นักข่าวต้องมีองค์ความรู้สื่ออย่ามักง่าย ทุกวันนี้เรามักง่ายเจาะข่าวตามเฟซบุ๊ก

หากจะบอกว่านี้เป็น disruption อันใหม่ ผมไม่เชื่อว่าเป็น disruption อันใหม่ มันคือสันดานเดิมๆ ไม่มี disruption เลยแม้แต่นิดเดียว คือยังเหมือนเดิม เพราะทั้งหมดมันอยู่ที่ตัวเราเอง เราdisrupt ตัวเราเองตั้งแต่ไหนแต่ไร คือเราไม่ได้ทำหน้าที่เราที่สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ได้ทำเลย แล้วเรามาเที่ยวบอกว่า ระบบดิจิตอล มาdisrupt เรา จริง ๆมันไม่ได้ disrupt แต่เรานั่นแหละที่เราdisruptตัวเราเอง เราไม่ได้ทำหน้าที่เราอย่างสมบูรณ์ที่สุด สื่อต้องอย่ามักง่าย ทุกวันนี้เรามักง่าย …สมัยนี้ ข่าวเจาะ ทำกันวันเดียวคือเจาะไปตามเฟซบุ๊กต่างๆ ที่ทำให้นักข่าวขี้เกียจ

@@@@@@@@@@


นักข่าวต้องมีองค์ความรู้

สื่ออย่ามักง่าย ทุกวันนี้เรามักง่าย

เจาะข่าวตามเฟซบุ๊ก

5 มีนาคม ของทุกปี สำหรับวงการวิชาชีพสื่อมวลชน-นักข่าว-แวดวงวิชาชีพการทำข่าว เป็นวันที่รู้กันดีว่าคือ”วันนักข่าว”ซึ่งปีนี้ตรงกันวันพฤหัสบดีที่5 มีนาคม

สำหรับปีนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ทุกปีจะมีการจัดทำหนังสือเล่มวันนักข่าว โดยในปีนี้กองบรรณาธิการหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2563ได้มีการสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงวิชาชีพสื่อสารมวลชนหลายคน เช่นผู้บริหารองค์กรสื่อ-ตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวหลายสำนัก-ผู้บริหารแพลตฟอร์มสื่อ Social Media หลายแห่ง-นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เป็นต้น

และหนึ่งในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มีการสัมภาษณ์พิเศษ“สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ-สื่อมวลชนอาวุโส” และเวลานี้ ก็ยังทำทั้งเพจSondhi talk และเว็บไซด์ SONDHI TALK ที่เรานำมาเสนอไว้บางส่วน ดังนี้

ความเห็นของ สื่อรุ่นใหญ่-ผู้ก่อตั้งกิจการสื่อ เครือผู้จัดการ “สนธิ ลิ้มทองกุล”กล่าวหลังเราถามความเห็นถึงเรื่อง Media Disruption ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังจะเกิดขึ้นอีกต่อจากนี้ โดยเขาให้มุมมองไว้ว่า ในความเป็นสื่อมวลชน หลักการก็ยังเหมือนเดิม เป็นเพียงแพลตฟอร์ม ที่เปลี่ยน จากanalog เป็น digital  ที่พอเปลี่ยนแล้ว มันมีองค์ประกอบเสริมเข้ามาในแพลตฟอร์มใหม่ การเกิดของโซเชียลมีเดีย คนที่เล่นในโซเชียลมีเดียด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็เลยเป็นสื่อในตัวเอง เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทั้งtext-voice -streaming ทางวีดีโอ จนเกิดสภาวะการณ์ที่มีการไหลหลั่งและถั่งโถมของข้อมูลข่าวสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ”ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นเรื่องท้าทายคนที่มีอาชีพสื่อสารมวลชนอย่างมาก ท้าทายตรงที่หากเขาขี้เกียจ หรือเอาง่ายเข้าว่า เหมือนอย่างทุกวันนี้ที่สถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ใช้กัน ก็คือ เอาคลิปชาวบ้านมาเปิดในรายการ โดยบางเรื่องก็น่าสนใจ แต่พบว่าส่วนใหญ่เกือบ 90-95 เปอร์เซนต์ มันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่บังเอิญสังคมไทย เป็นสังคมไร้สาระ ก็เลยทำให้มีการติด พอคนที่ติดแบบนี้ คนที่ต้องการดู ก็เลยมีความรู้สึกว่า ช่องนี้ มีคลิปแปลกๆ ตลก -หวือหวา แต่บางช่องก็อาจมีการพัฒนาตัวเอง เช่น ช่อง34 คือนำเรื่องที่เกิดขึ้นในคลิป แล้วก็นำไปทำ animation เช่น หากมีกรณีฆ่ากัน ก็ทำให้มันดูเหวือหวาตื่นเต้น มันก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นหนังสือพิมพ์อยู่แต่ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาดั้งเดิมของวงการสื่อมวลชนก็คือ เรื่องที่ควรจะมีการพูด แต่กลับไม่มีใครพูด อาจเป็นสิ่งแวดล้อมทางการเมือง ทำให้คนไม่พูด

