รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
---
“สื่อปรับตัวอย่างมาก เปลี่ยนแปลงเร็วมีผลต่อการเรียนการสอน ขณะที่โลกการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเหมือนอยู่คนละด้านกับวิชาชีพ หลักสูตรวารสารจึงต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนเรียนหรือเรียนน้อย ดังนั้น ควรลดหรือจำกัดจำนวนผู้เรียน และคัดเลือกคนเรียนที่ตั้งใจมาเรียนทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของหน้าที่สื่อมวลชนชี้ให้เห็นช่องทางการทำงาน สร้างอาชีพ สร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่อง”
บทสรุปบางส่วนจากการระดมสมองในการประชุม “เครือข่ายวิชาชีพและวิชาการวารสารศาสตร์” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรวิชาชีพวารสารศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกับการเกิดขึ้นของสื่อใหม่จำนวนมาก
“นักวิชาการยังมีความมุ่งหวังที่อยากจะพัฒนา คนเข้าสู่ระบบให้ได้ดี แต่ก็ยังมีจุดท้อใจบ้างเล็กน้อย เพราะตลาดแรงงานด้านนี้ก็น้อย เด็กก็ไม่สนใจ ในเวิร์คช็อปเราเห็นภาพตรงนี้เยอะมาก” ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ภาพพร้อมย้ำว่า หลักสูตรวารสารต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็ว ที่ผ่านมากว่าจะปรับได้ก็ค่อนข้างช้าถึง 5 ปี แต่ส่วนตัวมองว่า หลักสูตรไม่จำเป็นต้องปรับในแก่น อาจเป็นหลักสูตรแบบเดิม แต่วิธีการเรียนการสอนอาจใส่สิ่งใหม่เข้าไปได้เพื่อสร้างมาตรฐานทางวิชาการให้มากขึ้น
‘เครือข่ายวิชาชีพและวิชาการวารสารศาสตร์’ ได้จัดประชุมในรูปแบบการสัมมนา“ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทุกปี การระดมสมองครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 16 มีผู้เข้าร่วมคือ นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์หลายสถาบัน และ นักวิชาชีพสื่อร่วมกันวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ทั้ง คุณค่าวารสารศาสตร์ในการตอบโจทย์ผู้เรียน อุตสาหกรรม ผลสรุปจากการระดมสมองครั้งนี้จัดทำโดย ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หลักสูตรวารสารศาสตร์เผชิญภาวะวิกฤตช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดปัญหาในยุคเปลี่ยนผ่านสื่อเป็นดิจิตัล ผู้รับสารเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน มีคำถามว่า วารสารศาสตร์แบบดั้งเดิมยังจำเป็นและยังเป็นวิชาชีพอยู่หรือไม่ หลายคนกลัวว่า จบมาแล้วไม่มีงานทำ แม้มีความพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรมาต่อเนื่องแต่ก็ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดร.สุดารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยไม่มีภาควิชาวารสารศาสตร์แล้ว บางที่ก็มีการปรับหลักสูตร แต่ไม่ใช่คำว่า ข่าว เปลี่ยนใช้คำว่า content แทนนักข่าวกับคำว่า Content Creator จึงเกือบเหมือนกัน เราจึงอยากรู้ว่า ในอนาคตสาขานี้ยังจำเป็นไหมเพราะคนที่มาจากสายอื่นก็สามารถทำได้
นักศึกษาขาดอุดมการณ์เป็นนักข่าว
