เมื่อยังอยู่ก็ต้องสู้ต่อไป
นสพ.ท้องถิ่นในยุคถดถอย
ขอสู้จนเฮือกสุดท้าย (1)
-กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน
สิ่งที่นสพ.ท้องถิ่นเผชิญอยู่กับภาวะ “สวนกระแส” ที่ต้องอยู่รอดกับพายุดิจิตัล ปัญหาที่พบคือ คนอ่านสื่อกระดาษน้อยลง โฆษณาที่เป็นรายได้หลักลดลง 20-50% นสพ.จึงต้องลดหน้า และเพิ่มราคาขาย ทางออกจึงต้องขยายตลาดนสพ.ไปยังหน่วยราชการและมหาวิทยาลัย พร้อมรับจ้างทำอีเว้นท์ ขณะเดียวกันแม้ ทุกสำนักพิมพ์จะทำออนไลน์ควบคู่ แต่ก็พบว่า ตลาดออนไลน์มีรายได้น้อย ยังเลี้ยงองค์กรไม่ได้ สิ่งที่ยืนยัน ตรงกันคือ นสพ.ท้องถิ่น จะอยู่รอดได้หรือไม่ คือ ต้องขายเนื้อหาที่เป็นความลึกในพื้นที่ ที่หาอ่านจากที่อื่นไม่ได้
ปี 2562 ที่กำลังผ่านพ้นไป สถานการณ์ธุรกิจสื่อและชีวิตคนข่าว ยังเต็มไปด้วยความยากลำบากจากพายุดิสรัปชั่น และวิกฤตเศรษฐกิจ สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ยุติฉบับกระดาษ ปรับเปลี่ยนเป็นออนไลน์ ขณะที่ ทีวีดิจิตัล รายได้หด ยอดคนดูลดลง
นสพ.ท้องถิ่นที่เคยปากเสียงคนในพื้นที่ทยอยปิดตัว หลายฉบับที่เป็นยักษ์ใหญ่ประจำภูมิภาคพยายามต่อสู้อย่างหนัก การปรับตัวของสื่อท้องถิ่นเป็นอย่างไรจะอยู่รอดบนกระดาษได้อีกกี่ปีในกระแสเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้
“เราเชื่อว่า สื่อท้องถิ่นถอยร่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกของเรา คือ ต้องรักษาจุดแข็ง คือ คอนเท้นท์ให้ได้ เพราะเราเป็นองค์กรข่าวอาชีพ เพราะข่าวมากมายที่ปรากฏในโซเชียลของท้องถิ่นจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ พัฒนาประเด็นข่าวไม่ได้”
หาดใหญ่เหลือ 2 ฉบับ
ดิสรัปชั่น-ราคายางตก กระทบลูกโซ่
ภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ฉายภาพกับ “จุลสารราชดำเนิน” ถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สื่อท้องถิ่นหลายจังหวัดได้รับผลกระทบ เช่น จากเคยออกรายสัปดาห์ก็ขยับออกเป็น 15 วัน และรายเดือน ไม่ก็ไปรายสะดวก ในภาพรวมยังมีนสพ.ท้องถิ่นรายวันทั่วประเทศที่ยืนหยัดต่อสู้อยู่ เช่น ไทยนิวส์ เสียงใต้รายวัน เสียงใต้ภูเก็ต โคราชคนอีสาน ส่วน เชียงใหม่นิวส์ ปิดฉบับนสพ.ไปปีกว่าหันไปทำออนไลน์
นสพ.ภาคใต้โฟกัส ก่อตั้งมา 22 ปี ฉบับปฐมฤกษ์วางแผนเมื่อปี 2540 เน้นเนื้อหาทางสังคม ช่วงนั้นสื่อท้องถิ่นในหาดใหญ่ถือว่าเข้มแข็งวางแผง 4-5 ฉบับ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ฉบับ
เขาบอกว่า ช่วงที่สื่อท้องถิ่นในหาดใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบคือ ปี 2557 จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ราคายางพาราตกต่ำ ปัญหาการท่องเที่ยวในภาคใต้ ซึ่งถ้าราคายางตกจะกระทบทุกอย่างเป็นลูกโซ่ ส่วนภาวะดิสรัปชั่น ถือว่ามาซ้ำเติม นสพ.ท้องถิ่น ให้ถดถอยลงอีก
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ รายได้จากโฆษณาของนสพ.ท้องถิ่นลดลงเพราะธุรกิจต่างๆเริ่มเปิดเว็บเพจใช้โซเชียลลงโฆษณาออนไลน์กันเอง เมื่อทุกองค์กรทำได้ ก็ไม่ต้องง้อสื่อ ไม่เฉพาะนสพ.ท้องถิ่น แต่วิทยุชุมชนเกือบ 100 สถานี ก็ไปไม่ถึงฝั่ง เหลือไม่ถึง 10 สถานีในจังหวัด เพราะไม่มีใครลงโฆษณา
สำหรับ “ภาคใต้โฟกัส” ตั้งแต่ปี 2557 ที่วิกฤตเศรษฐกิจประดัง ยอดโฆษณาที่ลงกับ นสพ. ลดลงไปแล้ว 50% เมื่อก่อนในบริษัทมีพนักงาน 26 คน ปัจจุบันเหลือ 12 คน แผนกที่ลดคือ แผนกทำอีเวนท์ แผนกถ่ายทำทีวี แผนกธุรการจาก 3 เหลือ 1 คน ส่วนแผนกข่าวยังไม่ลด นอกจากนี้ มีการปรับลดหน้า นสพ. ลงจาก 40 เหลือ 32 หน้าแทบลอยด์ เพราะโฆษณาลด ข่าวจึงต้องลดตาม แต่ข่าวยังหลากหลายทั้งข่าวธุรกิจ เกษตร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ท้องถิ่น
“แต่ก่อนนสพ.เรา ขายในราคา 10 บาท มากกว่า ไทยรัฐ พ่อค้าบอกว่า ที่ขายได้เพราะมีข่าวสารใกล้ตัว หาอ่านไม่ได้ แต่ตอนนี้ขึ้นราคาขยับมาเรื่อยๆ จาก 10 ,15 , 20 แล้วก็ 30 เพราะถ้าไม่ขึ้น เราก็จะตายเร็วขื้น วันนี้เรายังต้องยอมลดค่าโฆษณาลง จากหน้าละ 10,000 เหลือ 7,000 บาท ก็โอเคแล้ว ลูกค้าเขาไม่มีทางมาจ่ายแพงเหมือนเดิม เพราะปัจจัยราคายางตกต่ำ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องดิสรัปชั่นเท่าไร ผมว่าอันนั้นมันปรับตัวไม่ยาก แต่เพราะปัจจัยพื้นฐานมันกระทบรุนแรง ไม่มีเงินเข้ามาในระบบ ผมก็ไม่รู้ นสพ.ท้องถิ่นภาคอื่น กระทบจากปัจจัยไหนบ้าง ที่นี่ก็ยังมีปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดการลงทุนภาครัฐเข้ามาน้อยอีก”
สำหรับหนทางอยู่รอด ภูวสิษฏ์ บอกว่า เมื่อยอดขายบนแผงลดลง “ภาคใต้โฟกัส” จึงต้องพ่วงมาทำตลาดใหม่สร้างพันธมิตรข่าวสารหน่วยราชการถือว่า วินๆกันทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาเราหันมาทำข่าวประชาสัมพันธ์กับหน่วยราชการ มหาวิทยาลัย ทำเนื้อหาคล้ายๆ advertorial มหาวิทยาลัยก็ซื้อหนังสือพิมพ์เราเพื่อเอาไปประชาสัมพันธ์งานเขา เราก็มีรายได้เพิ่มขึ้น
“ทิศทางขณะนี้ เราเดินหน้าขยายตลาด bulk sales เพื่อรักษายอดพิมพ์ให้ลูกค้าลงโฆษณา อีกด้านในทางธุรกิจ เราต้องคิดขยับไปที่การทำอีเว้นท์ แต่ไม่ใช่อีเว้นท์ที่เราลงทุนเองเหมือนก่อน เป็นอีเว้นท์ที่เรารับจ้างแล้วก็เราก็เอ้าท์ซอส เพราะเราไม่มีพนักงานเต็มเวลาเหมือนก่อนแล้ว”
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบกับคุณภาพเนื้อหา แต่อย่างไรเสีย นสพ.ก็ต้องยึดจุดแข็ง คือ scoop ข่าวมืออาชีพไว้ เพราะเราเป็นองค์ข่าวอาชีพ นี่คือ สิ่งที่จะทำให้นสพ.ท้องถิ่นอยู่รอด
บิ๊กภูธรอีสาน รับโฆษณาลด
ต้องทำความดี...ถึงจะมีผู้สนับสนุน
หันมาดู นสพ.ยักษ์ใหญ่ในภาคอีสาน อย่าง “โคราชคนอีสาน” ที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 45 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สุนทร จันทร์รังสี ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการอำนวยการ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า เมื่อสื่อใหม่เข้ามามีบทบาท ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โฆษณาของ นสพ. ลดลง 30-40% ในส่วนยอดพิมพ์ “โคราชคนอีสาน” ปรับลดจำนวนลง 20-30% เพราะเอเย่นต์หรือตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งเลิกกิจการ แต่ก็ไม่กระทบมากเนื่องจากเราเน้นวางจำหน่ายเป็นหลัก ที่สำคัญมีสมาชิกรายปีหลายร้อยรายกระจายอยู่หลายจังหวัด
ปัจจุบัน “โคราชคนอีสาน” วางจำหน่ายรายสัปดาห์ทุกวันพุธใน 8 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น และอุดรธานี นอกจากนำเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์แล้ว ยังผ่านเว็บไซต์ www.koratdaily.com รวมทั้งแฟนเพจ เฟซบุ๊ก koratdaily และทวิตเตอร์ korat_daily
สุนทร เล่าย้อนสมัยก่อตั้ง นสพ. ว่า เหตุที่เลือกออกเป็นรายวัน เพราะเห็นว่า เมื่อจ.เชียงใหม่ มีหนังสือพิมพ์รายวันออกได้ นครราชสีมาซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ก็ควรมีได้เช่นกัน “โคราชรายวัน” ชื่อเดิม จึงเกิดขึ้น แรกวางขายเป็นราย 2 วัน พร้อมกับลงทุนตั้งโรงพิมพ์ของตัวเองในปี 2520 อีกสิบปีต่อมา เราลงทุนซื้อแท่นพิมพ์ออฟเซ็ต 1 สี หนังสือพิมพ์ออกเป็นราย 3 วัน และมาขยายอีกเปลี่ยนแท่นพิมพ์เป็น 4 สี ซึ่งในส่วนของหนังสือพิมพ์ก็ปรับเป็นราย 5 วัน เราจึงก้าวขึ้นจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เป็นหนังสือพิมพ์ของภูมิภาค แต่ปัญหาดิสรัปชั่นล่าสุดทำให้เราต้องปรับวางจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์แทน โดยเริ่มเมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา
“ยุครุ่งเรืองเมื่อ 40 ปีก่อน ที่ประชาชนตื่นตัวสนใจในการเมืองโคราชคนอีสาน พิมพ์เกือบหมื่นฉบับออกเป็นรายวัน แต่หยุดวันหวยออก ส่วนนสพ.ท้องถิ่นในจังหวัดเดิมมีกว่า 20 หัว วางจำหน่ายตามวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เดือนละ 2 ฉบับ แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นยุคถดถอยของสื่อกระดาษ เพราะคนสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่สนใจรายละเอียดข่าว ต้องการรู้แค่เพียงผิวเผิน นสพ.ท้องถิ่นในโคราชจึงเหลือเพียง 4-5ฉบับที่ยังออกจำหน่าย เป็นรายเดือนหรือรายสะดวก”
สุนทร กล่าวว่า ด้วยความตั้งใจจะผลิตหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวสารตรงไปตรงมา จึงยังได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่านในปัจจุบันอยู่ รายได้จากการโฆษณาและการขายหนังสือพิมพ์ ยังเรียกว่าพอเลี้ยงตัวเองได้ สามารถนำมาเป็นทั้งค่าพิมพ์ เงินเดือนกองบรรณาธิการ ค่าจัดส่งหนังสือพิมพ์ให้เอเย่นต์ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดได้
ปัจจัยท้าทายในการทำนสพ.ท้องถิ่นให้อยู่รอด สุนทร มองว่า นสพ. ไม่ว่าระดับชาติหรือท้องถิ่น ถ้าเสนอข่าวตรงไปตรงมา เชิงลึก มีความแตกต่าง ซื่อสัตย์ต่อผู้อ่านจะได้รับการตอบรับดี อย่าง “โคราชคนอีสาน” ได้จัดกิจกรรมตอบสนองผู้อ่าน บริจาคเงินช่วยเหลือสังคม โรงพยาบาลในจังหวัดมาต่อเนื่อง เชื่อว่า ผลงานการตอบแทนบุญคุณผู้มีอุปการคุณเหล่านี้ จะทำให้เราได้รับการสนับสนุนต่อไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย
สิ่งที่ยากสุดทำออนไลน์
คือ เปลี่ยนความคิดคนนสพ.
ขยับไปดู การปรับตัวสื่อท้องถิ่นภาคอีสานอีกแห่ง นสพ.อีสานบิซวีค จ.ขอนแก่น มี เจริญลักษณ์ เพชรประดับ อดีตคนข่าวค่ายเนชั่น เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2551 ปัจจุบัน นสพ.ฉบับนี้มีอายุ 11 ปี แรกออกเป็นรายสัปดาห์ จำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ภาคอีสานนำเสนอข่าวเศรษฐกิจการเมืองในจ.ขอนแก่น และภาคอีสาน
“นสพ.เราเริ่มได้รับผลกระทบจากดิสรัปชั่นเมื่อ 3-4 ปี ที่แล้ว หรือ ปี 2559 เพราะทัศนคติคนเริ่มเปลี่ยน ไม่มีใครอยากอ่านนสพ.อีก เอเย่นต์ก็ทยอยปิดตัวจากผลดิสรัปชั่น เราจึงได้รับผลเป็นลูกโซ่ไปด้วย อีกปัจจัย คือ ภาคธุรกิจที่เคยลงโฆษณาเปลี่ยนรูปแบบมาลงทางออนไลน์ของตัวเอง เช่น เฟสบุ๊ค จึงไม่จำเป็นต้องมาจ้างเราลงโฆษณา รายได้ส่วนนี้จึงหายไป ซึ่งที่จ.ขอนแก่นเดิมมีสื่อท้องถิ่นเกือบ 10 ฉบับ เริ่มทยอยปิดในช่วง 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้เหลือสื่อท้องถิ่นฉบับเดียวที่ออกสม่ำเสมอ”
ผู้ก่อตั้ง นสพ.อีสานบิซวีค เล่าว่า จากเดิมที่เคยพิมพ์ 5,000 เล่ม ค่อยๆ ลดมาเหลือ 1,000 เล่ม ล่าสุดอยู่ที่ 700 เล่ม โดยรวมขายนสพ.ลำบากขึ้น ทางออกของเราจึงหันมาทำระบบสมาชิกมากขึ้นเกิน 50% ปรับยอดขายต่อเล่มจาก 20 บาทเป็น 30 บาท และขายแบบ bulk sales ครั้งละ 10-20 เล่ม ไปตามหน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มี 32 คณะ ก็คณะละ 10 เล่ม รวม 320 เล่ม และขายยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล กระทั่ง โรงแรม นอกจากนี้ การขายโฆษณาต้องทำแบบใหม่พ่วงเป็นเพ็คเกจ นสพ.กับออนไลน์ และหารายได้ส่วนอื่นเสริม เช่น จัดอีเว้นท์คล้ายๆ ที่สื่อส่วนกลางทำ
นอกจากการปรับตัวในส่วนของนสพ. “อีสานบิซวีค” ยังมุ่งที่แพลทฟอร์มออนไลน์ควบคู่ ด้วยการทำเว็บไซต์ www.isaanbizweek.com เปิดเฟสบุ๊ค ยูทูป และกระจายเสียงผ่านพอดคาสท์ โดยเน้นเนื้อหาด้านเศรษฐกิจภาคอีสาน สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ เช่น รถไฟความเร็วสูงจะมานครราชสีมา เจาะลึกพิรุธสหกรณ์ครูขอนแก่นเงินหาย 400 ล้านบาท
“ตอนนี้เฟสบุ๊คข่าวของเรามีคนติดตามตลอดสัปดาห์ 8 แสนวิว บางทีก็ถึงล้าน แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องเปลี่ยนให้ได้คือ ทีมงานยังติดกับดักความคิดทำงานแบบเดิมของนสพ.อยู่”
เขาบอกว่า แม้จะปรับมาออนไลน์ แต่ก็ยังไม่มีรายได้เสียทีเดียว เพราะทุกค่ายก็มุ่งทำออนไลน์เหมือนกันหมด เราจึงจับกลุ่มกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ให้สิทธิ์กับสมาชิกผู้ผลิตสื่อออนไลน์ในการดึงข่าวหลากหลายจากเว็บข่าวของสมาชิกมาใช้ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งก็ช่วยหนุนให้เราอยู่ได้
สุดท้ายมองว่า ปัจจัยที่จะทำให้นสพ.ท้องถิ่นอยู่รอด คือ ความน่าเชื่อถือ เพราะผู้บริโภคต้องการความจริง และเนี้อหาที่แตกต่าง เป็นหลักการของสื่อทั่วไป
ขึ้นเหนือไปจังหวัดเล็กๆที่ น่าน มีนสพ.ท้องถิ่นอีกฉบับที่พยายามยืนระยะให้อยู่รอด นั่นคือ “ถิ่นน่าน” ถือเป็น 1 ใน 3 ฉบับที่ยังตีพิมพ์มีชีวิตอยู่ สมชาย จินาเกตุ บรรณาธิการคนปัจจุบันและผู้ก่อตั้ง ยอมรับเช่นกันว่า ผลกระทบจากสื่อโซเชียล ทำให้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงส่งผลให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย
สำหรับ “ถิ่นน่าน” ปรับลดยอดลงเหลือ 1,000 เล่ม จาก 2,000 เล่มที่เคยตีพิมพ์ในอดีต การปรับลดครั้งนี้ยังไม่ส่งผลถึงยอดโฆษณาเพราะผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท้องถิ่นของกลุ่มตระกูลที่ดูแลกันมาตลอด แต่ก็ยังมีโฆษณางานหลวง งานราษฏร์ เข้ามาจุนเจือเป็นบางครั้ง
“ยอมรับว่า ความสำคัญของสื่อกระดาษมีน้อยลง ทางแก้คือ เพิ่มสื่อโซเชียล สร้างเพจเฟสบุ๊ครายงานข่าวขึ้นมา และ ด้วยชื่อเสียงการเป็นสื่อหลักของท้องถิ่น เพจเฟสบุ๊คถิ่นน่านออนไลน์ มีผู้ติดตามเป็นจำนวน 2.6 หมื่นคน ก็ช่วยสร้างกระแสได้ แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้จากเพจ”
“ถิ่นน่าน” ก่อตั้งเมื่อปี 2542 รวมปัจจุบันอายุ 22 ปี เป็น นสพ.ฉบับแรกๆ ที่พิมพ์หน้าปกสี่สี กระดาษปอนด์ขาว ในจังหวัด เริ่มแรกยอดพิมพ์อยู่ที่ 2,000 เล่ม จำหน่ายเล่มละ10 บาท ออกเป็นรายปักษ์ตามวันหวยออก พนักงานมีคนเดียว คือ บรรณาธิการที่เหมาทุกหน้าที่ทั้ง นักข่าว นักเขียน จัดทำรูปเล่ม ส่วนเนื้อหาได้ชักชวนคนดังในพื้นที่มาร่วมเป็นนักเขียน สมัยนั้นการทำหนังสือพิมพ์ต้องส่งไปพิมพ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดทำอาร์ตเวิร์กผ่านคอมพิวเตอร์ เขียนลงซีดี ฝากส่งรถเมล์เขียว น่าน-เชียงใหม่ ไปพิมพ์ที่เชียงใหม่