“สนธิ”กล่าวต่อไปว่า ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบไหน จะสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ ล้วนแล้วแต่มีเจ้าของกิจการทั้งสิ้น เมื่อสื่อมีเจ้าของ สื่อก็จะทำอะไรที่สื่อซึ่งเป็นปัจเจกชนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว-นักเขียน-บรรณาธิการจะทำอะไรตามใจชอบก็ไม่ได้ ก็เลยเป็นสิ่งที่ล็อคคอสื่อมวลชน มาแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อน เป็นแบบนี้สมัยปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนี้ และสมัยหน้าก็จะยังเป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้ ก็เลยเกิดสื่อยุคใหม่ขึ้นมาเช่นพวก ยูทูปเปอร์ หรือพวกLive facebook อย่างผม ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร แต่การทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีทุนอยู่ก้อนหนึ่งพอสมควร ที่จะทำให้เราก้าวเข้าไปสู่ความลึกของข่าว หรือความรอบด้านของข่าวได้ คนที่ไม่มีทุน ก็จะใช้วิธีการทำสื่อแบบมโนมากขึ้น ตรงนี้คือจุดบอดของวงการสื่อในปัจจุบัน

“ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ”ยืนยันว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล ที่ทำให้เกิดสื่อที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ  เป็นการเปิดให้สื่อมวลชนที่ขยันและต้องการหาข้อมูล สามารถทำได้ดีกว่าเก่ามาก เพราะปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลมันง่ายมาก เห็นได้จากตอนนี้ไม่เห็นมีใครมีปัญหาเรื่องการหลงทางเวลาเดินทางเลย ทุกคนเวลาจะไปยังสถานที่นัดหมายก็จะให้อีกฝ่าย ส่ง location มาให้ทางมือถือ หรือตอนนี้จะไม่มีใครถามกันอีกแล้วว่า ร้านอาหาร หรือสถานที่ซึ่งจะไปอยู่ตรงไหน จะเปิด-ปิดกี่โมง ทุกคนหาข้อมูลได้ด้วยตัวเองหมด

...ด้วยเวทีเปิดของข้อมูลข่าวสาร มันไม่ใช่แค่ร้านอาหารอย่างเดียว แต่เป็นเวทีเปิดของข้อมูลทุกด้าน ซึ่งคนที่ทำงานด้านสื่อมวลชนต้องขยัน ต้องไปหาข้อมูล ประกอบในการทำข่าวต่างๆ ทั้งข้อมูลประกอบในปัจจุบันและข้อมูลในอดีต

“แต่เท่าที่ผมดูในปัจจุบัน ก็พบว่า ก็ยังมีปัญหา สื่อมวลชนก็ยังทำเหมือนเดิม ยังขี้เกียจ เพราะยังทำแบบเดิม ๆคือทำข่าวแค่ว่า อะไร -ที่ไหน-เมื่อใด แค่นั้นเอง แต่คำว่า"อย่างไรและทำไม"ไม่ค่อยได้ทำกันในข่าวต่างๆ แต่ไหนแต่ไร ก็เป็นแบบนี้กัน แปลกมาก”สนธิ วิจารณ์การทำงานของนักข่าวในยุคปัจจุบัน