ผลการระดมสมอง มีการนำผลสำรวจความเห็นของนักศึกษาวารสารที่มีต่อการเรียนการสอนพบว่า ไม่มีแพสชั่น ไม่รู้จะเรียนวารสารไปทำไม ที่เรียนอาจเพราะคณะนี้เท่ห์ดี เรียนไม่ยาก เป้าหมายของผู้เรียนบางส่วนพบว่า อยากเปิดบริษัทสื่อเล็กๆ ทำเบื้องหลัง เป็น Creative, Content Creator เมื่อถามถึงความเห็นต่อวงการสื่อมวลชน เช่น การเลือกนำเสนอข่าวอยู่ข้างใดกันแน่ นักศึกษามองว่า ไม่มั่นใจว่า สื่อยุคนี้เข้าถึงข่าวดีๆ ได้หรือไม่ สื่อเน้นเร็วมากกว่าความถูกต้อง สื่อถูกตั้งประเด็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เรียนไปก็อาจเป็นเป็ด บางส่วนมองว่า การทำงานสื่อเป็นงานท้าทาย มีโอกาสเป็น somebody แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมดสะท้อนภาพว่า นักศึกษาไม่มีมุมมองที่ชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์ของความอยากเป็นสื่อมวลชนว่าจะเข้ามาเป็นนักข่าวเพื่ออะไร แม้พบว่าบางส่วนอยากขับเคลื่อนสังคมแต่มีไม่มาก
ขณะที่ซีกนักวิชาการก็สะท้อนภาพนักศึกษาว่า เด็กมักบอกว่าเรียนแล้วไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร ทำงานไม่ได้จริง ขอบเขตของสายงานโดยตรงก็มีน้อย หลายสถาบันลดจำนวนคนเรียนในสาขาวารสารลงจึงมีการการปรับตัวเอาคณะวารสารศาสตร์ไปรวมกับ content creator ที่ทันสมัย คำว่า ข่าวกับ วารสารจึงหายไป แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการเรียน คือ ปัญหาการเงินเพราะการเรียนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ในมุมสื่อมองนักศึกษาว่า เด็กบางคนยึดความคิดยึดตัวเองเป็นหลักไม่สนสิ่งอื่น ไม่เปิดรับหรือสนใจสังคม เอาตัวอยู่ในออนไลน์ตลอด อดทนน้อย ไม่มีความรับผิดชอบ ไร้ระเบียบ แต่จุดเด่นมีความสามารถสูงด้านเทคโนโลยี แต่ยังไม่รู้ตัวเองว่าถนัดอะไรสเปคที่สื่อต้องการ คือ พร้อมเรียนรู้ พร้อมพัฒนาตัวเอง ไม่อคติว่าทำงานกับคนรุ่นเก่าแล้วทุกอย่างแย่ ต้องการคนที่มีความเก่งเฉพาะด้านๆใดด้านหนึ่ง เช่น เก่งเขียน แต่ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานอื่นๆในงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจภาพรวมของงานและองค์กร และชอบการเขียนคอนเทนต์ที่แตกต่างแต่แฝงแนวเชิงธุรกิจสร้างสรรค์” อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าว
ภาวะข่าวปลอม ข้อมูลผิด
ดร.สุดารัตน์ เล่าว่า จากการระดมสมองมีการพูดถึงสถานการณ์สื่อว่า สื่อปรับเปลี่ยนเป็นข่าวออนไลน์มากขึ้น แม้จะรายงานได้เร็ว แต่ก็พบจุดอ่อน เช่น พอเป็นข่าวออนไลน์ทำให้ระบบบรรณาธิกรหรือการตรวจสอบหายไป กล่าวคือ การอัพข่าวขึ้นแม้จะเร็วและแก้ได้เรื่อยๆ แต่ก็มีลักษณะประมาท ความผิดพลาดจึงพบเห็นบ่อย ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ต้องมีการประชุมเช้า บ่าย มีขั้นตอนเยอะ เราจึงเห็นมีการพูดว่า Fact Checker , Vertication หรือ การตรวจสอบพิสูจน์ความจริง
