รายงานพิเศษ
โดยกองบก.จุลสารราชดำเนินฯ
.........................................
“อาชีพช่างภาพ” คืออีกหนึ่งวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีความสำคัญอย่างมากในสายงานสื่อมวลชนในการถ่ายทอดเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะสื่อยุคใดๆ จะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ เหมือนอย่างที่มีคำพูดซึ่งทุกคนเคยได้ยินกันที่ว่า A picture is worth a thousand words.-“ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดเป็นพันคำ”
“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ”พาไปพูดคุยกับ อดีตช่างภาพมากประสบการณ์บนถนนสายงานข่าว ร่วม28 ปี ที่ตอนนี้ ได้ผันตัวเองจากช่างภาพหนังสือพิมพ์-เว็บไซด์ข่าว มาเป็น”ช่างภาพประจำพรรคการเมือง”ซึ่งปัจจุบัน ก็มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับสื่อสายการเมือง เพราะตอนนี้นักข่าวสายการเมือง-กองบก.ข่าวการเมือง เกือบทุกสำนักต่างก็อยู่ในไลน์กลุ่มสื่อของพรรคการเมืองต่างๆ โดยปัจจุบัน จะพบเห็นเป็นปกติที่สื่อก็จะใช้ภาพที่ถ่ายจากช่างภาพประจำพรรคการเมืองทั้งภาพนิ่ง-คลิป ไปใช้ในงานข่าว ซึ่งภาพเหล่านั้น ก็ถ่ายโดยช่างภาพประจำพรรคการเมือง เป็นส่วนใหญ่
การพูดคุยครั้งนี้ จะทำให้ได้รับรู้เกร็ดการทำงานของช่างภาพ จากช่างภาพสายการเมืองมาเป็นช่างภาพประจำพรรคการเมือง โดยคนที่ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน ฯพูดคุยด้วยก็คือ “ประเสริฐ เทพศรี”อดีตช่างภาพมากประสบการณ์จากหนังสือพิมพ์ THE NATION และเครือเนชั่น ฯ ที่ปัจจุบันเป็นช่างภาพให้กับ”พรรครวมไทยสร้างชาติ”
โดย”ประเสริฐ”เล่าเส้นทางชีวิตการเป็นช่างภาพของตัวเองว่า ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์เนชั่น-เครือเนชั่นมาตลอด ไม่เคยย้ายไปทำงานที่อื่น โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นพนักงานห้องมืด ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ในช่วงปี 2534 โดยทำงานในส่วนดังกล่าวประมาณ แปดเดือน แล้วก็ได้ออกไปถ่ายรูปในช่วงเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535”
ต่อมา ก็ได้รับการปรับตำแหน่งการทำงาน ขึ้นมาเป็นช่างภาพ สายbusiness ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยเน้นถ่ายภาพนิ่งของข่าวเศรษฐกิจ เช่น ไปสัมภาษณ์นักธุรกิจ ถ่ายรูปโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เช่นหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม รวมถึงงานต่างๆ ตามที่ หัวหน้าช่างภาพและกองบก.สั่งงานมา
...ก็อยู่สายเศรษฐกิจเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงปี 2540 ที่เรียกกันว่า วิกฤตฟองสบู่ ต้มยำกุ้ง ผมก็โอนย้ายไปเป็นช่างภาพสายการเมือง ก็ไปถ่ายรูปหลายแห่ง ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล -รัฐสภา และพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แล้วแต่ทางกองบรรณาธิการจะสั่งงานมา ก็อยู่สายการเมืองเรื่อยมา