สื่อdisrupt ตัวเองเพราะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ

“สนธิ-คนสื่ออาวุโส” กล่าวต่อไปว่า สำหรับผม แบ่งลักษณะข่าวออกเป็น 2 ประเภท คือข่าวควรรู้กับข่าวที่อยากรู้ เผอิญสังคมไทย เป็นสังคมไร้สาระ ก็เลยทำให้มีข่าวอยากรู้มากเป็นพิเศษ เลยส่งผลให้ข่าวที่ควรรู้มันเบาลง ผมตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยพูดไว้นานแล้วและมีการอัดเป็นคลิป เป็นการพูดถึงเรื่อง"ครู"เช่นบอกเล่าเรื่องบิดาตัวเองว่าเคยเป็นครู และภริยาตัวเองก็เป็นครู เขาจึงยืนยันจะไม่ทิ้งครู แต่ปรากฏว่าวันนี้ อาชีพ ครู ถูกทิ้งหมด ไม่มีใครสนใจเลย พลเอกประยุทธ์ก็ลืมไป สหกรณ์ออมทรัพย์ของครูตอนนี้ ก็ถูกกระทรวงเกษตรและกระทรวงการคลัง บีบเรื่องดอกเบี้ยของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ควรจะให้ 4.5 เปอร์เซนต์ ตอนนี้ถูกบีบให้เหลือจนกระทั่งอัตราจะเท่ากับธนาคารแล้ว เลยทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ อยู่ในสภาพอ่อนแอ อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็น แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจเรื่องพวกนี้ ไม่มีใครใส่ใจว่าพลเอกประยุทธ์เคยพูดอะไรบ้าง แต่มาวันนี้ ทำไม ทำตรงกันข้ามกัน ทุกคนยอมรับการตะบัดสัตย์เรื่องพวกนี้ ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัว และสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในวันนี้  เกือบร้อยเปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้จริงๆ ไม่สนใจที่จะ remind ตักเตือนว่าเขาเคยพูดแบบนี้เอาไว้ แล้วทำไมทำกันตรงข้ามทั้งที่เคยพูดเอาไว้เกิดอะไรขึ้น  ตรงนี้สื่อไทยต่างจากสื่อต่างประเทศมาก เพราะสื่อต่างประเทศ เขาเน้นเรื่องพวกนี้มาก เมื่อเน้นเลยเป็นกรอบในการบีบให้นักการเมือง บุคคลสาธารณะ ระวังตัวและยึดมั่นในสิ่งที่เคยพูดไว้ แต่ในเมืองไทยเขาเห็นว่า แม้วันนี้จะพูดเอาไว้แบบนี้แต่อนาคตะวันข้างหน้า ไม่ทำ ก็ไม่มีใครว่าได้  ทุกคนยอมรับกันโดยปริยาย

"ดังนั้น หากจะบอกว่านี้เป็น disruption อันใหม่ ผมไม่เชื่อว่าเป็น disruption อันใหม่ มันคือสันดานเดิมๆ ไม่มี disruption เลยแม้แต่นิดเดียว คือยังเหมือนเดิม เพราะทั้งหมดมันอยู่ที่ตัวเราเอง เราdisrupt ตัวเราเองตั้งแต่ไหนแต่ไร คือเราไม่ได้ทำหน้าที่เราที่สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ได้ทำเลย แล้วเรามาเที่ยวบอกว่า ระบบดิจิตอล มาdisrupt เรา จริง ๆมันไม่ได้ disrupt แต่เรานั่นแหละที่เราdisruptตัวเราเอง เราไม่ได้ทำหน้าที่เราอย่างสมบูรณ์ที่สุด "

สำหรับความเห็นว่า นักข่าว-สื่อมวลชน-กองบก.ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงใด ควรต้องปรับตัวอย่างไรในยุค media disruption “สนธิ” มองว่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าเขาปรับตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มากนัก เหตุผลเพราะว่าเจ้าของหนังสือพิมพ์ เจ้าของสื่อ ไม่ได้มีจริยธรรมเหมือนต่างประเทศ เพราะต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องความเป็นอิสระของนักข่าว ความอิสระในการแสดงความเห็น แต่เมืองไทยไม่เชิดชู ของเรากดขี่ เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็คือ เพดานที่มันจำกัด ที่ทำให้สื่อมวลชนไม่ว่าจะยุคสมัยใด ปรับตัวไม่ค่อยได้ เมื่อปรับตัวไม่ค่อยได้ ข้าวต้องซื้อ ไฟต้องจ่าย ก็ต้องอดทนกันต่อไป คนที่เข้ามาทำงานสื่อ พอทำไปสักระยะ ก็จะเหมือนคนเข้ารับราชการ ที่แม้จะเก่ง แต่พอเข้ามาในระบบราชการที่เจอความเละเทะก็ทำให้ความเก่งของเขาถูกลดทอนลงไป จนอยู่ไปสักระยะ ก็กลายเป็นข้าราชการอีกคน ที่เละเทะและเฮงซวย

