สื่อมืออาชีพยิ่งจำเป็น ในสถานการณ์การเมืองคุกรุ่น

รายงานพิเศษ

________________________________________

โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน 

--

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ผ่านมาได้สองสัปดาห์ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวแปรต่างๆ เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ปมคุณสมบัติแคนดิเดทนายกฯ ขณะเดียวกันสิ่งที่พบคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนได้ส่งเสียงผ่านสื่อสังคมหลากรูปแบบ ทั้งสื่อบุคคล อินฟูเอ็นเซอร์ เป็นพลังประชาธิปไตยกำหนดกระแสขับเคลื่อน โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งกับประเด็นต่างๆ จนเกิดอารมณ์วิวาทะหลากหลาย   

ขณะที่สื่อกระแสหลักนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวพรรคการเมือง นโยบายหาเสียง การจัดเวทีดีเบต สูตรตั้งรัฐบาล แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่า บทบาทที่ทำอยู่นี้ไม่ได้กำหนดวาระข่าวสารทางสังคมอย่างที่เคยโดดเด่นเหมือนในอดีต ไม่เท่านั้น สื่อกระแสหลักจำนวนไม่น้อยยังปักลึกเลือกข้าง ตีความ “ความถูกต้อง -ประชาธิปไตย” ในแบบฉบับที่แตกต่างกันออกไป 

--

ข้อสังเกตุข่าวเลือกตั้ง

อย่ามี วาระซ่อนเร้น

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้มุมมองการทำหน้าที่สื่อในการรายงานข่าวเลือกตั้งจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อใหญ่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ ซึ่งสื่อหลักมีผู้รับสารมากและมีอิทธิพลทางความคิดสูง แต่ก็มีสื่อหลักส่วนหนึ่งนำเสนอข่าวสารที่เอื้อประโยชน์ต่อหมู่คณะหรือบุคคล หรือ พูดตรงๆ ต่อพรรคการเมืองหรือต่อนักการเมือง แม้จะเป็นข่าวเพราะอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เลือกนำเสนอด้านเดียว ตรงนี้จึงเป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงที่มีการเจรจาต่อรองประโยชน์ของนักการเมืองเพื่อให้ได้อำนาจซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ  

“สิ่งที่หายไป คือ ความสมดุล เกิดความไม่รอบด้านจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ใจในการกำหนดวาระข่าวสารของสื่อนั่นเอง”

บรรยงค์ ยกตัวอย่างว่า หลังเลือกตั้งมีเหตุการณ์หนึ่งที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายไปพบกับสภาอุตสาหกรรม หลายสื่อรายงานถึงการพูดคุย แต่มีบางสื่อรายงานตรงกันข้ามแบบยกย่องนักการเมืองว่า สภาอุตสาหกรรมมีมติเป็นเอกฉันท์ชื่นชมแคนดิเดทนายกฯ รู้จริงด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่วันนั้นไม่ได้เป็นการประชุม แต่เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน นี่แค่ตัวอย่างเดียว

บรรยงค์ กล่าวว่า สื่อมีหน้าที่กำหนดวาระข่าวสารทางสังคม ที่มีการพูดเรื่องความเป็นกลาง มันเป็นเรื่องยาก แค่เรียกว่าจะเสนออะไรก็ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้รับสารที่ต่างกันได้อยู่แล้ว แต่คนทำสื่อจะมืออาชีพ หรือไม่อยู่ที่การกำหนดวาระข่าวสารโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่ โดยเฉพาะทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งประชาชนจะได้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริงแค่ไหน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือ นักการเมือง  

