โอกาสใหม่ของสื่อหลัก เมื่อคนยังต้องการความน่าเชื่อถือ

 

โอกาสใหม่ของสื่อหลัก เมื่อคนยังต้องการความน่าเชื่อถือ

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน


อย่างที่ได้เรียนท่านผู้อ่านในตอนที่แล้วว่า วิกฤติการระบาดของโคโรน่าไวรัส (โควิด-19) ส่งผลกระทบแสนสาหัสต่อวงการสื่อมวลชนทั้งในไทยและหลายๆประเทศ

แต่ในเบื้องหลังของความหายนะทางการเงิน ที่ทำให้หลายสื่อต้องเลย์ออฟพนักงานยกใหญ่หรือถึงกับต้องปิดตัวลงนี้ คือพฤติกรรมการเสพข่าวสารที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคสื่อในยุคโควิด-19 นั่นเอง

กลายเป็นโจทย์สำคัญที่บรรดาสื่อมวลชนทั่วโลกต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และปรับตัวให้เท่าทัน “New Normal” ของธุรกิจสื่อ

เมื่อไม่นานมานี้ โพล์ Global Web Index ออกผลสำรวจที่สอบถามประชาชนในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพข่าวสารหลังการระบาดของโคโรน่าไวรัส มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการเช่น

กว่า 70% ระบุว่ามีความกระตือรือร้นในการหาข่าวสารมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งเพศหญิงและชาย

80% ระบุว่า ได้อ่าน ฟัง และชมข่าวสารมากขึ้นในยุคโควิด-19

30% กล่าวว่าตั้งแต่เกิดวิกฤติโคโรน่าไวรัส ตนแชร์ข่าวสารในโซเชียลมีเดียมากขึ้น

แต่ถ้าแยกตามอายุแล้ว จะเห็นความแตกต่างในลักษณะการเสพข่าวสารเช่นกัน เช่น ผู้เสพข่าวสารที่มีอายุค่อนข้างมาก ยังพึ่งพิงโทรทัศน์เป็นหลักในการติดตามข่าวสารช่วงโควิด-19 หรือคิดเป็น 40% ในขณะที่คนรุ่นใหม่หรือมีอายุค่อนข้างน้อย กลับติดตามข่าวสารจากโทรทัศน์เพียง 20% เท่านั้น

คนรุ่นใหม่ติดตามข่าวสารจากทางใด? นี่คือเทรนด์ที่น่าสนใจของสื่อในยุคโควิด-19 เพราะคำตอบคือ TV ออนไลน์หรือการรายงานสดในโซเชียลมีเดีย, แอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียอย่าง YouTube หรือ TikTok, และฟัง podcast ในอินเตอร์เน็ตนั่นเอง

ข้อมูลชี้ว่าถ้าเจาะเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีอัตราดู livestream มากกว่าคนรุ่นอื่นๆถึง 30% และมีอัตราฟัง podcast มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ประมาณ 20% นอกจากนี้ ผู้ฟัง podcast ในหมู่คนรุ่นใหม่ 68% ระบุว่าจะยังฟังต่อไปถึงแม้วิกฤติโคโรน่าไวรัสคลี่คลายแล้ว นี่แสดงให้เห็นถึงโอกาสใหม่ในการเจาะตลาดคนดูในระยะยาว

ถึงแม้ผลสำรวจนี้จะเจาะจงเฉพาะสองประเทศตะวันตก (สหรัฐฯและอังกฤษ) แต่เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าเทรนด์การเสพข่าวก็คงไม่พ้นจากลักษณะนี้ในหลายๆประเทศ รวมถึงไทยเราด้วย ดูได้จากยอด engagement ทางโซเชียลมีเดียที่คนทำงานสื่อหลายคนสังเกตกันในช่วง 2-3เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าดูอีกโพลล์ที่ถามผู้เสพข่าวสารเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ผลสำรวจกลับสวนทางกันหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

โพลล์ดังกล่าวสำรวจโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีตัวอย่างสำรวจใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ สเปน อาร์เจนติน่า เยอรมนี และเกาหลีใต้ ปรากฏว่าถึงแม้คนจำนวนมากระบุว่า เสพข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่กลับมองว่าข่าวสารจากสำนักข่าวมีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่อ่านตามโซเชียลมีเดีย

