จากศึกหลังบ้านสู่สมรภูมิหน้าจอ เมื่อเอเชียเต็มไปด้วย “ผู้ประกาศข่าว AI”

รายงานพิเศษ

________________________________________

โดย (นันทิยา วรเพชรายุทธ )

"ผู้ประกาศข่าว AI" อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนักในวันนี้ หลังจากที่โลกได้รู้จักกับผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อสำนักข่าว "ซินหัว" ในประเทศจีนเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2018 ทำให้โลกได้รู้ว่าจีนกำลังมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และได้รู้ว่าวงการข่าวทั้งหลังจอและหน้าจอกำลังจะถูกดิสรัปต์ใหญ่อีกครั้งในอนาคต

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ หลายประเทศทั่วโลกได้ทยอยเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI ของตัวเองกันออกมา โดยเฉพาะประเทศในฝั่ง "เอเชีย" ที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ หรือยุโรป ไล่ตั้งแต่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย บังคลาเทศ จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตื่นตัวดังกล่าวจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการข่าวหน้าจอ หรือไม่

เพราะแม้ว่าจีนจะเป็นผู้เปิดตัวตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ก็ยังแทบไม่มีใครตอบรับหรือดูจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้จนกระทั่งมาในปี 2023ที่อาจถือได้ว่าเป็นปีที่มีการเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI ออกมามากที่สุด และมีการนำมาใช้งานจริงในวงการข่าวโดยไม่ได้เป็นเพียงแค่กิมมิคเอาไว้โชว์ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมข่าวเองก็เปลี่ยนไปมากและไม่ได้จำกัดบทบาทของผู้ประกาศแค่ทางหน้าจอทีวี แต่ยังรุกไปยังหน้าจอ LED ในโลกออนไลน์ด้วย

ปีนี้ "อินเดีย" เปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอ 4 คน

"อินเดีย" คือชาติที่เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI อย่างหวือหวาที่สุดในปีนี้ถึง 4 คนด้วยกัน เริ่มจาก Sana จากค่ายสื่อใหญ่ India Today Group ในเดือนเมษายน ตามมาด้วย Lisa จากช่องทีวีท้องถิ่นในภาคตะวันออก Odisha TV นอกจากนี้ยังมี Soundarya จากช่องทีวีท้องถิ่นในภาคใต้ Power TV และ   Al Kaur จากช่อง News18 Punjab Haryana ในภาคเหนือ 

สิ่งที่ทำให้ผู้ประกาศเอไอของอินเดียมีความโดดเด่นนั้น นอกจากจะเป็นเพราะมีจำนวนมากแล้วก็ยังเป็นเพราะการเปิดตัว Sana ในงานที่นายกรัฐมนตรีของอินเดีย นเรนทรา โมดี กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนฝรั่งเศสในโอกาสครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเหมือนกับการนำเทคโนโลยีออกไปโรดโชว์พร้อมกันด้วย ก่อนที่ทีวีท้องถิ่นในแต่ละภาคจะทยอยกันเปิดตัวตามมา   

Lisa, Soundarya และ  Al Kaur ล้วนเป็นผู้ประกาศ AI ช่องทีวีท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้แค่ภาษาฮินดีที่เป็นภาษากลาง แต่ยังใช้ภาษาท้องถิ่นของรัฐหรือแคว้นนั้น ๆ ในการรายงานข่าว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการนำผู้ประกาศข่าว AI มาใช้งานจริงในอินเดียเพราะสามารถรองรับภาษาต่าง ๆ รวมถึงภาษาถิ่นได้เป็นจำนวนมาก เช่น ลิซ่า ที่มีการอ้างว่าสามารถรายงานข่าวได้ถึง 75 ภาษา จึงเหมาะกับการใช้งานในอินเดียซึ่งเต็มไปด้วยภาษาถิ่นหลายร้อยภาษา และภาษาทางการถึง 22 ภาษา  

แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะยังไม่สามารถแก้จุดอ่อนหลัก ๆ ของผู้ประกาศข่าวไอไอในเรื่อง "ความไม่เป็นธรรมชาติ" หรือการอ่านข่าวด้วยน้ำเสียงโมโนโทนราบเรียบเกินไปได้ แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพการทำงานจริงได้ เช่น Sana ที่ถูกนำไปใช้อ่านข่าวสั้น Headline news ซึ่งมีความสั้นกระชับทันเหตุการณ์ หรือ Lisa ในชุดส่าหรีที่ได้อ่านข่าวรายวัน ข่าวไลฟ์สไตล์ทำนายดวงชะตา ข่าวกีฬา และการรายงานสภาพอากาศ ไม่ใช่ข่าวใหญ่ในช่วงไพรม์ไทม์ที่ยังจำเป็นต้องใช้ทักษะ น้ำเสียง สีหน้า การแสดงอารมณ์ และเสน่ห์ของคนจริง ๆ ในการรายงานข่าวอยู่ 

ทางช่องข่าวมองว่าผู้ประกาศ AI จะเข้ามาช่วยทำงานที่ทำซ้ำ ๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อให้นักข่าวมีเวลาไปทำงานที่สร้างสรรค์หรือทำข่าวที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ข่าวสืบสวนสอบสวน คล้ายกับกรณีที่กองบรรณาธิการข่าวนำ Generative AI มาช่วยในการเขียนข่าวสั้น ข่าวรายงานผลกีฬา หรือข่าวผลประกอบการธุรกิจที่มีแพทเทิร์นและไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อให้กองข่าวมีเวลาไปแข่งขันกันในด้านข่าวเจาะ นอกจากนี้การใช้ผู้ประกาศ AI ยังช่วยเรื่องลดต้นทุนทั้งเรื่องเงินเดือน ค่าเสื้อผ้าหน้าผม และยังลดปัญหาความยุ่งยากของคน โดยเฉพาะผู้ประกาศที่มีชื่อเสียงด้วย   

นอกจากอินเดียแล้ว บริษัทข่าวอีกหลายแห่งทั่วโลกยังพร้อมใจกันเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI ในปีนี้ เช่น

ไต้หวัน:  สำนักข่าว FTV News ได้เปิดตัวผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศ AI เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่พัฒนาโปรเจกต์มานาน 6 เดือน โดยเป็นการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศสั้นๆ 2 นาที 

อินโดนีเซีย: ช่องข่าว tvOne เปิดตัว 3 ผู้ประกาศข่าวเอไอในช่วงกลางปีนี้ ได้แก่ Nadira, Sasya และ Bhoomi แต่เมื่อเทียบกับในอินเดีย จีน หรือหลายที่แล้วยังเป็นเหมือนโปรเจกต์ในขั้นทดลองมากกว่าจะปล่อยออกมาใช้งานได้จริง โดยเฉพาะเรื่องการซิงค์ของเสียงและการขยับปากของไอไอที่ยังไม่สมบูรณ์

มาเลเซีย: ในเดือน พ.ค. บริษัท Astro Awani เปิดตัว 2 ผู้ประกาศเอไอชายหญิง คือ Joon ที่รายงานข่าวในภาษามลายูในช่อง 501 และ Monica ที่อ่านข่าวภาษาอังกฤษในรายการ Agenda AWANI 

คูเวต: Kuwait News เปิดตัวผู้ประกาศสาวชื่อ Fedha ซึ่งแปลว่าเงิน (silver)ในแอคเคาท์บนทวิตเตอร์เมื่อเดือน เม.ย. โดยใช้ภาษาอราบิกและภาษาอังกฤษ และยังนับเป็นผู้ประกาศเอไอคนแรกในตะวันออกกลางด้วย ในเร็วๆ นี้ ทางบริษัทมีแผนจะพัฒนาให้ Fedha อ่านข่าวสั้นโดยอาจปรับให้ภาษาอังกฤษมีสำเนียงอราบิกผสมมากขึ้น

ผู้ประกาศ AI และกองข่าว AI ในแพลตฟอร์ม Tiktok

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาสำหรับวงการผู้ประกาศข่าว AI ก็คือ วงการข่าวในปัจจุบันนั้นได้ก้าวออกจากสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์ไปสู่สื่อบนแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น Tiktok ที่กำลํงครองตลาดวัยรุ่น และแม้จะมีคอนเทนต์ข่าวในติ๊กต่อก และลักษณะก็แตกต่างไปจากรูปแบบข่าวทีวีปกติทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการนำเสนอและความสั้นกระชับ 

