เรื่องเล่าจากสนามข่าว ก.อุตสาหกรรม-พลังงาน การแข่งขันที่เปลี่ยนไป? 

รายงานพิเศษ

.................................................

โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

สำหรับสายงาน”นักข่าวสายเศรษฐกิจ”หนึ่งในนักข่าวสายนี้ ก็คือ”นักข่าวสายที่รับผิดชอบข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม” ซึ่งหลายคนอาจไม่คาดคิดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นกระทรวงเก่าแก่ของประเทศไทย เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2485  โดยมีนักการเมือง-บุคคลสำคัญในวงการการเมือง-เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการทหาร เคยผ่านการเป็นรมว.อุตสาหกรรมาแล้วมากมาย อย่างอดีตนายกรัฐมนตรีก็มีเช่น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ -บรรหาร ศิลปอาชาเป็นต้น

         แม้ระยะหลัง กระทรวงอุตสาหกรรม อาจจะมีขนาดที่เล็กลงจากอดีต อันเป็นผลพวงการปรับโครงสร้างระบบราชการ และทำให้เกิดกระทรวงพลังงาน จึงทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักข่าวสากระทรวงอุตสาหกรรมจากสื่อหลายสำนักจึงมักจะเป็นนักข่าวที่ทำข่าวทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังาน ควบคู่กันไป แต่ก็มีบางแห่งที่เน้นข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ก็จะแยกกัน 

         เพื่อให้พอเห็นการทำงานของนักข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน “ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน”พูดคุยแบบสบายๆ กันเอง กับหนึ่งในนักข่าว-คนข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรม-พลังงาน ที่คว่ำหวอดในการทำข่าวเศรษฐกิจมายาวนาน นั่นก็คือ “นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์-ผู้สื่อข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม-พลังงาน บริษัทฐานเศรษฐกิจมัลติมีเดีย จำกัด “ หรือ”ฐานเศรษฐกิจ”ที่ทุกคนรู้จักกันดีนั่นเอง ที่ได้มาบอกเล่าการหาข่าว-ทำข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรม-พลังงานให้ฟัง 

         โดย”นิธิโรจน์ -ผู้สื่อข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม-พลังงาน จากฐานเศรษฐกิจออนไลน์”เล่าถึงเส้นทางการทำข่าวสายเศรษฐกิจของตัวเองก่อนมาเป็นนักข่าวออนไลน์-ฐานเศรษฐกิจ ที่ดูข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานว่า เข้าสู่วงการนักข่าว-สื่อมวลชน ในช่วงที่เรียนปีสุดท้าย ที่ตอนนั้นกำลังรอเรียนจบก็พอดีไปสมัครงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 2547  ซึ่งก่อนหน้านี้ หากใครผ่านไป-มาแถวถนนวิภาวดีรังสิต จะต้องเห็นตึกฐานเศรษฐกิจ ที่เป็นตึกใหญ่ใกล้ๆกับ โรงเรียนหอวัง-ตึกโตชิบ้า ซึ่งต่อมาก็ได้รับการพิจารณาบรรจุให้เป็นนักข่าวฐานเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการเป็นนักข่าวสายไอที หลังจากนั้น ก็ถูกมอบหมายให้ไปทำข่าวพวกสกู๊ป พิเศษในเรื่องต่างๆ ฯ 

....ต่อมา ก็โยกไปเป็นนักข่าวสายกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอยู่ช่วงหนึ่ง ก็เข้าไปเป็นผู้เรียบเรียงข่าวหรือรีไรเตอร์ในออฟฟิศ จากนั้น ก็ออกมาทำข่าวในภาคสนามอีกครั้งหนึ่ง โดยไปเป็นนักข่าวสายตลาดหุ้น ประจำที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะไปดูแลข่าวหน้า SME โดยเฉพาะ ที่ก็ทำอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย หนังสือพิมพ์ค่อยๆ ดาวน์ลง หน้าข่าวSME ที่รับผิดชอบ ก็ถูกยุบ และได้รับมอบหมายให้มาทำข่าว กระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงพลังงาน ในช่วงประมาณปลายปี 2561 ซึ่งช่วงดังกล่าวข่าวในกระแสที่อยู่ในสายงานกระทรวงอุตสาหกรรมที่หลายคนสนใจก็เช่น ข่าวเรื่องข้อพิพาทกรณีเหมืองทองอัคราฯ แต่ตอนที่ผมเข้ามาตอนนั้น ข่าวเหมือนทองอัครา ก็เริ่มเบาลงแล้ว เป็นช่วงปลายๆ 

