สถานการณ์สื่อฟิลิปปินส์ ใต้เงา “ดูเตอร์เต้” นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง?

สถานการณ์สื่อฟิลิปปินส์ ใต้เงา “ดูเตอร์เต้” นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง?

ฟิลิปปินส์ เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว กล่าวคือ มีวัฒนธรรมพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง สื่อมวลชนที่กระตือรือร้นในการตรวจสอบรัฐบาล และพลังขบวนการภาคประชาสังคม

ภาพลักษณ์ฟิลิปปินส์นี้เกิดขึ้นหลังการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนในปีพ.ศ. 2529 ซึ่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี “เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส” หลังครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จนับสิบๆปี

การปฏิวัติโค่นระบอบมาร์คอสในปี 2529 ทำให้ฟิลิปปินส์มีกลไกประชาธิปไตยมากมาย โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อมวลชน

แต่หลักการดังกล่าวดูจะเริ่มเลือนหายไป ตั้งแต่ประธานาธิบดี “รอดริโก ดูเตอร์เต” ผู้นำสายประชานิยมขวัญใจชาวบ้าน ชนะการเลือกตั้งและขึ้นสู่อำนาจในปี 2559 ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ท่านนี้ เป็นที่น่าสนใจเพราะสามารถผลักดันตนเองจากการเมืองท้องถิ่นขึ้นมาถึงระดับผู้นำประเทศได้ ซึ่งก็เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งของกลไกระบอบประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ แต่ขณะเดียวกัน คุณดูเตอร์เต้ทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากกังวล เพราะด้วยท่าทีและนโยบายที่ค่อนไปทางอำนาจนิยมนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามปราบยาเสพติดที่มีการวิสามัญฆาตกรรมกันนับพันราย มาถึงการเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อ โดยดูเตอร์เต้ได้เคยแสดงท่าทีหลายครั้งแล้วว่า เขาไม่ชอบสื่อมวลชนของฟิลิปปินส์ เนื่องจากการขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอย่างเผ็ดร้อน ตามสไตล์สื่อโลกเสรี

หนึ่งในสื่อคู่อริของดูเตอร์เต้คือ ABS-CBN ซึ่งเป็นทีวีรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ด้วย แต่เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ABS-CBN ถูกสั่งให้ปิดการถ่ายทอด เนื่องจากทางการไม่ยอมต่อใบอนุญาตดำเนินการให้ ทั้งที่ใบอนุญาตดังกล่าวได้รับการต่ออายุมาตลอด 25 ปี

คำสั่งดังกล่าวทำให้พนักงานนับหมื่นคนของ ABS-CBN เสี่ยงตกงานทันทีท่ามกลางการระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่ก็ทำให้สภาพเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ฝืดเคืองอยู่แล้ว เท่ากับว่าทำให้ชะตากรรมของผู้สื่อข่าว “เคว้ง” ทันที

ถึงแม้ฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าไม่ได้แทรกแซงกระบวนการต่อใบอนุญาตใดๆ แต่ก็มีคนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังสถานี ABS-CBN รายงานเปิดโปงความโหดร้ายและไม่เป็นธรรมในสงครามยาเสพติด ที่ดูเตอร์เต้โฆษณาว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา

สื่อฟิลิปปินส์รายงานว่า ตัวประธานาธิบดีดูเตอร์เต้เคยพูดข่มขู่ว่าจะปิดกั้นกระบวนการการต่อสัญญา ABS-CBN มาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ไม่พอใจการรายงานข่าวของสถานีแห่งนี้นั่นเอง

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีก เมื่อ  “มาเรีย เรสซา” บรรณาธิการและผู้บริหารสำนักข่าว Rappler สื่อแนวข่าวเจาะลึกชื่อดังชองฟิลิปปินส์ ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในฐาน “หมิ่นประมาททางออนไลน์” และอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจากบทความชิ้นหนึ่งในเว็บ Rappler ที่ระบุว่านักธุรกิจนามว่า “วิลเฟรเด เก็ง”  มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและค้ามนุษย์

