รายงานพิเศษ
โดยกองบก.จุลสารราชดำเนิน
..............................................................
หลังเกิดเหตุขึ้นที่ห้องทำงานของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯ ที่กลายเป็นข่าวดังช่วงปลายปี 2565 และยังเป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของสังคมอยู่ในปัจจุบัน กรณี ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช.และตำรวจจาก กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นและแจ้งข้อหาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องซื้อขายตำแหน่งโยกย้ายข้าราชการในสังกัด
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ต้องรอดูว่าสุดท้ายคดีนี้จะจบอย่างไร
เรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคดีดัง เลยทำให้หลายคน อยากรู้ว่า “นักข่าวที่รับผิดชอบงาน-การทำข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”ในปัจจุบันมีการทำงานข่าวอย่างไร และข่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความแตกต่างจากอดีตตั้งแต่ยุคก่อตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเมื่อช่วงปี 2545 อย่างไรบ้างหลังกระทรวงแห่งนี้ตั้งมาร่วม 21 ปี อีกทั้งกับคำถามที่หลายคนอยากรู้แน่นอนว่านักข่าวสายนี้ จริงหรือไม่ ที่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ ในทุกเรื่อง?
แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ ต้องถามนักข่าวในพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบงานข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาบอกเล่าสู่กันฟัง อย่าง “ชุติมา นุ่นมัน หรือแอ๊ะ มติชน-กองบรรณาธิการมติชน”ที่ทำข่าวและรับผิดชอบสายงานข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกระทรวงเมื่อปี 2545 ที่ได้ร่วมพูดคุยกับ”ทีมข่าว กองบก.จุลสารราชดำเนิน”
แต่ก่อนที่จะไปฟังถึงเรื่องราวการทำข่าวของนักข่าวสายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ “ชุติมา-แอ๊ะ มติชน”เล่าพื้นเพความเป็นมาก่อนมานักข่าวมากประสบการณ์สายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯในปัจจุบันว่า เริ่มเข้าสู่วงการนักข่าว สื่อมวลชน ตั้งแต่ หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยช่วงระหว่างรอรับปริญญา ได้ไปฝึกงานทำข่าวการเมืองอยู่ที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่ตอนนั้นก็ไปฝึกทำข่าวอยู่หลายที่เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
พอเรียนจบได้รับปริญญา ต่อมาก็ย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์มติชน ไปประจำที่กระทรวงแรงงาน ยุคที่นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นรมว.แรงงาน ก็ทำข่าวหลายอย่างเช่นเรื่องค่าจ้างแรงงาน โดยหลักการทำงานตั้งแต่เริ่มเป็นนักข่าวใหม่ๆเลยก็คือ "เราต้องทำการบ้าน" โดยเฉพาะเวลาไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว เป็นเรื่องสำคัญของคนที่เป็นนักข่าว เพื่อที่เวลาไปคุยกับแหล่งข่าว จะได้เข้าใจ คุยกับแหล่งข่าวแต่ละประเด็นได้ การทำข่าวต้องทำการบ้าน เพื่อให้เรารู้แต่ละประเด็นจริงๆ และตอนทำข่าว ก็จะใช้วิธีจดเป็นหลัก ไม่ค่อยอัดเทป เพราะการใช้วิธีจดทำให้ต้องทำความเข้าใจกับข่าวและประเด็นที่ได้ไปทำข่าว
จากนั้นก็ไปทำข่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ตอนนั้น ไปทำข่าว แสง ซินโครตรอน ก็ยากมากในการทำความเข้าใจ ยุคนั้น ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็มีเรื่องสำคัญอย่างเช่น Y2K ซึ่งตอนนั้น ก็ต้องทำข่าวสิ่งแวดล้อมด้วย