         “นิธิโรจน์” เล่าให้ฟังว่า โทนข่าวหลักๆ ของข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นข่าว เชิงนโยบายเช่น นโยบายของผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมแต่ละช่วงที่เข้ามาดูแลกระทรวง ที่นักข่าวก็จะนำเสนอว่าผู้บริหารกระทรวงแต่ละยุค มีนโยบายในด้านการพัฒนาด้านต่างๆ ของวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างไร ที่จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน โดยจะดูทุกๆ นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นักข่าวก็ต้องรับผิดชอบดูแลข่าว -ทำข่าวทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสายงานด้านอุตสาหกรรม 

..สำหรับตัวผม จะรับผิดชอบข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับกระทรวงพลังงาน รวมถึงการรับผิดชอบข่าวจากภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของทั้งสองหน่วยงานเช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อยู่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน   แต่ว่าสื่อบางค่าย ก็จะมีนักข่าวที่แยกกันไปเลย ระหว่างนักข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมกับนักข่าวสายกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะสื่อที่เน้นข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ  แต่ก็มีหลายแห่งที่จะใช้นักข่าวคนเดียวกันดูทั้งสองกระทรวง โดยเหตุที่เป็นแบบนั้น เข้าใจว่าด้วยลักษณะสายงานที่เหมือนกระทรวงพี่กระทรวงน้องกัน

 บทสนทนามาถึงตอนที่“นิธิโรจน์”ถ่ายทอดประสบการณ์การหาข่าวของนักข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรมให้ฟังว่า ส่วนใหญ่นักข่าวก็จะดูประเด็น เช่นดูประเด็นข่าวจากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ หรือข่าวที่เป็นกระแสหลักในสายงานแต่ละช่วง อย่างปัจจุบัน เรื่องของ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ นักข่าวก็จะติดตามความเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับอีวีมานำเสนอ เช่น ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี)ในแต่ละครั้ง  หรือเรื่องพลังงานสะอาด ที่เป็นเทรนด์ที่อยู่ในกระแสความสนใจ นักข่าวก็จะติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องพลังงานสะอาดมานำเสนอ โดยนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องที่จะให้ข้อมูลข่าวในประเด็นนี้ได้เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

...ตอนช่วงทำข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยทำหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ด้วยความที่เป็นนสพ.รายสามวัน การหาข่าวจะเน้นต้องเจาะข่าวที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์รายวัน พอปัจจุบันทำข่าวออนไลน์ให้กับเว็บไซด์ฐานเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็จะเน้นข่าวรายวัน ข่าวในกระแสที่กระทบกับประชาชน ก็จะทำให้วิธีการหาประเด็นข่าวก็จะแตกต่างออกไป รวมถึงการหาประเด็นข่าวใหม่ๆ ที่ส่วนหนึ่ง เราก็จะจับประเด็น เช็คกระแสจากบางแหล่งเช่น Google Trend  เพื่อดูว่าช่วงนั้น คนสนใจเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน แล้วก็ไปหาข้อมูล หาประเด็นมาเพื่อเรียบเรียงให้เป็นkeyword ที่คนสนใจและอยากรู้เรื่องนั้น