ตัวเลขชี้ให้เห็นว่า ผู้เสพข่าวที่ตอบแบบสอบถามเชื่อถือสำนักข่าวมากกว่าโซเชียลมีเดียประมาณ 33% มากกว่าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นวิดิโอ 30% และมากกว่าสิ่งที่อ่านเจอในแอพพลิเคชั่นสำหรับพูดคุยกันอย่าง LINE หรือ WhatsApp มากถึง 35%

นอกจากนี้ โพลล์ยังระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กล่าวว่าตนเข้าใจสถานการณ์เกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสมากขึ้นเพราะข่าวสารจากสำนักข่าวต่างๆ และเมื่อถามว่าใครเสี่ยงที่จะแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าตนกังวลเรื่องการทำงานสื่อมวลชนน้อยกว่าพฤติกรรมของประชาชนด้วยกัน และบรรดาโซเชียลมีเดียทั้งหลาย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประชาชนจำนวนมากมองสื่อมวลชนว่าเป็น “เสาหลัก” ของการเสนอข่าวสารในวิกฤติโคโรน่าไวรัส แต่สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่?


ผู้สื่อข่าวสวมหน้ากากอนามัยขณะทำข่าวการประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 (ภาพโดย AFP)


การระบาดของโคโรน่าไวรัสมาพร้อมกับการระบาดของภัยอันตรายต่อสื่อมวลชนสองประการ ประการแรกคือข่าวปลอม ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้าโควิด-19 เราก็เจอข่าวปลอมถาโถมกันเป็นปกติอยู่แล้ว เช่นมะนาวรักษามะเร็ง ผู้นำรัสเซียแบนอิสลาม ฯลฯ

แต่ภัยอีกประการหนึ่งคือข่าวที่มีการเมืองเจือปนมาด้วย เห็นได้จากในสหรัฐอเมริกา สื่อฝ่ายขวาที่สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่รายงานข่าวด้วยท่าทีและถ้อยคำที่สนับสนุนรัฐบาลทรัมป์อย่างชัดเจน

เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนยันมาตลอดว่าสถานการณ์โคโรน่าไวรัสในประเทศไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่สื่อและผู้เชี่ยวชาญเตือนไว้ สื่อจำนวนมากที่สนับสนุนปธน.ทรัมป์จึงต้องคล้อยตามท่าทีนี้ด้วย

เช่น  Rush Limbaugh ผู้จัดรายการยอดนิยมของฝ่ายอนุรักษนิยมอเมริกัน ยืนยันกับผู้ฟังในเดือนกุมภาพันธ์ว่าโคโรน่าไวรัสเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ต่อมาในเดือนมีนาคม สำนักข่าว New York Post รายงานว่าการระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว ส่วน Fox News ตีพิมพ์บทความว่า การระบาดของโคโรน่าไวรัส จะสิ้นสุดเร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า “ไวรัสสัญชาติจีน” (Chinese Virus) ในการรายงานข่าว ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเตือนว่าจะทำให้เกิดกระแสเกลียดชังต่อชาวจีนและชาวเอเชีย

ผลที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งสูงแซงหน้าประเทศอื่นๆ พร้อมกับรายงานการทำร้ายร่างกายและเหยียดหยามพลเมืองเชื้อสายเอเชียที่พุ่งขึ้นเช่นกัน

ทำให้มีการตั้งคำถามว่า ผลร้ายเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมของสื่อที่ฉวยโอกาสเอาความเชื่อถือของประชาชน มาใส่ไฟและบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่?

ข้อสรุปที่บทความนี้อยากฝากไว้ก็คือไม่มีสถาบันใดอีกแล้วที่ได้รับความไว้วางใจในด้านข่าวสารจากประชาชนเท่าสื่อมวลชน ดังนั้น สื่อทั่วโลกจึงต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด อย่า “ทรยศ” ต่อความไว้วางใจจากประชาชนนั่นเอง



ชาวอินเดียคนรุ่นใหม่ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ใช้โทรศัพท์มือถือติดตามข่าวสารในช่วงการระบาดของโคโรน่าไวรัส (ภาพโดย AFP)