สงครามโรคระบาด ตะวันตกดับ จีนกลับรอด

สงครามโรคระบาด ตะวันตกดับ จีนกลับรอด

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

 

การระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกอย่างทางการว่า “โควิด-19” อุบัติขึ้นในช่วงที่สื่อมวลชนในหลายภูมิภาคทั่วโลกกำลังซบเซาอยู่แล้ว รวมถึงในระเทศไทยด้วย จะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตะปูตอกฝาโลงก็คงไม่ผิดนัก

ถึงแม้ว่าผลกระทบและตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมสื่อยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น เนื่องจากการสำรวจยังดำเนินอยู่ และผลกระทบหลายประการอาจจะยังไม่แสดงออกมาในช่วงสองหรือสามเดือนนี้ แต่ข้อมูลที่มีการเผยแพร่บ้างแล้วสามารถบอกให้เราทราบได้ว่า น่าจะแย่แน่นอน

เท่าที่มีข้อมูลในมือขณะนี้ ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมสื่อในสหรัฐอเมริกาจะโดนกระทบหนักทีเดียว ซึ่งไม่เกินความคาดหมายนักเนื่องจากสหรัฐฯติดอันดับ “แชมป์โลก” ในสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุด

เริ่มจากผลกระทบระดับ “น้อย” หรือปานกลาง ของบรรดาหนังสือพิมพ์และนิตยสาร เช่นการให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินเดือน แค่นี้ก็นับได้อย่างน้อย 20 แห่งแล้ว ในจำนวนนี้มีสำนักข่าวชื่อดังอย่าง LA Times, New York Post, Tribune Publishing รวมอยู่ด้วย

อีกไม่น้อยใช้วิธีการลดเงินเดือน ระงับการจ้างฟรีแลนซ์ ลดชั่วโมงหรือวันทำงาน และเลิกจ้างพนักงาน (เลย์ออฟ)

มีอีกไม่น้อยที่ต้องตัดสินใจปิดหัวและหยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะบรรดาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือเมืองเล็กๆ ต้องใช้มาตรการนี้กันระนาว เท่าที่หาข้อมูลได้มีถึง 20-25 หัวแล้ว

การสูญเสียหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว แต่เป็นการสูญเสียต่อกลไกตรวจสอบในระบบประชาธิปไตยด้วย

เนื่องจากประชาธิปไตยส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในสภาคองเกรส แต่สถิตย์อยู่ตามสภาท้องถิ่น ชุมชน และเทศมนตรีระดับย่อยทั่วประเทศ ซึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเหล่านี้เป็นผู้ตรวจสอบและรักษาความโปร่งใสของกลไกลการบริหารในเมืองต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายนั่นเอง

และที่พูดมาทั้งหมด ยังไม่นับธุรกิจด้านสื่อวิทยุและออนไลน์ โดยข้อมูลล่าสุดชี้ว่าอย่างน้อย 14 บริษัทด้านสื่อวิทยุออกมาตรการลดเงินเดือนและเลิกจ้างพนักงาน

แม้แต่ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อดิจิตอลอย่าง BuzzFeed, Vox และ Vice News ก็ไม่รอด มีการตัดเงินเดือน ตัดเนื้อหาบางส่วน และให้พนักงานลาหยุดโดยไม่มีเงินเดือนเช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะสื่อในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เจอปัญหาเช่นนี้ ข้ามฝั่งมหาสมุทรมายังสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ก็ลำบากเช่นกัน แต่อาจจะไม่วิกฤติเท่า

Sky Sports สื่อด้านกีฬาชื่อดังของอังกฤษ ประกาศหยุดการเก็บค่าสมาชิก เนื่องจากไม่มีกีฬาให้ถ่ายทอด เท่ากับเป็นการเสียรายได้หลักของบริษัทไปโดยปริยาย ขณะที่เครือ Telegraph Media ประกาศตัดเงินเดือนและชั่วโมงทำงานสำหรับบุคคลากรที่ไม่มีหน้าที่กับกองบรรณาธิการโดยตรง

สื่อฝ่ายค้านชื่อดัง Guardian ก็มีนโยบายในลักษณะเดียวกัน คือให้พนักงานที่ไม่ใช่นักข่าวหยุดอยู่บ้านไปก่อน แต่ Culture Trip สื่อด้านการท่องเที่ยว กลับต้องกัดฟันเลย์ออฟครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดในรวดเดียว

ย้ำว่าทั้งหมดที่พูดมานี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในวิกฤตที่อุตสาหกรรมสื่อตะวันตกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ และแน่นอนว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นบาดแผลที่ชัดมากขึ้น

จากผลกระทบข้างต้นที่ยกมา บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสและสื่อมวลชน?

สมาคมการค้าระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีการแพร่ภาพและสื่อ (IABM) ซึ่งเป็นองค์การติดตามสถานการณ์ธุรกิจสื่อทั่วโลก ให้คำตอบว่าสื่อมวลชนจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น

ยอดผู้ชมและเรตติ้งจะพุ่งกระฉูดกัน เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนทั่วโลกต้องการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับอุบัติภัยครั้งก่อนๆ

โดยเฉพาะเหตุการณ์นี้ลากยาวหลายเดือน สามารถดีงความสนใจจากผู้ชมได้มากขึ้น บริษัทวิเคราะห์เรตติ้ง Nielsen ระบุว่าโดยรวมๆแล้ว สื่อจำนวนมากมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 60 เลยทีเดียว

แต่ในระยะกลางและสั้นนั้น IABM เตือนว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบตามมา เนื่องจากไม่สามารถหารายได้จากอีเวนต์อย่างการจัดเสวนาหรือถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาได้ เมื่อไม่มีอีเวนต์มาขาย ก็ไม่มีสปอนเซอร์เช่นกัน

ดูอย่าง ITV สื่อยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ ที่อุตส่าห์ซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล UEFA 2020 มาได้ แต่กลับไม่สามารถถ่ายได้จริง เนื่องจากการแข่งขันเลื่อนออกไปเรียยร้อยแล้วเพราะโคโรน่าไวรัส

ยอดรายได้จากโฆษณาที่ลดลงก็เป็นอีกหนึ่งในผลกระทบระยะกลางและยาวนี้ เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคือง การลงทุนด้านโฆษณาก็ย่อมซบเซาด้วย และคนที่โดนผลกระทบก็คือสื่อมวลชน

เคยมีคนตั้งคำถามแล้วว่า ธุรกิจต่างๆที่ล้มครืนในช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้ จะมีกี่แห่งที่สามารถกลับมาเปิดตามปกติได้ ทำนองเดียวกัน น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อตะวันตกอันเป็นหัวใจสำคัญของสังคมประช่าธิปไตย จะสามารถกลับมาฟื้นดังเดิมได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากมองดูสื่อของโลกตรงข้ามกับขั้วตะวันตก จะกลายเป็นหนังอีกพล็อตทันที นั่นคือจีน

เนื่องจากสื่อจีนใหญ่ๆทั้งหมดเป็นกิจการของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่มีรายงานว่าโดนผลกระทบหรือถูกเลย์ออฟในวิกฤติโคโรน่าไวรัสแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม กลไกรัฐจีนใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้ผู้คนทั่วโลกโลกได้รับทราบ โดยใช้สื่อจีนเป็นช่องทางรายงานข่าวที่ทันเหตุการณ์ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย

การเดินเกมของสื่อจีนเห็นได้ชัดจากการนำเสนอภาพ ข่าว และคลิปวิดิโอเกี่ยวกับการรับมือโคโรน่าไวรัสของเจ้าหน้าที่จีน ตลอดจนแสดงเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆของจีนที่งัดขึ้นมาแก้ไขวิกฤติการณ์ จนสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นประเทศแรกนับว่าเป็นการชี้นำทางความคิดสไตล์คอมมิวนิสต์ แต่ใช้วิธีการแบบโลกสมัยใหม่นั่นเอง

สื่อจีนมีกระทั่งไลฟ์สด 24 ชั่วโมง การก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ที่ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก และพิสูจน์ให้เห็นว่าการดำเนินงานด้านนี้ของจีนมีความโปร่งใส ไม่ใช่ “โม้” ขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน

ผลที่ได้คือสื่อจำนวนมาก รวมถึงในประเทศไทย ได้นำเอาข้อมูลและมุมมองของจีน (narrative) ที่มีต่อเหตุการณ์โควิดมาเสนอให้คนอ่านในประเทศตัวเองได้รับรู้ เป็นการทำให้ผู้อ่านเข้าใจและรับทราบความเป็นไปในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น แม้แต่สื่อตะวันตกเองก็ต้องใช้ภาพและคลิปจากสื่อจีนไปประกอบการรายงานของตนด้วย

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ฝ่ายต่อต้านจีนในตะวันตกคัดค้านการนำเสนอข่าวสารของรัฐจีน เนื่องจากมองว่าเป็นการล้างสมองด้วยข้อมูลด้านเดียว

แต่สิ่งที่เราเห็นในโลกความเป็นจริงคือ ผู้อ่านข่าวสารหลายคนยอมรับข่าวสารจากจีนมากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤติโคโรน่าไวรัส ดังนั้น ดูเหมือนสื่อจีนจะ “ชนะ” ในแนวรบนี้เรียบร้อยแล้วนั่นเอง

 

นักกิจกรรมชาวธิเบตชูป้ายประท้วงสื่อรัฐจีนในประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพโดย AFP)

 

ผู้สื่อข่าวหลากหลายชาติใส่หน้ากากทำข่าวเรื่องโคโรน่าไวรัสในประเทศจีนเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2563 (ภาพโดย Xinhua)


 

ผู้สื่อข่าวรุมถ่ายภาพ สส. บอริส จอห์นสัน (ตำแหน่งขณะนั้น) ในประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 (ภาพโดย AP)


 

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุม G7 ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562 (ภาพโดย Xinhua)