มองผ่านเลนส์ Photojournalism ยุค 4.0

รายงานพิเศษ โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

 


มองผ่านเลนส์

Photojournalism ยุค 4.0


“ช่างภาพ”คืออีกหนึ่งกลุ่มบุคคลสำคัญในแวดวงสื่อสารมวลชน ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวข่าวสารบ้านเมือง ผ่านการนำเสนอ "ภาพถ่าย" ซึ่งปัจจุบันพบว่า ช่างภาพสื่อมวลชน ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิชาชีพในวงการสื่อ ที่กำลังเร่งปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ความอยู่รอดของสื่อในยุคดิจิทัล ภายใต้หลักการทำงาน ที่ช่างภาพจำนวนมาก ต่างก็ต้องการนำเสนอ ภาพถ่าย ผ่านมุมมองและวิธีคิดของช่างภาพ เพื่อสะท้อนไปถึงผู้รับสาร จนนำไปสู่การกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แนวคิดดังกล่าว ถือเป็น "จุดแข็ง" สำคัญที่อาชีพช่างภาพได้อุทิศตัวทำหน้าที่เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความเป็นไปของสังคม ผ่านมุมมอง ของความเป็น Photojournalism

"เพจจุลสารราชดำเนิน" ได้พูดคุยกับ 3 ช่างภาพมือทองวงการสื่อสารมวลชน ถึงการปรับตัวของคนหลังเลนส์ในภูมิทัศน์สื่อยุคปัจจุบัน
Photojournalism

ใช้ภาพเพื่อเล่าเรื่อง
เริ่มที่ "สมศักดิ์ เนตรทอง" ช่างภาพข่าวนิวมีเดีย สถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 บอกถึงการทำงานของช่างภาพในยุค Disruption ว่า ได้ปรับตัวการทำงานและวิธีนำเสนอ จากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนนำเสนอภาพข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ จนมาถึงการนำเสนอภาพข่าวในช่องทางดิจิทัล ทำให้ช่างภาพต้องทำงานไวขึ้น แต่ต้องละเอียดมากกว่าเดิม เพราะงานที่นำเสนอมีผลต่อช่างภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาพถ่ายที่นำเสนอออกไปมีความอ่อนไหวอยู่แล้ว สามารถนำไปพูดถึงในแง่มุมต่างๆ การเป็นช่างภาพในยุคปัจจุบันต้องมีความชัดเจนในสิ่งที่นำเสนอ ไม่ว่าเป็นเรื่องภาพถ่าย รวมถึงการเขียน Caption ภาพ ทำให้ต้องวางแผนในสิ่งที่เราจะนำเสนอแต่ละงาน
"หมายงานที่ไปแต่ละวันต้องคิดไว้ว่า อยากได้ภาพถ่ายแบบไหน หากไปสภาฯ ต้องจับประเด็นบุคคลที่นำเสนอ จากนั้นแค่หาจังหวะที่ผู้สื่อข่าวถามคำถามสำคัญ แล้วจับจ้องอิริยาบทของบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นความยากของงานต้องนำเสนอให้มันชัดเจน เพราะความอ่อนไหวของภาพถ่ายอาจถูกบิดเบือนได้ไวมาก"

 



ส่วนความรู้สึกจากสังคมส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบติดตาม Content "ภาพข่าว" ที่สามารถเล่าเรื่องทุกอย่างได้นั้น "สมศักดิ์" มองว่า ในยุคปัจจุบันทุกคนถ่ายภาพได้ แต่การเป็นสื่ออย่าง Photojournalism จะมีเรื่องการคิดก่อนถ่าย และมีความยากตรงที่ทำอย่างไรผู้ที่ดูภาพได้เข้าใจ ตามสิ่งที่ Photojournalism อยากจะนำเสนอ แตกต่างจากคนทั่วไปที่มีมือถือ แล้วสามารถถ่ายได้ทุกอย่าง ดังนั้นจากบริบทของภาพถ่ายจากที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ จนในช่วงหนึ่งมีการพูดว่า ช่างภาพกำลังจะตายไป เพราะคนทั่วไปไม่ต้องใช้ภาพจากช่างภาพ เพราะสามารถนำเสนอได้เองแล้ว แต่ความแตกต่างของความเป็น Photojournalism กับคนธรรมดาที่ถ่ายภาพ อยู่ที่ Photojournalism สามารถถ่ายภาพแล้วเล่าให้เรื่องได้ จะต้อฝมีองค์ประกอบศิลป์ แสง เงา เพื่อให้ภาพมีความสวยงาม เป็นสิ่งที่ Photojournalism ต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ไว้

