เสียงสะท้อน คนสื่อออนไลน์ The MATTER-THE STANDARD หลังนายกฯเดินสายรอบสอง

รายงานพิเศษ โดยกองบรรณาธิการ เพจจุลสารราชดำเนิน เสียงสะท้อน คนสื่อออนไลน์ The MATTER-THE STANDARD หลังนายกฯเดินสายรอบสอง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กลับมาเริ่มเดินสายไปยังสำนักงานสื่อมวลชนอีกครั้งเพื่อรับฟังความเห็น-แลกเปลี่ยนมุมมอง กับสื่อมวลชน หลังก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ เดินสายพบสื่อมวลชนกระแสหลักหลายค่ายที่บางสำนัก ก็มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์-หนังสือพิมพ์-ทีวี อยู่ในเครือ

โดยรอบนี้ เป็นการเดินสายคุยกับสื่อมวลชนสายสื่อออนไลน์ ที่เริ่มไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กับสื่อสองสำนักที่หลายคนรู้จักกันอย่างดี นั่นก็คือTHE STANDARD และ The MATTER ส่วนหลังจากนี้ จะเป็นสื่อออนไลน์-สื่อโทรทัศน์ ค่ายไหน หรือสื่อแพลตฟอร์มใดอีก ต้องรอติดตาม

เนื้อหา-ประเด็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่าง พลเอกประยุทธ์กับ ผู้บริหาร-กองบรรณาธิการของทั้งTHE STANDARD และ The MATTER พบว่าสื่อทั้งสองสำนัก ได้มีการนำเสนอโดยละเอียดและหยิบบางประเด็นมานำเสนอในพื้นที่สื่อ-เว็บไซด์ของตัวเองแล้ว ตั้งแต่เย็นวันอังคารที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา

"ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" พูดคุยกับ สองบรรณาธิการของTHE STANDARD และ The MATTER ถึงการเดินสายพบสื่อออนไลน์ของนายกรัฐมนตรี ว่ามีเนื้อหาประเด็นอะไรบ้าง ตลอดจนความคิดเห็นของคนทำสื่อออนไลน์ที่มีต่อท่าทีของผู้นำประเทศในครั้งนี้

เริ่มที่ "พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER" ที่มีประสบการณ์การทำข่าว-ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาอย่างโชกโชน ผ่านการเป็นนักข่าว-กองบรรณาธิการมาหลายสำนัก อาทิ หนังสือพิมพ์มติชน-สำนักข่าวอิศรา-สำนักข่าว ThaiPublica จนปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการอาวุโส เว็บไซต์ The Matter ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

"พงศ์พิพัฒน์" เล่าให้ฟังว่า ทีมงานของพลเอกประยุทธ์ ได้ติดต่อมายังสำนักงาน The MATTER เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมาในช่วงเย็น โดยตอนแรก น้องๆ ทีมงาน กองบก.The MATTER ทราบเรื่องว่านายกรัฐมนตรีจะเดินทางมายังสำนักงาน The MATTER ในวันจันทร์ที่ 3 ส.ค.ก็นึกว่าเป็นการอำกัน ตอนแรกไม่ค่อยมีใครเชื่อ จนกระทั่งทีมงานนายกรัฐมนตรีส่งจดหมาย แจ้งยืนยันมาทางอีเมล์ของ The MATTER

..จากนั้นทีมงานกองบก. The MATTER ก็มีการเตรียมข้อมูล ประเด็นที่จะพูดคุยและ ซักถาม พลเอกประยุทธ์ในหลายเรื่อง โดยประเด็นหลักๆ ที่เตรียมไว้ก็เช่นเรื่อง การเคลื่อนไหวของม็อบนักเรียนนักศึกษาเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง –แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ -เรื่องทิศทางการศึกษาของประเทศไทย

