2563 ‘Journalist และ วารสารศาสตร์’ ต้องเป็นกระดูกสันหลัง เพื่อความอยู่รอด

2563 ‘Journalist และ วารสารศาสตร์

ต้องเป็นกระดูกสันหลัง เพื่อความอยู่รอด


ยังอยู่ในสถานการณ์ Media Disruption สำหรับวงการสื่อสารมวลชน ต่อช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลตลอดปี 2562 เป็นคลื่นสึนามิถาโถมเข้าใส่วิชาชีพในวงการสื่อมวลชนต่อการปรับตัวในสนามแข่งขันรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาคอนเทนท์ให้กับความต้องการข้อผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารที่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้ว

แน่นอนว่าหลายองค์กรสื่อได้รับปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลง แต่โจทย์ใหญ่เป้าหมายยังไม่ทำให้หลายองค์กรสื่อหลุดพ้นความท้าทายของสึนามิสื่อในครั้งนี้ไปได้ "จุลสารราชดำเนิน" พาไปคุยนักวิชาการฉายภาพสถานการณ์สื่อตลอดปี 2562 ก้าวข้ามไปถึง 2563


เริ่มที่ ดร.สิขเรศ สิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อและนโยบายสื่อ วิเคราะห์สถานการณ์ในวงการสื่อจะยังอยู่ในสภาพนี้อย่างน้อยอีก 5 ปีสถานการณ์ที่ผ่านมาแค่วอร์มอัพเท่านั้น แต่ในปี 2563 จะมี 5G มาแน่นอน โลกจะก้าวไปสู่เอไอโดย 5G ในแวดวงสื่อจะทำให้ความไวต่อการรับส่งสัญญาณทำได้ง่ายขึ้น สามารถโหลดหนังความยาว 2 ชั่วโมงภายใน 6 วินาที แต่กลับมองว่าเรื่องความเร็วไม่สำคัญแล้ว เพราะความสำคัญของการทำสื่ออยู่ที่ความลุ่มลึกที่นักข่าวสามารถอธิบายข่าวได้มากกว่านักข่าวพลเมืองทั่วไป ทำให้สิ่งสำคัญกับการตั้งรับ "ดิสรัปชัน" ต้องตั้งสติใหม่ว่า เทคโนโลยีดิสรัปชั่นเรา หรือเราดิสรัปชั่นตัวเอง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมองว่าสิ่งใดเป็นคุณสมบัติของนักข่าว คือการกลับไปสู่วารสารศาสตร์

"เวทีที่นักข่าวควรมุ่งไปคือ Data Journalist ต้องอภิวัฒน์ตัวเอง ต้องศิวิไลซ์ตัวเอง เราทำตัวเองต่ำตมไปกับยุค clickbait แล้วจากนั้นเมื่อผ่านความตกต่ำยุค clickbait ก็มาทำแฟนเพจ แต่ปรากฏการณ์ใน 2 ปีพบว่าแฟนเพจหลักล้านแต่มีคนคลิกแค่หลักร้อย เพราะการทำตัวเองต่ำตม เผยแพร่เฟคนิวส์ จึงต้องกันกลับมาทำข่าว สืบสวนสอบสวนมากขึ้น ต้องทำข้อมูล Data ให้เป็นเทรนด์ ต้องไถ่บาป 5 ปีที่ผ่านมา"ดร.สิขเรศ ระบุ

ดร.สิขเรศ เปรียบเทียบว่า ประเทศอื่นๆ หรือสหรัฐอเมริกาเคยผ่านจุดตัดรายได้โฆษณาหรือตัดยอดรายได้ทีวีมาแล้ว โดยมีกรณีศึกษาจาก The New York Times เคยตกต่ำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เขาได้ปรับตัวเองจากที่เคยหลงทางและบวกกับยอดขายที่น้อยลง แต่ผู้บริโภคล่าสุดเน้นไปที่คุณค่าของวารสารศาสตร์ โดยเขาปรับองค์กรด้วยค่านิยมที่หายไป เพิ่อกลับมาสู่จิตสำนึกของคุณค่าแห่งวารสารศาสตร์ ทำให้ปีที่ผ่านมา The New York Times กลับมามีรายได้ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม การที่เราถูกการกล่อมประสาทด้วยตัวเราเอง จากไม่มีใครบังคับ ทำให้คุณค่าของเราถูกไปขายไปให้อย่างอื่นจนล้นจอ ดังนั้นคุณค่าของเราคือ "วารสารศาสตร์" เท่านั้น

มาที่ น.ส.เบญสิร์ยา ปานปุญญเดช นักวิชาการศึกษา งานพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลเว็บไซต์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร. ธัญบุรี มองว่า สื่อออนไลน์ในปัจจุบันยังมีบทบาทสำหรับคนส่วนใหญ่มากขึ้น ตั้งแต่ส่วนราชการ โดยเฉพาะธุรกิจหรือการซื้อขายตลาดออนไลน์ หรือการที่สื่อสิงพิมพ์ และทีวีมาอยู่ในกลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้น อาทิ สื่อทีวียังมีแต่เพิ่มช่องทางไลฟ์สด เพื่อเพิ่มความอำนวยความสะดวกให้ผู้รับสาร แต่รูปแบบสื่อเปลี่ยนไปจากระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ทำให้สื่อสามารถจำลองภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยแนวโน้มที่เห็นจากสื่อทั่วโลกพบว่า แต่ละประเทศมีช่องทางใช้แตกต่างกัน แต่สื่อของไทยยังอยู่ใน "แพลตฟอร์ม" เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม โดยเฉพาะยูทูปสามารถสร้างรายได้เช่นกัน จากคนที่ไม่มีชื่อเสียง แต่กลับมีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วนำมาเสนอ