...สื่อมวลชนเองก็เช่นกัน เข้ามาใหม่ ๆมีความฟิต แต่พอเข้าไปทำงานถึงรู้ว่าทำไม่ได้ เขียนไม่ได้อย่างอย่างที่ตัวเองพูด ทุกแห่งเกิดขึ้นหมด แม้แต่ของผมเอง ก็เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าผมถอยออกมา แล้วผมไม่ได้เข้าไปยุ่ง ผมก็เลยมองเห็นทะลุขึ้นแล้วก็รับรู้ ผมก็ไม่ได้พยายามจะบอกว่าผมเหนือกว่าคนอื่นเขา แต่ผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า สมัยที่ผมบริหารสื่อในเครือผู้จัดการ ผมเปิดความเป็นเสรีภาพของสื่อให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

"ปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือสื่อมวลชนบ้านเรายังขาดองค์ความรู้อยู่เหมือนเดิม ไม่สามารถเอาเรื่องราวต่างๆ มาอธิบายความได้ ทั้งที่ด้วยระบบดิจิตอลในวงการสื่อที่ทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเป็นอิสระได้มาก "

“สนธิ”ให้มุมมองถึงการทำงานสื่อในยุคต่อไปว่า คิดว่า หากสื่อหนึ่งคน หรือ2-3 คน มารวมตัวกัน แล้วเปิดเฟซบุ๊กสักหนึ่งเพจ แล้วทำข่าว ที่ไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยคนอื่น ก็ทำข่าว รายงานข่าวไปตามความคิดเห็นที่คิดว่าเป็นอิสระ จะก่อให้เกิดอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับวงการสื่อมวลชนได้ แต่ปัญหาก็มี คือแล้วใครจะเลี้ยงดูพวกเขา รายได้นำมาจากไหน อันนี้คือข้อแตกต่าง

...พวกสื่อ เขาสามารถที่จะรวมตัวกันที่จะไปทำได้เช่น อาจจะจับกลุ่มกันสัก 5-6 คนแล้วคุยกันว่ามาช่วยกันทำหรือไม่ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันไป โดยก็คุยกันเองว่าทุกคนต้องขยัน ตื่นมา ก็ต้องหาทางไปทำข่าวแต่ละชิ้นให้ได้ เพื่อหาข่าวคุณภาพมานำเสนอ คุณภาพในท่ามกลางความเละเทะและขยะข้อมูล มันจะส่งผล มันจะมีความหอมหวลของคุณภาพ มันจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนสนใจเข้ามาติดตาม แต่จะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้นาน เพราะข้าวต้องซื้อ ไฟต้องจ่าย ลูกต้องเสียค่าเทอม สิ่งเหล่านี้คือปัญหาหลัก ตรงนี้จะแก้อย่างไร ผมยังมองไม่เห็น อย่างผมพอทำได้ เพราะผมมีทุนเก่าของผมอยู่แล้ว ก็พอใช้ทีมงานให้มาช่วยได้เช่น เวลาผมจะพูดไลฟ์สดเรื่อง ปัญหาระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน แม้ผมมีข้อมูลอยู่บ้าง แต่เมื่อต้องการข้อมูลเพิ่ม ผมก็สั่งทีมงานให้ไปช่วยหาข้อมูลมาเสริมให้แล้วผมก็จ่ายค่าแรงไป แบบนี้ผมทำได้ เพราะผมบ้านไม่ต้องเช่า รถไม่ต้องผ่อน ยังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง แต่คนอื่น ที่ต้องดิ้นรนชีวิตแบบเดือนต่อเดือน เขาจะทำอย่างไร นอกจากก็ต้องกลับเข้าไปอยู่ในองค์กร พอกลับเข้าไปอยู่ในระบบองค์กร ก็ถูกกรอบขององค์กรตีล้อมไว้ ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม

..แต่ในต่างประเทศ เขาก็มีการทำมาแล้ว อย่างที่สหรัฐอเมริกา มีเว็บไซด์ชื่อ slate.com เริ่มจากนักข่าวไม่กี่คนมาร่วมกันทำข่าว พอทำเสร็จก็มีคนมาร่วมลงทุน เพราะเขาก็หวังว่า slate.com จะดังขึ้นมา และสามารถนำทุนมาจากแหล่งต่างๆ แล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ แต่เมืองไทยมันไม่ใช่ เพราะนักธุรกิจหรือนักลงทุน ไม่กล้าลงทุนในธุรกิจแบบนี้ เพราะกลัว แต่ต่างประเทศไม่ใช่ เหมือนอย่างตอนนี้ก็มีเช่นเว็บข่าว  digg.com สื่อพวกนี้คือของใหม่ คือเป็นเว็บไซด์ข่าวที่นำเสนอ ให้คนอ่านคนดู เขาทำแบบขุดให้ลึกลงไปอีก เพื่อเอาที่ลึกๆ ที่คนไม่รายงานกัน นำมาเสนอให้ ก็มีตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้น พวกนี้เหมือน startup ในทางสื่อมวลชน ก็มีคนนำเงินมาลงทุนให้ มาสนับสนุนคอยดูแล แล้วพอมีคนเข้ามาติดตามจำนวนมากเข้าเช่นเป็นหลักล้าน ห้าล้าน  สิบล้าน ก็จะมีโฆษณาเริ่มเข้ามาส่วนหนึ่งที่แม้อาจไม่ได้ทำให้อยู่ได้มาก แต่มันมีโอกาสที่จะ ขยายตัวใหญ่ขึ้น สามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ของเมืองไทยไม่มีแบบนี้ ขาดตรงนี้ ขาดความเข้าใจ เพราะพวกที่จะมาลงทุนในStart-up ต่างๆ จะเข้าไปทุกธุรกิจ แต่ยกเว้นธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ สิ่งเหล่านื้คือข้อจำกัด

สนธิ”ย้ำจุดสำคัญในการทำงานสื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงใด และจะเป็นสื่อแพลตฟอร์มไหน สิ่งสำคัญ ก็คือ เนื้อหาสาระในการนำเสนอ ที่วงการสื่อเรียกกันว่า Content is King

“แน่นอน ผมเชื่อมั่นมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า content is king ผมเชื่อว่า คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ขายได้ ตอนนี้หลายคอนเทนต์เลยเป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีคุณภาพ แต่เอาปริมาณเข้าว่า บางเว็บก็บอกว่าเป็นเว็บไซด์ที่มีคนเข้ามาดูมากที่สุด แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าคนเข้ามาดูมากสุด แต่ประเด็นคือว่าสาระที่นำเสนอในเว็บไซด์มีคุณภาพมากที่สุดหรือไม่ นี้คือสิ่งที่ควรต้องพิจารณา content is king คุณภาพของคอนเทนต์ มันต้องเกิดจากสื่อมวลชน ที่ต้องเป็นคนทำ สื่อต้องอย่ามักง่าย ทุกวันนี้เรามักง่าย “

…สมัยนี้ ข่าวเจาะ ทำกันวันเดียวคือเจาะไปตามเฟซบุ๊กต่างๆ ที่ทำให้นักข่าวขี้เกียจ เพราะตอนนี้พวกคนมีชื่อเสียงในสังคม ที่อยากดัง อยากโฆษณาชวนเชื่อตัวเอง ที่ทุกคนก็จะเปิดเฟซบุ๊กของตัวเอง พอโพสต์หรือเขียนอะไร พวกนักข่าว -กองบก.ที่รับผิดชอบข่าวสายต่างๆ ที่ขี้เกียจ ก็เอาข่าวเฟซบุ๊กของคนนั้นๆ มาพาดหัว

“ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ”ยกตัวอย่างมาอธิบายข้อวิจารณ์การทำงานของสื่อยุคปัจจุบันว่า “เช่นบอกว่า เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มีความเห็นในเรื่องนี้จากเฟซบุ๊ก  แล้วก็สรุปจากที่เจิมศักดิ์เขียนแล้วข้างล่าง ก็เอาโพสต์ของเจิมศักดิ์ แปะลงไปด้วย”

... ทั้งที่สิ่งที่เจิมศักดิ์พูดมีหลายประเด็นที่นักข่าวสามารถนำไปเช็คต่อเพิ่มเติมได้ เช่น เจิมศักดิ์ บอกแบบนี้ แต่จากการสืบค้น จากการพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง เขาบอกว่า สิ่งที่เจิมศักดิ์พูดนั้นถูก หรือสิ่งที่พูดนั้นผิด เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร แต่นักข่าวขี้เกียจ เอาง่ายเข้าว่า ทำให้ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นการสแกน วันๆ จะมีคนในกองบก.ที่วันๆ ไม่ต้องทำอะไร หน้าที่คือสแกนว่าวันนี้ใครโพสต์อะไรในเฟซบุ๊กแล้วก็ดึงจากสิ่งที่โพสต์นำมาลง ถือว่าเป็นข่าวชิ้นหนึ่งแล้ว เอาง่ายเข้าว่า ไม่ได้เน้นคุณภาพ ไม่ได้เป็นช่างฝีมือ เป็นการไปซื้อของจากห้างสรรพสินค้าที่ออกมาจากสายพาน คือไปเอาจากเฟซบุ๊กมา เอาข่าวว่า ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ แสดงความเห็นอย่างไร สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.เห็นว่าอย่างไร เช่น สมชัย โพสต์ว่า จะไปวิ่งไล่ลุง โดยให้เหตุผลไว้ 4 ข้อ แต่จะมีใครที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของสมชัย หรือจะมีใครที่จะเสริมว่าเหตุผลของ สมชัยยังตกไปอีกสองข้อ

