้ตาย เพราะมีการปรับเปลี่ยน business model ให้ผสมผสานกับออนไลน์ โดยสื่อที่จะอยู่ได้ ต้องมีกลยุทธ์ O2O  คือ Online to Offline –Offline to Online  ถ้าออนไลน์อย่างเดียว ก็จะไม่มีพลังเพียงพอ “

..ขณะเดียวกัน คอนเทนต์ของ Business Today เป็นคอนเทนต์ ธุรกิจ ซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือสูง สำหรับคนที่บริโภคสื่อ อย่างที่คนพูดกันว่า ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ อันนั้นอาจจะจริง สำหรับข่าวทั่วไป ข่าวเหตุการณ์ แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์ ทางด้านธุรกิจ ไม่จริง เพราะคอนเทนต์ทางธุรกิจต้องใช้คนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ และprint จะเป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือสูงสุดเมื่อเทียบกับสื่ออื่น อันนี้คือสิ่งที่เราทำ Business Today”

อดิศักดิ์”กล่าวต่อไปว่า หากดูจากเนื้อหา การผลิตที่เราทำ Business Today เราจะมีความแตกต่างจาก หนังสือพิมพ์ของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ ที่เป็นกลุ่มเดียวกัน ของเรา Business Today ใช้ Big Data  บวกกับ Infographicบวกกับการดีไซน์ บวกกับ Storytelling  ทำให้คอนเทนต์ที่ออกมา มีความแตกต่างแล้วทำให้เข้าใจได้ง่าย

..Business Today เราเรียกตัวเองว่าหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่มีดีไซน์ ซึ่งหลังเราได้ผลิตและวางแผงมาได้ประมาณสามสัปดาห์ ก็พบว่าเราได้รับเสียงตอบรับจากคนอ่านค่อนข้างดี รวมถึงตามร้านขายหนังสือ เพราะตัวหนังสือพิมพ์ที่เรานำไปวางจำหน่าย เราวางเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้วางขายทั่วไป เช่น วางขายในร้านหนังสือที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด เช่น ซีเอ็ด –ร้านนายอินทร์- บีทูเอส และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่อยู่ในอาคารสำนักงานต่างๆ คือจะเน้นเฉพาะกลุ่ม ทำให้เสียงตอบรับออกมาดี

..บางคนบอกผมว่า เป็นมิติใหม่ของการอ่านหนังสือพิมพ์ แต่เป็นการดูหนังสือพิมพ์ เพราะมีภาพ อินโฟกราฟฟิกเยอะ คนที่ชอบข้อมูล ชอบอินโฟกราฟฟิกจะมีความสุขในการอ่าน Business Today เพราะเรามีการออกแบบ มีการทำ อินโฟกราฟฟิก ด้วยการใช้ข้อมูล Big Data ต่างๆ แทบทุกหน้า เกือบทั้งเล่ม ที่เราใช้วิธีการนำเสนอแบบนี้

“อดิศักดิ์”กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาหลักๆในหนังสือพิมพ์ Business Today จะมี 3 เรื่องคือ เทคโนโลยี –การเงิน-การตลาด ทั้งสามส่วนผสมผสานกันในแต่ละเรื่อง อย่างข่าวการเงิน ข่าวเกี่ยวกับธนาคาร ก็จะใส่มุมมองของไอทีเข้าไปเพราะปัจจุบันธนาคารต่างๆ ใช้บุคลากรที่เป็นผู้บริหารที่มาจากวงการไอทีเข้าไปทรานฟอร์ม ฯ ธนาคาร เราก็ใช้นักข่าวที่มีความรู้ด้านไอทีและการเงิน เข้าไปทำ เพื่อให้สิ่งที่นำเสนอออกมา ลึกกว่าข่าวทั่วไป

“เรากำลังทำสิ่งที่เรียกว่า Beyond Journalism เพราะยุคนี้ สื่อจะเป็นแค่คนกลางอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเป็นคนที่คอนเน็คกับข้อมูลต่างๆ เพื่อมานำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ ที่มี อินโฟกราฟฟิก ที่มีดีไซน์ทำให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ “

..เป้าหมายของ Beyond Journalism เป็นคนในวงการธุรกิจทุกระดับ ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นใหม่ จะเป็นรุ่นเก่าก็ได้ เพราะถ้ามีการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่าย ด้วย อินโฟกราฟฟิกเขาก็ชอบ หรือรุ่นใหม่ที่อาจไม่ชอบ textเยอะ ๆ แต่เห็นมี อินโฟกราฟฟิกเขาก็ชอบ และเราใส่ความน่าเชื่อถือลงไปเยอะ ด้วยคนที่มีประสบการณ์ มีพันธมิตร ด้วยมุมมองที่ใช้ Big Data  ใช้เทคโนโลยี นำ

