นักข่าวเสี่ยงตกงาน AIเขย่าวงการสื่อ

รายงานพิเศษ

________________________________________

โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน (นันทิยา วรเพชรายุทธ)

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวงการข่าวอาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก เราเคยได้ยินกันมาแล้วว่าวงการข่าวในต่างประเทศเริ่มใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเรื่องตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง หรือ Fact check มาตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2016 และมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถใช้เขียนข่าวที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก เช่น ข่าวด่วน Breaking News แต่ถึงอย่างนั้นการใช้ AI เขียนข่าวก็ยังไม่ได้สมบูรณ์หรือถึงขั้นแทนที่นักข่าวทั้งหมดได้

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวแชทบอท ChatGPT เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2022 ที่ผ่านมา ก็เริ่มสร้างความสั่นคลอนไปทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อ เพราะมันคือเอไอ เจน 3 หรือ Generative AI ที่สามารถสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาใหม่ได้เองจากชุดฐานข้อมูลที่มีอยู่ นั่นจึงทำให้มันสามารถ "เขียนข่าว" ขึ้นมาได้เอง เพียงแค่เราป้อนชุดคำสั่ง หรือ Prompt โดยใส่รายละเอียดเฉพาะบางอย่างเข้าไป มันก็จะสามารถเขียนข่าวชิ้นหนึ่งขึ้นมาได้โดยเรียนรู้จากฟอร์แมตข่าวเก่าที่มีฐานข้อมูลอยู่

และความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าจับตามองอย่างมากก็คือ เสิร์ชเอ็นจิ้นเบอร์ 1 ของโลกอย่าง Google กำลังเตรียมจะส่ง Generative AI ของตัวเองเข้ามาลงสนามข่าวด้วย กับเครื่องมือที่เรียกว่า "Genesis" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบและนำเสนอให้กับสำนักข่าวใหญ่ ๆ หลายแห่งอยู่ 

เรื่องนี้จึงกลายเป็นที่น่าจับตาว่า นี่จะเป็นการเพิ่มสปีดขยับเราให้เข้าใกล้สู่ยุคเอไอเขียนข่าวอย่างเต็มตัว และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้นักข่าวต้องตกงาน(อีกครั้ง) หรือไม่ หลังจากที่เคยถูกดิสรัปต์มาแล้วก่อนหน้านี้ในยุคแพลตฟอร์มโซเชียลและสื่อใหม่

Google เตรียมทดสอบเอไอเขียนข่าวอัตโนมัติ "Genesis"

Seattle, USA - Jul 24, 2022: The South Lake Union Google Headquarter entrance at sunset.

รายงานจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า เครื่องมือเอไอตัวนี้มีชื่อเรียกเป็นการภายในว่า "เจเนซิส" (Genesis) โดยจะทำหน้าที่ช่วยงานของนักข่าว ซึ่งทำได้ตั้งแต่การพาดหัวข่าว ไปจนถึงรวบรวมข้อมูล และเรียบเรียงออกมาเป็นบทความข่าวแบบต่าง ๆ ได้อัตโนมัติ

แม้จะยังไม่มีรายละเอียดว่า Genesis มีความสมบูรณ์ในแง่การเขียนข่าวมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับเอไอแชทบอทรายอื่น ๆ แต่กูเกิลก็ได้นำเครื่องมือนี้ไปนำเสนอกับสื่อใหญ่ระดับบิ๊กเนมถึง 3 สำนักแล้วด้วยกัน คือ The New York Times, The Washington Post และ News Corp ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal

แน่นอนว่าทางโฆษกของกูเกิล เจนน์ ไครเดอร์ ต้องออกมาย้ำว่า "เครื่องมือนี้ไม่ได้มาแทนที่นักข่าว” โดยระบุว่า "ด้วยความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสำนักข่าวหลายแห่ง โดยเฉพาะรายเล็ก เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสำรวจไอเดียเพื่อจัดหาเครื่องมือ AI มาช่วยนักข่าวในการทำงาน เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อ แทนที่บทบาทสำคัญของนักข่าวในการรายงานข่าว เขียนข่าว และตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แต่สามารถเป็นตัวช่วยคิดพาดหัวข่าวและรูปแบบการเขียนเพื่อเป็นทางเลือกให้นักข่าว"

แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า ทางกูเกิลเชื่อว่าเครื่องมือนี้จะเป็นเสมือนผู้ช่วยนักข่าว โดยเข้ามาช่วยทำงานบางอย่างเพื่อให้นักข่าวมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาของ Generative AI ในวงการสื่อที่เอไออาจสร้างข่าวปลอมขึ้นได้ (เอไอเขียนข่าวจากฐานข้อมูลที่ศึกษามา หากป้อนข้อมูลเป็นเท็จ เช่น 2+2 = 5 โดยอ้างเหตุผลหว่านล้อมที่น่าเชื่อมากพอ เอไอก็อาจเชื่อและสร้างข้อมูลปลอมขึ้นมาบนชุดฐานข้อมูลนั้น ๆ ดังนั้น การเปิดรับให้ Genesis เข้ามาอยู่ในวงการข่าวโดยตรง จึงน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้)

เสียงตอบรับเบื้องต้นนั้นไม่ถึงกับดีแต่ก็ไม่เลวร้ายมากนัก แหล่งข่าวสะท้อนว่าผู้บริหารสื่อบางรายที่เข้าร่วมการนำเสนอมองว่าเครื่องมือนี้ยังไม่เสถียรพอ ส่วนผู้บริหารอีก 2 รายมองว่า เครื่องมือนี้มีความพยายามในการผลิตข่าวที่ถูกต้องและมีศิลปะ แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่าทั้ง 3 รายจะมีความตกลงกับกูเกิลเพื่อนำเครื่องมือนี้มาใช้หรือไม่ โดยนิวยอร์กไทมส์และวอชิงตันโพสต์ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้ ส่วนโฆษกของนิวส์คอร์ประบุเพียงว่า  “เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกูเกิล และเราขอขอบคุณ ซุนดาร์ พิชัย ต่อความมุ่งมั่นในระยะยาวที่มีต่อวงการข่าว”

ทำไม Google ถึงมาลงสนามข่าว?

อาจกล่าวได้ว่าในวงการ Gen-AI ณ ขณะนี้ ไม่มีคู่แข่งรายใดน่ากลัวไปกว่า ChatGPT อีกแล้ว 

การนำเสนอเอไอเขียนข่าวให้กับสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่“เอพี” หรือ Associated Press หนึ่งในสำนักข่าวรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เพิ่งประกาศความร่วมมือกับค่าย Openai เจ้าของ ChatGPT ไปหมาด ๆ โดยเอพีจะยอมให้โอเพ่นเอไอสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลข่าวที่เก็บรวมรวมมาตั้งแต่ปี 1985 โอเพ่นเอไอก็จะได้เรียนรู้ข่าวจากคลังข้อมูลมหาศาลของเอพี ในขณะที่เอพีก็จะพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นสำนักข่าวรายแรก ๆ ของโลก ที่สามารถวางระเบียบและแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักข่าวที่ใช้ Gen-AI

และก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน Openai ก็เพิ่งประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสมาคมสื่อ Associated Journalism Project (AJP) ที่ดูแลสำนักข่าว 41 รายในสหรัฐฯ และนับเป็นความร่วมมือกับองค์กรสื่อครั้งใหญ่ที่สุด โดยบริษัทจะเข้าถึงคลังข้อมูลและข้อมูลแบบเรียลไทม์ของสำนักข่าวเหล่านี้เพื่อให้เอไอได้ศึกษารูปแบบด้านข่าวโดยเฉพาะ แลกกับการให้สำนักข่าวสามารถใช้เอไอเขียนข่าว โดยบริษัทได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ AJP เป็นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปแบบของเครดิต API (อินเทอร์เฟซตัวกลางเชื่อมต่อระบบ)    

นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ค่าย Google ต้องรีบเข็นเอไอของตัวเองหาพันธมิตรรายใหญ่ในสนามข่าว เพื่อหาคลังข้อมูลข่าวในการพัฒนาเอไอเฉพาะด้านนี้โดยเฉพาะ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นปัจจัยหลักร่วมด้วยก็คือ กูเกิลไม่อยากสร้างศัตรูเพิ่มกับวงการสื่อ

ไม่ได้มีแค่ Facebook เท่านั้นที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับวงการข่าวจากเรื่องอัลกอริธึมแพลตฟอร์ม กูเกิลเองก็ไม่แพ้กันในฐานะหนึ่งในสอง Duopoly ที่ผูกขาดเม็ดเงินตลาดโฆษณาออนไลน์ร่วมกับเฟซบุ๊ก ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย และแคนาดา ได้ออกกฎหมายบังคับให้ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กต้องเจรจาแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าวต่าง ๆ ให้มากขึ้น หลังจากที่สองแพลตฟอร์มรายใหญ่นี้ทำหน้าที่แชร์ข่าวจากสำนักข่าว แต่เงินรายได้จากการโฆษณาออนไลน์กลับตกอยู่ในมือแพลตฟอร์มเป็นหลัก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับสำนักข่าวที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหา และในยุคเอไอนี้ก็มีการเพ่งเล็งเช่นกันว่า บรรดาแชทบอทได้เอาข้อมูลข่าวไปใช้เทรนด์เอไอโดยไม่ได้รับอนุญาต เหล่าแชทบอทจึงต้องพยายามหาพันธมิตรกับบรรดาสำนักข่าวใหญ่เพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องนี้