อีกประเด็นสำคัญ  วันนี้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ได้ขยับมามีบทบาทในการกำหนดวาระข่าวสารแล้ว เขาสามารถสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับ UGC  (User Generated Content)  ในทางนิเทศศาสตร์เราเทียบเคียงได้กับการกำหนดวาระข่าวสาร แล้วคนทำสื่อก็นำไปใช้เป็นข่าว ประเด็นอยู่ที่ว่า คนทำสื่อนำไปใช้อย่างไร โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง สิ่งที่พบคือ สื่อหลักบางสื่อมีการนำไปรายงานด้านเดียวเหมือนเดิมและไม่ได้นำไปสืบค้นต่อ ซึ่งบางเรื่องต้องการคำอธิบายมากกว่า รายงานว่าเกิดอะไรขึ้น เช่นว่า เรามีบทเรียนเรื่องนี้อย่างไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร  

ขณะเดียวกัน ในช่วงเลือกตั้ง เราพบว่า นักการเมืองใช้สื่อออนไลน์หาเสียงเข้มข้นมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นก็มีความฮือฮาอยู่แล้วที่บางพรรคใช้สื่อออนไลน์มาเป็นประโยชน์  แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มันเข้มข้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด นักสื่อสารการเมือง สร้างสารผ่านทุกช่องทาง หมายความว่า นักการเมือง พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารแล้วสื่อก็ไปตาม บางเรื่องตามจนเป็นกระแส บางเรื่องก็ตามแบบฝ่ายเดียว  โดยสื่อจะให้เหตุผลว่า งานเยอะมากจึงตามได้เป็นกระแสรายวันถือว่าทำหน้าที่ครบแล้ว แต่ก็มีบางสื่อใช้กำหนดสร้างวาระข่าวสารทางสังคมเหมือนกันพร้อมกับการตามกระแสควบคู่ไป

“ถามว่า การเลือกตั้งที่ออกมาแล้ว เกิดประเด็นขัดแย้งอย่างที่เห็น ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง การรายงานข่าวครั้งนี้มีเรื่องกระแส ความนิยม มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เพราะพรรคการเมืองก็ต้องมีหน้าที่สร้างกระแส แต่คำถามคือ สื่อได้ทำหน้าที่สมดุลแล้วหรือไม่ เช่น หลังเลือกตั้ง มีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กัน มีการเดินสายพบภาคเอกชน แล้วก็พบว่า คำสัญญาบางอย่างที่ให้ไว้อาจจะยากที่นำมาปฏิบัติ เช่น ผู้สูงอายุอาจผิดหวังที่ไม่สามารถเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุได้  แรงงานก็ผิดหวังที่อาจไม่ได้ขึ้นค่าแรง  คำถามก็คือ มีสื่อกี่สื่อ ที่หยิบนโยบายการหาเสียงแล้วนำเสนอ หานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ ซึ่งก็มีอยู่ แต่ก็ไม่กี่สื่อ”  บรรยงค์ กล่าว  

ข้อสังเกตุสุดท้าย ที่นักวิชาการผู้นี้ สรุปไว้คือ  ยิ่งสื่อบุคคลที่เป็นผู้ใช้ทั่วไปมีมากเท่าไร หรือเป็น UGC กันหมด  ประชาชนยิ่งต้องพึ่งสื่อหลัก นี่คือ ความรับผิดชอบของสื่อมืออาชีพอย่างแท้จริงที่ต้องมีมากขึ้น  

เขาขยายความว่า คนในองค์กรสื่อหลักเขาจะมีสื่อส่วนตัวกัน ซึ่งเป็นดาบสองคม เพราะเวลาโพสต์อะไรและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ก็จะบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกันคนรู้จักเขาในฐานะสังกัดองค์กร  ดังนั้นอยู่ที่เขาว่าจะใช้วิจารณาณอย่างไร  หรือ การนำเสนอของสื่อออนไลน์ ที่ใช้ภาษาคอนเท้นท์ง่ายๆ ที่โดนใจ แล้วก็มีใส่เครื่องปรุง มีสีสัน มีคนตำ พอใช้ไป คนผู้บริโภคอาจจะชอบ ถ้าใจตรงกัน แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าอย่างไร ผู้บริโภคก็ต้องกลับเข้าหาสื่อหลักอยู่ดี เพราะเขาต้องการหาข้อเท็จจริง  