...ต่อมา เมื่อการเมืองมีการเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ ด้วยความเป็นช่างภาพการเมือง ก็ทำให้ต้องไปถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของม็อบทุกม็อบ เราก็ไปทำหมด ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า ถ่ายภาพมา ไปเกาะติดมาทุกม็อบ ตั้งแต่ยุคเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ สมัย พลตรีจำลอง ศรีเมือง และม็อบเสื้อเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย -ม็อบเสื้อแดง นปช. โดยเฉพาะช่วงเคลื่อนไหวใหญ่ในปี 2552 และ 2553 -ม็อบกปปส. ที่คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เรียกได้ว่า กินนอนอยู่กับม็อบตลอด ทั้งวันทั้งคืนพอไม่มีม็อบ ก็ไปถ่ายภาพข่าวการเมือง เรียกได้ว่าผ่านมาหมด
..แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่เริ่มมีทีวีดิจิทัล แล้วบริษัทเนชั่น ก็ไปเปิดทีวีช่องหนึ่ง เรียกว่า ช่อง NOW26 ผมก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นช่างภาพทีวี ช่อง now ในเครือเนชั่น ก็ทำได้สักพักหนึ่งต่อมา เครือเนชั่น เปิดเว็บไซด์เกี่ยวกับท่องเที่ยว เขาก็ดึงกลับมาเป็นช่างภาพสายท่องเที่ยว ถ่ายรูปสถานที่ท่องเที่ยว พวกข่าวท่องเที่ยวลงเว็บไซด์ แต่ต่อมา ก็ถูกเรียกตัวให้กลับมาถ่ายภาพนิ่งข่าวการเมืองเหมือนเดิม
“ประเสริฐ-อดีตช่างภาพรุ่นใหญ่สายข่าวการเมือง”เล่าต่อไปว่า ทำงานเป็นช่างภาพอยู่ที่เนชั่น ฯร่วม 28 ปี ต่อมาในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอยู่ช่วงหนึ่งโควิดระบาดหนัก แต่เป็นระบาดรอบสอง ทางเนชั่น ฯ ก็มีนโยบายลดคน มีการเลย์ออฟพนักงาน ผมก็เลยออกจากเนชั่นมาเมื่อสักสามปีที่แล้ว ตอนนั้น พอออกมา ผมก็ทำงานลักษณะแบบฟรีแลนซ์ เขียนสกู๊ปเรื่องราวและภาพถ่ายเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว อย่างที่ทำอยู่ถึงตอนนี้ก็คือ เขียนคอลัมน์ชื่อ “ศุกร์(สุข)ละวัด”ในเว็บไซด์ www.thebangkokinsight.com โดยเขียนไปลงทุกสัปดาห์ นอกนั้น ก็มีงานพิเศษต่างๆ เช่นถ่ายรูปในโอกาสต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีการจัดงานเกี่ยวกับท่องเที่ยวหรือไปงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่เขาเชิญมา ไปเสร็จกลับมา ก็เขียนเรื่องและส่งภาพ ไปให้พรรคพวกเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป
สำหรับการเข้ามาทำงานเป็นช่างภาพประจำพรรครวมไทยสร้างชาติ ในปัจจุบันนั้น “ประเสริฐ”เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า พอดีว่าช่วงก่อนการเลือกตั้ง มีการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วก็มีคนที่รู้จักที่เคยทำงานสื่อด้วยกัน เขาโทรศัพท์มาชวนให้มาเป็นช่างภาพประจำ ของพรรค ผมก็ตอบรับเลยทันที เพราะเราก็เป็นฟรีแลนซ์อยู่ ไม่ได้มีงานประจำอะไร ผมก็เข้ามาทำงานเป็นช่างภาพนิ่งให้กับพรรคตั้งแต่ วันที่ 3 มกราคม 2566
รูปแบบการทำงาน
ช่างภาพประจำพรรคการเมือง
และแน่นอนหลายคนย่อมอยากรู้ว่า ช่างภาพประจำพรรคการเมือง มีลักษณะการทำงานอย่างไร ซึ่ง “ประเสริฐ”พูดคุยกับเราด้วยท่าทีสบายๆ ว่า หน้าที่หลักๆ ของผม ก็คือ ถ่ายภาพนิ่งของผู้บริหารพรรค-ส.ส.ของพรรคและภาพกิจกรรมทางการเมืองของคนในพรรค พอถ่ายภาพเสร็จ ก็ส่งไปให้ทีมงานที่เขารับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องข่าวและภาพของพรรค เพื่อส่งเข้าไปในไลน์กลุ่มสื่อมวลชนของพรรคต่อไป
