“โซเชียลมีเดีย” ผู้ปกป้องเสรีภาพหรือ “จอมเซนเซอร์” ระดับโลก?

“โซเชียลมีเดีย” ผู้ปกป้องเสรีภาพหรือ “จอมเซนเซอร์” ระดับโลก?

เป็นประเด็นใหญ่โตอีกแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ออกคำสั่งพิเศษ สั่งยกเลิกข้อกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองโซเชียลมีเดียจากสิ่งที่ผู้ใช้โพสต์ เท่ากับว่าถ้ามีคนโพสต์สิ่งที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการอย่าง “เฟซบุก” และ “ทวิตเตอร์” ก็จะมีความผิดตามด้วย

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯถือว่าคนที่ทำผิดคือคนโพสต์ข้อความเหล่านั้น ผู้ให้บริการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสอดส่องดูแลได้ทั้งหมด การยกเลิกความคุ้มครองทางกฎหมายครั้งนี้

การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังทวิตเตอร์ระบุว่าข้อความในทวิตหนึ่งของทรัมป์เป็นการ “ส่งเสริมความรุนแรง”

ข้อความดังกล่าวในทวีตเขียนว่า “เริ่มปล้นกันเมื่อไหร่ เราก็เริ่มยิงเมื่อนั้น”

เป็นคำขู่ที่ทรัมป์ย้ำบ่อยๆในช่วงการจลาจลระหว่างเหตุประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุม (อ่านเพิ่มเติมได้ในฉบับที่แล้ว) ทรัมป์ขู่ว่าตนอาจสั่งให้ทหารออกปฏิบัติการและใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ก่อการจลาจล ทำให้หลายคนกลัวว่าจะกลายเป็นความรุนแรงบานปลายกว่าเดิม

เป็นที่มาของคำเตือนจากทวิตเตอร์นี้ ซึ่งทำให้ทรัมป์ไม่พอใจอย่างมาก และตัวคุณทรัมป์เองก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับบรรดาโซเชียลมีเดียมาแล้วหลายยก การ “เอาคืน” ครั้งนี้จึงไม่น่าแปลกใจมาก

แต่ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นคือ การ “เอาคืน” ดังกล่าวของทรัมป์ก็สะท้อนความรู้สึกคนอเมริกันจำนวนมากอยู่เหมือนกัน

กล่าวคือมีคนจับตาพฤติกรรมไล่ลบ บล็อก และเซนเซอร์ของเฟซบุกและทวิตเตอร์ที่นับวันจะยิ่งถี่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยจะโปร่งใสนัก

ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุก ทวิตเตอร์ อินตาแกรม ฯลฯ ระบุว่าตนเป็น “เจ้าของพื้นที่” ข้อความเท่านั้น ไม่ได้เป็น “ผู้จัดพิมพ์” ข้อความต่างที่มีคนโพสต์ในโซเชียลมีเดียเป็นการแสดงความเห็นของผู้ใช้เท่านั้น บริษัทเป็นเพียงผู้เผยแพร่ให้คนอื่นรับทราบ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องข้อความนั้นๆ

โซเชียลมีเดียจึงมักเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็น “บุรุษไปรษณีย์” มีหน้าที่ส่งข้อความอย่างเดียว ไม่ได้เขียน หรือแก้ไขข้อความนั้นๆ คำอธิบายนี้จึงใช้สนับสนุนการยกเว้นบริษัทโซเชียลมีเดียจากการรับผิดจากกฎหมายมาตลอด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โซเชียลมีเดียมิได้เพียงแต่เผยแพร่ข้อความอย่างเดียว แต่กลับมีการ “เลือก” เสนอข้อความด้วย

ไม่ว่าด้วยวิธีลบหรือซ่อนข้อความที่บริษัทมองว่าขัดต่อกฏระเบียบ ซึ่งพูดเผินๆก็เหมือนฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าแบ่งเส้นตรงไหนกันแน่ อันไหนเป็นการสร้างความเกลียดชังที่ขัดกฎ อันไหนเป็นการแสดงความเห็นตามเสรีภาพ

เคสที่โด่งดังมากคือกรณีทวิตเตอร์แบน Meghan Murphy นักกิจกรรมสิทธิสตรีชาวแคนาดา เพราะเธอทวีตข้อความว่า “ผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง” คำนี้ทวิตเตอร์ถือว่าขัดกับข้อตกลงการใช้เว็บไซต์แบบสนับสนุนคนข้ามเพศ โดยห้ามตั้งคำถามด้านเพศ ถ้าผู้ชายคนหนึ่งบอกว่าเขาเป็นผู้หญิง ก็ต้องเคารพ

