วิธีหาข่าว-เจาะข้อมูล นักข่าวก.สาธารณสุข สนามข่าว ศัพท์การแพทย์

Special Report

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

 

 

วิธีหาข่าว-เจาะข้อมูล

นักข่าวก.สาธารณสุข

สนามข่าว ศัพท์การแพทย์


ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ และปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจจากข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่มากมาย ซึ่งนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งสื่อมวลชนกลุ่มสำคัญในการทำหน้าที่รายงานข้อมูลไปสู่สาธารณะ ในช่วงที่สังคมต้องการ "ข้อเท็จจริง" เพื่อเตรียมรับมือกับภัยด้านสุขภาพที่คืบคลานเข้ามา

"ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน" มีโอกาสพูดคุยกับนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขในหลายบริบท เพื่อให้รู้ถึงการทำงานของนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุข หรือที่แวดวงสื่อเรียกกัน”กระทรวงเสื้อกาวน์”โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ข่าวของกระทรวง เป็นข่าวนำ -ข่าวพาดหัวหลักของสื่อทุกแขนงหลายวันติดต่อกันแล้วในช่วงที่ผ่านมา หลังเกิดกรณี วิกฤต "โคโรนา" ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา

เริ่มที่ "อภิวรรณ เสาเวียง" หรือ "หนิง" ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สังกัดกองบรรณาธิการสายการเมืองเล่าให้เราฟังว่า ได้ทำหน้าที่เป็นนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว 8-9 ปี เรียกว่าประจำกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่เป็นนักข่าวแรกๆ ตั้งแต่มาสมัครงานเป็นนักข่าว แต่ถือว่าช่วงแรกที่เข้ามาเป็นงานที่ยาก ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์เลย เพราะเป็นข่าวเฉพาะด้าน โดยขณะนี้ที่ประจำกระทรวงสาธารณสุข จะมาจากนักข่าวหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ ส่วนการทำงานในแต่ละวันจะมีข่าวรูทีน และข่าวในเป็นประเด็กที่ต้องตรวจสอบเองทั้งในแง่งานบริหารในแวดวงสาธารณสุข แต่ช่วงระยะหลังที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามาทำให้เราต้องทำงานกระตือรือร้นมากขึ้นนอกเหนือจากงานรูทีน เพราะมีข่าวที่เรียกว่า "โรคระบาดทางโซเชียลฯ" เยอะมาก พวกข่าวลวง ข่าวปลอมทางด้านสุขภาพ ทำให้ต้องทำงานตรวจสอบข้อมูลกันมากขึ้น

"การเช็คข่าวแบบนี้ จะมีตั้งแต่การตามเพจจากคุณหมอแต่ละท่าน หากมีการโพสต์ข้อมูลอะไรในแวดวงสาธารณสุข หรือเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอะไรก็ตาม ก็จะดูข้อมูลตรงนั้นแล้วโทรศัพท์ไปสอบถามคุณหมออีกครั้ง เพื่อให้ยืนยันจากข้อมูลที่โพสต์ออกมาว่า ไม่ได้มีการสวมรอยมาโพสต์ นอกจากนี้หากมีข่าวที่ยังไม่มีแหล่งที่มาแต่สังคมสนใจเรื่องสุขภาพ ก็จะโทรศัพท์ไปสอบถามคุณหมอที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ก็ทำให้เราเรียนรู้ตามไปด้วย"

"อภิวรรณ" บอกถึงการสร้างแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข โดยเรื่องการทำข่าวรูทีนทำให้เรารู้จักแพทย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญด้านไหน ซึ่งในวงการแพทย์ถือว่าหลายท่านค่อนข้างใจดีในการให้ข้อมูล เมื่อได้พูดคุยกันบ่อยครั้งจะมีความไว้เนื้อเชื้อใจในระดับหนึ่ง ทำให้เรามีโอกาสได้คุยได้ถามคุณหมอแต่ละท่านค่อนข้างเยอะ จนรู้จักแหล่งข่าวได้มากขึ้น

....ส่วนการเตรียมข้อมูลหรือทำการบ้านก่อนไปทำข่าวนั้น แรกๆ ที่เข้ามายอมรับว่าไม่รู้จริงๆ แต่พยายามหาข้อมูลตั้งแต่โรคอุบัติซ้ำหรือเรียกว่าโรคเดิมๆ ที่เราเคยเจอจะหาข้อมูลได้ แต่หากเป็นโรคอุบัติใหม่อย่างโรคไวรัสโคโรนา จะอาศัยอ่านข้อมูลให้มากที่สุด จากนั้นไปพูดคุยกับคุณหมอเพิ่มเติม ถ้าเจอคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เราไม่รู้จริงๆ ก็ให้คุณหมอช่วยแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

