เปิดข้อกฎหมายคนทำสื่อต้องรู้รักษาสิทธิ
โดนเลิกจ้าง-งดจ่ายเงินสำรองเลี้ยงชีพ
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะมีแนวโน้มดีขึ้นภายหลังประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งแล้วไวรัสโคโรนาได้สร้างบาดแผลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า อันเป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลงเพื่อควบคุมการระบาด เมื่อไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว แน่นอนว่าย่อมไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงและหมุนเวียนให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้
ธุรกิจของใครสายป่านยาวก็สามารถยืนอยู่ได้ แต่หากธุรกิจของใครสายป่านยาวไม่ถึง ย่อมจำเป็นต้องปรับตัวและขนาดขององค์กรให้เล็กลง จึงเป็นที่มาของการได้เห็นบริษัทน้อยใหญ่ประกาศปิดการและยุติการดำเนินกิจของบริษัท กระทบถึงสถานะของคนทำงานในฐานะมนุษย์เงินเดือน ซึ่งธุรกิจสื่อสารมวลชนก็อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่หลีกหนีคลื่นลูกนี้ไม่พ้น
ทั้งนี้ ลำพังเพียงแค่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด19 องค์กรสื่อหลายแหล่งก็อยู่ในสภาพสั่นคลอนมาตลอด มีทั้งการเลิกจ้างและลดเงินเดือน รวมทั้งการเลิกจ้าง แต่เมื่อมีโควิด19 เข้ามาจึงกลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้สถานะของคนทำงานสื่อสารมวลชนแขวนอยู่บนเส้นด้ายมากยิ่งขึ้น และรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เสียอีก
บริษัทสื่อหลายค่ายต่างมีมาตรการแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชย หรือแม้จะไม่มีการเลิกจ้าง แต่มีแนวทางให้ลดชั่วโมงการทำงานลง หรือ การใช้หยุดการทำงานชั่วคราวโดยไม่รับเงินเดือน (leave without pay) ไปจนถึงการขอความสมัครใจจากพนักงานในการที่จะให้บริษัทในฐานะจ้างลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการที่ดำเนินการตามกฎหมาย แต่กฎหมายที่ว่านี้มีประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ได้อธิบายไว้อย่างสนใจ
อาจารย์สมบัติ แสดงความคิดเห็นว่ากรณีแรก การปิดกิจการเมื่อไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ หรือไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนดด้วย เมื่อนายจ้างปิดกิจการ โดยลูกจ้างไม่ได้ลาออก หรือลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดต่อนายจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย ดังนี้
1. ได้รับค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงาน กรณีเลิกจ้าง ดังนี้ ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน 2. หากเป็นการปิดกิจการโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ลูกจ้างมีสิทธิ์ ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย อธิบายอีกว่า กรณีที่ 2 ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการปิดกิจการหรือหยุดกิจการชั่วคราว โดยนายจ้างยังประสงค์จะดำเนินการกิจการต่อไป นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 75 ของเงินเดือน ในระหว่างที่มีการปิดกิจการชั่วคราว เช่น นายจ้างประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อลดลงมาก ทำให้ส่วนการประกอบมีคำสั่งซื้อลดลง ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างสามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้
การที่นายจ้างสั่งให้พนักงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราวมีกำหนด 2 เดือนจึงชอบด้วย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 ในช่วงหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 70 ของค่าค่าจ้างในวันทำงาน เบี้ยขยันเดือนละ 1,000 บาทและค่าอาหารเดือนละ 480 บาท รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้าง นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างแล้ว นายจ้างไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างอีก(คำพิพากษาฎีกาที่ 6960/2548)
กรณีที่ 3 นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย หากนายจ้างที่เจตนาไม่ยื่นแบบรายการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ภายในกำหนด หรือกรอกข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการพยายามลดการนำส่งเงินในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างสามารถทำได้โดยพลการหรือต้องสอบถามความเห็นลูกจ้างก่อนนั้น อาจารย์สมบัติ ระบุว่า การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ นายจ้างไม่สามารถลดเงินโดยพลการ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา ได้รับลดหย่อนตามประกาศกระทรวงแรงงาน โดยยกเว้นให้ 3 เดือน
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19นายจ้างและผู้ประกันตนตาม ม.33 ได้รับการลดหย่อนเงินสมทบ เดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม 2563 โดยให้นายจ้างจ่ายสมทบ 4 %(ปกติ 5 %) ผู้ประกันตน มาตรา 33 จ่าย 1% ปกติ 5%
“ส่วนตัวไม่มีข้อมูลจำนวนคดีที่มีการฟ้องร้อง แต่เท่าที่ทราบ มีการฟ้องกันอยู่หลายคดี เช่น คดีที่มีการปิดกิจการ หรือเลิกจ้าง หรือปลดหรือลดพนักงานโดยไม่เป็นธรรม การจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างไม่ครบถ้วน การไม่จ่ายค่าตกใจหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า”
สุดท้าย อาจารย์สมบัติ มีคำแนะนำให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างว่าควรต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อถูกเลิกจ้างว่า เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามกฎหมาย สามารถดำเนินการได้ 2 ทาง คือ1.ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถไปติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ตามท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่เป็นภูมิลำเนาของนายจ้าง
หากลูกจ้าง ไม่สะดวกที่จะมายื่นคำร้องด้วยตนเอง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องทางอินเตอร์เน็ตได้ทางเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน หรือติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
2.ยื่นฟ้องศาลแรงงาน โดยสามารถยื่นฟ้องเป็นรายบุคคลที่ถูกเลิกจ้าง หรือจะรวมเป็นกลุ่มฟ้องเป็นคดีเดียวกันก็ได้ โดยการฟ้องคดี ศาลแรงงานจะมีเจ้าหน้าที่ศาลทำหน้าที่เป็นผู้รับเรื่อง ให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย รวมไปถึงเขียนคำฟ้องในคดีแรงงานให้กับลูกจ้างโดยถือเป็นบริการของศาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” อาจารย์สมบัติ กล่าวทิ้งท้าย
ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสกว่าเสมอ เชื่อว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกคนจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อเป็นประกอกเสียงให้ประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