... เรื่องนี้แบบนี้ ตอนนี้ไม่มีใครสนใจแล้ว  ที่เวลาใครแสดงความเห็นอะไรในเฟซบุ๊ก ก็ไม่ได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าคนอื่น ๆมีความเห็นต่อสิ่งที่บุคคลต่างๆแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กอย่างไร ไม่มีใครสนใจแล้ว ทางแก้เรื่องนี้ก็ต้องแก้ที่คน ซึ่งยืนยันว่า เรื่องคุณภาพสำคัญมาก อย่างรายการของสื่อในเครือผู้จัดการเช่น ข่าวลึกปมลับ ที่ทำโดย นพรัตน์ พรวนสุข เขาชกตรง และเจาะลึก โดยการทำคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสิ่งที่นำเสนอล่วงหน้า ต้องจับตาเรื่องอะไร แต่ต้องทำการบ้านเยอะในการตรวจสอบข้อมูล แต่สื่อสมัยนี้ไม่มีแล้ว

"ถ้าคุณถามผม ผมพูดตรงๆ ผมไม่เห็นอนาคตสื่อมวลชนของไทย มันไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่รุ่นผมจนมาถึงรุ่นนี้ เหมือนกันหมด "

แม้คุณจะอยู่ในกรอบที่ถูกตีเอาไว้จากองค์กรของคุณ แต่หากข่าวที่คุณทำมีคุณภาพ ซึ่งคำว่าคุณภาพ เขาต้องไปวิเคราะห์เองว่าคุณภาพอยู่ที่ไหน เช่น ข่าวหนึ่งข่าว คุณไปคุยกับคนมาสองคน แล้วจะลงเลยหรือว่า จะไปคุยเพิ่มมาให้ได้เป็นสักสี่คน คุณภาพข่าวมันจะดีกว่าหรือไม่ ถ้ามันดีกว่าเก่า อย่ารีรอทำเลย มันอาจจะเหนื่อยกว่าเก่า คุณต้องทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก ในข่าวชิ้นนั้นอาจสัก 3-4 ชั่วโมง แต่มันคุ้ม เพราะของพวกนี้ เมื่อมันเป็นงานของคุณแล้วไม่มีใครเลียนแบบคุณได้ ซึ่งการทำงานแบบนี้ มันต้องสั่งสม จนถึงจุดๆหนึ่ง คุณก็จะมีชื่อเสียงในเรื่องนี้

-การปรับตัวของนักข่าว คนทำสื่อดังกล่าวเรื่องของเงินทุนสำคัญหรือไม่ โดยเฉพาะกับการสร้างคอนเทนต์ และการสร้างแบนด์?

ถ้าคุณมีความโดดเด่นในเรื่อง contentและbrand โอกาสที่ทำแล้วจะอยู่ได้ก็มี ยกตัวอย่าง ผมยังไม่ได้ทำเรื่องยูทูปเปอร์จริง แต่เอาเฉพาะFacebook อย่างเดียว วัดจากคนเข้ามดู เดือนแรกเขาจ่ายเงินมาให้ผม 150 เหรียญ จากยอดของคนเข้ามาดู แต่พอเข้าเดือนที่สอง เขาจ่ายมาให้ผม 3000 เหรียญ เพิ่มขึ้น 20 เท่า ก็แสดงว่าปริมาณคนเข้าไปติดตามมันสูงมาก รายการผม โดยเฉลี่ย เดือนธันวาคม 2562 เข้ามา 14 ล้านคน แต่เขาจ่ายให้ผม 3000 เหรียญ หรือ 90,000 บาท แต่ไม่เป็นไร เรื่องเล็ก แต่อย่างน้อยทำให้เห็นถึงช่องทางการทำรายได้ โดยที่ผมยังไม่ได้ทำในเรื่องโฆษณาเช่นนำกาแฟบางยี่ห้อมาวางแล้วก็ยกดื่ม ยังไม่ได้ทำ แต่ที่ทำตอนนี้มันไปได้อยู่ แต่คำถามคือ การทำ ก็ต้องมีคนเข้ามาชมเยอะ ๆ  อะไรก็ตามที่มีคุณภาพ ที่มันไปได้ จะมีลูกค้ารออยู่แล้ว แต่คำถามคือคุณจะต้องมีวิธีการหาเงินกับมันอย่างไร เพื่อให้ตัวคุณอยู่ได้ และหากคุณทำได้ คุณก็สามารถที่จะ crowd financing กับคนที่ชอบรายการที่คุณทำ