..การพูดคุยดังกล่าว ข้าง The MATTER นอกจากตัวกองบรรณาธิการก็จะมีผู้ใหญ่ในบริษัท กับฝั่งของ พลเอกประยุทธ์ และทีมงาน ซึ่งก็เป็นทีมเดิมกับที่เคยเดินสายไปพบสื่อหนังสือพิมพ์เช่น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี - เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งภาพรวม ตลอดการพูดคุยที่ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ที่รูปแบบเป็นลักษณะการถาม-ตอบ ก็มองว่า ไม่ได้มีบรรยากาศในลักษณะที่นายกรัฐมนตรีจะมารับฟังความเห็นของทีมงาน-กอง บก. The MATTER มากขนาดนั้น แต่จะเป็นลักษณะที่นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง บรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยน ความเห็นระหว่างกัน ก็คล้ายๆ กับตอนที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบที่เห็นกันตามปกติ คือบางทีก็แสดงอาการหงุดหงิด บางช่วงก็เล่นมุขขำๆ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย แต่บางจังหวะในวงพูดคุย เมื่อทีมงาน The Matter อย่างตัวผม ตั้งคำถามไปทางนายกรัฐมนตรีก็ถามย้อนกลับมา บางครั้งก็ไม่ตอบคำถาม แต่บอกให้ไปหาข้อมูลเอาเอง

"พงศ์พิพัฒน์-บก.อาวุโส The MATTER" มองว่า ปฏิกริยาดังกล่าวข้างต้น จะเกิดขึ้นเมื่อถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องการทำกิจกรรมในช่วงนี้เรื่องแฟลชม็อบ เรื่องเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ดูแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยอยากตอบ แต่เมื่อมีการถามเรื่อง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ -การรับมือกับโควิดฯ ก็จะมีท่าทีอารมณ์ดี เพราะเหมือนเป็นเรื่องที่นายกฯอยากจะพูด บางประเด็นเช่น การแจกเงินช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโควิดฯ ที่มีบางฝ่ายเรียกร้องให้มีการแจกเงินช่วยเหลืออีก แต่ก็ติดขัดเรื่องกรอบวงเงินงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ฯ ที่ทำให้ไม่เพียงพอต่อการ ใช้จ่าย ส่วนนโยบายด้านการท่องเที่ยว นายกฯ ก็ย้ำว่าจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับ การควบคุมการแพร่เชื้อโควิดฯ แต่คนที่เกี่ยวข้องก็กำลังทำเรื่อง Travel Bubble -การรับมือกับ เรื่องปัญหาการว่างงาน ซึ่งส่วนใหญ่ แต่ละประเด็น นายกรัฐมนตรีจะพูดกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด

"ตอนแรก ก็คิดว่า หากเรื่องไหนถามแล้วเป็นเรื่องที่ยังไม่อยากตอบทันที นายกฯ ก็อาจตอบว่า จะขอนำเรื่องไปดูก่อน แต่ปรากฏว่าถามไปแล้ว นายกฯ ก็สวนกลับมาเลย อยากให้นายกฯ ได้เปิดใจมาฟังเสียงสะทอ้นของประชาชนทั่วไปที่เขาสะท้อนผ่านสื่อมากขึ้น"

"พงศ์พิพัฒน์-บรรณาธิการอาวุโสเว็บไซต์The MATTER" ให้ความเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรี เริ่มเดินสายพบสื่อออนไลน์ น่าจะเกิดจากทีมงานของพลเอกประยุทธ์ตระเตรียมให้ เดินสายดังกล่าวกับนายกรัฐมนตรี เพราะเท่าที่ได้ถามตัวนายกรัฐมนตรีและดูฟีดแบกนายกรัฐมนตรี ตลอดการพูดคุยกับทีมงาน The MATTER คิดว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ติดตามสื่อออนไลน์แบบเฉพาะเจาะจงที่ไหนเป็นพิเศษ เพราะเจ้าตัวก็บอกว่า เวลาใช้เฟซบุ๊กก็จะสไลด์ดูหน้าฟีดไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าวันนั้นคนกำลังพูดถึงเรื่องอะไร -ส่วนการนำเสนอข่าวของสื่อออนไลน์จะเป็นทีมงานสรุปมาให้อ่านเสียมากกว่า