"สมศักดิ์" ยังอธิบายถึงความรู้สึกจากภาพถ่ายที่เสนอออกไป นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ดีขึ้นว่า หากภาพนำเสนอมีมุมมองที่สร้างสรรค์ จะคิดว่างานภาพถ่ายของตัวเองมีคุณค่า สามารถขับเคลื่อนบางอย่างในสังคมได้ ภาพถ่ายไม่ได้แค่บันทึกเรื่องราวอย่างเดียว แต่ภาพถ่ายมีประโยชน์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เหมือนกับช่างภาพในอดีตได้ทำกันมา

มาที่ "ฐานิส สุดโต" บรรณาธิการภาพ ประจำสำนักข่าว THE STANDARD เล่าถึงการปรับตัวของช่างภาพในขณะนี้ว่า ต้องหาหมายงานที่ไม่ใช่ข่าวรูทีน โดยต้องคิดประเด็นเองเริ่มจากอ่านจากข่าว หากมีประเด็นไหนน่าสนใจแล้วมาปั้นเป็นรูป รวมถึงหาประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวโดยตรง เพื่อจะเป็นภาพ Stand alone ส่วนตัวแล้วพยายามจะหาภาพแบบนี้ ขณะที่เสียงตอบรับจากภาพที่นำเสนอออกไปที่ผ่านมานั้นมีทั้งชื่นชมและติ อย่างการติเพราะเขาเกรงว่า ถ้าถ่ายภาพไปแล้วเห็นหน้าบุคคลอื่นจะไปละเมิดสิทธิส่วนตัวหรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นภาพข่าวจึงไม่ได้ติดใจตรงนี้ แต่เสียงที่ชื่นชมกลับมาก็มีเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน พบว่าในแพลตฟอล์มอย่างทวิตเตอร์มีเสียงชื่นชมกลับมาว่า ภาพของ The Standard มีความสวยงาม สามารถถ่ายทอดเล่าเรื่องราวได้อย่างดี เพราะมีเพียงสำนักข่าวไม่กี่แห่งที่มี Photo Album ออกมาแบบนี้


ส่วน "จุดแข็ง" สำหรับช่างภาพอาชีพที่แตกต่างกับคนทั่วไปที่นำโทรศัพท์มาถ่ายภาพเองนั้น "ฐานิส" ยังยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ในช่วงแรกภาพที่ถูกเผยแพร่ออกมา จะมาจากโทรศัพท์มือถือเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะชัดหรือไม่ชัดแต่คนก็ยังเสพภาพเหล่านี้ แต่หลังจากนั้นในข่วงที่ช่างภาพหลายสำนักเดินทางไปถึง จะเห็นรูปจากโทรศัพท์มือถือน้อยลง อาจจะเห็นจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นที่ช่างภาพไม่สามารถเข้าไปถึงจุดนั้นได้ แต่เหตุการณ์โดยรวมทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดออกมาจากช่างภาพ ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกกังวลที่นักข่าวจะส่งภาพเบื้องต้นไปก่อน หรือเหตุการณ์วางระเบิดที่ช่องนนทรี หรือการเจอวัตถุต้องสงสัย ขณะนั้นตัวเองก็ส่งภาพจากโทรศัพท์มือถือเพื่อเผยแพร่ทาง Breaking News ไปก่อน

"แต่จุดแข็งของช่างภาพมืออาชีพเราสามารถไปได้ทุกพื้นที่ที่ต้องการไป ช่างภาพแต่ละบุคคลก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้มากมายหลากหลาย แต่ช่างภาพต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอ จะต้องพิถีพิถันในการคัดเลือกภาพก่อนนำเผยแพร่"

"ฐานิส" ยังบอกถึงความรู้สึกในการเสนอภาพถ่ายออกไป เช่นเรื่องปัญหาฝุ่นควัน สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาผ่านการเล่าเรื่องของช่างภาพนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อนำเสนอไปสู่ประชาชน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ป้องกันโดยให้สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น

 


ภาพนิ่งยังมีพลัง
ปิดท้ายที่ "ภานุมาศ สงวนวงษ์" บรรณาธิการภาพ สำนักข่าว Thai News Pix เล่าว่าการปรับตัวของช่างภาพส่วนหนึ่งพยายามทำงานด้านวิดีโอมากขึ้น เพราะว่าสื่อเปลี่ยนไป ถ้าจะนำเสนอภาพนิ่งอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ในด้านภาพข่าว จะเป็นลักษณะภาพเดียวจบ วิธีการใช้ภาพหนึ่งภาพกับข่าวหนึ่งภาพ ทำให้โอกาสที่จะถ่ายงานสารคดีจะมีไม่มาก เมื่อโลกเปลี่ยนไปจากกระดาษเป็นออนไลน์ ทำให้วิธีการเล่าเรื่องของภาพต้องเปลี่ยนไปด้วย การทำงานของช่างภาพนิ่งที่ถ่ายภาพทุกองค์ประกอบได้ในภาพเดียว แต่ยังไม่พอสำหรับสื่อออนไลน์ จากพื้นที่ที่ใช้นำเสนอมีความหลากหลายขึ้น ดังนั้นการแตกประเด็นได้กลายเป็นอีกหนึ่งทักษะในการปรับตัวของช่างภาพ ส่วนหนึ่งจะมาพร้อมกับงานเขียน จากปกติที่ช่างภาพไปทำงานกับนักข่าวเพื่อไปหาข้อมูลนำมาเล่าด้วยภาพ แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมามีช่างภาพหลายคนพยายามปรับตัวและพัฒนางานด้านเขียนให้ดีขึ้น มากกว่าการเขียน Caption ภาพสั้นๆ เพียงอย่างเดียว

