เสียงสะท้อน 5 มีนา “วันนักข่าว”

เสียงสะท้อน 5 มีนา "วันนักข่าว"

ธนัชพงศ์ คงสาย / มานิตย์ สนับบุญ

"ขอให้วันนักข่าวจงเป็นวันแห่งความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นวันแห่งความสามัคคี กลมเกลียวกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเจริญก้าวหน้าของอาชีพหนังสือพิมพ์"

บันทึกประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2510 จากนักข่าวรุ่นบุกเบิก 16 ชีวิตต่อการประกาศให้ "5 มีนา" ของทุกปีเป็นวันนักข่าว เมื่อในยุคนั้นได้เห็นพัฒนาการ "หนังสือพิมพ์" เและผู้ประกอบวิชาชีพเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของสังคม

แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤติคลื่นลม "ดิสรัปชัน" ท้าทายคนในวงการสื่อทุกแพลตฟอร์ม ต่อการทำหน้าที่วิชาชีพสื่อสารมวลชน ในยุคที่โครงสร้างในอุตสาหกรรมสื่อกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 5 จี ทำให้ขณะนี้ไม่ใช่แค่การปรับตัวจากคนในวงการสื่อเท่านั้น แต่มีเสียงสะท้อนจากสังคมต่อบทบาทของสื่อในภาวะวิกฤติ ถูกตั้งคำถามถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณ ยังเป็นกระดูกสันหลังสำหรับคนในวิชาชีพตามที่สังคมคาดหวังหรือไม่

"จุลสารราชดำเนิน" พาไปฟังเสียงสื่อมวลชนสายหลัก ต่อมุมมองในวันนักข่าว 5 มี.ค.2563 ที่กลัยมาอีกครั้ง เริ่มที่ "เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์" ผู้สื่อข่าวอาวุโส โต๊ะข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐทีวี จากประสบการณ์ทำงาน 20 ปี บอกว่า จากที่ได้ทำงานข่าวมาตั้งแต่ปี 2543 เริ่มทำวิทยุ หนังสือพิมพ์ และทีวี แต่เมื่อถึงวันนักข่าว 5 มี.ค.ของทุกปี ทำให้เราย้อนกลับมานึกถึงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาตลอด 20 เพื่อทบทวนตัวเองมาทำงานผ่านอะไรมาบ้าง โดยนอดีตสื่อมวลชนถือว่ามีความน่าเชื่อถือได้ แต่ขณะนี้ถึงแม้จะแชร์ข่าวจากเพจที่เป็นสำนักข่าวหลัก ยังมีคนมาถามว่าเป็นข่าวปลอมหรือเปล่า อาจะเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายมากขึ้น หรือมีสื่อที่เป็นรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมา ทำให้หลายๆ คนเห็นข่าวนั้นแต่ยังเกิดความไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นการระมัดระวังในการรับข้อมูลของผู้บริโภคสื่อตรงนี้

ส่วนหลักสำคัญของคนทำสื่อจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น "เพ็ญโสภา" มองว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อที่มากพอสมควร เพราะในยุคที่รับข่าวจากรอยเตอร์ที่ส่งเป็นแฟกซ์เข้ามา แต่ขณะนี้ทุกอย่างมีแหล่งข้อมูลการทำข่าวให้ไปตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญของความเป็นสื่อต้องกลับไปสู่ยุคที่เคยทำมาตั้งแต่ต้น ในการความถูกต้องของข่าว และหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ลึกมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ปรากฏการณ์อุตสาหกรรมสื่อที่ยังสั่นไหวตลอดเวลา "เพ็ญโสภา" บอกถึงการปรับตัวของตัวเองต้องยึดมั่นในการทำหน้าที่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะเห็นอดีตนักข่าวหลายๆ คนย้ายไปทำงานอาชีพในวงการอื่น แต่ที่ผ่านมาตลอด 20 ปียังยืนอยู่ตรงนี้ได้ จึงอยากทำหน้าที่ให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่คำแนะนำไปถึงคนในวงการสื่ออยากให้ยึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ด้วยความหวังว่าสถานการณ์สื่อในวันข้างหน้าจะดีมากขึ้นกว่านี้ เพราะไม่ว่าอย่างไรสังคมจะต้องติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้ จึงขอให้ทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไปเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้ที่ต้องการบริโภคข่าวสาร