..เท่าที่ผมได้ถามนายกรัฐมนตรี สื่อโซเชียลมีเดียที่พลเอกประยุทธ์ใช้บ่อย จะมีอยู่ 3 แพล็ตฟอร์ม คือ Facebook เพื่อเช็กดูว่า อะไรกำลังเป็นกระแสในช่วงนั้น หากเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่นายกฯ ก็จะได้สั่งการลงไป สองก็คือ Youtube ที่นายกฯบอกจะติดตามอยู่ 7-8 channel แต่ไม่ได้บอกชื่อ และสามคือ LINE เอาไว้สำหรับสั่งงานลูกน้อง ส่วน Twitter ซึ่งคนรุ่นใหม่นิยม นายกรัฐมนตรีบอกว่าแทบไม่ได้ใช้เลย โดยนายกฯบอกว่าเป็นเพราะในนั้น เป็นใครก็ได้ ไม่ยอมโชว์หน้าจริง เลยไม่ค่อยอยากดู ก็มีการถามนายกรัฐมนตรีเหมือนกันว่าที่ใช้ Facebook และมีเพจเช่น Prayut Chan-o-cha แล้ว นายกรัฐมนตรี ใช้ account อะไร แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมตอบ บอกแค่ว่าเพจดังกล่าวมีทีมงานดูให้ ไม่ได้ดูเอง เพราะเป็นนายกฯงานก็เยอะอยู่แล้ว ไม่มีเวลามาดูได้ทั้งวัน

"พงศ์พิพัฒน์-บก.อาวุโส The MATTER"เล่าให้ฟังอีกว่า สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ดังกล่าว ในบทสนทนาเมื่อไปถึง dialogue เรื่องการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทำกิจกรรม ต่างๆ ทางการเมืองในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีพยายามเน้นว่า ไม่อยากให้นักศึกษา-คนรุ่นใหม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย อยากให้พวกเขามีอนาคต และไม่รู้สึกโกรธที่พวกเขาออกมาวิจารณ์-ด่าว่านายกรัฐมนตรี โดยประเด็นไหนที่ออกมาแนววิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมรับฟังและนำกลับมาทบทวน การทำงานของตัวเอง และพยายามสื่อสารว่า ไม่ได้อยากเข้ามาตรงนี้แต่มีความจำเป็นต้องเข้ามา (รัฐประหารคสช.) เพราะก่อนหน้านั้น มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง มีการทะเลาะกัน

เราถาม พงศ์พิพัฒน์-บรรณาธิการข่าวThe MATTER ที่เคยทำข่าวการเมืองในทำเนียบ รัฐบาล-ทำข่าวผู้นำประเทศมาหลายสมัยตั้งแต่ยุครัฐบาล คมช. สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์- สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงยุค คสช.-พลเอกประยุทธ์ ว่ามองการที่พลเอกประยุทธ์ เดินสายพบสื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์-สื่อออนไลน์ ในช่วงที่ผ่าน มาอย่างไร จากเดิมสมัยเป็นนายกฯควบหัวหน้าคสช.ร่วมห้าปี ไม่เคยทำแต่มาทำในยุคนี้ และกำลังเริ่มเดินสายพบสื่อออนไลน์ ฟังคำถามนี้แล้ว "พงศ์พิพัฒน์" ให้ความเห็นว่า ในยุคก่อน นายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนรุ่นเก่าที่อาจมองสื่อออนไลน์ว่า ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรเยอะ มองไปว่าเป็นสื่อที่มีเด็กๆ มาหาเพื่อน มาคุยกับเพื่อน หาความเอนเตอร์เทน จนกระทั่งหลังเลือกตั้งปี 2562 เริ่มมีแฟลชม็อบ ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านพลเอกประยุทธ์ ที่เริ่มจากสื่อโซเชียลมีเดีย-ออนไลน์ ทำให้นายกรัฐมนตรี เริ่มหันมามอง แพล็ตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่เท่าที่ดูท่าทีของนายกรัฐมนตรีผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้ง รวมถึงที่มายังสำนักงาน The Matter นายกฯ ก็ยังอาจมองว่า ความเคลื่อนไหวในออนไลน์น่าจะจัดตั้งได้ ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นแบบธรรมชาติ (organic) ขนาดนั้น