...การทำงานที่ผ่านมา ช่วงที่หนักที่สุด ก็คือตอนหาเสียงเลือกตั้ง ช่วงมีนาคม เมษายน พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะงาน มันแล้วแต่ช่วง อย่างช่วงเลือกตั้ง ภาพนิ่ง จะเน้นเรื่องภาพถ่ายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. -การลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งของแกนนำพรรค และการลงพื้นที่ของ ผู้สมัครส.ส.ของพรรค แต่ตอนนี้ ภาพหลักๆ คือภาพการประชุมสภาฯ ที่จะถ่ายภาพตอนส.ส.ของพรรคอภิปราย หรือตั้งกระทู้ถาม หรือภาพการประชุมส.ส.พรรค ภาพการแถลงข่าวของทีมโฆษกพรรค ภาพการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานทำบุญพรรค วันครบรอบก่อตั้งพรรค การทำกิจกรรมของอดีตผู้สมัครส.ส.ของพรรค เช่นเลี้ยงอาหารเด็ก ลักษณะก็จะเป็นแบบนี้
“ประเสริฐ”ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเหนื่อยกว่าช่วงอื่น เพราะไปติดตามถ่ายภาพการหาเสียงตั้งแต่เช้าจนค่ำ ช่วงนั้นเหนื่อยสุด ช่วงอื่นก็ไม่ค่อยมีอะไร ก็ปกติ แต่หากเทียบกับสมัยเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ พบว่าตอนนั้นจะเหนื่อยกว่าตอนเป็นช่างภาพประจำพรรคการเมือง เพราะการเป็นช่างภาพข่าว เราจะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุอะไร ที่ไหน อย่างไร บางครั้งเราไปนั่งรอถ่ายภาพที่ทำเนียบรัฐบาล พอมีเหตุการณ์อะไรใกล้ๆ ทำเนียบรัฐบาล แล้วเขาสั่งงานเราหรือเราอยากไปถ่ายภาพ เราก็ต้องวิ่งไป เพราะงานถ่ายภาพหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องของข่าวที่หลายครั้งเราจะไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่รู้ล่วงหน้า ไม่เหมือนกับงานที่พรรค ซึ่งลักษณะงานส่วนใหญ่เราจะรู้กำหนดเวลาแต่ละวันแน่นอน มันก็จะง่ายกับเรา
“ประเสริฐ”ยังเล่าต่อไปอีกว่า ลักษณะการถ่ายภาพพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เวลาถ่ายเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาดู คอยเลือกภาพ ซึ่งเราจะรู้ได้เองอยู่แล้วว่า ภาพแบบไหนที่ไม่สมควรส่งหรือสื่อออกไป ภาพไหนดูไม่ค่อยเหมาะ เราก็จะไม่ส่งไปให้ทีมงานของพรรค เพราะก็เหมือนกับเป็นงานแบบพีอาร์พรรค ที่คนในพรรคหรือตัวบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่าย เขาก็ต้องอยากเห็นภาพของเขาที่ถ่ายออกมาแล้วมีแอ็คชั่นที่ดีๆ
..สำหรับทีมงานที่ทำงานด้วยกันตอนนี้ ที่เรียกกันทีมงานสื่อของพรรค ก็จะมีคนที่รับผิดชอบเรื่องการเขียนข่าว ดูเรื่องเนื้อหาข่าวประมาณสามคน ไลฟ์สดหนึ่งคน ภาพนิ่งหนึ่งคนคือตัวผม แล้วก็ทำกราฟฟิก อีกหนึ่งคน มีแอดมินเพจพรรคอีกหนึ่งคน รวมแล้วก็ประมาณเจ็ดคน โดยก็มีบางคนก็เคยผ่านงานสื่อหรืองานข่าวมาก่อน แต่หากเป็นงานใหญ่ๆ เช่น การเปิดตัว พลเอกประยุทธ์เข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือการปราศรัยใหญ่ของพรรคเช่นที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็จะมีทีมมาช่วยอีกต่างหาก ซึ่งก็จะเป็นทีมใหญ่เลย เช่นช่างภาพที่คอยถ่ายภาพนิ่ง ก็จะมีเข้ามาเสริมทีมอีกถึงสี่คน