"ส่วนอาชีพนักข่าวกับอนาคตคนในวงการสื่อนั้น ต้องมีการปรับตัวแล้วแสวงหาแหล่งข่าว หรือหาวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลที่เชื่อถือ และเชื่อว่าทุกคนจะอยู่รอด"

มาที่ "ผาณิต นิลนคร" ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ อยู่ในวงการมาทั้งหมด 13 ปี มองว่า สำหรับวันนักข่าวถือเป็นวันที่มีเกียรติและเชิดชูว่าเราได้อยู่ในวิชาชีพแห่งนี้ เป็นเหมือนอาชีพปิดทองหลังพระ เพราะมีการนำเสนอข่าวสารเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่สังคมไม่ค่อยได้รับรู้ว่ามีสื่อมวลชนมีความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ที่สำคัญในปัจจุบันเกิดความท้าทายในเรื่องความเป็นสื่อกระแสหลักค่อนข้างมาก กลายเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าสื่อมวลชนจะพัฒนาตัวเองให้สามารถต่อสู้กับแรงเสียดทานกับสื่อใหม่ๆ ทางโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งพยายามจะเป็นสื่อกระแสหลักให้ได้

"แต่หน้าที่ของความเป็นคนข่าวที่ควรยึดหลักไว้นั้น สำหรับตัวเองมองถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อแหล่งข่าว และรับผิดชอบต่อองค์กรสื่อ ซึ่งความรับผิดชอบตรงนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพื่อสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น"

ส่วนปรากฏการณ์อุตสาหกรรมสื่อที่ยังไม่มั่นคงนั้น "ผาณิต" บอกว่าในความเป็นสื่อต้องให้กำลังใจกันอยู่แล้วเพื่อให้ทุกคนต่อสู้ แต่อีกด้านต้องตระหนักเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะให้แตกต่างจากกลุ่มที่อยากจะมาเป็นสื่อกระแสหลัก แต่ไม่สามารถทำได้มากกว่าแค่พิมพ์ข้อมูลเพื่อแชร์ออกไป สื่อกระแสหลักยังเองเพิ่มกระบวนการตรงนี้เข้าไปโดยการการสร้างองค์ความรู้ในการตรวจสอบความลึกของข่าวชิ้นนั้น ซึ่งตรงนี้จะแบ่งแยกได้ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก หรือเพียงแค่สื่อทั่วไปที่ถูกโจมตีว่านักข่าวไม่มีจรรยาบรรณ

"อยากให้กำลังใจนักข่าวทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แล้วตัดตวงความรู้ เพื่อหาแนวทางนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่เพื่อทำอะไรที่แตกต่างจากผู้ที่คิดว่าใครๆ ก็เป็นสื่อได้ รวมไปถึงฝสื่อส่วนใหญ่จะนำเสนอประเด็นที่คล้ายๆกันทั้งหมด แต่ควรแตกประเด็นจากข่าวรูทีนเพื่อให้ประเด็นนำเสนอที่ลึกกว่า"

"ผาณิต" เปรียบเทียบตัวอย่าฝกรณีเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ทำไมต้องนำเสนอจนขาดความตระหนักในกรณีที่ว่าไปเปิดจุดที่เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยาก เพราะจะเปิดช่องให้ "สื่อผี" มาโจมตีว่าสื่อกระแสหลักทำงานไม่มีจรรยาบรรณ ทั้งที่เราควรจะตระหนักและมีองค์ความรู้ในการนำเสนอมากกว่านี้ เช่นมุมมองจากเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่าควรมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไร เพราะเมื่อเนื้อหาจากแต่ละช่องเหมือนๆ กัน จึงต้องรายงานข่าวให้ลึกกว่าเดิมให้ฉีกออกไปในมุมมองใหม่ๆ