สปอนเซอร์ก็ลำบากให้สินค้าแทนเงิน
“ถิ่นน่าน” รับอาจต้องปิดฉากสื่อกระดาษ
สมัยก่อน “ถิ่นน่าน” ได้รับความนิยมจากผู้อ่านและสปอนเซอร์จึงต้องพิมพ์ถึง 24 หน้า ถือเป็นจำนวนหน้าที่มากที่สุดในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั้งจังหวัด ณ ขณะนั้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์ นสพ.ในจังหวัดน่านต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า จากอดีตยุครุ่งเรือง มีวางแผงนับสิบฉบับ เช่น เสียงชาวน่าน , แดนไทย , เหนือน่าน , ก้องสยาม , น่านโพสต์ ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ฉบับ
“น่านเป็นเมืองเล็กๆ กลุ่มธุรกิจ ที่เป็นพี่น้องเครือญาติ จะเป็นสปอนเซอร์หลัก ที่ให้การสนับสนุน นสพ. เงินค่าโฆษณาส่วนใหญ่จ่ายเป็นเงินสด นอกจากบางร้านที่จะใช้จ่ายเป็นสินค้าเป็นของแทนเงินโดยสรุป สปอนเซอร์หลักส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันยาวๆ ตั้งแต่เปิด นสพ. และไม่มีการถอนจนกว่าจะเลิกกิจการไป การเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีกลุ่มเครือญาติธุรกิจ กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง บุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดเชื่อมโยงกัน มีเหตุอะไรเกิดขึ้นเล็กน้อย ก็จะส่งผลเป็นวงกว้าง การทำตัวเป็นสื่อที่ดี เป็นคนดี ได้รับการยอมรับจากสังคม และคนในพื้นที่ให้ความเคารพเชื่อถือ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของนสพ.”
สมชาย ทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวมีธุรกิจผลิตสื่อโฆษณา ทำป้ายโฆษณา ทำสิ่งพิมพ์ มาเสริมจนกลายเป็นธุรกิจหลัก และสามารถเลี้ยงตัวและหนุนมาเลี้ยง นสพ. ให้สามารถอยู่ได้ ถ้าไม่มีธุรกิจนี้ นสพ.ก็อยู่ไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อาจจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับอนาคตของนสพ.ถิ่นน่าน ที่เป็นสื่อกระดาษ
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่นสพ.ท้องถิ่นเผชิญอยู่กับภาวะ “สวนกระแส” ที่ต้องอยู่รอดกับพายุดิจิตัล ปัญหาที่พบคือ คนอ่านสื่อกระดาษน้อยลง โฆษณาที่เป็นรายได้หลักลดลง 20-50% นสพ.จึงต้องลดหน้า และเพิ่มราคาขาย ทางออกจึงต้องขยายตลาดนสพ.ไปยังหน่วยราชการและมหาวิทยาลัย พร้อมรับจ้างทำอีเว้นท์ ขณะเดียวกันแม้ ทุกสำนักพิมพ์จะทำออนไลน์ควบคู่ แต่ก็พบว่า ตลาดออนไลน์มีรายได้น้อย ยังเลี้ยงองค์กรไม่ได้ สิ่งที่ยืนยัน ตรงกันคือ นสพ.ท้องถิ่น จะอยู่รอดได้หรือไม่ คือ ต้องขายเนื้อหาที่เป็นความลึกในพื้นที่ ที่หาอ่านจากที่อื่นไม่ได้