"ชุติมา" มองว่านักข่าวที่ทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวของเขาอยู่ และต้องอยู่กับหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการประจำ นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ และนักการเมือง นักข่าวก็ต้องบาลานซ์เรื่องพวกนี้ให้ได้ โดยตอนแรกๆที่ทำข่าว ก.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นก็ยังไม่ใช่นักข่าวอาวุโสเสียทีเดียว ก็ทำให้อาจจะเชื่อคนง่าย แต่การเชื่อคนง่ายในยุคก่อน สิ่งที่หัวหน้าข่าวของเราที่มติชนสอนก็คือว่าเราต้องให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่ง ในการชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงจะเรียกว่านักข่าวที่ดี
ซึ่งเรารู้สึกว่าทุกคนมีหน้าที่ เรามีหน้าที่ทำข่าว ส่วนคนที่คิดในเรื่องการตัดถนน หรือการไปก่อสร้างอะไรต่างๆ เขาก็ต้องมีเหตุผล มีหลักคิดว่าทำไมต้องตัดถนนเข้าไปยังจุดต่างๆ ส่วนคนที่ออกมาคัดค้านการตัดถนนในจุดที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็มีเหตุผลในการคัดค้าน ส่วนเรามีหน้าที่ในการนำเสนอข่าว เราอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราในฐานะนักข่าว เราก็ต้องเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนที่คิดต่างกัน ได้มีโอกาสได้มีพื้นที่ในการชี้แจง แล้วเราก็มาวิเคราะห์ ให้คนอ่าน คนที่อ่านงานของเรา คิดเอาเองว่ามันควรหรือไม่ควร
...ต่อมาในยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2545 ที่ทำนโยบาย”ปฏิรูประบบราชการ” ก็มีการแยกกระทรวงเกิดขึ้น โดยมีการแยกหน่วยงาน-กรม ด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ออกมาเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเมื่อแยกกระทรวงสำเร็จ ก็มีการปรับครม. โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนแรก มีปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯคนแรก ก็ทำให้นักข่าวที่ต้นสังกัดมอบหมายงานให้รับผิดชอบการทำข่าวกระทรวงทรัพยากรฯ ก็ย้ายห้องทำงานจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตรงซอยโยธี (ปัจจุบันคือกระทรวงอุดมศึกษาฯ) มาอยู่ที่ซอยอารีย์ ตรงตึกกรมควบคุมมลพิษ
...ช่วงแรกๆ หลังมีการตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีนักข่าวไปประจำที่กระทรวงเยอะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ โดยเวลาทำข่าว ก็คงเหมือนกับที่อื่นๆ ก็มีการช่วยกันทำข่าว ช่วยกันหาข่าว แต่เวลานำเสนอ แต่ละค่าย ก็จะมีรูปแบบการนำเสนอที่เป็นลักษณะข่าวของตัวเอง เพราะอย่างข่าวสิ่งแวดล้อมของมติชน ก็จะเป็นแบบหนึ่ง ข่าวสิ่งแวดล้อมของค่ายอื่นๆเช่น กรุงเทพธุรกิจ เขาก็อาจเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือเดลินิวส์ ไทยรัฐ ที่ก็อาจจะเป็นแนวสีสัน ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง โทนข่าว สไตล์ข่าวจะไม่เหมือนกัน
"ชุติมา-คนข่าวสายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" เล่าให้ฟังแบบสนุกๆว่า เวลาออกไปทำข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่ละวัน ก็จะไหว้พระที่บ้าน แล้วอธิฐานว่าขอให้วันนี้ได้ทำข่าวดีๆ มีประเด็นข่าวเด็ดๆ ซึ่งข่าวที่เด็ดของเรา บางทีอาจไม่ใช่ข่าวที่ดีของคนอื่น ที่เราก็ไม่อยากให้เกิด เช่น โรงงานระเบิด สารพิษแพร่กระจาย คือเหตุอะไรมันจะเกิด มันก็คงต้องเกิด แต่ว่าขอให้เราทำข่าวด้วยเหตุและผลที่ดี อย่างมีคุณธรรม แต่หากไม่มีเหตุการณ์เราก็จะเช็คข่าวของเรา ซึ่งบางทีเราก็นำความรู้สึกของเราเข้าไปเช็คข่าว