เลือกข้างต้องประกาศให้ชัด 

อิงแอบจะอันตราย 

ส่วนประเด็น สื่อเลือกข้างแบ่งขั้วที่เกิดมาหลายปีและเข้มข้นหนักขึ้น ควรประกาศให้ชัดไปหรือไม่ว่า สนับสนุนพรรคการเมืองนี้เหมือนในต่างประเทศ  บรรยงค์ กล่าวว่า เห็นด้วย ถ้าสื่อนั้นบอกว่า ตัวเองอยู่ข้างไหนให้ชัดเจน เพราะผู้รับสารจะรู้ได้ทันทีว่า สื่อสำนักนี้ ช่องนี้ ฉบับนี้ ชอบพรรคนี้ แล้วก็รักที่สื่อนั้นไปชอบพรรคนี้ จึงปิดกั้นการรับฟังข่าวสารด้านอื่น แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่สื่อนั้น ไม่ประกาศให้ประชาชนรู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราควรจะถกแถลงให้เป็นเรื่องราว 

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา มีวอชิงตันโพสต์ นิวยอร์คไทม์ หรือ สำนักอื่นเขาจะดูนโยบายพรรคการเมืองนั้นและประกาศเลยว่า จะสนับสนุนพรรคนี้ แม้แต่ในบทบรรณาธิการจะเขียนชัด เพราะพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา เวลาจะชูนโยบายอะไร จะมีการนำนโยบายนั้นมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ความสมเหตุสมผลต่างๆ  แต่ของไทยไม่ใช่

สื่อประกาศทางอ้อมได้หรือไม่ผ่านการนำเสนอเนื้อหา ถึงความชอบเฉพาะบางพรรค ให้ประชาชนเข้าใจเองว่าสนับสนุนพรรคไหน บรรยงค์ กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น มันอันตราย เพราะเป็นการกำหนดวาระข่าวสารที่มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ใจตั้งแต่พาดหัวแล้วมันกระทบปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ ดังนั้น สื่อควรประกาศออกมาให้จบไป ไม่ควรมาครึ่งๆ กลางๆ  ทั้งนี้ หน้าที่ของคนทำสื่อ นอกจากนำเสนอข่าวแล้วก็คือ ชี้นำ จะแสดงความเห็น โน้มน้าวผู้รับสารอย่างไรเป็นสิทธิ์ของคุณ คอลัมนิสต์จะเขียนอย่างไรก็ว่าไป เพราะบายไลน์ชื่อเขา เป็นความรับผิดชอบ แต่กับข่าวไม่ได้  ข่าวต้องมีสมดุล มีข้อเท็จจริง แล้วยังมีอะไรที่ต้องตามต่ออีก กับคำว่า “แล้วไงต่อ”  

“ผมขอเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อว่า อย่าได้กำหนดวาระอะไรที่ไม่บริสุทธิ์ใจในข่าว ยิ่งข้อมูลข่าวสารมันมีความสำคัญกับสาธารณะมากเท่าใด และยิ่งมันมีการใช้อารมณ์ในสื่อสังคม มากเท่าไร  ทำให้สังคมไม่ได้ รับข้อเท็จจริง สื่อหลักยิ่งต้องมีความสำคัญ และมีความรับผิดขอบเพิ่มมากขึ้น”  บรรยงค์ กล่าว 

UGC – ชาวด้อม โพลเรียลไทม์

เสียงสะท้อนของสังคม 

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ก่อนเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักมีบทบาทสูงจะเห็นจากการดีเบตและการให้ข้อมูลประชาชน แต่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากในการสะท้อนเสียงของคน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว กลับมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล มันก็เลยข้ามไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ที่เป็น UGC จึงสร้างอารมณ์บนความเห็นเป็นหลัก โดยเฉพาะตอนนี้ เราจะเห็นด้อมต่างๆ  ด้อมส้ม ด้อมแดง ที่สะท้อนว่า สังคมกำลังคิดอะไร และฟีดแบคกลับไปที่สังคมออนไลน์ จึงเกิดไวรัลขึ้นมา มีบทบาทสูงในการกดดัน ตรวจสอบ การจัดตั้งรัฐบาล 