ยกตัวอย่างที่ผมได้ทำรายการไลฟ์สด ทำไปสองเดือน คนติดตามผมทางเพจ ร่วมจะสี่แสนคนแล้ว โดยยอดไลค์ผมสองแสนกว่า ก็ต้องดูว่า หากคุณทำแล้วมีคนติดตามคุณสักอาทิตย์ละห้าแสนคน คุณบอกเขาตรง ๆเลยว่า ขอความช่วยเหลือ ขอให้ลงขันให้หน่อย ให้ผมทำรายการนี้ต่อ ผมไม่ขอมาก ขอเดือนละ100บาทต่อคน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง และผมเชื่อว่า หากคุณทำแล้วรายการคุณมีคุณภาพ คนชอบรายการ โดยอาจไม่ต้องมีคนมาดูแบบ 14 ล้านคนแบบผม เอาแค่คนมาดูสักหนึ่งแสนคน หากมีคนแค่หนึ่งหมื่นคน แล้วเขาให้เงินคุณสักคนละ100บาท ก็เท่ากับ ได้เดือนละ 1 ล้านบาท คุณก็อยู่ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เคยมีใครลอง แต่ก็ต้องระวัง เพราะนิสัยคนไทยชอบของฟรี

5G จุดเปลี่ยน

สร้างพลวัตรการทำข่าวยุคใหม่

“สนธิ” มองถึงการทำงานของสื่อมวลชนในอนาคตโดยเฉพาะหลังจากนี้อีกไม่นานที่ประเทศไทยกำลังจะมีเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายระบบ 5 G ซึ่งเขาเชื่อว่า เมื่อประเทศไทยมีการใช้ 5 G เต็มรูปแบบ ก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับ”นักข่าว-สื่อมวลชน

5 G จะมีอย่างมหาศาลกับวงการสื่อ  ผมมองว่า 5 Gจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้หมดเลย”

... ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการทำ research แต่ที่อังกฤษทำแล้ว ผมคิดว่าอีกไม่นาน คงมีคนทำ โดยของอังกฤษที่เขาทำมา เขาบอกว่าคนอังกฤษจะไม่ดูทีวีกันแล้ว คนไปเอาข่าวจากโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ ทีวีทุกช่องและไม่ว่าใครก็ตาม ก็จะเข้าสู่โซเชียลมีเดียกันหมด

สิ่งที่ผมจะเห็นในอนาคต หลังจาก 5 Gเกิดขึ้น คนแทบไม่ต้องเปิดดูข่าวทีวีเลย ทุกอย่างมันจะมาแบบ real time ชนิดที่ real จริงๆ โดยสามารถดาว์โหลดได้ทันที ผมจึงมองว่า 5Gจะทำให้นักข่าวอิสระสามารถตั้งตัวได้

ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีทีม แล้วคุณนำข่าวที่เกิดขึ้น ลงคลิปได้ทันที แล้วคนเข้ามาติดตามคุณพอสมควร คุณบอกเขาได้เลยว่า คุณต้องเป็นสมาชิก อย่างThe New York Times อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะระบบสมัครสมาชิก ยอดขายเขาไม่สนใจแล้ว ยอดสมาชิกเขามีเป็นหลักล้านคนแล้ว แสดงว่ายังมีคนต้องการ คำถามคือ สิ่งที่คุณทำ มีคุณภาพจริงหรือไม่ ถ้าสิ่งที่คุณทำมีคุณภาพจริง ผมเชื่อว่า ให้จ่ายเดือนละหนึ่งร้อยบาท เขาก็พร้อมจ่าย เพราะเขาจะได้ข่าวที่เป็นข่าวอย่างแท้จริง เขาจะได้ข่าวที่เขาสามารถนำไปตัดสินใจในหน้าที่การงานของเขาได้ เป็นเพียงแต่ว่าคนที่มีหน้าที่บริหารเว็บข่าว หรือเฟซบุ๊กข่าวตรงนั้น จะบาลานซ์ตัวเองยังไง เท่านั้นเอง 5 Gจะเป็นบริบทใหม่ของวงการสื่อมวลชนทั้งระบบ จะเป็นระบบใหม่ เพราะspeed มันจะเร็วมาก ก็อยู่ที่ว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากความเร็วของสปีด 5 Gอย่างไรให้มันบูรณาการเข้าไปกับการทำข่าวของสื่อได้อย่างไร

“สนธิ”ย้ำว่า นักข่าวในยุค 5 G จึงต้องเป็นทุกอย่าง เป็นทั้งเรื่องเทคโนโลยี การตัดต่อในตัวมันเอง เพราะต่อไปการไปทำข่าวแล้วใช้คน 2-3 คนมันไม่คุ้มแล้ว คนหนึ่งคนต้องทำงานได้หมดทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ท้าทายนักข่าวรุ่นใหม่มาก หาก 5 Gเกิดขึ้น ถ้าจะมีการรวมตัวของกลุ่มข่าวด้วยกัน แล้วมาแชร์ข่าวกัน ทำสิ่งที่ผมเรียกว่า กระทะข่าว ทุกคนทำแล้วมาข่าวมารวมกัน เช่นอาจมี 4 ทีม แยกเป็นเช่น ทีมข่าวไลฟ์สไตล์ -ข่าวบันเทิง -ข่าวการเมือง- ข่าวเศรษฐกิจ แล้วคนที่จะใช้ 5 G ก็เข้ามาดูข่าวจากทั้งหมด แล้วดึงข่าวจากกระทะนั้นออกมาใช้

สิ่งนี้คืออีก Scenario ที่จะเกิดขึ้น โดย 5G จะทำให้ต้นทุนการทำข่าวลดน้อยลงและทำให้สนามการทำข่าว เปิดกว้างมากขึ้นและจะอยู่ได้ และจะใหญ่ด้วย

-แต่ที่ผ่านมา 2--3 ปีหลังมานี้ คนก็พูดกันว่า ใครต่อใคร ก็เป็นนักข่าวได้ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ หาก 5Gเข้ามา จะไม่ยิ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้มากขึ้นไปอีกหรือ?

ในที่สุดแล้ว ทุกคนก็เป็นได้ แต่ทุกคนเป็นได้ในลักษณะที่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดแล้วเขาเห็น แต่นักข่าว ต้องมีหน้าที่ไปแสวงหา ไปค้นหา

ถ้า 5 Gเกิดขึ้น สิ่งที่จะทำให้นักข่าวอยู่ได้ ก็คือ เบื้องหลัง การเจาะลึก พูดง่ายๆว่า เมื่อ 5Gเข้ามา สิ่งที่จะเกิดขึ้นเลยทันทีและทำให้มันไปได้แรงมากก็คือ ข่าวเจาะ ต่อไปจากนี้  ข่าวเจาะจะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะทุกคนมี 5G ทุกคนเห็นรถชนกัน ก็ถ่ายแล้วก็ดาวโหลดมาหมดแต่ทุกคนไม่รู้ว่าเบื้องหลังมีอะไรบ้าง investigativeing หรือข่าวสืบสวนสอบสวน จะกลับมาอีกครั้ง

“สนธิ-สื่อมวลชนอาวุโส”ย้ำตอนท้ายว่า นักข่าว-สื่อมวลชน จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทักษะของตัวเองให้มากขึ้นโดยเฉพาะทักษะการทำข่าวต้องลึกซึ้งกว่าเก่า ต้องขยันกว่าเก่า ตอนนี้ประตูที่จะเปิด มีอยู่เต็มไปหมด ซึ่งนักข่าวมีกุญแจอยู่แล้ว แต่คำถามคือ เขาต้องเต็มใจที่ไขประตูเหล่านั้น ขยันที่จะไข แล้วเดินเข้าไปสู่ข้อมูลต่างๆ

“มีพ่อแม่หลายคน บอกผมว่าอยากให้ลูกรับราชการ หรือทำงานธนาคารเพราะมั่นคง ผมอยากบอกว่าความมั่นคงของอาชีพไม่ได้อยู่ที่องค์กรหรือสถานที่ แต่อยู่ที่ตัวเรา ตัวเราทำให้ตัวเรามีคุณภาพ แล้วตัวเราจะมีความมั่นคงตลอดไป”สนธิกล่าวในตอนท้าย

ติดตามเนื้อหาอีกหลายส่วนได้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2563 ที่จะมีการนำเสนอผ่านเว็บไซด์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th และที่เพจ “จุลสารราชดำเนิน”ของสมาคมนักข่าวฯ ได้ในโอกาสต่อๆไป