"กรณีไวรัสโคโรนา สิ่งแรกต้องหาข้อมูลให้ทราบว่าเชื้อนี้คืออะไร ตั้งต้นมาจากจีนแล้วติดต่อกันอย่างไร จะติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่ ความรุนแรงเป็นอย่างไร แล้วสาธารณสุขจะมีมาตรการป้องกันคนไทยได้อย่างไร และเมื่อเป็นโรคใหม่ต้องติดตามข่าวต่างประเทศด้วย เพื่อหาข้อมูลว่าประเทศไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร"

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ปัญหาฝุ่น PM2.5 และโรคทุกโรคทำให้ "อภิวรรณ" ต้องเก็บประเด็นที่เผยแพร่ออกมาจากแหล่งต่างๆ ไว้เป็นข้อมูลนำไปให้คุณหมอชี้แจงและอธิบายสังคมว่าข้อมูลนี้ถูกต้องหรือไม่ รวมไปถึงการป้องกันและการรักษา ทำให้การทำหน้าที่ตรงนี้ถือเป็นความภูมิใจ โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพหากเราให้ข้อมูลกับประชาชนสามารถต่อสู้กับโรคนั้นๆ ได้ก่อนถึงการักษาของคุณหมอ ก็เป็นการสร้างโอกาสให้เขามีชีวิตรอด เป็นสิ่งภูมิใจที่เราได้ถ่ายทอดข้อมูลออกไป แต่ในทางกลับกันหากเราให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไปแทนที่เขาจะรอด ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เลย ถือเป็นความต่างที่อยู่ตรงนี้

"ในช่วงที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียเข้ามา เคยมีประชาชนที่อ่านคอลัมน์ของเราแล้วโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เหมือนเขาได้อ่านแล้วอยากได้คำปรึกษาเพิ่มเติมจากการไว้ใจในตัวเรา ก็เป็นความรู้สึกที่ดี โดยในช่วงหลังที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว พบว่ามีการนำข้อมูลที่เราเขียนไปแชร์ต่อ หรือมีประชาชนำข้อมูลของเราไปตอบโต้ข่าวเท็จ ทำให้เรารู้สึกว่าเขายังมีความเชื่อถือในสื่อหลักของเรา"

จากสภาพปัจจุบัน ที่เราจะเห็นข่าว ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งระดับรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ มีการลงพื้นที่ในโอกาสต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับนักข่าวที่ติดตามไปทำข่าวด้วย "อภิวรรณ"พูดถึงเรื่องนี้ว่า การลงพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ของสื่อกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อันดับแรกเราต้องเชื่อฟังทีมงานของแพทย์ หากให้ปฏิบัติตัวอย่างไรจะทำตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากเราติดเชื้อกลับมาจะเสียหายมากกว่าเดิม เพราะไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยของเราอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องต้องช่วยกันป้องกันให้สังคม หรือช่วงไปดูการปฏิบัติหน้าที่จริงๆ เวลาหมอทำงานจะทำงานกับชีวิตคน ถ้าเราไม่ล้ำเส้นจะไม่เป็นการไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคุณหมอเพื่อให้ช่วยชีวิตคนได้เต็มที่ รวมไปถึงเรื่องสิทธิผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการรายงานข่าวอย่างมาก

"นักข่าวสาธารณสุขต้องทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง ต้องมีการตรวจสอบให้แน่นอนก่อน เพราะเป็นเรื่องชีวิตคน ถ้าให้ข้อมูลผิดพลาดไปแทนที่เขาจะหายจากโรค อาจทำให้เขาป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนถึงเสียชีวิตได้ เราไม่อยากเป็นคนที่ทำให้เขามีอาการแย่ลง"


มาที่ "สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์" หรือ "โจ้" ผู้สื่อข่าวโต๊ะคุณภาพชีวิต หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360° และเว็บไซต์ MGR Online บอกว่า ได้เป็นนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว 7-8 ปี โดยจุดเริ่มต้นครั้งแรกมาดูที่ส่วนกลางของเว็ปไซต์ผู้จัดการ คล้ายๆ ทีมเว็ปมาสเตอร์ในช่วงปี 2553 จากนั้นในปี 2555 โต๊ะคุณภาพชีวิตอยากได้คนเพิ่มจึงมีโอกาสได้ย้ายมาอยู่โต๊ะนี้

...ได้เริ่มทำสกู๊ปจนถึงมีนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุขได้ลาออก จึงได้มาทำหน้าที่แทน ซึ่งการทำงานของนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขเรียกว่ามีทุกรูปแบบ บางครั้งต้องดูกระแสสังคมว่าตอนนั้นสนใจเรื่องอะไร ก็ไปหาคำตอบในข้อมูลความรู้ทางวิชาการว่าเรื่องนั้นเป็นอย่างไร หรือการทำข่าวรูทีนก็ต้องตามไปเพื่อหาข้อมูลว่ามีประเด็นอะไรนำมาตามต่อได้ อีกส่วนก็มีข่าวเจาะของตัวเอง ซึ่งนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขก็มีประเด็นตัวเองเหมือนกัน