“การเลือกตั้งครั้งก่อนเราจะไม่เห็นฟีดแบคอะไรแบบนี้ แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่คนในสังคมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกดดัน หรือ ทำแคมเปญธรรมชาติ ส่วนตัวมองว่าเป็นข้อดี เพราะจากเดิมที่การจัดตั้งรัฐบาลผสม มันขึ้นอยู่กับตัวนักการเมืองในการตกลงกันเอง แต่พอมีสื่อสังคมออนไลน์มันก็มีเสียงประชาชนที่สะท้อนกลับไปเรียลไทม์ ตรงนี้ดี เพราะเป็นปริมณฑลสาธารณะที่เหมือนการหยั่งเสียง ไม่ต้องทำโพลด้วยและรู้ว่า ตอนนี้สังคมคิดอย่างไร” 

แน่นอน อาจมีคำถามว่า  คนที่เข้าไปฟีดแบคต่างๆไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมไทย ก็อาจเป็นสังคมออนไลน์ แต่จากกลุ่ม DataHach ที่เขาเก็บข้อมูลมามันเห็นภาพว่า อารมณ์ของสังคมในออนไลน์สะท้อนอารมณ์สังคมใหญ่ได้ เพราะผลการเลือกตั้งมันออกมาแนวนี้พบว่า เกือบทั่วประเทศโหวตให้พรรคสีส้ม 

พิจิตราเห็นด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สื่อกระแสหลักกำหนดวาระข่าวสารทางสังคมได้น้อยลง เมื่อเทียบก่อนหน้ายุคที่ไม่มีสังคมออนไลน์ หรือ ยุคที่พรรคการเมืองใช้สื่อทีวีดาวเทียมส่งข้อมูลข่าวสารด้านเดียว แต่ช่วงหลังมานี้มีสื่อสังคมออนไลน์เติบโตขึ้นมาขณะที่สื่อกระแสหลักก็ไปเล่นในออนไลน์ด้วย จะเห็นว่า พอนักการเมืองพูดอะไรเสร็จมันก็เล่นกันต่อในโซเชียล เอามาล้อเลียน ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์แบบนี้อิทธิพลต่อการเมืองสูงมาก สรุป สื่อกระแสหลักมีอิทธิพลด้านการให้ข้อมูล แต่สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการโหวต

เลือกข้างไม่ว่า 

แต่อย่ายั่วยุ ไล่ให้ไม่มีที่ยืน  

สื่อยังต้องวางตัวเป็นกลางหรือไม่ หรือ หมดยุคสมัยที่ต้องเป็นกลางแล้วใช่ไหม?...  พิจิตรา มองว่า ถ้าเป็นรายการข่าวต้องเป็นกลาง กล่าวคือ ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง เว้นแต่รายการทอล์คที่อาจมีทัศนคติได้ อย่างในยุโรป สเปน อเมริกา รู้เลยว่าหนังสือพิมพ์หัวนี้อยู่พรรคอะไร แต่เวลาเขานำเสนอข่าวก็ยังเป็นข้อเท็จจริงอยู่ นอกจากรายการทอล์ค