ขณะที่อนาคตของวงการสื่อมวลชนนั้น "ผาณิต" ยังมองเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ เพราะในปัจจุบันกระแสโซเชียลมีเดียมาแรงมากๆ และมาแย้งพื้นที่ในสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ แต่หากในอนาคตสื่อกระแสหลักยังสามารถรักษามาตรฐานของจริยธรรม รวมถึงสร้างความแตกต่างของการนำเสนอให้แตกต่างจากสื่อผีได้ สื่อกระแสหลักยังต้องคงอยู่ในสังคมไทยต่อไป พร้อมกับการปรับตัวของคนทำสื่อให้เราอยู่รอด

"ในปัจจุบันที่สื่อโซเชียลมีเดียมีขึ้นมาก และเกิดปรากฏการณ์เฟคนิวส์ ฉะนั้นสื่อกระแสหลัก ต้องอาศัยช่องโหว่ตรงจุดนี้มาเติมเติมคุณค่าข่าว เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ความเป็นข่าวที่ถูกต้อง ผ่านกระบวนการคัดกรองที่เหมาะสม นำเสนอข่าวที่ครบถ้วนและถูกต้อง ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ความเป็นสื่อคุณภาพ คงอยู่กับสังคมไทยตราบเท่านาน"

ขณะที่ผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาค หรือที่รู้จักในนาม "นักข่าวสตริงเกอร์" อย่าง "ประชา ใจผ่อง" ผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เสียงสาริกา จ.นครนายก วัย 62 ปี ได้เข้าสู่วงการทำวิชาชีพสื่อสารมวลชน มานานกว่า 30 ปี ภายหลังจากจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ ที่วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปี 2533 โดยเฉพาะในฐานะคนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น มองถึงสื่อสารมวลชนสมัยเก่ากับปัจจุบันไม่แตกต่างกัน ต่อการนำเสนอข่าวให้ประชาชนรับทราบ แต่ปัจจุบันสามารถทำข่าวง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก มีเพียงเครื่องมือสื่อสารทันสมัย แค่เพียงมือถือก็ทำข่าวได้แล้ว

ส่วนนิยามคำว่า "นักข่าวไส้แห้ง" ยังคู่กับนักข่าวสมัยก่อนๆ เพราะการเป็นนักข่าวนั้นทำกันด้วยใจรักในการสื่อสาร เพื่อเป็นปากเสียงให้ความรู้ แต่แทบไม่ได้อะไรเลย แต่สมัยนี้มักมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องตามแหล่งข่าวต่างๆ และมีรายได้ดีกว่าสมัยก่อน ขณะที่จรรยาบรรณ ผู้สื่อข่าวสมัยก่อนๆ มีมากกว่าสื่อสมัยนี้ จากคำว่าผลประโยชน์และภาวะเศรษฐกิจของผู้สื่อข่าวและครอบครัว ทำให้ต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

คำว่า "ฐานันดร 4" สมัยก่อนนักข่าวจะเป็นบุคคลพิเศษที่ยิ่งใหญ่ เพราะนักข่าวเป็นผู้ดูแลสอดส่องสังคม เปรียบเป็นเหมือนเป็นหมาเฝ้าบ้าน หากมีสิ่งที่ผิดปกติในสังคม ก็เห่าหอน ติติง นอกเหนือจากในสถาบันหลักระบอบประชาธิปไตย ในอำนาจอธิปไตยอันได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ อำนาจบริหารของรัฐบาล อำนาจตุลาการ แต่สื่อปัจจุบันอยากให้เน้นถึง จรรยาบรรณวิชาชีพนักข่าวให้มากๆ อย่าเน้นเข้ามาเพื่อความโก้เก๋ ปกป้องผลประโยชน์ หรือการเข้ามาเพื่อเข้าสังคม