ดังนั้นแม้ว่าผู้ประกาศข่าว AI จะยังมีจุดอ่อนในเรื่องความไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าที่ Machine Learning จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาผู้ประกาศเอไอให้คล้ายคนจริง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า น้้ำเสียง จังหวะการพูด และท่าทางการขยับตัว แต่ระหว่างนั้นผู้ประกาศเอไอก็อาจเหมาะกับแพลตฟอร์มคลิปสั้นบนติ๊กต่อก ซึ่งปัจจุบันสำนักข่าวบางแห่งนำเอไอมาปรับใช้บนแพลตฟอร์มนี้กันมากขึ้นแล้ว 

ACT News จากประเทศอิสราเอล ได้ประกาศตัวเป็นสำนักข่าวแห่งแรกในโลกที่ใช้เอไออย่างเต็มรูปแบบทั้งหน้าจอและหลังจอบนแพลตฟอร์ม Tiktok โดยใช้เอไอที่ "โคลนนิ่ง" มาจากผู้ประกาศข่าวตัวจริงที่มีชื่อเสียงของช่อง คือ Miri Michaeli และ Amit Segal มาเป็นผู้ประกาศหลัก โดยเน้นที่การเป็นคลิปข่าวสั้นพร้อมเท็กซ์ข้อความและสามารถทำออกมาเป็นภาษาต่าง ๆ ได้ถึง 8 ภาษา เช่น ภาษาฮีบรู อังกฤษ เยอรมัน และสเปน เพื่อเน้นการเข้าถึงผู้ชมได้ในวงกว้าง   

ผู้ประกาศ AI จะเปลี่ยนโฉมวงการข่าวได้จริงหรือ?

กว่าที่หลายประเทศจะเปิดตัวผู้ประกาศเอไอของตัวเองกันออกมานับตั้งแต่ที่จีนเริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2018 ก็ใช้เวลานานถึง 5 ปี และปัจจุบันก็ยังไม่มีค่ายใดเลยที่สามารถพัฒนาผู้สื่อข่าว AI ให้มีความเป็นธรรมชาติได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับวงการนี้ที่เอไอจะมาแทนผู้ประกาศข่าวที่เป็นคนจริง ๆ ได้

ความไม่เป็นธรรมชาติที่หลายคนอาจแย้งว่าไม่ใช่เทคโนโลยี AI ที่แท้จริง แต่เป็นการใช้ AI เพียงบางส่วน หรือบางคนอาจบอกว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี Motion Capture มากกว่าจะเป็นเอไอ ทำให้ผู้ประกาศเหล่านี้ทำได้เพียงอ่านเนื้อหาที่ป้อนให้ และไม่สามารถประมวลผลอย่างชาญฉลาดได้เหมือนกับแชทบอทหรือ Generative AI ที่ถูกใช้ในงานหลังบ้าน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานข่าวบางสำนักจะไม่เรียกชื่อผู้ประกาศข่าวเอไอเหล่านี้ว่าเป็น news anchor หรือ news presenter แต่เรียกเป็น AI newsreader เพราะมองว่าเป็นเพียงโปรแกรมที่รับคำสั่งและทำได้แค่อ่านตามที่ป้อนเข้าไปเท่านั้น  

ในอีกด้านหนึ่ง ความเสรีของยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน บวกกับการที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้นยังหมายความว่า ใครก็สามารถจ้างทำผู้ประกาศ AI หรือ Avatar ของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากสำนักข่าวก็ยังได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อรายงานข่าวในข่าวปลอม เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งพบเคสนำผู้ประกาศเอไอ หรือ Avatar ไปใช้ในการรายงานข่าวปลอมเพื่อโจมตีการเมืองฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนี้ ประเด็นที่เริ่มพบในวงการผู้ประกาศ AI ก็คือ การนำไปใช้ในข่าว "เชิงโฆษณาชวนเชื่อ" (Propaganda) โดยบริษัทวิจัยด้านสื่อ Graphika ที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กรายงานอ้างว่า ในประเทศจีนนั้นพบว่ามีการใช้งานผู้ประกาศ AI ไปกับการรายงานเนื้อหาเชิงโฆษณาชวนเชื่อให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ (CCP) ซึ่งเคสเหล่านี้ทำให้ผู้ประกาศเอไอเป็นเหมือนหุ่นที่ถูกป้อนข้อมูลให้พูด มากกว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สะท้อนความก้าวหน้าในวงการข่าวที่แท้จริงออกมา 

ที่มา : 

https://techwireasia.com/2023/07/ai-news-anchors-and-which-countries-has-them/
https://www.timesofisrael.com/the-future-of-news-israeli-anchors-launch-ai-powered-tiktok-broadcast/