ส่วนที่มันหายไป คือ ข่าวออนไลน์ขาดความลึก ไม่มีข่าวสืบสวน ส่วนตัวเห็นว่า พอความสนใจเปลี่ยน ประเด็นข่าวก็เปลี่ยนเร็วตาม ไม่เจาะเรื่องเดิมแล้ว การเกาะติดประเด็นให้สุดจึงหายไประหว่างทาง ขณะเดียวกันก็มีสื่อพลเมืองเข้ามามาก ที่เป็นสื่อพลเมืองมีจริยธรรมมีระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปที่สามารถเป็นสื่อได้จะไม่คำนึงถึงส่วนนี้มากนัก สุดท้ายประชาชนเองแยกแยกไม่ออกว่า ข้อมูลมาจากไหน ใครเขียน เกิดภาวะข่าวปลอม ข้อมูลผิด หรือ Fakenews ที่เยอะขึ้น ขณะที่สื่อเองก็มี Clickbait ให้เข้าไปอ่านคล้ายกับคนที่ปล่อยข่าวปกติ เมื่อผสมกันทำให้สังคมสับสนมากขึ้น
ในส่วนความร่วมมือระหว่างนักวิชาการกับนักวิชาชีพควรทำอย่างที่เคยมี เช่น การสร้างเครือข่าย อย่างแต่ก่อนสมาคมนักข่าวฯ เคยเอานักวิชาการมาศึกษาดูงานในองค์กรสื่อ ฝังตัว ตรงนี้ก็เป็นการเชื่อมต่อกัน ขณะเดียวกัน ฝั่งวิชาการต้องพัฒนาเครื่องมือวิจัย สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ คือ ต้องเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง อาจมีเรื่องของบทเรียนออนไลน์ที่ส่วนของวิชาการจะทำได้ และตรงนี้วิชาชีพก็สามารถเชื่อมได้ เช่น ไทยพีบีเอสเชื่อมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สวนสุนันทาเชื่อมกับพีพีทีวีสามารถจัดเป็นกลุ่มผลิตงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมได้ ในส่วนของวิชาชีพก็สามารถทำค่ายกิจกรรม ทำโครงการพิราบน้อย ให้โอกาสในการฝึกงาน พัฒนาร่วมกันกับสถาบันวิชาการ
ต้องรู้เท่าทัน- ผสมศาสตร์ใช้งานจริง
ประเด็นสำคัญ หลักสูตรวารสารศาสตร์ในอนาคตจะไปทิศทางไหน ดร.สุดารัตน์ สรุปว่า ความรู้พื้นฐานด้านวารสารศาสตร์ทั่วไปยังต้องมีอยู่ เช่น การเล่าเรื่อง หลักจริยธรรม การอ้างอิงกฎหมาย ความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว แต่เนื่องจากปัจจุบันสื่อมีการเขียนข่าวรูปแบบใหม่ การเล่าเรื่องในโซเชียลมีเดียมีหลากหลายรูปแบบต่างจากสมัยก่อนเรามีแพล็ตฟอร์มไม่เยอะ มีหนังสือพิมพ์ ทีวี ดังนั้น ความรู้ที่เพิ่มเติมมาคือ ทฤษฎีการการเรียนการสอนที่ต้องมี News Gathering บวกกับ Fact Checking แต่ก็มีคีย์เวิร์ดใหม่ตัวหนึ่ง นอกจาก Media Literacy แล้วยังมี Algorithm Literacy คือ ต้องรู้เท่าทันเข้าใจมันเพราะสิ่งที่คนเห็นในสื่อส่วนใหญ่ทุกวันนี้มันเกิดจากกระบวนการ algorithm ไม่ใช่แปลว่าสังคมเห็นแบบนี้ทั้งหมด ดังนั้น อย่าไปเชื่อเพราะเราเห็น
นอกจากนั้นวารสารศาสตร์ในอนาคต ยังต้องมีความรู้ประกอบในเชิงกว้าง คือ บริบททางสังคมที่ยังจำเป็น ไม่ว่าเรื่องมนุษย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทรนด์ โปรแกรมมิ่ง หรือ โค้ดดิ้ง ส่วนมิติเชิงลึกที่ไปประยุกต์ใช้ เรายังสามารถเอาศาสตร์นิเทศไปรวมกับศาสตร์อื่นได้ เช่น เราอาจเรียนนิเทศเพื่อไปสื่อสารทางการแพทย์ หรือ เกี่ยวกับกีฬา เศรษฐกิจ การเกษตร สื่อสารชุมชน เช่น เป็นเอ็นจีโอสื่อสารประเด็นเชิงพื้นที่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงคือ นอกจากรู้เท่าทัน ยังต้องรู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร ไปผสมกับศาสตร์แบบไหน แล้ววิเคราะห์ออกมาเข้าใจได้ ทำการตลาดต่อได้ หรือ Digital Marketing และ Data Analytic
