เคลื่อนไหวรวมตัว ยกเลิกปร.42 อีกหนึ่งฉากสำคัญ คนข่าว-นักนสพ. รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเสรีภาพสื่อ

“ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย -อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ “ที่เป็นอดีตคนข่าว-คนหนังสือพิมพ์จาก”ค่ายไทยรัฐ”

สำหรับช่วงการเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ที่ตอนนั้น ยังไม่รวมกับสมาคมนักหนังสือแห่งประเทศไทย จนเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แบบปัจจุบัน สถานการณ์สื่อในช่วงนั้นเป็นอย่างไร และการขับเคลื่อนของสมาคมนักข่าวฯในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้าง “ปราโมทย์” เล่าให้ฟังว่า เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงปีพ.ศ.  2536 - 2537 แต่ก่อนหน้านั้น ก็เข้าไปเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวฯอยู่ก่อน ทำให้รู้จักคนที่เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ อีกทั้ง ในอดีต นักข่าวไม่ได้มีมากมายเหมือนปัจจุบัน เลยทำให้นักข่าว นักหนังสือพิมพ์แต่ละสังกัด จะมีความสนิทสนม คุ้นเคยกัน เรียกได้ว่ารู้จักกันทุกฉบับ

สำหรับช่วงที่เข้าไปเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ เป็นช่วงที่ยังไม่ได้มีการรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ จนเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแบบปัจจุบัน

...ช่วงที่ผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ตอนนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนกับรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2535/2  โดยก่อนหน้านั้น การเคลื่อนไหวที่สำคัญของกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็คือการเคลื่อนไหวที่ทำให้สุดท้าย มีการยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร. 42 (เป็นคำสั่งที่ออกมาหลังเหตุการณ์  6 ตุลา 2519 ที่ให้อำนาจปลัดกระทรวงมหาดไทยในการสั่งปิดหนังสือพิมพ์)

ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ปีพ.ศ. 2536,2537

“ปราโมทย์”เล่าต่อไปว่า โดยช่วงที่ยังมีการใช้ประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 42 ทางสมาคมนักข่าวฯและ องค์กรวิชาชีพสื่อในยุคนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกปร. 42 จนทำให้ต่อมารัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศยกเลิกปร. 42 และต่อมาเมื่อมาถึงยุคที่ผมเข้ามาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ช่วงดังกล่าว  สถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม  เริ่มกลับมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังหมดยุคคณะรสช.ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ  โดยมีการจัดเลือกตั้งใหญ่ในปี 2535 (เลือกตั้ง 35/2) และหลังเลือกตั้ง ได้รัฐบาลชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการทำงานก็เริ่มเบาบางลง สถานการณ์โดยรวมค่อนข้างสงบนิ่ง นักการเมือง ก็ไม่ค่อยเข้ามาเข้มงวดกับสื่อ และหนังสือพิมพ์เหมือนก่อนหน้านั้น

ปราโมทย์-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ”บอกว่าช่วงที่ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ทางสมาคมนักข่าวฯช่วงนั้นก็ไปเน้นหนักเรื่อง”การพัฒนาด้านวิชาชีพ”ให้กับสมาชิกสมาคมฯ และคนที่ทำงานด้านสื่อ-หนังสือพิมพ์มากขึ้น ตอนนั้น ก็เริ่มมีการขยับขยายสถานที่ตั้งของสมาคมนักข่าวฯ เพราะก่อนหน้านี้อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ก็เริ่มคับแคบ รองรับคนได้ไม่มาก  เพราะยุคนั้น นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ กรรมการสมาคม ก็มีการนัดประชุมกันในโอกาสต่างๆ มีการจัดสัมมนา รวมถึงยังเป็นสถานที่ซึ่งนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ก็ใช้ที่ทำการของสมาคมนักข่าวฯ ตรงถนนราชดำเนินยุคนั้น เป็นที่นัดพบปะสังสรรค์ มาพูดคุยกัน รวมถึงใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ กันที่สมาคมนักข่าวฯตรงถนนราชดำเนินกันมากขึ้น

เมื่อเห็นว่าสถานที่ตั้งเดิม เริ่มคับแคบ จึงมีการปรับปรุงขยายสถานที่ จนสมาคมนักข่าวฯ สามารถจุคนได้มากขึ้น ก่อนที่ต่อมาจะมีการย้ายที่ตั้งของสมาคมนักข่าวฯ ไปอยู่ที่อื่น(ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ) เพื่อรองรับการทำกิจกรรมต่างๆ โดยในช่วงการปรับปรุงสถานที่สมาคมนักข่าวฯที่ถนนราชดำเนิน รวมถึงในช่วงเตรียมหาสถานที่ตั้งสมาคมนักข่าวฯแห่งใหม่ ยุคนั้นก็มีหาทุนมาเพื่อหาสถานที่ตั้งใหม่ของสมาคมนักข่าวฯให้มีพื้นที่มากขึ้นเพื่อจะได้ทำกิจกรรมต่างๆเช่นการจัดอบรมต่างๆ ที่มีคนมาคอยให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ

รวมถึงช่วงนั้นก็มีการเริ่มกิจกรรมการเชื่อมความสัมพันธ์กับองค์วิชาชีพสื่อประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพสื่อในภูมิภาคอาเซียนให้มีมากขึ้น เช่นสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน ก็มีการไปเยี่ยมเยียนพบปะกัน รวมถึงเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพสื่อของอาเซียนในประเทศต่างๆ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน เช่น ทางนั้นเขาก็ส่งคนเข้ามาเรียน มาฝึกอบรม ในกิจกรรมที่สมาคมนักข่าวฯยุคนั้นจัดขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อต่างประเทศ ก็รู้จักสมาคมนักข่าวฯ ของไทยมากขึ้น  ตลอดจนเน้นหนักเรื่องการให้สวัสดิการกับสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯให้มากขึ้น ช่วงที่ผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯตอนนั้นก็จะเน้นหนักงานลักษณะดังกล่าวมากกว่า

สำหรับเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิก”ปร.42”เป็นอีกหนึ่งฉากการเคลื่อนไหวขององค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่น่าบันทึกไว้เพราะเป็นการรวมตัวกันแบบเป็นเอกภาพ ของคนในวงการนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ที่ต้องการให้ยกเลิก ปร. 42 จนสุดท้ายประสบความสำเร็จ เราเลยถาม”ปราโมทย์-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ”เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงดังกล่าว ซึ่งเขาบอกว่า

“การเคลื่อนไหว ปร. 42 ผมไม่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวแบบเต็มตัวมากนัก จะเป็นการเคลื่อนไหวของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ ที่ร่วมเคลื่อนไหวกันมาเช่น พี่มานิต สุขสมจิตร พี่บัญญัติ ทัศนียะเวช พี่วิภา สุขกิจ

 ตอนนั้นเราก็เป็นฝ่ายสนับสนุน เพราะนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ก็ต้องสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกปร. 42 อยู่แล้ว ช่วงนั้นก็มีการเคลื่อนไหวกันต่อเนื่อง เช่นไปที่รัฐสภา พบบุคคลต่างๆ เรียกได้ว่ายุคนั้น การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของพวกเราเอง ได้รับความร่วมมือร่วมใจกันที่เป็นเอกภาพเห็นด้วยเหมือนกันหมดให้ยกเลิก ปร. 42 “

“ปราโมทย์-อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย”ย้ำว่า เรื่องการให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งต่างๆที่ออกมาเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ไม่ว่านักการเมืองยุคไหน ต่างก็ไม่อยากจะคืนอำนาจที่เขามีอยู่ให้กับสื่อต่างๆ เพราะยิ่งควบคุมสื่อได้มาก มันก็ยิ่งดีสำหรับเขา การทำรัฐประหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน พอทำเสร็จ สื่อก็จะเป็นเป้าทุกครั้งเรียกได้ว่าเข้ามา สื่อก็โดนก่อนเลย มีการปิดอะไรต่างๆ มีความพยายามออกคำสั่งต่างๆมาควบคุมสื่อ ยุคอดีตหนังสือพิมพ์มักจะโดนกันทั้งนั้น เพราะวิทยุ กับโทรทัศน์ ยุคอดีตเป็นสื่อของรัฐหมด จึงไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ไม่เหมือนกับยุคนี้ เพราะสมัยก่อน วิทยุ-โทรทัศน์ทั้งหมด ต้องเป็นของรัฐทั้งหมด การเสนอข่าวต่างๆ คนที่กุมอำนาจรัฐไว้แต่ละช่วงก็เป็นผู้กำหนดไว้อยู่แล้ว ก็มีแต่หนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้เป็นของรัฐ เพราะอย่างเวลามีเหตุการณ์อะไรต่างๆ ที่สำคัญ เช่น มีการทำรัฐประหาร คนก็แย่งกันซื้อหนังสือพิมพ์อ่านกันทั้งนั้น ขายกันไม่ทันคนซื้อ

“อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย-อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”ย้ำว่า มีความจำเป็นและเป็นเรื่องที่เห็นด้วยที่วิชาชีพสื่อ จะต้องมีองค์กรวิชาชีพสื่อ เพราะการมีองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นสิ่งที่ดี อย่าลืมว่าสื่อต่างๆ อย่างหนังสือพิมพ์ ก็เป็นสื่อกลาง ที่สะท้อนความคิดความต้องการของประชาชนไปถึงรัฐบาล และรัฐบาลมีอะไร เราก็ส่งบอกไปถึงประชาชน สื่อก็คือ”ตัวกลาง”ให้ประชาชนรับรู้ โดยการนำเสนอข่าวสารของสื่อในยุคก่อนหน้านี้ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ เรานำเสนอตามข้อเท็จจริง เราไม่มีการใส่ความคิด-ความเห็นลงไปในข่าว ผิดกับสมัยปัจจุบัน ข่าวเรื่องเดียว แต่สื่อต่างๆเช่นทีวี นำข่าวมาวิพากษ์วิจารณ์ ใส่ความเห็นลงไปในข่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องของยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป

“ยุคก่อน เราถือว่าข่าวก็คือข่าว ไม่มีความคิดเห็นเกิดขึ้นในข่าว หากจะเป็นความคิดเห็นในข่าว เราเรียนกันมาตลอดว่า การใส่ความเห็นไปในข่าวมันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การจะมีความคิดเห็น หรือจะใส่เรื่องการวิเคราะห์อะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องของบทความ ความเห็นของคอลัมน์นิสต์ที่จะใส่ความคิดเห็นเข้ามา ข่าวจะไปใส่ความเห็นไม่ได้ แต่ยุคนี้มันได้หมด ยุคนี้หากไม่ใส่ความเห็นไป คนก็ไม่สนใจ มันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่ความเร็วของข่าวแตกต่างกันมาก เช่นเดียวกับคนอ่านข่าวปัจจุบันก็แตกต่างจากสมัยก่อน”

  ...ดังนั้นเมื่อมายุคปัจจุบัน สื่อก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น  ความรับผิดชอบต่อสังคมมันก็ยิ่งสูง เพราะหากสื่อทำไม่ดี กระแสไม่ยอมรับก็จะตามมา การรวมตัวกันแล้วเราควบคุมดูแลกันเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างปัจจุบันก็มีองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลอยู่ โดยเน้นเรื่องจริยธรรม เป็นหลักเพื่อให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ให้มีใครไปบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ อย่าหิวแสงกันมาก

“ปราโมทย์-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ”ก่อนถึงบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ ต่อจากนี้ในยุคสมัยที่บริบทสื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากว่า การรวมกลุ่มกัน การร่วมมือกันเอง ผมมองว่าสำหรับสื่อเขามีข้อปฏิบัติ มีเรื่องของจริยธรรม เช่นการนำเสนอข่าวสารควรทำอย่างไร ซึ่งก็อยากเห็นองค์กรวิชาชีพสื่อ ทุกแห่งเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ประชาชนมั่นอกมั่นใจและเชื่อถือ ไม่ให้มีสื่อที่เอาความเป็นสื่อไปแสวงหาผลประโยชน์ ทำอะไรนอกลู่นอกทาง ทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไปสร้างข่าวเมกข่าว เราก็ต้องการให้สื่อด้วยกันเอง ยอมรับและดูแลควบคุมกันเอง

“การควบคุมกันเองได้ เราก็ต้องอยู่ในกฎ ระเบียบ ในสิ่งที่พวกเรากันเองได้วางเอาไว้ ให้มันถูกต้องและทุกคนก็ปฏิบัติไปแบบนั้น เพื่อให้เกิดผลกับส่วนรวมสำหรับองค์กรสื่อของพวกเรา”

...ด้วยการที่สื่อปัจจุบันมีหลากหลาย เช่นปัจจุบันก็มีเว็บไซด์ข่าวอะไรต่างๆ การที่จะให้องค์กรวิชาชีพด้านสื่อ ทำงานแล้วเป็นที่ถูกอกถูกใจของแต่ละคน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคน ทุกองค์กร ทุกสื่อ ก็ไม่อยากให้มีใครมาควบคุม แม้ว่าการควบคุมจะเป็นสิ่งที่ดี แต่เพื่อให้ผลออกมา เป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับและเชื่อถือกับสื่อ คนทำสื่อเองก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ตามกฎ กติกา และหลักจริยธรรม เพราะจะทำให้สังคมยอมรับสื่อมากขึ้น ความเชื่อถือของสื่อมีมากขึ้น

“ปราโมทย์”กล่าวทิ้งท้ายถึง การที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ครบรอบ 68 ปีของการก่อตั้ง นับตั้งแต่ยุคสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยว่า 68 ปี ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันว่า หากเป็นคน ก็ถือว่าผ่านมาค่อนชีวิตแล้ว ก็ถือว่าอยู่มายาวนาน จนเราได้เห็นสิ่งต่างๆ มามากในการเป็นสื่อ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้เห็นรัฐบาลเปลี่ยนมาหลายรัฐบาล มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงดังกล่าว ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อเช่น ถูกฝ่ายรัฐบาลสั่งปิดสื่อ ได้เห็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ มีการเคลื่อนไหวเพื่อปลดล็อกการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมาตามลำดับภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนาน

“การเดินหน้าต่อไป ของสมาคมนักข่าวฯ ในช่วงต่อจากนี้ไป ผมคิดว่าก็ต้องไปในทางสร้างสรรค์ ให้สังคมได้เห็น และสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อได้เห็นว่า เราควรจะทำอะไรให้กับองค์กรของเราบ้าง ทำอะไรให้กับสื่อบ้าง เราจะมีร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการคิด และการทำ ถ้าพวกเรามีความมุ่งมั่น มีความเชื่อมั่นในวิชาชีพนี้ ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเราทุกคน  เพราะไม่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แพลตฟอร์มสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์อะไรต่างๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่วิชาชีพสื่อ มันมีแต่จะมากขึ้น ผมจึงเชื่อว่าอาชีพสื่อ ไม่มีวันสูญหาย มันมีแต่สำคัญมากขึ้น"

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566