"ภาพถ่ายยังทำหน้าที่เหมือนเดิมเหมือนในอดีต จนทำให้คนอยากหยิบจับหนังสือพิมพ์ขึ้นมาดูว่าภาพนั้นเป็นข่าวอะไร แต่เมื่อแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปจากคนที่เข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากกว่าสื่อกระดาษ ทำให้กระแสในโลกโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นได้รวดเร็ว จนผู้คนได้ตื่นตัวกับประเด็นข่าวจากเรื่องราวนี้ได้มากขึ้น"
"ภานุมาศ" เปรียบเทียบการนำเสนอภาพถ่ายจากในอดีตจะมีแค่แค่คำบอกต่อเท่านั้น แต่ขณะนี้ภาพถ่ายสามารถแชร์และคอมเมนต์ได้ ทำให้เป็นการสื่อสารแบบหลายทางจากภาพๆ หนึ่งที่มีผลต่อสังคม แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ว่าถ้ารูปนั้นไม่สามารถเล่าเรื่องได้ทั้งหมดได้ทุกมิติ อาจถูกใช้ในทางที่ไม่ดี หรือไปสร้างผลกระทบกับแหล่งข่าวคนอื่นได้ แต่ในภาพถ่ายที่สื่อสารออกไปนั้นได้กระตุ้นให้คนสนใจปัญหา อย่างเช่นเรื่องปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่อย่างฝ่ายรัฐให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นที่ทำมาขณะนี้เพียงพอแล้วหรือไม่

"แต่อีกมุมจากสังคมที่เราอยู่ ต้องตระหนักถึงตัวเองว่า เราเป็นผู้ก่อมลพิษเช่นกัน สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนต้องช่วยกัน เพราะภาพที่สะท้อนออกไปทำให้เห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบก็คือพวกเรา ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบ จากภาพถ่ายที่สื่อสารออกไปว่ามันมีผลกระทบ หากนายกฯ ได้เห็นภาพคนใส่หน้ากากป้องกันมากมาย อาจทำให้รู้สึกว่าต้องทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ในการดูแลประชาชน"

ส่วนในอนาคตจะได้เห็นช่างภาพมืออาชีพ ปรับตัวทำงานรองรับเทคโนโลยี และความต้องการของผู้รับสารมากแค่ไหนนั้น "ภานุมาศ" ยังเชื่อมั่นในงานของภาพนิ่ง เพราะหลายครั้งรู้สึกว่าถึงแม้การทำวิดีโอจะตอบโจทย์เรื่องความอยู่รอดของสื่อมวลชนในเชิงธุรกิจ หรือการมี Multi Skill ช่วยให้เรามีหนทางรอดในอาชีพนี้ได้ เพราะต้องพัฒนาความสามารถหลายด้านให้มากขึ้นกว่าเป็นช่างภาพนิ่ง แต่ช่างภาพนิ่งส่วนใหญ่ยังมีความเชื่ออยู่ว่า ภาพนิ่งยังมีพลังของมัน การพยายามสร้างสรรค์งานในอนาคตในสื่อออนไลน์ จะทำให้การแข่งขันเรื่องมุมภาพและข้อมูลภาพภาพยิ่งท้าทายมากขึ้นตามไปด้วย

"คิดว่าในอนาคตการแข่งขันเหล่านี้จะมีสูงขึ้น ถ้าช่างภาพพยายามปรับตัวหามุมมองให้ใหม่ๆ มาเล่าเรื่องให้แตกต่างกัน สุดท้ายช่างภาพจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ส่วนประชาชนจะได้เห็นว่าไม่ใช่ภาพข่าวที่ดูน่าเบื่อ หรือภาพข่าวอาชญากรรมที่มีแต่เลือด แต่จะได้เห็นภาพที่ผสมผสานทั้งเรื่องราวและความสวยงามไปพร้อมกัน หากเราสามารถปรับตัวกับ Disruption ได้ทันสถานการณ์ ยังเชื่อว่าเราจะมีโอกาสให้ตัวเอง และโอกาสในพื้นที่ของสื่อที่ทำงานอยู่ต่อไปได้"