ด้าน "จักรกฤช แววคล้ายหงส์" อายุ 60 ปี เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด และเป็นสตริงเกอร์ ทีวี หนังสือพิมพ์ ประจำ จ.ตราด หลายสำนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ มองว่าจากการสื่อสารทันสมัยมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบ เพราะคนหรือผู้บริโภคข่าวสารจะนิยมไปดูสื่อสื่อดิจิตอลเพิ่มขึ้น ทำให้คนประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ต้องปรับตัว หลังจากยอดขายและปริมาณโฆษณาลดลง จนมาถึงรายได้ลดและมีภาวะการขาดทุน จนหนังสือพิมพ์บางฉบับต้องปิดตัวไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนที่ยังมีคงอยู่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หรือรูปแบบใหม่เป็นสื่อออนไลน์หลายฉบับ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ โดยยกระดับเพิ่มเป็นสื่อออนไลน์ อาทิ หนังสือพิมพ์ประชามติ ได้ปรับพัฒนาช่องทางการรับรู้ข่าวสาร ในรูปแบบสื่อดิจิตอลมากขึ้น   ในรูปแบบของ เพจ เว็ปไซต์ และข่าวนำเสนอเพิ่มผ่านทางระบบ สื่อออนไลน์ให้เข้ากับยุคสมัย เพราะการทำสื่อออนไลน์นั้น ไม่มีรายได้เหมือนกับหนังสือพิมพ์เหมือนสมัยก่อนที่มีรายได้ ส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่สตริงเกอร์ต้องทำสื่อผสม คือออนไลน์ผสมสื่อที่ส่งไปด้วย"

"จักรกฤช" ยังมองถึงสิ่งที่สื่อสตริงเกอร์ต้องปรับตัวในการใช้ปรับอุปกรณ์ เพราะสื่อบางคนอายุมากแล้ว ไม่สามารถปรับตัวทันเทคโนโลยีได้ ทำให้เกิดปัญหากับสตริงเกอร์ตามมา หรือหลังการพัฒนาเป็นสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อท้องถิ่นมักจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงในการนำเสนอข่าวเห็นชัดจากปัญหาจริยธรรมของสื่อมวลชนในท้องถิ่นปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ถึฝแม้เทคโนโลยีจะมีการพัฒนายกระดับไป แต่ปัญหาจริยธรรมยิ่งเพิ่มตามมา


ขณะที่ "สวาท เกตุงาม" อายุ 65 ปี เปิดเผยถึงเส้นทางเริ่มทำเป็นผู้สื่อข่าวมติชน ประจำจังหวัดสระแก้วมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันสื่อมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้ขาดการคัดกรอง หรือประตูข่าวสาร โดบเฉพาะจรรยาบรรณ คุณธรรม จริยธรรมของสื่อลดน้อยลงกว่าเดิม โดยข้อเสนอสำหรับสำนักข่าวในการคัดกรองสื่อภูมิภาค รัฐบาลน่ามีเงินช่วยส่วนหนึ่วสำหรับผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดและสำนักข่าวที่ชัดเจน เพื่อช่วยอุดหนุนเป็นรายเดือนตามเห็นสมควร เพราะหากรัฐบาลไม่ช่วยอาชีพสื่ออยู่ไม่ได้ล่มแน่นอน

ปิดท้ายที่ "สนทนาพร อินจันทร์" อายุ 45 ปี ผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาคหลายสังกัดทั้ง ทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุกระจายเสียง ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทำอาชีพเป็นนักข่าวอย่างเดียวมานานกว่า 20 ปี ซึ่งนักข่าวในยุคเก่าเป็นนักสื่อสารมวลชนเป็นบุคคลที่มีเกียรติได้รับการยอมรับในสังคมและมีรายได้ดี แต่ภายหลังจากยุคโซเซียลเติบโตรายได้ของนักข่าวลดลง คนทำอาชีพสื่อที่รักษาในกรอบจรรยาบรรณอยู่ยากและลำบาก แต่สื่อใหม่มักไม่ยึดถือจรรยาบรรณมองผลประโยชน์ธุรกิจมากกว่า ทำให้ผู้คนมองสื่อในแง่ลบในสังคมต่างจากแต่เดิม

"ปัจจุบันรายได้ สื่อภูมิภาคอยู่ห่างเดียวเลี้ยงตัวเองลำบาก ต้องมีอาชีพอื่นเสริม เลี้ยงตัวเองประอบด้วยทำสื่ออย่างเดียงนั้นอยู่ไม่ได้แล้ว ผมเองก็ต้องคอยทำอาชีพอื่นเสริมกันคือเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาแล้ว"