         “นิธิโรจน์”ยังได้เล่าถึงบรรยากาศการแข่งขันหาข่าวของนักข่าวสายอุตสาหกรรม-พลังงาน ให้ฟังว่า เท่าที่ได้สัมผัส ก็พบว่า ก็มีบ้างในเชิงการแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้แข่งกันแรงเหมือนสมัยก่อน เพราะด้วยความที่ปัจจุบันอย่างที่เห็นคือสื่อเกือบทุกแห่งก็เน้นการนำเสนอข่าวทางออนไลน์ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ก็มีเผยแพร่ทางออนไลน์เยอะที่ก็จะเน้นเรื่องความเร็ว การเสนอก่อน  ก็ทำให้นักข่าวเองก็หาประเด็น หาข่าวได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้นักข่าวหรือสื่อเอง พอได้ข่าวมาหรือเขียนข่าวเสร็จ ส่งเข้าออฟฟิศ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะนำเสนอเลย บางข่าวก็เน้นนำเสนอให้เร็วกว่าที่อื่น เพื่อจะได้ทำให้เห็นว่านำเสนอก่อนที่อื่น 

         ...ส่วนการทำข่าวภาคเอกชน ในส่วนของนักข่าวสายอุตสาหกรรม เช่นการประชุมของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  ถ้าเป็นที่ฐานเศรษฐกิจ จากที่โครงสร้างของกกร.ที่มีประธานจากสามฝ่ายมาร่วมเป็นกกร.คือ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย -ประธานหอการค้าไทย -ประธานสมาคมธนาคารไทย ในส่วนของฐานเศรษฐกิจ จะดูว่าการประชุมกกร.ที่จะประชุมกันเดือนละครั้ง  ประธานการประชุมรอบดังกล่าว ใครเป็นประธานการประชุม หากมาถึงรอบซึ่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม มาประชุมที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  นักข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะเป็นคนไปทำข่าว แต่หากไปประชุมที่สภาหอการค้าฯ ทางนักข่าวสายกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเป็นคนไปทำข่าว และหากไปประชุมกันที่สมาคมธนาคารไทย นักข่าวสายธนาคารของฐานเศรษฐกิจ ก็จะเป็นคนไปทำข่าว แต่ก็มีสื่อบางค่ายที่ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานการประชุมกกร.  ก็จะมีนักข่าวที่ดูแลข่าว กกร. โดยเฉพาะเลย ไปทำข่าวการประชุมกกร.ทุกครั้ง

         "นิธิโรจน์”สรุปว่า ข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นข่าวเชิงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เช่นข่าวเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม -การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ก็จะเป็นข่าวของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับเรื่อง ของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)ที่จะมีการกำหนดออกมาทุกปี นอกจากนี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับพวกเหมืองทอง -อ้อย-น้ำตาล ที่่หน่วยงานในสายกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนเรื่อง ธุรกิจSME ก็จะมีความเกี่ยวข้องบ้างแต่ไม่มาก 

         ....ภาพรวมข่าวสายกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นข่าวเชิงแผนนโยบายที่จะไปกระจายงานในเศรษฐกิจระดับต่างๆ อย่างช่วงนี้ ที่คนสนใจก็เรื่องรถไฟฟ้าอีวี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะต้องเข้าไปร่วมทำแผนงานกับกระทรวงพลังงานด้วย เพื่อวางมาตราการดึงดูดหรือจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนเรื่องอีวีในประเทศไทย นักข่าวก็จะติดตามเรื่องตัวเลขการลงทุนอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย และจะมีมาตราการอะไรบ้างที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ  -เรื่องความคืบหน้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 มีความคืบหน้าอย่างไรแล้วบ้าง รวมถึงแผนงานต่างๆเกี่ยวกับอีวี จะมีผลต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง เช่นนโยบายนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ที่เป็นรถอีวี นโยบายดังกล่าว ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก จนสร้างกระแสรถอีวีขึ้นมา  

          “นักข่าวที่จะมาทำข่าวที่กระทรวงอุตสาหกรรม ลำดับแรกก็ต้องทำการบ้าน รู้เรื่องโครงสร้างของกระทรวงว่ามีหน่วยงานในสังกัดอะไรบ้าง และแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบงานในส่วนใดบ้าง และผู้บริหารเป็นใคร เพื่อจะได้ตามข่าวถูก เช่นสมมุติว่ามีข่าวโรงงานอุตสาหกรรมเกิดระเบิดหรือมีแก๊สรั่วไหล นักข่าวก็จะได้รู้ว่าหน่วยงานไหนเกี่ยวข้อง จะได้ไปตามข่าวที่แหล่งข่าวที่อยู่ในสายงาน 

