จัดระเบียบคนข่าว ฝ่าวิกฤต “โควิด-19”

จัดระเบียบคนข่าว ฝ่าวิกฤต "โควิด-19"

เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ต้องเฝ้าระวังในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัส "โควิด-19" สำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ที่เป็นจุดร่วมตัวของคนจำนวนมาก ทำให้ตลอดต้นเดือน มี.ค.สำนักข่าวและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ได้ปรับใช้มาตรการทำข่าวระหว่างสื่อมวลชน ตามแนวทาง "Social distance" หรือเพิ่มระยะห่างเข้าสังคม

เริ่มที่สาย "ทำเนียบรัฐบาล" ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูล มาตรการ แก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในฐานะสถานที่สำคัญที่สื่อมวลชนทุกแพลตฟอร์มมารวมตัวติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะวันประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทุกวันอังคาร เป็นวันที่สื่อมวลชนเดินทางเข้ามาทำข่าวมากที่สุดตลอดสัปดาห์

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส "โควิด-19" ทำให้การประชุม ครม.วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส ตั้งแต่การ "ปรับเปลี่ยน" วิธีการสัมภาษณ์แหล่งข่าวทั้งหมด จากเดิมที่สื่อมวลชนจะล้อมวงสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ได้ปรับให้แหล่งข่าวมายืนที่จุดไมโครโฟน โดยมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เพื่อแถลงข่าวหรือตอบคำถามสื่อมวลชน พร้อมประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งไมโครโฟนตามจุดไว้แล้ว

ข้ามมาที่ "รัฐสภา" อีกหนึ่งสถานที่สำคัญจากการรวมกลุ่มของ ส.ส. ผู้ติดตาม ข้าราชการ ไปจนถึงสื่อมวลชนสายนิติบัญญัติ ถึงแม้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงปิดสมัย แต่สำนักการประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งสื่อมวลชนประจำรัฐสภา หากจะสัมภาษณ์ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และส.ส. ขอให้ใช้จุดสัมภาษณ์เพียงจุดเดียวที่บริเวณจุดแถลงข่าวชั้น 1 ของอาคารรัฐสภาเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับสื่อมวลชน "สายทหาร" กำหนดแนวทางปฏิบัติกับสื่อมวลชนให้สัมภาษณ์แหล่งข่าวโดยยืนห่างกัน 1.5 เมตรอย่างตำ่ แต่ด้วยจำนวนนักข่าวสานทหารไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสายทำเนียบรัฐบาล และสายรัฐสภา ทำให้การทำงานได้ไม่ยาก แต่ขณะนี้ทุกคนมีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เมื่อถึงช่วงแถลงข่าวจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาวัดไข้ให้สื่อมวลชน แล้วนำสติ๊กเกอร์มาติดว่าผ่านการตรวจแล้ว พร้อมให้ทุกคนไปลงชื่อว่าอยู่สังกัดไหนแล้วมีอุณภูมิเท่าไหร่ ก่อนจะเข้าไปในห้องแถลงข่าว ซึ่งก่อนหน้านี้นอกจากจะทำความสะอาดห้องสื่อมวลชนไปแล้ว แต่มีการฉีดยาฆ่าเชื้อห้องแถลงข่าว ห้องอาหาร ห้องประชุม ห้องรับแขกหรือห้องที่มีคนมารวมจำนวนมากเพิ่มข้ึน

ไม่ใช่สื่อแค่นั้น สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.ได้แจ้งไปยังสื่อมวลชน ขอความร่วมมือในการสัมภาษณ์ผู้บริหาร นอกเหนือจากการแถลงข่าวปกติใน 3 แนวทาง 1.ขอให้ผู้บริหาร กทม.สัมภาษณ์ผ่านไมค์ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์เตรียมไว้เท่านั้น 2.ขอให้มีระยะห่างระหว่างผู้ให้สัมภาษณ์ และผู้สื่อข่าวประมาณ 1-2 เมตร ตามหลักการปฏิบัติในช่วงนี้ และ 3.ขอความร่วมมือผู้สื่อข่าวสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลทุกครั้งก่อนการสัมภาษณ์ โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จะเตรียมเจลล้างมือไว้

ขณะเดียวกัน กทม.ยังประกาศปรับเปลี่ยนแนวทางการทำข่าวของสื่อมวลชน ตั้งแต่ในทุกวันสำนักงานประชาสัมพันธ์ จะแจ้งกำหนดการของผู้บริหารตามปกติ พร้อมจัดทีมทำข่าว ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ เพื่อส่งให้ผู้สื่อข่าวในทุกภารกิจ และ "งดแถลงข่าว" ทุกกรณี หากสำนักข่าวใดมีประเด็นคำถามไปถึงฝ่ายบริหาร ให้ส่งคำถามของมายังสำนักงานประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ก่อนการประชุมใดๆ โดยเจ้าหน้าที่สำนักประชาสัมพันธ์ จะสัมภาษณ์ผู้บริหารตามประเด็นคำถามที่สำนักข่าวต้องการ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมจะส่งให้สื่อมวลชน และสื่อมวลชนไม่ต้องส่งทีมข่าวมาทำข่าวที่ กทม.

