ผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บขณะรายงานข่าวการประท้วงในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 (ภาพจาก AFP)
ล่าสุด การกระทำของตำรวจอเมริกันต่อสื่อมวลชนกลายเป็นประเด็นระดับประเทศ เมื่อตำรวจกลุ่มหนึ่งผลักผู้สื่อข่าวสัญชาติออสเตรเลีย 2 คนกระแทกลงบนพื้นระหว่างปฏิบัติหน้าที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมหน้าทำเนียบขาว ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อทราบเรื่องก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ทวงถามคำตอบจากทางการสหรัฐฯว่ามีเหตุอันใดที่ต้องใช้กำลังกับผู้สื่อข่าวออสเตรเลียสองคนนั้น? ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเดียวกับเหตุทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันและทุกคืนในสหรัฐฯ เพราะมีรายงานจากสำนักข่าวเชิงสืบสวน Bellingcat รวบรวมว่ามีกรณีตำรวจสหรัฐฯใช้กำลังทำร้ายผู้สื่อข่าวระหว่างเหตุการณ์ประท้วง George Floyd มาแล้วถึง 108 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มิ.ย.)ผู้สื่อข่าวถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับสิทธิสื่อขณะรายงานข่าวการประท้วงในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 (ภาพจาก AP) นอกจากนี้ยังมีการจับกุมผู้สื่อข่าวไม่ต่ำกว่า 31 คน ทำอุปกรณ์รายงานข่าวเสียหาย 30 ครั้ง (เพื่อนๆช่างภาพและตากล้องบ้านเราคงเข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ) ยิงแก๊สน้ำตา 30 ครั้ง และมีการยิงกระสุนยางใส่นักข่าว 46 ครั้ง คำว่ากระสุนยางนี้อาจจะฟังดูไม่ร้ายแรง แต่ความจริงแล้วลูกกระสุนยางนั้นประกอบด้วยเหล็กเป็นส่วนใหญ่ มียางหุ้มในช่วงปลายเท่านั้น ดังนั้นกระสุนยางจึงทำให้เกิดบาดแผลที่รุนแรงได้ถ้าหากใช้ไม่ถูกวิธี เช่นผู้สื่อข่าวสำนัก KPCC ในลอสแอนเจลิสที่โดนกระสุนยางยิงใส่คออย่างจังๆโดนเป็นแผลเลือดออกซิบๆ ขณะที่ผู้สื่อข่าวอิสระคนหนึ่งเคราะห์ร้ายถูกตำรวจกระสุนยางยิงที่ใบหน้า ทำให้ดวงตาข้างซ้ายบอดอย่างถาวร Linda Tirado ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวระบุว่ายังโชคดีที่เธอใช้ตาข้างขวาในการถ่ายภาพต่างๆ มิฉะนั้นเธอก็เท่ากับสูญเสียอาชีพไปด้วยแล้ว “ดิฉันไม่เคยเจอประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน” Barbara Davidson ช่างภาพเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ .ให้สัมภาษณ์ New York Times เกี่ยวกับความรุนแรงต่อสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาที่เธอได้พบเจอ กรณีต่างๆข้างต้นถ้าลองปิดชื่อประเทศ หลายคนคงจะเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหรือพื้นที่อื่นๆที่มีปัญหาด้านเสรีภาพสื่อ เช่น อิหร่าน จีน ฮ่องกง ฯลฯ หลายคนจึงตั้งคำถามว่าแล้วเหตุใดความรุนแรงเหล่านี้ กลับมาเกิดให้เห็นได้ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพในบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ? ผู้เขียนเองเชื่อว่าผู้สื่อข่าวหลายคนในสหรัฐ ก็ไม่คาดคิดเช่นกันว่าจะเจอการใช้ความรุนแรงในประเทศของตน แบบที่เจอในประเทศอื่นๆ จึงไม่มีการตระเตรียมอุปกรณ์สำหรับป้องกันตัว แต่การที่ตำรวจจะอ้างว่าไม่ทราบว่าผู้ที่ถูกกระทำเป็นนักข่าว หรืออ้างว่าเป็นเพราะการชุลมุนที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก็ไม่น่าจะฟังขึ้นเหมือนกัน เพราะนักข่าวเกือบทุกคนสวมใส่เสื้อ หมวก และสัญลักษณ์อื่นๆว่าเป็นสื่อมวลชนอย่างชัดเจน เหตุผลหนึ่งของความ “วิปริต” นี้ที่นักวิเคราะห์เสนอขึ้นมาคือ อาจเป็นเพราะท่าทีและถ้อยคำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ก้าวร้าวกับสื่อกระแสหลักมาตลอดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจเล็งอาวุธปืนมายังผู้สื่อข่าวขณะรายงานข่าวการประท้วงในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2563 (ภาพจาก Reuters)
ทรัมป์และผู้นำรัฐบาลมักโจมตีสื่อมวลชนว่าเป็น “ข่าวปลอม” (Fake News) ถึงแม้ตัวเองก็ยังเผยแพร่ข้อมูลเท็จอยู่ทุกวี่วัน และเคยตราหน้าสื่อว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” ที่ทุกคนต้องต่อต้าน จริงอยู่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เคยยุยงให้ตำรวจหรือเจ้าพนักงานทำร้ายสื่อโดยตรง แต่มีความเป็นไปได้ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึมซับท่าทีของผู้นำสหรัฐ หรือมองว่าการกระทำรุนแรงต่อสื่อไม่มีทางถูกประณามหรือเพ่งเล็งจากผู้นำรัฐบาลแน่นอน “ประเทศนี้ได้ถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย ระหว่างคนที่เชื่อประธานาธิบดี กับคนที่เชื่อสื่อมวลชน” โจเอล ไซมอน ผู้อำนวยการคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าว ให้สัมภาษณ์ AFP แน่นอนว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ยังทำให้เกิดช่องว่างมโหฬารในด้านความเข้าใจและทัศนคติต่อเหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯตอนนี้ ผู้ที่เชื่อปธน.ทรัมป์ก็จะมองว่าการประท้วงและจลาจลขณะนี้เป็นภัยที่ต้องขจัดโดยเร็ว ต่างจากอีกฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไร ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายต้องเคารพคือเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายรับรอง
ผู้สื่อข่าวถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2563 (ภาพจาก CNN)