นอกจากนี้ ต้องทำการบ้านด้วยการไปหาข่าวเก่าๆ ก่อนหน้านี้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมทำอะไรมาแล้วบ้าง และปัจจุบันนโยบายหรือโครงการที่ได้ทำมาแล้ว ตอนนี้ได้ทำไปถึงไหน เพราะบางทีก็มีเหมือนกันที่บางโครงการทำไปแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ยังทำไม่เสร็จ ก็จะได้ติดตามความคืบหน้ามานำเสนอ พื้นฐานหลักๆ นักข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องเหล่านี้ให้แม่นพอสมควร”

ข่าวสายพลังงาน

มีอะไรมากกว่าแค่ค่าไฟ-น้ำมันแพง 

"นิธิโรจน์”ที่ดูข่าว"กระทรวงพลังงาน"ด้วย ยังบรีฟภาพรวม การทำข่าวกระทรวงพลังงานให้เราฟังว่า ข่าวกระทรวงพลังงาน ส่วนใหญ่ จะเป็นข่าวพวก ราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า -ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น การทำข่าวเรื่องที่คนมักพูดถึงกันมากว่า ทำไมค่าไฟฟ้าในประเทศไทยถึงแพง ซึ่งเรื่องค่าไฟฟ้า นักข่าวสายพลังงาน ก็จะทำข่าวความเคลื่อนไหวในส่วนของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มานำเสนอ ซึ่งจะพบว่าจะมีข่าวของกกพ.ออกมาตลอด เพราะเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

.... นอกจากนี้ นักข่าวสายกระทรวงพลังงาน ยังรับผิดชอบการทำข่าวบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) นักข่าว ก็จะหาข้อมูลและนำเสนอว่า แผนงานทางธุรกิจของปตท.แต่ละปี มีนโยบายอย่างไร เพราะถือว่าปตท.เป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานก็มีหน่วยงานคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  ซึ่งก็จะเชื่อมโยงถึงเรื่องโครงสร้างน้ำมัน-ราคาน้ำมัน ดังนั้นนักข่าวสายกระทรวงพลังงาน การทำข่าวก็จะต้องเชื่อมโยงประเด็นข่าวทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและบริษัทน้ำมันเอกชน  เพื่อสื่อสารออกมาให้ประชาชนรับรู้ความเคลื่อนไหวเรื่องราคาน้ำมันตลอดเวลา โดยตัวนักข่าวสายกระทรวงพลังงาน จะต้องรู้ว่า ประเด็นที่เป็นเรื่องพลังงาน การตามประเด็นจะต้องไปหาข้อมูลหรือไปสัมภาษณ์ตัวแหล่งข่าวจากหน่วยงานไหน เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันปีหน้า จะเป็นอย่างไร ประเด็นแบบนี้ก็ต้องถามผู้บริหารปตท. รวมถึงผู้บริหาร สนพ. เพื่อนำเสนอข่าวให้เห็นถึงทิศทางราคาน้ำมัน เป็นต้น 

         ...ส่วนข่าวการปรับขึ้น-ลงของราคาน้ำมันแต่ละวัน ที่จะออกมาช่วงเย็น ก็เป็นข่าวที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันส่งให้สื่อมวลชนว่าราคาน้ำมันขึ้นหรือลง เท่าไหร่  ที่ข้อมูลก็จะเหมือนกับที่แจ้งในไลน์ของบริษัทน้ำมันบางจาก โดยสื่อก็จะนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเป็นข่าวให้เข้าใจง่ายๆ แล้วนำเสนอกัน แต่นักข่าวหลายคน ก็อาจจะพอรู้ล่วงหน้าว่าราคาน้ำมันจะมีการปรับขึ้นหรือลงอย่างไร แต่ด้วยมารยาทก็จะไม่ลงข่าวก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการออกมา เพียงแต่จะใช้คำในการนำเสนอเช่น "จ่อขึ้นราคาน้ำมัน"เป็นต้น จะไม่ได้นำเสนอแบบชัดๆไปเลยว่าน้ำมันจะขึ้นราคาแน่ 