บรรดาเฟซบุกของสื่อฝ่ายขวาในสหรัฐฯ ก็โดนเฟซบุกแบนเช่นกัน เพราะระบุว่าเผยแพร่ “ข่าวปลอม” แต่กลับปล่อยให้มีข่าวปลอมอีกจำนวนมากปรากฏทั่วไป ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายขวามองว่าเป็นเรื่องเลือกปฏิบัติเสียมากกว่า

แน่นอนว่าการเลือกควบคุมเนื้อหาของโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะเป็นการกำจัดเนื้อหาที่อันตราย น่าหวาดกลัว ลามก หรือยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน แต่มาตรการเช่นนี้ก็สามารถนำมาใช้กับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองหรืออุดมการณ์เช่นกัน

จริงอยู่ที่โซเชียลมีเดียเป็นบริษัทเอกชน บริษัทอาจจะอ้างว่าสามารถกำหนดนโยบายอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เนื่องจากทุกวันนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญที่ประชาชนใช้แสดงความคิดเห็น ยังจะเรียกได้ว่าเป็นสมบัติเอกชนที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปควบคุมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้หรือไม่?

อีกทางหนึ่งที่โซเชียลควบคุมเนื้อหาในทางอ้อมคือสิ่งที่เรียกว่า “algorithm” หรือกลไกเลือกแสดงเนื้อหาในหน้า feed ของคนดู

ไม่มีใครทราบว่า algorithm เหล่านี้ทำงานอย่างไร ทำไมเราเห็นบางเนื้อหา และไม่เห็นเนื้อหาอื่นๆ ทั้งเฟซบุกและทวิตเตอร์ระบุว่าเป็นการทำงานของ AI ที่เลือกแสดงเนื้อหาตามความสนใจของผู้อ่าน

เรื่องนี้สื่อไทยคงจะคุ้นเคยดี บางครั้งมีคนอ่านเว็บข่าวของเราเยอะ บางครั้งก็น้อยฮวบฮาบ เอาแน่นอนกับเฟซบุกไม่ได้เพราะ algorithm เปลี่ยนกติกาของมันเรื่อยๆ โดยที่ผู้ใช้หรือผู้ลงโฆษณาและเนื้อหาไม่สามารถเข้าใจได้ 100%

หลายคนตั้งคำถามว่าเราสามารถไว้ใจให้เครื่องจักรกลให้เป็นผู้จัดระเบียบและควบคุมการแสดงความเห็นของเราได้หรือไม่?

เราสามารถไว้ใจได้หรือไม่ว่าบริษัทโซเชียลมีเดียจะไม่ใช้ข้ออ้าง algorithm ในการซ่อนหรือลดเนื้อหาของฝ่ายการเมืองตรงข้าม?

เราควรมอบอำนาจการควบคุมเวทีแสดงความคิดเห็นของคนนับล้าน และเป็นสถาบันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ให้อยู่ในกำมือของกลุ่มธุรกิจอย่างเฟซบุกและทวิตเตอร์ ซึ่งมิได้ถูกควบคุมโดยกลไกการตรวจสอบใดๆหรือไม่?

คำถามเหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ก็คงแสดงให้เห็นแล้วว่าทำไมท่าทีของทรัมป์ในการพยายามควบคุมโซเชียลมีเดียล่าสุด จึงมีประเด็นที่สาธารณชนอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นด้วยอยู่แล้ว

แต่พูดมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็ต้องขอทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ถ้าหากใครคิดจะควบคุมหรือจัดระเบียบโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ควรเป็นการใช้อำนาจเพื่อบังคับให้โซเชียลมีเดียเหล่านั้นหันมาสนับสนุนตนเองเท่านั้น และก็น่าตั้งคำถามว่า การ “ปฏิรูป” สื่อหรือโซเชียลมีเดียด้วยผู้นำประเทศที่มีประวัติเป็นอริกับทั้งสองวงการ จะออกมาหน้าตาอย่างไร?

1. มาร์ค ซักเคอเบิร์ก เจ้าของเฟซบุก ให้การต่อรัฐสภาอเมริกันว่าด้วยบทบาทของโซเชียลมีเดียกับการเมือง เมื่อเดือน เม.ย. 2561 (ภาพโดย AP)

2. ผู้ประท้วงในอียิปต์ถือป้ายล้อเลียนรัฐบาลที่พยายามปิดกั้นทวิตเตอร์ เมื่อเดือน ม.ค. 2554 (ภาพโดย Al Jazeera)

3. ภาพทวีตของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่โดนทวิตเตอร์ระบุว่ายุยงให้เกิดความรุนแรง