จากการที่ BusinessToday  เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ที่หนึ่งสัปดาห์ จะตีพิมพ์จัดจำหน่าย ออกมาหนึ่งครั้ง เมื่อถามว่า ข่าวปัจจุบันเกิดขึ้นตลอดเวลา มีการนำเสนอตลอดทั้งวัน “อดิศักดิ์-สื่อมวลชนมากประสบการณ์”กล่าวทันทีว่า ไม่จริง ข่าวที่เกิดขึ้นเร็ว มันก็มีความผิดพลาดเยอะ มี fake news เยอะ โซเชียลมีเดีย แต่ข่าวธุรกิจ มันผิดพลาดไม่ได้ บางทีไม่จำเป็นต้องเร็ว เรายึดความถูกต้องมากกว่า ข่าวที่เร็ว ก็อาจจะเป็นพวกข่าวเหตุการณ์อะไรพวกนั้นมากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ ต้องเอาความถูกต้องก่อน ความเร็วเป็นรอง เพราะความถูกต้องมันสำคัญ เพราะถ้าเร็วแต่ไม่ถูกต้องแล้วตัดสินใจไปผิดพลาดมันเสียหาย

-ปัจจุบันหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจก็มีทั้งรายวันอย่าง กรุงเทพธุรกิจ หรือรายสามวันอย่าง ประชาชาติธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ แล้วอะไรคือจุดแข็ง ความแตกต่างที่จะทำให้คนซื้อ BusinessToday?

จุดแข็งของเราคือวิธีคิดของการทำสื่อ ที่เราทำมากกว่าความเป็นสื่อ คือเราสร้าง Business Content Platform เพื่อทำให้มีคนมาคอนเนกกับเรา ทั้งคนอ่านและพันธมิตร และเรายังทำหน้าที่ เหมือนเป็นองค์กรจัดการความรู้ทางด้านธุรกิจเพื่อสื่อสารกับคนในแวดวงที่สนใจเรื่องธุรกิจ เรื่องการทำธุรกิจทุกระดับ คือทุกอย่างจะมีองค์ประกอบร่วมกัน เป็นแพลตฟอร์ม

.. BUSINESS Today  เราไม่ได้เป็นแนวสุดสัปดาห์แบบฉบับอื่นๆ เพราะเราเป็นตัวของตัวเราเอง หนังสือพิมพ์เราแม้จะเป็นรายสัปดาห์ วางแผงทุกวันอาทิตย์ แต่ถ้าลองอ่านเนื้อหา จะพบว่าเป็นสามารถเก็บไว้อ่านต่อไปได้อีก ไม่ใช่ว่าพอพ้นสัปดาห์นั้นไปแล้ว ข่าวสารต่างๆใน BUSINESS Today  ล้าสมัยไปแล้ว อ่านไม่ได้ ถ้าลองอ่านดูจะพบว่าเนื้อหาจะเป็นแนวบทวิเคราะห์ การคาดการณ์ในอนาคต ทำนองนี้ ซึ่งเอาจริง ๆแล้วหยิบเล่มเก่ามาอ่านก็ยังได้

-การบริหารกองบรรณาธิการ ทาง BUSINESS Today ใช้บุคลากรมากน้อยแค่ไหนในการทำหนังสือพิมพ์และแพลตฟอร์มต่างๆ?

ไม่เยอะ กองบรรณาธิการของ BUSINESS Today แบ่งเป็นสองฝ่าย กลุ่มแรก เป็นฝ่ายผลิต คือคนทำกราฟฟิก คนตัดต่อวีดีโอ โปรดิวเซอร์ ครีเอทีฟ ซึ่งหากเป็นหนังสือพิมพ์ทั่วไป คนทำเลย์ฯออกแบบรูปเล่มหนังสือพิมพ์กับคนทำกราฟฟิกจะแยกกัน แต่ของเราจะเป็นคนๆ เดียวกัน เช่น เรานำเนื้อหามาทำกราฟฟิกก่อน จากนั้นพอเสร็จ คนทำกราฟฟิกคนนั้น สามารถไปเลย์หน้าหนังสือพิมพ์ได้ แล้วก็ยังสามารถตัดต่อวีดีโอคลิปได้ด้วย ก็ทำให้ฝ่ายผลิต จะมีคนเยอะกว่าคนทำคอนเทนต์

อดิศักดิ์”พูดถึงการบริหารกองบก. BusinessTodayให้ฟังว่า ทาง BusinessToday มีคนอยู่ประมาณ 35-40คน ประมาณนี้ โดยหกสิบเปอร์เซนต์ เป็นคนที่อยู่ในฝ่ายผลิต ส่วนอีกสี่สิบ เปอร์เซนต์ เป็นคนผลิตคอนเทนต์ เป็นโต๊ะข่าว มีบก.ข่าว ซึ่งบก.ข่าว เรามีแค่สามโต๊ะ แล้วบก.ข่าว แต่ละโต๊ะ ก็มีหน้าที่บริหารลูกทีมของตัวเอง ที่ก็มีคนประมาณ 3-4คนเท่านั้น แล้วก็บริหารคอลัมนิสต์ที่เขียนเนื้อหาในโต๊ะนั้นๆ แล้วก็บริหารพวกพาร์ตเนอร์ ต่างๆ เช่น สตาร์ทอัพเพื่อมาซับพอร์ตคอนเทนต์ของเรา ทำให้ บก.จะไม่ได้มีหน้าที่แบบหาข่าวแบบเดิม แต่มีหน้าที่บริหารคอนเทนต์ให้เรา ซึ่งไม่ได้มีแค่นักข่าวอย่างเดียว ก็ทำให้กองบรรณาธิการของเรา ก็ไม่ได้ใช้คนเยอะ แต่ในทีมต้องทำทุกอย่างเช่น เว็บไซด์ ทำวิทยุ ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ ทำ Podcast  ทำอีเวนต์เช่นการจัดสัมมนาอะไรต่างๆ

..สำหรับอนาคตของBusinessToday เราจะต้องสร้างเครือข่ายมากกว่านี้ โดยให้คนของเรา ทั้งนักข่าว บก.ข่าว มีลักษณะที่เรียกว่า personal brand ที่เห็นได้ชัดเช่น บก.การเงิน ของเรา ก็จะต้องมีความเชี่ยวชาญที่มากกว่าแค่การเป็นนักข่าว ที่อาจจะให้ความเห็นเรื่องการเงิน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อการเงินได้ ดังนั้น นอกจากเราจะสร้าง BusinessTodayเป็น Business Content Platform  แล้วเราจะต้องสร้าง บุคลากร สร้างนักข่าว บก.ข่าวของเราให้มี personal brand  ในข่าวนั้นๆที่เขารับผิดชอบ เพื่อให้คนอ่าน คนเสพข่าวเรามีความเชื่อมั่นความเชื่อถือในสิ่งที่ผลิตออกไป เพราะโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ คือข่าวที่มันไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งในที่สุด คนจะกลับมาในสิ่งที่เขาเชื่อถือมากกว่า ผมว่ามันใกล้ถึงจุดนั้นแล้ว

ถามปิดท้ายว่า ถึงตอนนี้ ยังมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีอนาคต “อดิศักดิ์-ที่ผ่านการทำสื่อมาเกือบทุกรูปแบบ” บอกว่า จะพูดอย่างนั้นร้อยเปอร์เซนต์ก็ไม่ได้ แต่ผมพูดถึงว่า หากเรา ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอาจไม่มีพลังเพียงพอ เช่น เราทำเว็บไซด์อย่างเดียว แต่เว็บไซด์ตอนนี้มีไม่รู้กี่พันเว็บไซด์ แล้วมันไม่มีพลัง แล้วมันไม่สามารถสื่อสารในเรื่องของ Infographicขนาดใหญ่ๆ หรือให้ข้อมูลขนาดใหญ่ได้ แต่หนังสือพิมพ์เอง หากมีแต่ตัวหนังสือพิมพ์ลำพังอย่างเดียว มันก็ไม่ทันเวลา

“กลยุทธ์ก็คือต้องทำผสมผสานกันแล้วให้น้ำหนักว่าคอนเทนต์ไหน ควรเหมาะกับแพลตฟอร์มใด บางคอนเทนต์อาจจะเหมาะกับแพลตฟอร์ม Podcastอย่างเดียวก็ได้ บางคอนเทนต์ อาจจะเหมาะกับสิ่งพิมพ์อย่างเดียวก็ได้ บางคอนเทนต์อาจจะเหมาะกับเว็บไซด์ เพราะต้องให้มันมีการเคลื่อนไหวภาพได้ ต้องผสมผสานกัน เป็นกลยุทธ์แบบ O2O Online to Offline”