         “นิธิโรจน์”กล่าวต่อไปว่า นักข่าวประจำกระทรวงพลังงาน จะมีห้องสื่อมวลชนอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ตรงตึก ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งการทำข่าว ก็จะมีทั้งกรณีบางคนได้นัดหมายแหล่งข่าวไว้ล่วงหน้า ก็จะเข้าไปสัมภาษณ์ รวมถึงในโอกาสต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าไปทำงานวันแรกและแถลงนโยบายการทำงาน หรือผู้บริหารบริษัทปตท.คนใหม่เข้าทำงานและแถลงนโยบายหรือวิสัยทัศน์การบริหารงาน นักข่าวก็จะไปทำข่าวเพราะบริษัทปตท.กับกระทรวงพลังงาน ก็อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน  รวมถึงหากมีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับสายงานข่าวพลังงาน ซึ่งนักข่าวรู้ล่วงหน้า ก็จะไปดักรอทำข่าว 

ส่วนการโทรเช็คข่าวหรือสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้บริหารบริษัทน้ำมันต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างจะยากอยู่ หากว่าตัวนักข่าวกับแหล่งข่าว ไม่ได้ถึงกับรู้จักหรือสนิทกันมาก อย่างหากจะโทรหาเบอร์หนึ่งหรือผู้บริหารระดับสูงเลยของบริษัทปตท. ก็อาจต้องเป็นระดับผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการ ที่ทำข่าวมานานมาช่วยเสริมในส่วนนี้   

         "ด้วยการที่สื่อหลายแห่ง นักข่าวคนเดียว จะทำข่าวทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงพลังงาน ทำให้คนที่เริ่มเข้ามาช่วงแรกๆ ก็อาจจะงงๆ เพราะด้วยความที่เนื้อหา ประเด็นข่าวของทั้งสองกระทรวง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่อนข้างหนัก หากไม่รู้ขอบข่ายงานของแต่ละหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง ไม่รู้ว่าประเด็นที่ต้องการทำข่าวหรือหาข้อมูล จะต้องไปคุยกับใคร บางทีก็อาจหลงทิศเลย ก็จะกลายเป็นเรื่องยากไปเลย ในช่วงแรกๆ"

         "นิธิโรจน์”บอกตอนท้ายว่า สำหรับนักข่าวที่จะมาทำข่าวสายกระทรวงพลังงาน ก็ต้องทำการบ้านหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างหลักๆ ของกระทรวงพลังงาน มีอะไรบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านพลังงานมีอะไรบ้าง และโครงสร้างผู้บริหารในกระทรวงพลังงาน และบริษัทน้ำมันต่างๆ ว่ามีใครบ้าง แต่ละคนมีความเป็นมาอย่างไร และสายงานที่รับผิดชอบคืออะไร เพราะเรื่องพลังงาน ไม่ได้มีแต่เรื่องน้ำมัน แต่ยังมีเรื่องไฟฟ้า -ปิโตรเคมี-ก๊าซธรรมชาติ แอลเอ็นจี  ซึ่งแหล่งข่าวที่อยู่ในภาครัฐ-เอกชน  ก็จะแยกสายงานการรับผิดชอบ ทำให้หากจะสัมภาษณ์ใคร ก็ต้องดูว่าแหล่งข่าวคนดังกล่าว รับผิดชอบในเรื่องที่เราจะขอข้อมูลหรือไม่

         “นักข่าวที่จะมาทำข่าวที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ก็คงเหมือนกับที่อื่น คือก่อนจะเข้ามาทำข่าวสายนี้ ก็ต้องทำการบ้าน ศึกษาโครงสร้างของทั้งสองกระทรวง ก่อนจะมาทำข่าว"นิธิโรจน์ คนข่าวสายเศรษฐกิจผู้มากประสบการณ์เน้นย้ำตอนท้าย