อย่างเช่นบางช่วง เรารู้สึกว่า ทำไมฝนตกหนักเฉพาะตอนเย็นติดๆกันทุกวัน ทำไม ฝนไม่เห็นตกตอนเช้าบ้าง เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมฝนตกแต่เฉพาะช่วงเย็น หรือบางช่วง เราได้ยินเสียงกบ ร้องทุกวันเลยในเมืองจนเคยชิน แต่ต่อมา ไม่ได้ยินเสียงกบร้องอีกแล้ว เราก็เกิดความสงสัยว่าทำไมเสียงกบหายไป อันนี้คือประเด็นเล็กๆที่เราคิดขึ้นมา และคิดว่านี้คือคำถามของเราที่เราอยากรู้ ที่แม้จะเป็นคำถามเล็กๆ และอยู่ใกล้ตัว ซึ่งหลายคนก็รับรู้เหมือนเรา แต่เขาอาจปล่อยผ่าน แต่ในแง่ของการเป็นนักข่าว เราก็ต้องไม่ปล่อยผ่าน เราก็เลยถามคนที่เขามีองค์ความรู้เรื่องเหล่านี้ เช่นไปเช็คกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามว่าทำไมฝนถึงตกแต่ช่วงเย็น ไม่ตกตอนเช้า เขาก็จะอธิบายหลักการต่างๆให้เราฟังถึงสภาพภูมิอากาศ การก่อตัวของเมฆอะไรต่างๆ หรืออย่างเรื่อง เสียงกบร้องในเมืองหายไป เขาก็จะอธิบายให้ฟังเช่น ปริมาณกบ เขียด คางคกในเมืองลดน้อยลง เพราะว่าสิ่งแวดล้อมในเมืองเปลี่ยนไป สัตว์เหล่านี้ก็เลยหายไปจากในเมือง
นอกจากนี้ เราเห็นว่าการทำข่าวสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการแสวงหาข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับงานข่าวที่รับผิดชอบ อย่างสมัยก่อน ที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เว็บไซด์แพร่หลายแบบปัจจุบัน เราก็ชอบอ่านเอกสารในสายงานที่เกี่ยวข้อง เอกสารที่น่าสนใจเช่น เอกสารประชุมวิชาการ บางทีก็จะพบข่าวอยู่ในนั้นเช่น" การเกิดของสารแคดเมียมที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก "ก็เกิดจากที่เรานำเอกสารไปอ่านในห้องน้ำ ที่พบว่ากรมพัฒนาที่ดิน เขาไปสำรวจที่ดินแล้วไปพบว่าเกษตรกร ที่เขาปลูกข้าวหอมมะลิ แต่มันปนเปื้อนไปด้วยสารแคดเมียม เราก็นำข้อมูลตรงนี้ไปเสนอเป็นข่าว จนเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา ซึ่งจุดประสงค์ในการนำเสนอของเราคือเพื่อให้ได้มีการแก้ไขปัญหา ที่เป็นหลักการที่เรายึดมาเสมอว่าเรานำเสนอข่าวที่หากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ปัญหานั้น ต้องได้รับการแก้ไข ในทางที่ดีขึ้น ทางที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องที่ดีอยู่แล้วและมีการนำเสนอ ก็เพื่อให้สิ่งดีนั้น ได้เป็นแบบอย่าง ให้กับคนอื่นที่จะทำตามแบบอย่างที่ดีดังกล่าวต่อๆกันไป
การทำข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำข่าวสายอื่นๆ ที่ก็เป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้วคือนักข่าว สื่อที่จะมาทำข่าวสายนี้ ก็ต้องทำการบ้าน มีความรู้ในสายงานข่าวนั้น ต้องทำความเข้าใจ กับงานที่เกี่ยวข้องในระดับหนึ่ง เพื่อที่เวลามีประเด็น มีใครพูดอะไรกัน จะได้ต่อติด นำไปขยายต่อได้ และการทำการบ้านเกี่ยวกับแหล่งข่าวว่าคนนี้เป็นใคร มีบทบาทหน้าที่อะไรในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่ก็เหมือนกับนักข่าวสายอื่นๆ อย่างเวลามีประเด็นที่เกี่ยวข้องเช่น เรื่องเกี่ยวกับทะเล ก็ต้องถามนักวิชาการคนไหน หรือหากเป็นเรื่องป่าไม้ เรื่องช้าง จะต้องสัมภาษณ์ใครที่จะพูดเรื่องนี้ได้
นักข่าวก.ทรัพย์ฯ
เห็นด้วยกับเอ็นจีโอทุกเรื่องหรือไม่?