มีสำนักข่าวไหนใช้ AI เขียนข่าวบ้าง เราเชื่อใจได้จริงๆ หรือ?

            AP คือหนึ่งในสำนักข่าวรายใหญ่ที่ใช้เอไอมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ก่อนยุค Generative AI จากการใช้เอไอในการตรวจสอบความถูกต้อง หรือ Fact check หรือใช้ในด้านการถอดเทป ก็พัฒนาไปสู่การใช้เอไอช่วยเขียนข่าวง่าย ๆ ที่มีแพทเทิร์นชัดเจน เช่น ข่าวการรายงานผลประกอบการบริษัท ที่จะบอกตัวเลขกำไร/ขาดทุน และเหตุผลประกอบ และการรายงานข่าวผลกีฬา    

            Bloomberg นับเป็นอีกหนึ่งสื่อใหญ่ด้านเศรษฐกิจระดับโลกที่พัฒนา Generative AI อย่างจริงจัง บทความหนึ่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า บลูมเบิร์กได้สร้างและเทรนแบบจำลองทางภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ภายใต้ข้อมูลเฉพาะในขอบเขตที่เรากำหนด ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก เนื่องจากต้องใช้ทั้งข้อมูลคุณภาพสูงและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีศักยภาพ ซึ่งได้พัฒนาเป็น BloombergGPT เพื่อรองรับการใช้งานฐานข้อมูลการเงิน ข่าวสาร และเอกสารต่าง ๆ ที่สั่งสมมากว่า 40 ปี

            ปัจจุบัน มีสำนักข่าวหลายแห่งทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ ที่หันมาเปิดรับและใช้เอไอในการช่วยเขียนข่าวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Insider, CNET, Sky News, Gizmodo, BuzzFeed และ Bild

            ขณะที่ NewsGuard กลุ่มจัดอันดับและให้คะแนนความน่าเชื่อถือเว็บไซต์ข่าว ได้เผยแพร่ก่อนหน้านี้ว่า เว็บไซต์ข่าวหลายแห่งทั่วโลกถึง 49 แห่ง ครอบคลุม 7 ภาษา ได้แก่ จีน เช็ก อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ตากาล็อก และไทย ได้ใช้แชตบอทสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา และในจำนวนนี้มีหลายแห่งที่เผยแพร่ข่าวปลอม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเว็บไซต์คุณภาพต่ำที่สร้างบทความคลิกเบต ซึ่งการใช้เอไอเขียนคอนเทนต์นี้เรียกกันว่าการฟาร์มเนื้อหา (Content Farm) โดยเน้นที่การดึงเงินโฆษณาเป็นหลัก ไม่ใช่คุณภาพของเนื้อหา

อย่างไรก็ตาม สำหรับสำนักข่าวหลัก ๆ แล้ว บทความโดยเอไอก็ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับบทความที่สร้างโดยนักข่าวจริง ๆ เพราะสิ่งหนึ่งที่มักจะมาควบคู่กันกับการใช้เอไอเขียนข่าวก็คือ ปัญหาเรื่อง “ความคลาดเคลื่อนของข้อมูล” หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็น ข่าวปลอม เพราะ Generative AI นั้นสร้างคอนเทนต์ใหม่หรือเขียนข่าวขึ้นมาได้จากฐานข้อมูลที่ได้ศึกษาเรียนรู้มา แต่หากได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมา ก็เป็นไปได้ที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกลับออกไป หรือในบางกรณีก็มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องการคำนวณด้วย