สำหรับ ผู้เรียน นักศึกษา การฝึกทักษะด้านสื่อเพื่อประกอบอาชีพนำทฤษฎีมาใช้ได้จริง ต้องฝึกในสถานประกอบการ ทักษะที่จำเป็น คือ การปรับตัว ทำงานร่วมกันระหว่างทีม ระหว่างวัย สิ่งสำคัญ คือ การเข้าใจผู้อื่นเพราะเด็กส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เพราะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ ยุคใหม่ถ้าจะก้าวหน้าในอาชีพการงาน นอกจากต้องมีความคิดเชิงกลยุทธ์ เช่น วางระบบให้ดี ลงทุนน้อยประสิทธิภาพสูง ซึ่งตรงนี้ทั้งนักเรียน นักวิชาชีพ รวมถึงองค์กรล้วนต้องมี แต่ต้องไม่ใช่น้ำล้นแก้ว ต้องมองแง่บวกพลิกแพลงสถานการณ์ไป อย่าคิดว่าอะไรก็ทำไม่ได้ ต้องคิดถึงโอกาสมากกว่า ข้อจำกัดของตัวเอง
อาชีพใหม่ของคนทำสื่อ
ประเด็นสำคัญเรื่องอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสื่อยุคใหม่ ดร.สุดารัตน์ สรุปว่า ลักษณะงานที่จะตอบโจทย์ หากจำแนก เช่น กลุ่มที่ทำ content เน้นข้อมูล สื่อสารเฉพาะประเด็น เช่น สื่อสารการกีฬา สื่อสารสุขภาพ หรือ สื่อสารเชิงท้องถิ่น เช่น สื่อชุมชน เอ็นจีโอ และ สื่อสารเทคโนโลยี เช่น เป็นนักข่าวโซเชียลมีเดีย นักข่าวติ๊กต๊อก หรืออาชีพคนทำ content มาวิเคราะห์ต่อเป็นพวกผู้เชี่ยวชาญที่เน้นด้าน Platform Specialist คนวิเคราะห์ Social Media หรือ Data Science, Data Analytic ว่าผู้บริโภคชอบอะไร กดไลค์ส่วนไหนมากที่สุด ตาของคนเวลามองหน้าจอ มองจากมุมบนหรือล่าง ซ้ายไปขวา เห็นภาพหรือเห็นข้อมูลก่อน เป็นต้น
อีกกลุ่มอาชีพ นอกจากเกี่ยวกับวารสาศาสตร์แล้วเป็นพวก Fact Checker ตรวจสอบข้อมูลหรือภาพว่า ของจริงของปลอม หรือ พวก Cyber Psychologist ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์บนโซเชียลมีเดีย หรือ พวก Media Researcher วิจัยสื่อสารมวลชน
กลุ่มงานสุดท้าย คือ หารายได้ให้องค์กรเพื่อความอยู่รอด เช่น Fund raiser คนที่หาทุน เขียนแผนงาน เช่น ระบบการทำข่าวสืบสวนในฟิลิปปินส์เขาก็จะขอทุนจากองค์กรใหญ่ หรือ ศูนย์ข่าวอิศราก็ต้องมีทีมงานหาทุน หรือย่อยลงไปทำ Fan Club & Community Management คือในแง่ของกีฬาก็เหมือนเป็นการแสดงแบบหนึ่ง เป็นกระบวนการสร้างศิลปินกีฬา เช่น ถ้ายิงประตูเข้า จะดีใจด้วยท่าไหน ทุกคนต้องมีอัตลักษณ์บางอย่างเพื่อขายได้ องค์ประกอบของ casting คือ นักกีฬาหล่านี้จะมีคนหน้าตาดีกี่คน เก่งด้านไหนกี่คน หรือออกสื่อเก่งกี่คน ซึ่งตรงนี้สามารถจัดการได้หมดเพราะธุรกิจกีฬามีเงินสะพัดเยอะมาก การลงทุนกับนักกีฬาที่เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องหน้าตาดีด้วย เพื่อให้มีแฟนคลับมาก
ส่วนนี้องค์ประกอบของวารสารศาสตร์ทำได้ โดยใช้ Marketing & Advertorial Management เพื่อหารายได้เหมือนองค์กรสมัยใหม่ที่ต้องเขียนทั้งบวกและลบ มีที่มาที่ไปให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจในเนื้อหาโฆษณาอย่างนี้เป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ภาพบวกฝ่ายเดียว
“ในอาชีพที่เราทำ มันก็ต้องมีรายได้ ต้องสร้างอาชีพ แต่ทุกอย่างต้องมีแพสชั่น มิฉะนั้นงานที่เราทำก็ไม่ดี แต่เราก็ต้องฝึกคนให้รักในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่รักอย่างเดียว” ดร.สุดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย