“ผมเศร้าเป็นปี แต่วันนี้ตัดสินใจถูก” กรณีศึกษา “เชียงใหม่นิวส์”

“ผมเศร้าเป็นปี แต่วันนี้ตัดสินใจถูก”กรณีศึกษา “เชียงใหม่นิวส์”

-จุลสารราชดำเนินออนไลน์


“ผมทำใจยากมากกว่าจะยุบหนังสือพิมพ์ที่ผมสร้างมันมากับมือเกือบ 30 ปี กว่าจะพิมพ์ได้ยอดขนาดนี้ กว่าจะซื้อแท่นพิมพ์ เห็นกระดาษสี่สีตอนมันออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้ผมอายุใกล้จะ 60 ปี ขนาดปิดหนังสือพิมพ์แล้ว ผมยังเศร้ามาเป็นปี แม้ผมจะทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ผมก็ภูมิใจในวิชาชีพ มีตัวตนมาจากการเป็นสื่อ และผมก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผมน่าจะเป็นคนยุคสุดท้ายแล้วมั้งที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์และต้องมาปิดโดยที่เราเป็นเจ้าของเอง”

สราวุฒิ แซ่เตี๋ยว



หลังจาก นสพ. “เชียงใหม่นิวส์” ยักษ์ใหญ่ภูธรที่อยู่คู่ภาคเหนือมา 27 ปี ประกาศปิดตัวหลังตีพิมพ์มายาวนานเกือบ 2 ปี โดยเลือกวันที่ 5 มี.ค. 2561 วันนักข่าวเป็นวันสุดท้ายของการตีพิมพ์รวมวางแผงให้ผู้อ่านไปแล้ว 9,847 ฉบับ ก่อนจะเข้าสู่โลกออนไลน์ น่าสนใจว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรมาทำออนไลน์เต็มตัว มีความยากง่ายและสามารถหารายได้มาเลี้ยงชีพองค์กรได้หรือไม่

สราวุฒิ แซ่เตี๋ยว ผู้อำนวยการนสพ.เชียงใหม่นิวส์ หัวเรือสำคัญที่ทำคลอดสื่อใหญ่ภาคเหนือรายนี้  เล่าว่า ก่อนตัดสินใจปิดนสพ. สภาพโดยรวมยังพอไปได้ เพราะยอดขายไม่ได้ลด แต่ที่ลดคือ โฆษณาสปอนเซอร์ในหนังสือพิมพ์ประมาณ 20%  แต่เราประเมินว่า สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์จะไม่มีทางโตกว่านี้ มีแต่จะเล็กลง ขณะที่ออนไลน์มีแต่โตขึ้น คนนิยมมากขึ้น ตนเองแม้จะทำหนังสือพิมพ์มานานก็ยังอยากทำอยู่ แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ การจะอยู่ได้ต้องปรับตัวไปสู่ออนไลน์

“ผมมั่นใจว่า ตัดสินใจถูกที่ปิดหนังสือพิมพ์แล้วมุ่งมามาออนไลน์ ตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์กันแล้ว แม้แต่คนรุ่นเก่า วัย 70 ปีก็ยังมาดูมือถือ สื่อกระแสหลัก ทุกค่ายก็ทำออนไลน์กันหมด ฉบับใหญ่บางฉบับอยู่ไม่ได้ ก็ยังต้องปิด”

“เชียงใหม่นิวส์” ก่อตั้งเมื่อปี 2534 เผยแพร่เป็นรายวันตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนหน้าที่ นสพ.ฉบับนี้จะถือกำเนิด ในเชียงใหม่มีนสพ.ไทยนิวส์ รวมทั้ง นสพ.ภาคเหนือรายวัน และ นสพ.ข่าวสยาม เป็นผู้นำในจังหวัดขณะนั้น  จุดเด่นของเชียงใหม่นิวส์ เป็นข่าวแนวชาวบ้าน เน้นอาชญากรรม การเมือง กิจกรรมที่หลากหลายของสังคม มีเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัด 70-80%  นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่หรือคนในจังหวัดเชียงใหม่จะต้องอ่าน เชียงใหม่นิวส์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในจังหวัด

 

จากสื่อภูธรภาคเหนือเบอร์ 1

ทะยานสู่เว็บอันดับ 20 ของประเทศ

สราวุฒิ เล่าว่า สมัยก่อนที่ “เชียงใหม่นิวส์” ยังไม่ปิดตัว ถือเป็นสื่อภูธรเบอร์1 ของประเทศด้วยแท่นพิมพ์ที่ซื้อมาเป็นของตัวเอง ด้วยระบบ 4 สีจำนวน 28 หน้า มีทั้งออกรายวันเชียงใหม่นิวส์ เชียงใหม่ธุรกิจรายสัปดาห์ เชียงใหม่รายเดือน และมีนิตยสารครบ ถือเป็นความภาคภูมิใจหนึ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยที่เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในช่วงที่ผ่านมา  มีสื่อออนไลน์ให้เลือกอ่านมหาศาล ข่าวสารมาเร็วมาก แข่งกันนาทีต่อนาที ไม่ได้แข่งกัน 1 วันเหมือนหนังสือพิมพ์ ข่าวดังๆในออนไลน์ ลงไม่กี่นาทีมีคนอ่านเป็นแสน บางวันเป็นล้านวิวต่างจากหนังสือพิมพ์อย่างเห็นได้ชัด

จากที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มมาสู่เว็บไซต์ www.chiangmainews.co.th เกือบ 2 ปี   สราวุฒิ บอกว่า ถือว่าน่าพอใจ แม้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเน้นข่าวท้องถิ่น ภาคเหนือ แต่ปัจจุบันเป็นเว็บข่าวก็อยู่สูงอันดับ 20 กว่าของประเทศ ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มครบถ้วนทั้ง ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์  เว็บไซต์  โดยเฟสบุ๊ค chiangmainews มียอดติดตามอยู่ที่ 4 แสนราย

ในการทำออนไลน์ สราวุฒิบอกว่า ได้มอบให้บุตรสาว 2 คน ที่จบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะวิศวะ กับ หมอ มาบริหารกองบรรณาธิการแทนโดยมารับช่วงเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะเห็นว่า ถึงยุคที่คนรุ่นใหม่ต้องมาทำเพราะมีรูปแบบการนำเสนอด้วยวิธีใหม่ๆ แต่ส่วนตัวก็ต้องปรับจูนความคิดกับลูกทุกวัน เพราะคนรุ่นใหม่อาจขาดมุมมองในประเด็นข่าว จึงต้องมาเติมเต็มประสบการณ์ให้ ส่วนกองบรรณาธิการ เรารับคนรุ่นใหม่ ส่งข่าวพร้อมถ่ายรูป ถ้าเรื่องไหนต้องใช้ภาพมุมสูง เรามีกล้องโดรน รูปแบบไม่ต่างจากการทำทีวี

“เดิมตอนเราทำหนังสือพิมพ์เรามีพนักงาน 200 คน ตอนนี้เหลืออยู่ 50 คน เมื่อเรายุบหนังสือพิมพ์ทิ้ง ขายแท่นพิมพ์ไปบังคลาเทศ เราก็ยุบแผนกสายส่ง แท่นพิมพ์ ช่าง ช่างภาพบางส่วนเราก็ลดเพราะเราให้นักข่าวถ่ายรูปส่งออนไลน์แทน แต่นักข่าวของเราก็มีรายได้เพิ่มจากเดิมได้ เดือนละหมื่นกว่าบาท  ถ้าเขาส่งข่าวออนไลน์แล้วทำยอดวิวได้สูง ก็แบ่งรายได้ตาม  นักข่าวรุ่นเก่าบางคนที่ปรับตัวได้ เมื่อเขามีประเด็น มีแหล่งข่าว สามารถเช็คข่าว สร้างยอดวิว บางทีรายได้สูงเดือนละ 4 หมื่นกว่าบาทยังมี แต่บางคนเงินเดือนอาจลด ก็ขึ้นอยู่กับยอดวิว”

อย่างไรก็ตาม แรกเริ่มที่มีแผนปรับมาทำออนไลน์ ผู้ก่อตั้งเชียงใหม่นิวส์ ได้อธิบายให้ทีมงานฟังถึงความจำเป็นที่จะปิดหนังสือพิมพ์ นักข่าวหลายคนไม่เห็นด้วย และรู้สึกโกรธ จนขอลาออกไปเปิดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเอง  สราวุฒิ บอกว่า เรื่องนี้ผิดหรือถูกไม่รู้ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  แต่พนักงานบางคนที่าจำเป็นต้องปรับออก เราก็หางานอื่นฝากให้ เพราะส่วนตัวมีบริษัทหลายแห่ง ทั้งโรงแรม รีสอร์ท ก็ต้องดูแลพนักงานในส่วนนี้ด้วย

การเปลี่ยนมาสู่ออนไลน์ เนื้อหายังคงเดิมเหมือน เปลี่ยนเพียงรูปแบบการนำเสนอเป็นดิจิตัล แพลตฟอร์มใหม่ และข่าวต้องเร็วกว่าเดิม ข่าวมันมีเสน่ห์ ถ้านำเสนอดีและเนื้อหาดีด้วยคนอ่านเป็นล้าน เช่น ข่าวไฟไหม้ป่าดอยสุเทพ  แม้แต่ ถ่ายรูปภาพท้องฟ้าสวยๆ คนก็เข้ามาดูมาก  เมื่อก่อน เราทำหนังสือพิมพ์มากสุดก็หลักแสน

 

 

ออนไลน์รายได้น้อย

แต่ต้นทุนลดจากนสพ. ทำดี ๆปังได้แน่

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปลี่ยนมาลุยออนไลน์ สิ่งที่เห็น คือ รายได้น้อยลง แต่ต้นทุนเราก็น้อยลงตามไปด้วย ถ้าทำดีๆ เลี้ยงตัวเองได้แน่นอน  แต่ก็ยอมรับว่า อาจต้องนำรายได้จากธุรกิจส่วนตัวจากโรงแรม รีสอร์ท ร้านทอง มาหนุนเสริมการทำสื่อออนไลน์ในช่วงแรก

“รายได้อาจน้อยแต่ก็พออยู่ได้เพราะต้นทุนเราต่ำ มันคงไม่เหมือนในสมัยทำหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อนที่ได้ค่าโฆษณาเยอะ แต่การทำหนังสือพิมพ์ในส่วนกลางแม้เขาจะทำออนไลน์ด้วย มียอดคนดูเยอะ แต่มันเป็นองค์กรใหญ่ ค่าใช้จ่ายเขาก็มากตาม ถ้าเป็นสำนักข่าวออนไลน์เล็กๆ ค่าใช้จ่ายเราก็มาก รายได้ก็พอดูแลคนในองค์กรได้”

อย่างไรก็ตาม สราวุฒิ บอกว่า ในมุมเขา ปัญหาใหญ่กลับไม่ใช่เรื่องรายได้ ที่ยากคือ การทำงานมากกว่า โดยเฉพาะ การปรับแนวคิดและทัศนคติของคนรุ่นเก่าที่เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์แล้วต้องมาทำออนไลน์

“สื่อออนไลน์ปัจจุบันทำออกมาเยอะมากเป็นร้อยๆ พันๆ เว็บ ผู้อ่านจะเลือกอ่านเฉพาะที่อยากอ่าน แต่สื่อท้องถิ่นที่ทำออนไลน์ จะมีจุดเด่น ถ้าคุณรักษาจุดแข็งเนื้อหาตัวเองในพื้นที่ให้ได้ ใครๆ ก็อยากมาอ่าน อย่างเวลาเกิดเรื่อง มีข่าวใหญ่ในจังหวัดคุณ สื่อส่วนกลางเขาก็นำเสนอ แต่ใครๆ ก็อยากอ่านสำนักข่าวในพื้นที่มากกว่า เพราะเชื่อว่า จะต้องมีข้อมูลเชิงลึก มีแหล่งข่าวในพื้นที่ ดังนั้น สื่อท้องถิ่นต้องรักษาจุดแข็งตัวเองให้ได้

 

โลกมันเปลี่ยนเร็ว

“สื่อกระดาษ” จะไม่ใหญ่กว่านี้อีกแล้ว

สิ่งที่อยากแนะนำ นสพ.ท้องถิ่นที่กำลังผันไปทำออนไลน์ร ผู้ก่อตั้งเชียงใหม่นิวส์ บอกว่า เวลานี้ถือเป็นโอกาสดี ที่สื่อท้องถิ่นต้องรีบทำออนไลน์เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ อย่าทอดเวลาไปนานกว่านี้ เพราะโลกออนไลน์มันเปลี่ยนเร็วมาก

“เวลามันมาเร็วเหมือนมือถือ กล้องฟิลม์มาเป็นกล้องดิจิตัลตกรุ่นรวดเร็วมาก สื่อก็เปลี่ยนไว ตอนนี้เนื้อหาทั้งหมดมันไหลไปอยู่ในสมาร์ทโฟนหมดแล้ว สื่อท้องถิ่นอาจยังไม่ตาย ไม่หายไป 100%  แต่หนังสือพิมพ์จะแพงขึ้น แล้วใครจะซื้อ อาจจะมีบ้าง  แต่กลุ่มคนอ่านก็จะแคบลงไปอีก สรุป หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มันทำใหญ่กว่านี้ไม่ได้แล้ว ลงทุนไปก็ไม่คุ้ม

...โลกมันเปลี่ยนเร็วมากจริงๆ ขนาดสื่อออนไลน์ มันจะมาอีกเยอะมาก ไม่รู้ว่าอีก 1-2 ปี เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม จะเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจโลก แล้วเราจะไม่รับยอมกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้หรือ ถ้าเราอยู่กับที่ แล้วเราจะปรับตัวได้อย่างไร อย่าพูดว่า จะปรับทันไหมไม่พอแล้ว  ต้องถามต่อว่า ปรับตัวแล้วมันจะรอดไหมด้วย”

ผู้ก่อตั้ง นสพ.เชียงใหม่นิวส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ ผมทำใจยากมากกว่าจะยุบหนังสือพิมพ์ที่ผมสร้างมันมากับมือเกือบ 30 ปี กว่าจะพิมพ์ได้ยอดขนาดนี้ กว่าจะซื้อแท่นพิมพ์ เห็นกระดาษสี่สีตอนมันออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้ผมอายุใกล้จะ 60 ปี ขนาดปิดหนังสือพิมพ์แล้ว ผมยังเศร้ามาเป็นปี แม้ผมจะทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ผมก็ภูมิใจในวิชาชีพ มีตัวตนมาจากการเป็นสื่อ และผมก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผมน่าจะเป็นคนยุคสุดท้ายแล้วมั้งที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์และต้องมาปิดโดยที่เราเป็นเจ้าของเอง”