เราถามเหมือนกับที่หลายคนอาจจะสงสัยและอยากรู้กันก็คือ ภาพที่คนภายนอกมอง เขาอาจมีความคิดในโทนว่านักข่าวสายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ หรือสายสิ่งแวดล้อม จะเป็นนักข่าวแบบสายเอ็นจีโอ เชียร์เอ็นจีโอ จริงหรือไม่ เจอคำถามนี้"ชุติมา”
ที่ผ่านการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ไม่ลังเลที่จะตอบกับเราว่า"คือเมื่อก่อน ตอนเราอายุยังน้อยกว่านี้ เราก็ยอมรับว่าเราอาจเข้าข้างเอ็นจีโอ แต่พอเรามีประสบการณ์ เราอ่านหนังสือเยอะขึ้น เราคิดว่าไม่จริงที่ว่านักข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นเอ็นจีโอ เพราะอย่างนักข่าวที่เคยอยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ทำข่าวสิ่งแวดล้อมกันมา ตอนนี้หลายคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างที่คุยๆกัน ที่เป็นเพื่อนกัน ก็ไม่มีใครที่จะไปเข้าข้างเอ็นจีโอกันหมด คือหากอะไรที่เขาทำดี เราก็เห็นด้วย แต่อะไรที่หากเขาทำแล้วเราว่าอาจไม่ดี ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปเห็นด้วยกับเขา มันก็ต้องแยกเป็นประเด็นๆไป แต่ยืนยันได้ว่านักข่าวสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เอ็นจีโอ" เป็นคำยืนยันของ ชุติมา ที่ย้ำเสียงหนักแน่นชัดเจนมาก
เมื่อทำข่าวสายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มายาวนาน ประสบการณ์โชกโชน เราเลยให้ "ชุติมา"เล่าให้ฟังว่า วิธีการหาข่าวของนักข่าวสายนี้หาข่าวกันอย่างไรและนักข่าวที่เป็น"นักข่าวประจำ"เลยจริงๆ มีมากน้อยแค่ไหน โดยเธอถ่ายทอดประสบการณ์จริงในการทำข่าวในพื้นที่ให้ฟังว่า ด้วยความที่ปัจจุบัน นักข่าวมีน้อย ทำให้การทำงานของนักข่าวยุคปัจจุบันก็จะเปลี่ยนไป โดยหลักๆ ก็ยังคงเป็นนักข่าวสายการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา แต่ว่าการทำข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะหลังจากที่จะมีนักข่าวมาประจำอยู่ตลอด แต่ยุคหลัง ด้วยสภาพการทำข่าวของสื่อที่เปลี่ยนไป หลายสังกัดก็มีนักข่าวน้อยลง ก็ทำให้ ระยะหลังกลายเป็นว่า ต้นสังกัดก็อาจใช้ลักษณะเห็นนักข่าวในกองบก.คนไหนหรือทีมไหน ว่างอยู่หรือไม่ได้มีงานที่ไหน ก็จะถูกส่งมาทำข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เวลามีงานอะไรของกระทรวงที่สำคัญๆ
"พบว่าตอนนี้เหลือนักข่าวที่มาแบบประจำตลอดเลยเหลืออยู่แค่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ส่วนนักข่าวโทรทัศน์ไม่มีประจำ อาจจะมีก็คือมาทำข่าวในหมายงานสำคัญๆของกระทรวงหรือเวลามีประเด็นที่น่าสนใจในช่วงนั้นๆ มีการแถลงข่าวเรื่องสำคัญ ๆ เรียกได้ว่านักข่าวประจำเลยที่ไปทำข่าวทุกวันแบบเดิม ตอนนี้เหลือไม่มากแล้ว"
"ชุติมา”เล่าให้ฟังอีกว่า ขณะเดียวกัน คนที่เคยทำข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปัจจุบัน เขาก็ไม่ได้ทำข่าวแต่เฉพาะที่กระทรวงเป็นหลักแบบเดิม เพราะทางกองบก. ก็มอบหมายให้ไปทำข่าวในส่วนอื่นๆด้วย อย่างเราดูข่าวสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ต้องไปดูข่าวส่วนอื่นด้วย เพราะปัจจุบัน ก็เข้ามารับผิดชอบเป็นหนึ่งในกองบก.ข่าวออนไลน์ของมติชนออนไลน์ เราก็ต้องดูข่าวอื่นๆ ข่าวทั่วไป เรียกได้ว่าต้องคอยมอนิเตอร์ทุกข่าว แต่หากมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ มันเป็นข่าวของเรา มันเป็นความรู้สึกของเราเอง ไม่ได้ว่ามีใครสั่ง แต่เรารู้สึกว่าข่าวเกี่ยวกับแนวสิ่งแวดล้อมมันเป็นข่าวที่อยู่ในสายงานเรา เราทำแล้วเรามั่นใจว่าเรารู้ดีกว่าคนอื่น อย่างแม้ปัจจุบันจะเป็นยุคโซเชียลมีเดีย แต่ว่าเมื่อมีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับข่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เราก็ต้องต่อยอด หาข่าวเพิ่มเติม ไม่ใช่ดูแต่จากโซเชียลมีเดีย เพราะหากเราทำได้ เราก็จะภูมิใจว่ามันเป็นข่าวที่เราทำเอง ไม่ใช่ว่ามีแต่เนื้อหาจากโซเชียลมีเดีย
...ข่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ก็เหมือนกับทุกกระทรวง หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ก็จะมีไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำกระทรวงหรือสายงานด้านนี้ ที่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารนิเทศหรือประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ก็จะส่งข่าวต่างๆ เข้าไปในไลน์กลุ่ม ของนักข่าวสายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในไลน์กลุ่ม ก็จะมีข่าวส่งมาเรื่อยๆ ตลอดแบบทุกที่ แต่เราก็จะเลือกว่าจะนำข่าวนั้นไปนำเสนอ ส่วนมากก็จะใช้ดึงมาใช้งานน้อย หลักๆ ที่เขาส่งกันในไลน์กลุ่มก็จะเป็นพวกข่าวประชาสัมพันธ์เช่นข่าว รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปที่ไหน ทำอะไร แต่บางเรื่องที่เขาส่งมาในไลน์กลุ่ม บางประเด็นก็นำไปนำเสนอได้ถ้าน่าสนใจเช่นประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการค้นพบอะไรใหม่ๆ แบบนี้ก็น่าสนใจอยู่
ความจริงวันนี้
นักข่าวก.ทรัพย์ฯ เหลือน้อยลง
เมื่อถามถึง รูปแบบการหาข่าวของนักข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในยุคปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตอย่างไร "ชุติมา" ถ่ายทอดมุมมองจากประสบการณ์ในพื้นที่การทำข่าวไว้ว่า ยกตัวอย่าง ตัวเราเอง สมัยก่อนที่ไปนั่งทำข่าวประจำที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เราก็จะใช้วิธีการหาข่าวแบบก็ไปตามจุดต่างๆ ของกระทรวง -กรม ในสังกัด เพื่อไปคุยกับแหล่งข่าว เพื่อหาข่าว หาประเด็นข่าว และไปอยู่ในจุดหรือในเหตุการณ์ที่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็นำเสนอข่าว แต่ปัจจุบันด้วยความรับผิดชอบที่มากขึ้น กับการต้องเข้ามาเป็นกองบก.ของทีมข่าวออนไลน์ด้วย ทำให้ก็ไม่มีเวลาที่จะไปเดินหาข่าวแบบเดิม จนกระทั่งมีเรื่องของเทคโนโลยี และรูปแบบการทำข่าวที่เปลี่ยนไป เราก็ใช้วิธีอ่านข้อมูล ดู Facebook แม้แต่กับ TikTok เพื่อดูความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยรวมแล้วหาประเด็นข่าวต่อยอด เช่น เห็นเรื่องนี้แล้วน่าสนใจ เป็นเรื่องมุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็จะไปหาข้อมูลเพิ่ม สัมภาษณ์เพิ่ม เพื่อขยายประเด็นข่าว ด้วยความที่เราพอจะมีคอนเนคชั่นเยอะ เวลาเกิดอะไรขึ้น มีมุมข่าวอะไรที่น่าสนใจ ก็มักจะมีคนชอบบอกเรามา
"ชุติมา"พูดมาถึงตรงนี้เลยตัดเข้ากับสถานการณ์ข่าวที่เป็นข่าวดังเมื่อช่วงปลายปี 2565 กับ"กรณีเรื่องอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ "โดยเล่าไว้ว่า อย่างกรณีที่มีการเข้าตรวจสอบคุมตัว อธิบดีกรมอุทยานฯ พอเกิดเรื่อง ในช่วงนั้นในห้องทำงานของอธิบดี ก็มีคนโทรศัพท์มาบอกทันทีว่าเกิดเหตุขึ้นที่ห้องอธิบดี ลองเช็คดู เราก็หูผึ่งทันที ก็โทรเช็คกับข้าราชการ กับคนรูัจักในกรม ที่เป็นเพื่อนกัน ก็บอกเขาว่าช่วยวิ่งขึ้นไปดูที่แถวหน้าห้องอธิบดีให้หน่อย ก็เช็คไปหลายแหล่ง จนได้ข่าวมา ที่ก็เป็นเรื่องน่าสลดหดหู่ แต่เราก็ทำตามหน้าที่ของการเป็นสื่อ ก็ทำให้เราเห็นเลยว่าการมีคอนเนคชั่นมันก็ดีแบบนี้นี่เอง ส่วนการทำข่าวนี้ ก็ยังต้องทำงาน หาข่าว หาประเด็นอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอตามความเป็นจริงแต่ละวัน ว่าเหตุการณ์แต่ละวันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วก็ตามประเด็นต่างๆ มานำเสนอเหมือนกับข่าวทั่วไป
...สำหรับภาพรวมของข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วมันก็มีทั้งข่าวเชิงการเมือง ข่าวของพวกข้าราชการประจำ โดยเฉพาะข่าวแต่งตั้งโยกย้าย เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน่วยงานอย่าง กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ จะเป็นที่จับตาของสังคมว่าใครจะขึ้นมาเป็นใหญ่ มันก็จะมีเรื่องการวิ่งเต้น อะไรต่างๆ ออกมาตลอด ทำให้นักข่าวก็ต้องแข่งขันกันหาข่าว ว่าใครจะมา ใครจะไป
นอกจากนี้ ก็จะเป็นข่าวโทนสิ่งแวดล้อม ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นจะมีกฎหมายใหม่ๆ อะไรออกมาบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่อง คาร์บอนเครดิต ที่เห็นนักการเมืองออกมาพูดกันมาก หาเสียงกันเยอะ แต่พบว่าประชาชนหลายคนก็ยังไม่รู้ว่า คาร์บอนเครดิต มันคืออะไร หรือเรื่องมลพิษ เรื่อง PM2.5 เรื่องสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิงสาราสัตว์อะไรต่างๆ คือเป็นข่าวที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน นักข่าวสายนี้ก็จะทำข่าวแนวนี้ หรืออย่างเวลามีโรงงานอุตสาหกรรมมีปัญหา โรงงานระเบิด เกิดสารเคมีฟุ้งกระจายในพื้นที่ หากเราไม่ได้ลงพื้นที่ เราก็ต้องเกาะติดคนที่เป็นคนหลักในการรับผิดชอบแก้ปัญหา