มาที่แนวทางปฏิบัติจากสื่อใน "เครือเนชั่น" เพื่อวางกรอบการทำงานนักข่าวภาคสนามในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ถูกกำหนดไว้ 2 แนวทางปฏิบัติ 1.ขอให้นักข่าวภาคสนามถือปฏิบัติด้วยการใส่หน้ากากอนามัย และติดเจลล้างมือทุกที่ 2.กรณีพบว่าตนเองรู้สึกมีอาการไข้ ให้รีบไปตรวจโดยทันที อย่าปกปิดประวัติ โดยให้แจ้งผู้บังคับบัญชาตรงไปตรงมาและกักตัว โดยระหว่างนี้บริษัทกำลังมีการพิจารณาเรื่องประกันสุขภาพให้ด้วย ส่วนผู้มาทำงานที่ออฟฟิศสามารถเบิกหน้ากากอนามัยได้คนละ 1 ชิ้นต่อวัน ยกตัวอย่างกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจให้ทำงานที่บ้าน โดยผ่านการประชุมออนไลน์ แต่พนักงานจะเข้าออฟฟิศเฉพาะ บก.ข่าวที่เป็นเวร หรือฝ่ายจัดหน้า แต่จะทำหน้าที่สลับกันเข้าออฟฟิศ

ส่วนสถานีโทรทัศน์ "พีพีทีวี" ได้เรียกประชุมเมื่อช่วงเย็นวันที 17 มี.ค. เพื่อระดมแนวทางวางแผนป้องกันให้ทุกคนสามารถทำงานอย่างปลอดภัย เพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ โดยเบื้องต้นฝ่ายข่าวแต่ละตำแหน่งจะกำหนดแนวทางปฏิบัติต่างๆไว้ อาทิ นักข่าวภาคสนามซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง บริษัทจะจัดหาหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอลล์มาให้ แต่เบื้องต้นรถข่าวทุกคันจะมีเจลแอลกอฮอลล์ติดไว้ พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์การทำงานมากขึ้นโดยเฉพาะไมค์สัมภาษณ์แหล่งข่าว นอกจากนี้ยังปรับวิธีการทำงานจากเดิมที่นักข่าวต้องกลับมาที่ออฟฟิศเมื่อเสร็จงาน แต่ขณะนี้ทุกคนไม่ต้องกลับเข้ามาที่ออฟฟิศเพื่อประชุม โดยให้ประชุมทางกลุ่มไลน์แทน

แต่หากมีสิ่งจำเป็นจะต้องคัดเสียงหรือเขียนข่าวข้างใน บริษัทได้กำหนดแยกโซนสำหรับทำงานตรงนี้ไว้แล้ว ซึ่งทุกมาตรการอยู่ระหว่างกำหนดแนวทางปฏิบัติ โดยจะเริ่ม work at home ใช้ชื่อว่ายุทธการดาวกระจาย 19 เช่นโต๊ะกีฬา ต่างประเทศ กลับไป 100% ส่วนบก.ที่ดูข่าวแต่ละช่วงแบ่งเป็น 3 ทีม 2 ทีมอยู่บ้าน 1 ทีมอยู่ออฟฟิศ เพื่อแยกกำลังให้กระจายออกไปมากที่สุด แต่หากมีคนติดจะถูกกักตัวเป็นทีมๆ โดยทีมที่เหลือจะทำงานต่อไป

ปิดท้ายที่ยักษ์ใหญ่ "ไทยรัฐ" ได้ออกมีมาตราการพื้นฐานสำหรับการดูแลพนักงาน ตั้งแต่พนักงานที่มาส่งของออนไลน์จะห้ามเข้าพื้นที่เด็ดขาด แต่จะให้เจ้าของลงมารับด้วยตัวเอง โดยมีการตั้งเจลแอลกอฮอล์ประจำทางเข้าออกทุกจุดของประตู รวมถึงขอให้ล้างมือให้สม่ำเสมอ ซึ่งพนักงานทุกคนก็ตื่นตัวเพื่อรักษาความสะอาดมากขึ้น โดยมาตรการจะปรับไปตามสถานการณ์ แต่ยังไม่มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน ส่วนก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งหากพนักงานคนใดจะเดินทางไปประเทศเสี่ยง ภายหลังเดินทางกลัยมาต้องกักตัว 14 วัน แต่ขณะนี้ก็ไม่มีพนักงานคนใดเดินทางไปแล้ว ขณะที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามก็มีคำสั่งให้ทุกคนระมัดระมัดระวังจุดเสี่ยง หากจะไปพบแหล่งข่าวในแต่ละพื้นที่

ในส่วนของสื่อสำนักข่าวแห่งอื่นๆ เช่น  เดลินิวส์ เครือมติชน ผู้จัดการ บ้านเมือง แนวหน้า เวิร์คพอยท์ โมโน29 ช่องวัน ฯลฯ ได้เริ่มมีการวางมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยของทีมงานแล้วเช่นกัน

ทั้งหมดเป็นมาตรการ "Social distance Press" ในสังคมคนข่าวในช่วงสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังยกระดับการป้องกันและเฝ้าระวังสถานที่รวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสที่คืบคลานโดยไม่รู้ตัว