"ผมก็อยากให้ผู้ใหญ่ หรือคนมีตำแหน่งสำคัญ ให้เขาทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโลกออนไลน์มากขึ้น ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งคนยุคหลังๆ ได้มาแสดงออกถึงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ หรือแสดงออกถึงความไม่พอใจอะไรบางอย่าง ซึ่งหากเข้าใจธรรมชาติของโลกออนไลน์ ก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่คนรุ่นหลังเขากำลังพูดคุยกันคือเรื่องอะไร พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ น่าจะทำให้เข้าใจคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น" บรรณาธิการอาวุโส The Matter ให้ทัศนะไว้

"พงศ์พิพัฒน์" บอกตอนท้ายด้วยว่า หลังการพูดคุยดังกล่าวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ทีมงาน The Matter เสร็จสิ้นลง ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับทีมงานส่วนตัวของ นายกรัฐมนตรีว่า ควรมีเวทีกลางที่ให้หลายสื่อ ได้มาร่วมนั่งพูดคุยกันกับนายกรัฐมนตรีแบบเจอกัน หลายสำนักในครั้งเดียว ที่จะดีกว่าที่จะให้นายกรัฐมนตรีเดินสายไปยังสำนักงานของสื่อสำนักต่างๆ ที่อาจจะไปสร้างความกระอักกระอ่วนเพราะไม่อยากให้นายกรัฐมนตรีเดินทางมา ซึ่งทีมงานนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าจะรับไปพิจารณา

นายกฯ กับการใช้โซเชียลมีเดีย

และเรื่องเล่า วันไป THE STANDARD

ถัดมาที่สื่อออนไลน์สำนัก THE STANDARD ที่พบว่า เมื่อช่วงเย็นวันอังคารที่ 4 ส.ค. เว็บไซด์ THE STANDARD ได้นำเสนอเนื้อหา-บทสนทนาอย่างละเอียด  ระหว่าง พลเอกประยุทธ์ กับผู้บริหารและกองบก. THE STANDARD ไปแล้ว

สำหรับเนื้อหาที่มีการนำเสนอดังกล่าว  พบว่ามีบริบทในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อ-โซเชียลมีเดีย อยู่ใน 2 คำถาม ดังนี้

กองบรรณาธิการ: นายกฯ ใช้โซเชียลมีเดียเยอะไหม ได้ติดตามความเคลื่อนไหวผ่านช่องทางเหล่านี้ไหม?

นายกฯ: ผมติดตามนะ ผมอ่านเฟซบุ๊กนะ อ่านแล้วเก็บมา มีทีมที่รายงานมาอยู่แล้ว ว่านายกฯ อย่างนี้ๆ จะต้องปรับอะไรบ้าง ทำแบบนี้นะ แต่เราไปด่าเขาไม่ได้ เขาก็รู้สิว่าเป็นฉันสิ วันนี้แค่ทีมลุงตู่มาจากไหนยังไม่รู้เลย ไปตามมาสิมาจากไหน

กองบรรณาธิการ: ได้เปิดดูทุกแพลตฟอร์มไหม?

นายกฯ: เปิดหมด บางเรื่องก็ต้องขอความร่วมมือ อย่าง YouTube บางเรื่องก็ต้องขอเขา บางเรื่องไม่ควรให้ออกมา คือมันต้องดูว่าแต่ละประเทศเขามีอะไรที่อ่อนไหว ปล่อยหมดอย่างนี้ก็ตายทั้งประเทศ ทั้งโลก ทุกประเทศบ่นหมดนะ ไปประชุม อเมริกาก็บ่นนะ ไปประชุมประเทศใหญ่ๆ เขาก็เจอปัญหานี้เยอะมาก การมีสิทธิเสรีภาพต้องมาคู่กับหน้าที่และกฎหมายเสมอ

สำหรับการเดินทางไปยัง สำนักงานของTHE STANDARD มีการให้ข้อมูลและความเห็นจาก "เอกพล บรรลือ-บรรณาธิการข่าว THE STANDARD" ที่อยู่ร่วมวงสัมภาษณ์-พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายกรัฐมนตรีตลอดการสนทนาร่วม 1 ชั่วโมงครึ่ง

เริ่มที่"เอกพล"ที่มีประสบการณ์การทำงานข่าว-สื่อมวลชนมาร่วมสิบปี จากสื่อสำนักต่างๆ เช่น  แมกกาซีน Free copy รายสัปดาห์ ที่ชื่อ a day BULLETIN -เว็บไซด์ The Momentum และปัจจุบันปักหลักที่ THE STANDARD มาตั้งแต่วันก่อตั้ง-เปิดตัว โดยเขาเล่าให้ฟังว่า การพูดคุยดังกล่าวทาง THE STANDARD ก็มีทั้งระดับผู้บริหาร-บรรณาธิการบริหารและกองบก.  โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่าที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับทีมงาน ของTHE STANDARD ก็เพราะอยากฟังความเห็นด้านต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงว่า ทำไมถึงเลือกTHE STANDARD และทางเราก็ไม่ได้ถามด้วย

"เอกพล-บก.ข่าว THE STANDARD"ให้ความเห็นหลัง เราถามมุมมองต่อการที่ นายกรัฐมนตรี เดินสายพบสื่อ ออนไลน์ หลังก่อนหน้านี้ เคยเดินสายพบสื่อสิ่งพิมพ์-สื่อกระแสหลัก โดยเขามองว่า ในมุมมองส่วนตัว มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่นายกรัฐมนตรีพยายามรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย หลังก่อนหน้านี้ ก็มีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงนักธุรกิจ-เศรษฐีในประเทศไทย เพื่อขอข้อเสนอแนะต่างๆ ตอนนี้ก็มาถึงช่วงรับฟังความเห็นสื่อมวลชน ก็เป็นเรื่องดีที่สื่อมวลชนจะได้สะท้อนปัญหา สะท้อนข้อมูลต่างๆ จากการทำงานของสื่อที่ได้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ -ได้เห็นปัญหาการติดขัดอะไรหลายอย่าง ซึ่งบางเรื่อง ในความเป็นจริง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ก็คงรู้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่ในมุมมองของสื่อมวลชน สื่ออาจจะสะท้อนได้ตรงไปตรงมามากกว่าทีมงานของนากรัฐมนตรี

-ก็ยังมีเสียงสะท้อนต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่เดินสายพบสื่อว่า เป็นการสร้างภาพลักษณ์ เป็นเหมือนกับการเอาใจสื่อ?

หากมองย้อนกลับไปดูในช่วง 5-6 ปีที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจ นายกฯ ก็ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของใครอะไรมาก หรืออาจรับฟังแต่เราไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ไม่ได้เห็นปรากฏตามสื่อออกมา ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตรงนี้คือพยายามจะฟังคนอื่นมากขึ้น ที่ก็ถือว่าได้ผล เพราะอย่างผู้อ่านใน THE STANDARD เอง ก็มีหลายคอมเมนต์ที่ปรากฏออกมาว่า อย่างน้อยก็ดีที่นายกฯยอมรับฟัง ซึ่งจะเป็นการพีอาร์หรือนายกฯตั้งใจจะรับฟังจริงๆเพื่อนำไปแก้ปัญหาต่างๆอย่างจริงจัง ตรงนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นผลบวกกับนายกฯแน่นอน เพราะมันก็ดีที่หลายๆ เสียง ที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยเข้าถึงตัวนายกรัฐมนตรีมาก่อน ไม่ได้ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี มันก็เป็นเรื่องดีที่หลายเสียงได้สะท้อนไปถึงตัวพลเอกประยุทธ์โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านใคร โดยทุกเสียงไปถึงตัวนายกฯเพราะนายกฯนั่งฟังตรงนั้นจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี

ผมก็คิดว่าที่นายกฯเดินสายไปพบสื่อสิบกว่าแห่ง ที่แต่ละองค์กร ก็มีข้อเสนอ-การพรีเซนต์ข้อเสนอต่างๆ กับนายกรัฐมนตรี น่าจะมีความหลายกหลายมาก เพราะอย่างที่ THE STANDARD ที่เดียว เราก็มีข้อเสนอถึงนายกฯ ไปแปดเรื่อง โดยที่ก่อนหน้านี้ นายกฯเดินสายพบสื่อมาแล้วร่วมสิบแห่ง จึงน่าจะมีข้อเสนอเยอะมาก ก็ทำให้นายกฯอาจเลือกหยิบไปใช้ อย่างน้อยสมมุตินำไปใช้ 10 เปอร์เซนต์ มันก็เป็นประโยชน์แล้ว