“อย่างวันนี้เรารู้แล้วว่า มีสื่อเลือกข้างและเข้าข้างพรรคไหนแต่ท้ายสุดคงห้ามเขาที่จะมีความคิดไม่ได้  ข้อดีคือ คนรู้ว่า สื่อนี้สีอะไร อยู่พรรคไหน ประสบการณ์ของสังคมไทยที่เคยขัดแย้งเป็นเหลืองแดงทำให้เรารู้เท่าทันสื่อ ส่วนตัวจึงไม่ค่อยกังวลเท่าไร เวลาสื่อเขาเลือกข้างคนมองออก ...แต่สิ่งที่ต้องห้ามคือ ถ้าเลือกข้างแล้วนำเสนอให้ยั่วยุปลุกปั่น ให้เกิด hate speech เกิดความรุนแรงและให้อีกฝั่งไม่มีที่ยืน อันนี้ไม่ถูกต้อง”

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สื่อมืออาชีพมีอยู่เพราะด้วยจารีตของสื่อและประวัติศาสตร์  สื่อมักสนับสนุนสาย liberal สิทธิเสรีภาพ ความก้าวหน้า อยู่แล้วเพราะด้วยวิชาชีพสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังมา

“แน่นอนมันมีสำนักข่าวที่เลือกข้าง แต่พอสื่อโซเชียลเกิดขึ้นมากมายคนก็มีทางเลือกในการเสพ เช็คข้อมูล ก็หวังใจสำนักข่าวเลือกข้างแม้จะเกิดมาแล้วคนจะไม่เชื่อ เสียทีเดียว  แต่ทั้งหมดไม่ต้องคิดมาก สื่อเลือกข้าง หรือเป็นกลางแค่ไหน แค่สุดท้ายมันก็จะพิสูจน์เองว่า คุณอยู่รอดหรือไม่ ต้องไม่นำเสนอข่าวเท็จ หรือ ยั่วยุ ไม่ว่าคุณจะมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร” 

สื่อกระแสหลักที่ถูกลดบทบาทไม่ได้กำหนดวาระข่าวสารทางสังคมเหมือนในอดีตจะอยู่รอดอย่างไร พิจิตรา กล่าวว่า อยู่รอดได้ เราได้ทำวิจัยพบว่า สื่อกระแสหลักได้ย้ายถูกตัวเองไปอยู่ออนไลน์เป็นคู่ขนานเกือบหมดแล้ว ถึงแม้สื่อจะมีคู่แข่งด้วยกันเยอะแต่เวลาเกิดวิกฤตข่าวสารจนเกิดข่าวปลอม ประชาชนก็จะกลับมาที่สำนักข่าวหลักเพื่อตรวจสอบจริงหรือไม่ ดังนั้น เรื่องจรรยาบรรณของนักวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ก็ไม่ใช่ว่า ทุกสำนักข่าวจะอยู่รอด ยังต้องปรับตัวตาม business model ให้ตัวเองอยู่ได้

“ข่าวไม่ว่าจะอย่างไร ก็ยังอยู่ เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอด เมื่อเทียบกับละครที่โดนดิสรัปไปก่อนเพราะเด็กไม่ดูละครไทย แต่ดูซีรีย์สต่างชาติ ขณะที่ข่าวก็ยังดูอยู่ โดยเฉพาะความเป็นสำนักข่าวที่มีเครดิตที่เป็นตัวขายจะมีติดตามเยอะ คนก็กลับไปดูสำนักข่าวอยู่ดี” 

พิจิตรา กล่าวว่า งานวิจัยบางชิ้นพบว่า พวกสำนักข่าวออนไลน์อย่าง The Standard กลายเป็นสำนักข่าวที่ทำเงินเมื่อเทียบกับสำนักข่าวออนไลน์ในต่างประเทศกลายเป็นว่าของไทยอยู่ได้ค่อนข้างรอด ซึ่งถ้าดูของ The Standard จะเห็นว่า รายการข่าว ก็คือข่าวจริงๆ แยกจากเรื่องรายการอื่นซึ่งทำเงินได้เยอะมาก  ดังนั้น สื่อกระแสหลักอยู่รอดได้แต่ต้องปรับตัวเป็นออนไลน์และหาช่องทางวิธีการทำเงินในรูปแบบออนไลน์ให้ได้อย่างที่บอก

--