คิดถึง “ป๋าแห้ว” 73ปี บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ นักข่าวภาคสนามเก๋าที่สุดในประเทศไทย

 

คิดถึง “ป๋าแห้ว”

73ปี บนเส้นทางหนังสือพิมพ์

นักข่าวภาคสนามเก๋าที่สุดในประเทศไทย

--------------------------

“ช่วงนั้นมีปฏิวัติมาเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์ก็ถูกแทรกแซง การทำข่าว การเขียนข่าวก็ถูกเซ็นเซอร์  บางข่าวถูกสั่งไม่ให้เขียน  ห้ามการเสนอ ข่าวบางข่าวที่กระทบกระเทือน หรือเป็นข่าวที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล เขาจะเริ่มแทรกแซง  โดยการเข้ามาตรวจข่าว ถ้าเขียนแล้วปรู๊ฟแล้ว  ต้องเอาไปให้เขาตรวจที่กรมประชาสัมพันธ์ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย....การเซ็นเซอร์ข่าว ถือว่าเป็นวิธีการที่นุ่มนวล เมื่อเทียบกับการยกกำลังบุกไปถึงโรงพิมพ์ ทำลายเครื่องมือเครื่องใช้ของหลายสำนักพิมพ์”

“หลังเกษียณจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ผมไปช่วยทำข่าวที่หนังสือพิมพ์สายกลาง พิมพ์ดีดแล้วส่งแฟกซ์เข้าไป ส่วนเพื่อนได้ไปเช่าเวลา สถานีวิทยุแห่งหนึ่ง เขาก็ให้เราช่วยส่งข่าว ผมก็ทำ 2 อย่าง ทั้งหนังสือพิมพ์กับวิทยุ เรียกว่าทั้งชีวิตทำข่าวอย่างเดียวเลย”

บางช่วงบางตอนของบทสัมภาษณ์ “ป๋าแห้ว” หรือ พิศาล พ้นภัย นักข่าวภาคสนามที่อายุมากที่สุดของประเทศไทย และเดินทางอยู่บนเส้นทางคนข่าวนานถึง 73 ปี   เมื่อครั้งที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “คือ...คนหนังสือพิมพ์ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ 4 ปีก่อน    สะท้อนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วในทุกร้อนหนาวของสื่อ ตั้งแต่ยุค  “กองเซ็นเซอร์” ถึงยุค “ดิจิทัล”   แม้หลังเกษียณไปแล้ว  แต่ภาพของชายสูงวัย แต่งกายเรียบร้อย พูดจาสุภาพ มีร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์  ยังคงอยู่ในความทรงจำ ทั้งนักข่าวหรือแม้แต่กระทั่งแหล่งข่าวเอง จากการที่เขา ถือเป็นต้นแบบอย่างดีของคนข่าวไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน


ณรงค์ ธรรมวิภาค หรือ “เล็ก” อายุ 69 ปี  นักข่าวอาวุโส อดีตผู้สื่อข่าวกระทรวงสาธารณสุข  ถือเป็นคนหนึ่งซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิด ทุกครั้งที่ไปงานต่างจังหวัด มักจะได้มีโอกาส พักห้องเดียวกับป๋า และคอยช่วยดูแล

“ผมรู้จักแกมาตั้งแต่ปี 2505 ในยุคนั้นหนังสือพิมพ์สารเสรี  จะเห็นแกตั้งวงเหล้ากับเพื่อนๆเพื่อสังสรรค์หลังเสร็จจากงานเสมอ  จนผมมาทำงานข่าว ก็มาเจอกันอีก  ที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองแล้ว   จำได้ว่าหลังปฏิวัติ แกมาแทนนักข่าวที่เคยอยู่ประจำกระทรวงสาธารณสุข  จึงได้เริ่มสนิทกัน

ภาพจำของแกที่ผมจะนึกถึงคือ เป็นคนอัธยาศัยดี อารมณ์ดี ไม่ว่าจะทำข่าวอะไร แกไม่เคยหวงข่าว และเป็นคนตรงต่อเวลามาก แต่ในขณะเดียวกัน แกก็เป็นคนดื่ม จนเรียกได้ว่า “หักปากกาเซียน” ของหมอในกระทรวงสาธารณสุขหลายคน ที่บอกว่าอายุมากแล้วควรจะพักผ่อน เลิกกินเหล้า  แต่นอกจากเรื่องโรคหัวใจที่ติดเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ อย่างอื่นแกก็ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไรเลย ต่อให้จะสังสรรค์ จะนอนดึกแค่ไหน แต่แกจะเป็นคนที่ตื่นเช้ามาก บางครั้งดื่มกันถึงตี 2 ตี 3 แต่พอ 6 โมงเช้า แกก็ตื่นแล้วเพื่อเตรียมไปทำข่าว  ไม่มีสักครั้งที่จะต้องมารอแก เรียกว่าแกเป็นคน “สนุกก็เอา ลำบากแต่ก็ไม่ถอย

“เพลงโปรดที่แกจะร้องประจำ คือ นกน้อยในไร่ส้ม ก่อนที่จะร้อง แกจะเล่าถึงอดีตให้ฟังว่าแกทำข่าวมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. จนกระทั่งมาจอมพลสฤษดิ์ แต่เพลงนี้เก่ามาก มีนักข่าวรุ่นเก่าไม่กี่คนที่ร้องได้ ผมก็เลยบอกแกว่า ร้องเพลงนี้มีแนวร่วมน้อย ร้องยากด้วย นักดนตรีก็เล่นไม่ได้  หาเพลงอื่นดีกว่า  ตอนหลังแกก็ยอมเปลี่ยนมาเป็นเพลงอื่น”

“หลังจากที่แกหยุดทำข่าวแล้ว ผมได้มีโอกาสไปหาแกที่บ้าน แกก็บอกว่าเหงา  คิดถึงงาน เพราะเคยไปเจอนักข่าวรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ต้องมานั่งอยู่ที่บ้าน ดูทีวี  แต่แกเกรงใจคนอื่นที่ต้องมาคอยเป็นห่วงเป็นใย  รู้สึกว่ามันเป็นภาระเขา และตัวแกเองก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง จะล้มเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ร่างกายแกอาจจะพอไหว แต่อาการแกออก บางทีก็เดินช้า บางทีก็เดินเซ  นักข่าวรุ่นลูกรุ่นหลานก็อดเป็นห่วงไม่ได้”

สิ่งที่ประทับใจและน่าจะเรียกได้ว่า มีต้นแบบจากป๋าแห้ว  คือ เรื่องของจรรยาบรรณ  ตลอดชีวิตที่ทำงานมา ผมไม่เคยเห็นแกเขียนข่าวเพื่อรับประโยชน์ หรือเป็นมือปืนเขียนเชียร์ใคร  สมัยนี้นักข่าวทำข่าวเพื่อเจ้านาย แล้วแต่นายสั่ง จริงๆ ก็คงไปโทษไม่ได้ เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป  แต่สำหรับป๋าแห้ว แกก็ยังอยู่ในแนวทางเดิมๆ คือ เป็นนักข่าวที่ทำข่าวเพื่อข่าว จริงๆ”


ขณะที่ หยก-สิรีธร พัฒน์ตระกูลชัย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย  ที่ทำข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขมานานเกือบ 20 ปี เล่าว่า เจอป๋าแห้วครั้งแรก เมื่อปี 2545 ตลอดระยะเวลาที่ได้รู้จัก ป๋าแห้ว เปรียบเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ ที่นักข่าวในกระทรวงทุกคนเคารพรัก

“ป๋าแห้วเป็นผู้ชายคนแรกที่จะได้เจอเวลาเข้ามาที่กระทรวง เพราะแกจะมาเช้ามาก ตั้งแต่ 8 โมง แกเป็นคนน่ารัก สบายๆ  จะไม่ปล่อยตัวแก่ มาถึงกระทรวงก็จะมาอ่านหนังสือพิมพ์ แกจะไม่ใส่แว่น แต่จะมีแว่นขยายเล็กๆ อันหนึ่ง เอาไว้ใช้ส่องอ่านหนังสือพิมพ์ ฉบับโปรดของป๋าคือ เดลินิวส์  อ่านจบก็จะเอากลับบ้านไปด้วย เพราะติดคอลัมน์ในนั้น

เวลามีงานแกจะนั่งพิมพ์ดีด พวกเราก็จะชอบถามว่า ป๋าทำข่าวส่งให้ใคร  ส่งอะไรเยอะแยะ แกก็จะบอกว่าส่งให้เพื่อน เพื่อนรออยู่ แต่แกก็จะชอบเล่าว่าเพื่อนแกตายไปหมดแล้ว เราก็จะแซวว่าไหนบอกเพื่อนตายหมดแล้ว แล้วป๋าส่งไปให้ใคร  เป็นการหยอกแซวกันด้วยความรักมากกว่า เหมือนญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพแล้วก็สนิทมากๆ  ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แกจะรู้ว่านักข่าวจะต้องมารดน้ำดำหัวแก ก็จะแต่งตัวหล่อเป็นพิเศษมารอ

หลังจากที่แกไม่ได้มาทำข่าวแล้วตั้ งแต่ต้นปี 2562 เพราะไม่สบาย เราก็จะนัดไปเยี่ยมแกที่บ้าน และผลัดเปลี่ยนกันโทรศัพท์ไปหา ซึ่งแกก็จะอัพเดทตัวเองให้ฟังว่า กำลังจะหายแล้ว กำลังจะไปแล้ว คือเป็นคำพูดที่พูดตลอดก่อนที่แกจะล้ม...


“สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดที่สุดของป๋าแห้ว น่าจะเป็นการมีคุณค่าในตัวเอง และมีตัวตนในตัวเอง  เพราะแกไม่ได้ทำข่าวแค่ตามหน้าที่ งานของกระทรวงสาธารณสุข  มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แกจะหาข้อมูล ใช้ประสบการณ์ของแกที่ผ่านงานมา เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ แล้วก็มีมุมมองเสนอแนะ ซึ่งบางครั้งมุมมองของแกก็ให้อะไรในฐานะคนที่ผ่านโลกมาเยอะ

และที่สำคัญ ไม่ว่างานแถลงอะไร ป๋าแห้วจะเป็นคนให้เกียรติแหล่งข่าว โดยจะเปิดคำถามเรื่องงานที่จัดก่อนเสมอ และจะถามอย่างให้เกียรติงานนั้นๆ ในขณะที่นักข่าวรุ่นใหม่สมัยนี้บางคน จะเข้าเรื่องเลยในประเด็นที่จะถาม แต่จริงๆ แล้วเราควรที่จะให้เกียรติงานสักนิด ก่อนที่จะถามในประเด็นอื่น  ซึ่งป๋าเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องนี้ แกสอนด้วยการทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง สอนวิธี “รอให้เป็น เย็นให้ได้”

แม้การจากไปของป๋าแห้ว จะเปรียบเสมือนเป็นการปิดฉากคนข่าวอาวุโสในระดับตำนานอีกคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ ความดี และคำสอนที่เปรียบเสมือนเป็นต้นแบบให้คนข่าวรุ่นหลังเดินตามรอย