"เบญสิร์ยา" โฟกัสไปที่โอกาสในช่องทางต่างๆ จะต่อยอดความรู้โดยมีสื่อเป็นตัวช่วยนำเสนอ สามารถเพิ่มรายได้เข้ามา โดยในปี 2563 จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ จะมีการใช้งานมากขึ้นจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเต็มรูปแบบ รวมถึงเทคโนโลยีเหล่านี้จะขยายกลุ่มผู้ใช้งานได้กว้างกว่าเดิม ที่สำคัญในอนาคตเทคโนโลยีที่เข้ามาจะทำให้สื่อนำเสนอได้ดีขึ้น เช่น Big Data จะทำให้เวลาค้นหาข้อมูล จะมีระบบจับพฤติกรรมผู้ใช้งาน หากสื่อสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้อย่างถูกวิธี และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้เกิดประโยชน์กับสื่อและผู้รับสารได้

"ถ้าสื่อหลักนำ Big Data ไปใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลที่มี นำไปวิเคราะห์ได้มากขึ้น โดยนักข่าวจะมี Big Data ที่เที่ยงตรงกว่าเดิม ทำให้การนำเสนอทำได้รวดเร็ว แต่การลงทุนต้องไปศึกษาว่าทำอย่างไรได้บ้าง และในปี 2563 จะเห็นกลุ่มที่ก้าวกระโดดจากผลของเทคโนโลยีมาทำสื่อ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะเสียเงินน้อยกว่าสื่อในอดีต ดังนั้นอยู่ที่สื่อว่าจะปรับตัวการนำเสนอได้หรือไม่ ถ้าทำได้ดีจะสามารถอยู่ได้แน่นอน แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ สื่อนั้นจะหายไปเอง"น.ส.เบญสิร์ยา ระบุ

ขณะที่ ผศ.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาใครปรับตัวไม่ได้จะตายไปเลย ใครปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดแล้วเห็นผลเดี๋ยวนั้น ในฐานะที่สอนนิเทศศาสตร์ แล้วมีใครบอกว่านิเทศศาสตร์ตายแล้ว ก็ไม่เคยเป็นผลแบบนั้น เพราะนิเทศศาสตร์ไม่เคยตาย แต่คนที่ตายคือคนที่ไม่ปรับตัว ตอนนี้คอนเวอร์เจนซ์ ต้องไปเป็น 10 แพลตฟอร์มในข่าวหนึ่งชิ้น เพราะเป็นวิธีจะให้คนเข้ามาเสพข่าวมากที่สุด ขณะเดียวคนตอนนี้ทุกคนดูยูทูป ดูเน็ตฟิกกันหมดแล้ว ทำให้คนไม่มีทุนหนา แต่มีคอนเทนท์และรู้วิธีสื่อสารจะสามารถอยู่ได้ เพราะมีแพลตฟอร์มสื่อในมือของตัวเอง

https://www.posttoday.com/ent/celeb/507827

"แต่ใครที่ถูกเผาจากที่ไม่ปรับตัว คิดเพียงว่าอยู่กับของเดิมได้ ทั้งที่ตอนนี้วิธีขายของเปลี่ยนไปหมดแล้ว เป็นปรากฎการณ์ใหม่จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขายและผู้บริโภค มีการดูคนอื่นขายของบนเฟซบุ๊ค ทำให้ตอนนี้สื่อกำลังวิ่งไปตามสิ่งที่ผู้บริโภควิ่งไป ส่วนที่เป็นวารสารศาสตร์ตอนนี้กลับมาเด็กรุ่นใหม่สนใจอีกครั้ง ถึงแม้เด็กรุ่นใม่ได้สนใจข่าว แต่สนใจบล็อค สนใจท่องเที่ยว รีวิว เด็กรุ่นใหม่สนใจในสิ่งใหม่ในวารสารศาสตร์ จะเห็นแนวโน้มจากในอินเตอร์เนตทั้งหมด ทำให้ Journalist ต้องเป็นกระดูกสันหลังจริงๆ"ผศ.วรรณ์ขวัญ ระบุ

ผศ.วรรณ์ขวัญ มองไปถึงความท้าทายของสื่อในปี 2563 มีสิ่งที่น่าสนใจนอกจากคอนเทนท์ต้องดีและมีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญจะมี Big Data ที่เข้ามา หากสื่อไหนสามารถใช้ Big Data ได้จริง สามารถเจาะตลาดได้จริงจะอยู่ได้ ต้องให้ Big Data อยู่ร่วมกับเทคโนโลยี ดังนั้นหากสื่อใดที่ยังไม่ปรับตัว ต้องรู้ตัวให้ได้ เพราะถ้านรกมาจริงจะพลิกไม่ทัน ทุกอย่างรอบตัวจะดูเกรี้ยวกราด แต่หากมองเชิงบวกจะเป็นโอกาส แต่โอกาสนี้ต้องปรับตัวไปด้วย จะใช้ชื่อเสียงเดิมๆ หากินไม่ได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องผู้บริโภคยุคใหม่ ถ้าคนทำสื่อเดิมๆ ไม่เปลี่ยนวิธีการสื่อสารจะตายแน่ๆ เพราะสื่อที่จะอยูได้คือสื่อที่ปรับเปลี่ยนแล้วเท่านั้น