"สิรวุฒิ" บอกถึงข้อแตกต่างในการทำหน้าที่นักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขกับนักข่าวสายอื่นนั้น อยู่ที่ข่าวสายกระทรวงสาธารณสุขต้องการความละเอียด เพราะเป็นการสร้างความเข้าให้ประชาชน หากเราไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ เพราะไม่ใช่แค่ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรเหมือนกับข่าวประเภทอื่น แต่ข่าวสายนี้ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องว่าเป็นอย่างไร หากประชาชนมีความรู้แล้วจะทำให้เข้าใจมากขึ้น การทำงานหลายๆ ครั้งจะเขียนตามที่พูดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องถามข้อมูลจากแหล่งข่าวให้ชัดเจนจนกว่าเราจะเข้าใจ ตั้งแต่ข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ หรือเป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เราต้องมาย่อยข้อมูลและหาวิธีสื่อสารเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้

สำหรับข่าวfake news ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งแพร่หลายในอันดับต้นๆ นั้น "สิรวุฒิ" บอกถึงการทำหน้าที่ของนักข่าวสายสาธารสุขต้องช่วยคัดกรองข้อมูล เพื่อชี้แจงความจริงให้สังคมรับรู้ จะต้องมอนิเตอร์ข้อมูลต่างๆ ว่ามีอะไรแปลกๆ เข้ามาบ้าง เพื่อเลือกประเด็นที่ประชาชนพูดถึงจำนวนมากและเป็นกระแสอยู่ แล้วนำไปถามผู้รู้ในด้านนั้นว่าข้อมูลประเภทนี้ถูกต้องหรือไม่ ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโคโรนาและฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้ ส่วนใหญ่นักข่าวยังประจำกระทรวงสาธารณสุข เพราะข้อมูลขณะนี้หากอยากทราบจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลจะต้องมาจากกระทรวงสาธารณสุขเพียงแหล่งเดียว นักข่าวจึงต้องเกาะติดตรงนี้เพื่อสื่อสารข่าวเรื่องไวรัสโคโรนาให้ครอบคลุมรอบทุกด้าน เช่น ไวรัสโคโรนามีที่มาที่ไปอย่างไร ลักษณะของการระบาดจะติดต่อกันแบบไหน ความเสี่ยงการติดเชื้อเป็นอย่างไร หรือความรุนแรงของเชื้อนี้เป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้

ส่วนการทำการบ้านของนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะต้องติดตามศัพท์ทางการแพทย์ ชื่อยา และที่มาที่ไปของโรคนั้น "สิรวุฒิ" บอกว่าทุกอย่างต้องมีการสอบถามแพทย์และเภสัชกร เพราะถ้าเราไม่เข้าใจตรงไหนต้องไปถามต่อเลย อาจจะไม่ถามบนเวทีแต่จะถามภายหลังว่าข้อมูลตรงนี้เป็นอย่างไร เพราะเราไม่ได้รู้จักชื่อยาทุกชนิด ก็ต้องถามว่ายาชนิดนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งแหล่งข่าวก็ใจดี ให้ความร่วมมือ เพราะถ้าเราสื่อสารผิดออกไปจะผิดไปเลยก็ได้ ซึ่งแหล่งข่าวในสายสาธารณสุขก็มีหลากหลาย จะมีหน่วยงานเฉพาะด้าน เช่น กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ก็สามารถเลือกแหล่งข่าวกับประเด็นที่เรากำลังทำอยู่

"แหล่งข่าวไม่ได้เป็นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว อาจไปถึงกลุ่มโรงเรียนแพทย์เช่น ศิริราช รามาฯ จุฬาฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น อย่างเรื่องโรคมะเร็งก็ไปสอบถามสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ทั้งหมดต้องอาศัยการทำงานเยอะๆ ต้องรู้จักแหล่งข่าวที่เป็นแพทย์และพยาบาล ถ้ารู้จักแล้วเราจะรู้ว่าประเด็นไหนจะต้องถามใคร"

"สิรวุฒ" ยังบอกถึงความรู้สึกในฐานะนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือสังคมถือว่าเป็นความรู้สึกที่ภูมิใจมาก เพราะว่าในจุดที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ต่างๆ แต่เราสามารถเข้าถึงได้ เราได้ทำหน้าที่เข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ เป็นผู้ถามคำถามแทนประชาชน ทำให้หลายๆ อย่างเราได้เรียนรู้ไปกับประชาชนด้วย แล้วนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในเรื่องสุขภาพ ระบบสาธารณสุขที่ส่งผลถึงการเข้าถึงระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ถือว่าเป็นการทำความดีทางหนึ่งที่เราได้ทำ