CNET ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยียอดนิยม ได้แจ้งเรื่องการปรับแก้บทความบางชิ้นที่ผลิตโดย AI เมื่อเดือนมกราคม 2023 หลังถูกเว็บไซต์อื่น ๆ โจมตีบทความเหล่านี้ว่ามีเนื้อหาที่ผิดพลาดอย่างโง่เง่า เช่น การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ผิด ทำให้บริษัทต้องหันมาทบทวนนโยบายเรื่องการใช้เอไอช่วยเขียนข่าวใหม่อีกครั้ง ขณะที่ Gizmodo ซึ่งหันมาใช้แชทบอทเขียนข่าวทั้งChatGPT และ Bard จากค่ายกูเกิล ก็ต้องพบปัญหาความคลาดเคลื่อนการลำดับเหตุการณ์ในบทความหนัง Star Wars ทำให้ตระหนักว่า การใช้เอไอเขียนข่าวโดยไม่มีการตรวจทานจากกองบรรณาธิการหรือนักข่าวนั้น ยิ่งเพิ่มภาระให้ในภายหลังและทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวลง

AI จะมาแย่งงานนักข่าวได้จริง ๆ หรือ? 

AI ทำให้มีนักข่าวตกงานจริง ๆ แล้ว แม้จะยังถือว่าเป็นส่วนน้อยก็ตาม โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา เครือสื่อยักษ์ใหญ่ในเยอรมนี Axel Springer เจ้าของหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ขายดีที่สุดในยุโรปอย่าง Bild ได้ประกาศเลย์ออฟพนักงานราว 200 คน  โดยลดขนาดกองบรรณาธิการลงประมาณ 200 ตำแหน่ง และลดจำนวนหนังสือพิมพ์ฉบับภูมิภาคจาก 18 เหลือ 12 ฉบับ พร้อมเตือนด้วยว่า อาจลดขนาดกองบรรณาธิการลงอีก เนื่องจากบางตำแหน่งสามารถใช้ AI ทำแทนได้

ปัจจุบัน สำนักข่าวทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงของการชั่งน้ำหนักอยู่ว่าจะเปิดรับการใช้เอไอหรือไม่

เจฟฟ์ จาร์วิส ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน และผู้อำนวยการศูนย์ Tow-Knight Center for Entrepreneurial Journalism  มองว่า เครื่องมือใหม่ของกูเกิลมีทั้งด้านบวกและลบ หากเทคโนโลยีนี้สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้อย่างน่าเชื่อถือ นักข่าวก็ควรที่จะใช้เครื่องมือนี้ แต่ในทางกลับกัน หากนักข่าวและสำนักข่าวนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้กับข่าวที่ต้องใช้ทักษะจำแนกความแตกต่างและความเข้าใจทางวัฒนธรรม ก็จะกลายเป็นการทำลายความเชื่อถือทั้งต่อ AI และตัวสำนักข่าวเอง

ด้านอเล็กซ์ คอนน็อก ผู้เขียนหนังสือ “Media Management and Artificial Intelligence” บอกว่า ความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ AI เหล่านี้จะช่วยตัดสินว่า บริษัทสื่อใดจะอยู่รอดและบริษัทใดจะล้มเหลวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การใช้เครื่องมือสร้างเนื้อหาจะทำให้บางคนตกงาน แต่ไม่ใช่ในขอบเขตของงานวิเคราะห์ข่าว หรือการทำรายงานระดับสูง

แต่ ไมค์ วูลดริดจ์ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มองว่า ChatGPT ยังเป็นเหมือนแค่โปรแกรมประมวลผลคำสวยหรู ซึ่งนักข่าวไม่จำเป็นต้องกังวล “เทคโนโลยีนี้จะมาแทนที่นักข่าวในลักษณะเดียวกับที่สเปรดชีตเข้ามาแทนที่นักคณิตศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่ง ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น” 

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเห็นตรงกันก็คือ หากเป็นงานข่าวธรรมดา ๆ ที่ไม่ต้องใช้สกิลการวิเคราะห์ การสืบสวนสอบสวน หรือการใช้ทักษะพิเศษอะไรเพิ่มเติมนั้น สามารถถูกแทนที่ด้วย AI ได้ 

            อาจขึ้นอยู่กับเวลาก็เป็นได้ว่า ระหว่าง AI ที่พัฒนาขึ้นมาแม่นยำกว่า หรือนักข่าวที่พัฒนาสกิลในการทำข่าวได้ดีกว่าจนเอไอไม่สามารถแทนที่ได้ แบบไหนจะไปได้เร็วกว่ากัน 

ที่มา: 
https://www.nytimes.com/2023/07/19/business/google-artificial-intelligence-news-articles.html

https://analyticsindiamag.com/openai-and-google-are-out-to-control-newsrooms/

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2023jul20.html#:~:text=%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20Generative%20AI,Morgan%20Stanley%20%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1

https://techxplore.com/news/2023-03-ai-revolution-journalism.html