เวลาผ่านไป 8 ปี เก็งยื่นฟ้องเรสซาและนักข่าวที่เขียนบทความด้วยข้อหาหมิ่นประมาณทางไซเบอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายในขณะนั้น แต่ศาลอนุญาตให้ใช้กฎหมายย้อนหลังเอาผิดกับทั้งสองได้ และเรสซากับนักข่าวก็ถูกตัดสินว่าผิดจริงทั้งคู่

คดีนี้ดูเผินๆก็อาจจะเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทั้งเว็บไซต์ Rappler และตัวคุณบก.เรสซา มีประวัติเสนอข่าวและบทความวิจารณ์นโยบายต่างๆของดูเตอร์เต้อย่างไม่กลัวเกรงอิทธิพลของใคร รวมถึงวิจารณ์กรณีสงครามยาเสพติดด้วย นับเป็นเรื่องฮือฮาในสังคมฟิลิปปินส์มาตลอด

เบื้องลึกเบื้อหลังนี้จึงถือเป็นบททดสอบเสรีภาพของสื่อมวลชนครั้งสำคัญในฟิลิปปินส์ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้เป็นธรรมดา

สิ่งที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์สะท้อนบทเรียนอะไรให้เราเห็นบ้าง?

คำตอบที่สำคัญก็น่าจะชี้ให้เราว่า ถึงแม้ประธานาธิบดีหรือผู้มีอำนาจในประเทศนั้นๆ อาจจะไม่ได้สั่งการหรืออยู่เบื้องหลังมาตรการลงโทษสื่อมวลชนโดยตรง แต่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆในประเทศ ก็อาจจะมองว่าตนสามารถปิดกั้นสื่อได้ เพราะมีผู้นำที่ไม่ชอบสื่ออยู่แล้ว

หรือบางคนอาจจะถึงขั้นคิดว่า หน้าของตนคือปราบปรามสื่อเพื่อเอาใจผู้นำประเทศด้วยซ้ำ

นี่คือเหตุผลที่ท่าทีเป็นปฏิปักษ์ของผู้นำประเทศจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำให้มองสื่อเป็นเป้าหมายที่เล่นงานได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้สื่อสูญเสียความมั่นใจด้วยว่าตนจะได้รับความเป็นธรรม หากมีการคุกคามสื่อเกิดขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทลงโทษบ.ก.ข่าว Rappler ที่บทความพูดถึงข้างต้น

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้ไกลตัวเลย ไม่ต้องไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทข่มขู่ให้สื่อมวลชนไม่กล้ารายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะด้วยตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในไทย ภาระตกอยู่กับสื่อที่ถูกฟ้อง ต้องไปแก้ต่าง ขึ้นโรงขึ้นศาล เสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ต่อให้สุดท้ายศาลตัดสินว่าไม่ผิดก็ตาม

บุคคล บริษัท และผู้มีอิทธิพลในไทยจึงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทปิดปากสื่อกันไม่ว่าเล่น ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงสื่อโดยที่ไม่มีใครกล้าทักท้วงหรือไม่?

ทางที่ดี สื่อไทยไม่ควรมองสถานการณ์ในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องไกลตัว แต่ใช้กรณีฟิลิปปินส์เป็นอุทาหรณ์ได้ว่าภัยคุกคามต่อสื่อหน้าตาเป็นอย่างไร และควรรับมืออย่างไร

ประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต ภาพโดยสำนักประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

มาเรีย เรสซา ภาพโดย AP

ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ชูกำปั้นขณะชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพสื่อ เมื่อ 19 ม.ค. 2561 ภาพโดย Time

ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ชุมนุมประท้วงการปิดสถานีโทรทัศน์ ABS-CBN เมื่อ 10 ก.พ. 2563 ภาพโดย Photojournalists' Center of the Philippines (PCP)