เมื่อเราตั้งคำถามว่า ทำข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกระทรวงเลย เห็นรัฐมนตรีมาทำงานที่หลายคนแล้ว เท่าที่ทำข่าวมาคิดว่า คนที่มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้เขามีความตั้งใจอยากมาทำงานที่กระทรวงนี้จริงหรือไม่ และเป็นคนที่มีความรู้ในสายงานนี้มาก่อนหรือไม่ "ชุติมา”สะท้อนเรื่องนี้ให้ฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใด คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องมีความรู้ในงานที่จะเข้าไปบริหาร แต่จริงๆ แล้ว มันก็มักจะเกิดกรณีแบบ ที่มักจะพูดกันว่า เข้ามาบริหาร เป็นนักบริหาร ไม่จำเป็นหรอกต้องมีความรู้ด้านนั้นมาก่อน ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร บางคนอาจไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน แต่เข้ามาทำงานแล้วเขาก็เร่งเรียนรู้ เพื่อมาบริหารกระทรวง ก็พบว่าก็ทำงานได้
คุยกันช่วงท้าย ๆใกล้จบ แน่นอนว่า การทำข่าวทุกจุด และไม่ว่าข่าวสายไหน เรื่อง"การแข่งขัน"เป็นเรื่องปกติ สำหรับนักข่าวทุกสาย แล้วนักข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ การแข่งขันในการทำข่าว เป็นอย่างไร "ชุติมา"เล่าให้ฟังว่า หากเป็นแง่ธุรกิจ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการแข่งขัน แต่ในแง่ของความเป็นเพื่อนในสนามข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯจะมีอยู่เยอะมาก มีความเหนียวแน่น เกินกว่าที่จะไปแข่งขันอะไรกัน
"อย่างเช่นได้ข่าวมาพร้อมกัน คราวนี้พอได้กันทุกคนแล้ว การแข่งขันก็คือว่า ใครนำเสนอก่อน และใครที่ขยันในการไปหาประเด็นเพิ่ม แล้วแต่องค์ประกอบ อย่างเช่น นักข่าว 4-5 คน ได้ข่าวมาเหมือนกันหมด ก็แบ่งปันกัน แต่บางแห่งก็จะมีตัวช่วยในการที่จะไปแตกประเด็นได้เร็วกว่า "
"ชุติมา"กล่าวปิดท้ายว่า จากที่ได้ทำข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และปัจจุบันก็เข้ามาช่วยงานกองบก.มติชนออนไลน์ด้วย ในการโพสต์ข่าว-อัพข่าว ซึ่งเราเป็นคนจะดูข้อมูล ดูสถิติตลอด ก็พบว่า ข่าวสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวและเกิดผล คนจะอ่านเยอะ จนยอดวิวบางข่าวสูงขึ้นมาเป็นข่าวที่มียอดวิวมาเป็นอันดับต้นๆ ของข่าวออนไลน์ในบางวัน บางวันก็สูงกว่าข่าวการเมืองด้วยซ้ำ ที่เป็นจุดสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง
"การทำข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำข่าวสายอื่นๆ ที่ก็เป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้วคือนักข่าว สื่อที่จะมาทำข่าวสายนี้ ก็ต้องทำการบ้าน มีความรู้ในสายงานข่าวนั้น ต้องทำความเข้าใจ กับงานที่เกี่ยวข้องในระดับหนึ่ง เพื่อที่เวลามีประเด็น มีใครพูดอะไรกัน จะได้ต่อติด นำไปขยายต่อได้ และการทำการบ้านเกี่ยวกับแหล่งข่าวว่าคนนี้เป็นใคร มีบทบาทหน้าที่อะไรในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่ก็เหมือนกับนักข่าวสายอื่นๆ อย่างเวลามีประเด็นที่เกี่ยวข้องเช่น เรื่องเกี่ยวกับทะเล ก็ต้องถามนักวิชาการคนไหน หรือหากเป็นเรื่องป่าไม้ เรื่องช้าง จะต้องสัมภาษณ์ใครที่จะพูดเรื่องนี้ได้ "ชุติมา กล่าวปิดท้าย
...............................................