"บรรณาธิการข่าว THE STANDARD"กล่าวต่อไปว่า ในมุมคนทำงาน ในฐานะที่ THE STANDARD เปิดมาได้สามปี แสดงว่าสิ่งที่ เราทำมาตลอดสามปีนี้ มันมีอิมแพคบางอย่าง ทำให้รัฐบาลมองเห็นและให้ความสำคัญ และเลือกมาคุยกับเรา เป็น 1ใน 2 ของสำนักข่าว-สื่อออนไลน์ ก็ถือว่าสิ่งที่เราทำออกไปมันเข้าถึงคนวงกว้างจริงๆ และเขาเห็นตรงนั้น เขาถึงเลือกเรา ในมุมคนทำงานก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการที่นายกฯเดินสายพบสื่อออนไลน์ ก็มองว่า strategy ในแง่ภาพลักษณ์ เหมือนกับนายกฯต้องการให้มีภาพลักษณ์ว่าฟังเสียงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ต้องการออกจากกรอบที่ตัวเองเคยมี ด้วยการไปฟังเสียงใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ๆ บ้าง

ข้อเสนอต่างๆ ที่ทีมงาน ที่ THE STANDARD นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่เรานำเสนอผ่านpresentationต่างๆ  ทางเราไม่ได้มองว่าใครจะเป็นฝ่ายไหน แต่เมื่อคุณมีอำนาจอยู่ในมือ แล้วเราสามารถจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนความคิดเห็น ปัญหาต่างๆ ของประเทศ เราก็พร้อมนำเสนอ แม้อาจไม่ได้นำไปใช้ก็ตาม

"เอกพล-บรรณาธิการข่าว THE STANDARD"ให้ความเห็นส่วนตัวว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญในเวลานี้คือการรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม จนมีแฟลชม็อบ มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสะท้อนความอัดอั้นตันใจของเขา เพราะมันเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ จุดเปลี่ยนของรัฐบาลได้เลย โดยมองว่า ม็อบยิ่งมีมาก แสดงว่าเสียงของพวกเขายิ่งมีมาก คนเวลาพูดเสียงดัง ก็เพราะเขาต้องการให้คนที่เขาอยากให้ฟังได้ยินสิ่งที่เขาพูด ถ้านายกฯมีแพลตฟอร์มหรือมีท่าทีในการรับฟังเรื่องพวกนี้จริงๆ ก็คิดว่าจะบรรลุเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้

"สื่อออนไลน์ตอบความต้องการของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีลักษณะการติดตามที่เหนียวแน่น อย่างจากประสบการณ์ที่เคยทำแมกกาซีนมาก่อน เราก็แทบไม่เคยเห็นเลยว่าคนอ่านของเราเป็นใคร แต่กับสื่อออนไลน์ เราจะเห็นหมดเลยเช่นหากเราเข้าไปดู facebook ของคนที่เขาแชร์ในสิ่งที่เรานำเสนอ เราก็จะเห็นหมดเลยว่าเขาสนใจเรื่องอะไรบ้าง

สื่อออนไลน์จึงมีลักษณะของความเหนียวแน่น ความเป็นกลุ่มก้อน และด้วยความที่เราเป็นสื่อออนไลน์ โดยคนใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ทำให้สิ่งที่เรานำเสนอออกไป มันเข้าถึงเขาได้บ่อยๆ บทบาทนี้จึงมีความสำคัญที่ทำให้เราต้องรักษาความเป็นสื่อ รักษาจุดยืนของเราให้มาก"เอกพล-กล่าวไว้ หลังเราถามปิดท้าย ถึงบทบาทความสำคัญของสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน

........................................... ปล.ขอบคุณภาพประกอบ จากเว็บไซด์ https://thematter.co/ https://thestandard.co/ โดยช่างภาพ ฐานิส สุดโต -สลัก แก้วเชื้อ