ส่วนรูปแบบการทำงานแต่ละวัน ก็อยู่ที่ลักษณะงาน ที่เราจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เช่น อย่างตอนนี้อยู่ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางพรรค ก็จะมีการประชุมส.ส.ของพรรคทุกวันอังคารของแต่ละสัปดาห์ หรือหากมีการแถลงข่าวของพรรค เรื่องสำคัญๆ เราก็จะรู้ล่วงหน้า เช่นเดียวกัน หากมีส.ส.หรืออดีตผู้สมัครส.ส.ของพรรค ลงไปทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง แล้วเขาอยากให้ช่วยไปถ่ายภาพให้ เราก็จะลงพื้นที่ไปถ่ายภาพกับเขา ส่วนวันอื่นๆ ก็มีเช่น ถ้าช่วงนี้ ที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ เราก็จะไปที่รัฐสภา ช่วงวันพุธ-พฤหัสบดี
ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ หากมีข่าวอะไรเกี่ยวกับพรรค คนในพรรค แล้วผมได้รับแจ้งมาว่าขอภาพนิ่งของคนที่เป็นข่าวหรือให้สัมภาษณ์ ผมก็จะคอยหาภาพของคนนั้นที่เคยถ่ายภาพไว้ให้ทีมงาน เพื่อให้เขาส่งให้สื่อนำไปเผยแพร่ เช่นหากคนในพรรคโพสต์ เฟสบุ๊ค แล้วมีประเด็นข่าว ทีมงานสื่อ ก็จะนำสิ่งที่โพสต์ไว้ไปส่งให้สื่อเพื่อเผยแพร่ โดยเขาก็จะแจ้งมายังเราว่าต้องการภาพนิ่งของคนดังกล่าว ที่เคยถ่ายภาพไว้ ผมก็จะไปหาภาพมาให้แล้วส่งไป จากนั้น เขาก็ส่งไปให้สื่ออีกที ที่ปัจจุบันก็จะส่งในไลน์กลุ่มสื่อของพรรคฯ ซึ่งก็เหมือนกับช่างภาพที่ถ่ายรูป ถ่ายภาพนิ่งปัจจุบัน ที่ถ่ายภาพนิ่งเสร็จแต่ละงาน ช่างภาพแต่ละคน ก็จะคัดรูปแล้วส่งให้สำนักข่าวของตัวเอง
..ลักษณะการทำงานก็จะเป็นอย่างที่เล่าข้างต้น แต่หากเป็นวันอื่นๆ ที่ไม่มีอะไร ไม่ต้องไปไหน ผมก็จะเข้ามาที่ทำการพรรค ก็นั่งแต่งรูปที่เคยถ่ายไว้ เพื่อเตรียมภาพไว้ใช้ พูดถึง ภาพรวมๆ การทำงานเป็นช่างภาพประจำพรรค ถือว่าไม่ค่อยเหนื่อยมาก ว่าไปแล้วก็ดีกว่าสมัยเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ ส่วนรายได้ ก็พอๆกับตอนสมัยเป็นช่างภาพตอนที่ออกมา (ยกนิ้วแสดงตัวเลขประกอบ) ซึ่งก็ได้เยอะกว่า ตอนที่เป็นฟรีแลนซ์ ที่บางช่วงก็มีรายได้บ้าง ไม่มีบ้าง
เราซักถามด้วยความอยากรู้ว่า การทำงานที่ผ่านมา มีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ “ประเสริฐ”เล่าให้ฟังว่า ก็ไม่ค่อยมีอะไร ก็เหมือนกับถ่ายภาพสื่อทั่วไป เพราะอย่างเวลาถ่ายภาพลงสื่อ ถ้าถ่ายรูปเด็ก เราก็ต้องไม่ให้เห็นหน้าเด็กแบบชัดเจนมากเกินไป ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปมากกว่าสมัยเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์
บทสนทนา มาถึงเรื่องเคล็ดลับการทำงานเป็นช่างภาพพรรคการเมืองว่า ต้องจำชื่อ จำหน้า ส.ส.ในพรรคให้ได้หมดทุกคนหรือไม่ “ประเสริฐ”บอกว่า เราต้องจำให้ได้ อย่างส.ส.ของพรรคที่มีตอนนี้ ประมาณ 36 คน ส่วนใหญ่ก็จำได้เกือบหมด โดยผมจำได้ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่ตอนนั้น พรรคส่งผู้สมัครส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ 400 คน แล้วให้ผู้สมัครแต่ละคนมาถ่ายภาพที่สตูดิโอที่พรรค ซึ่งพอถ่ายเสร็จ อัดรูปออกมา เราก็ต้องคัดรูปของทุกคน เพื่อนำไปใช้งานต่างๆ เช่น นำรูปไปยื่นทำเอกสารต่างๆ ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครระบบเขตทั้งหมด 400 คน ก็ผ่านตาผมหมดทุกคน หลายคนก็จำได้
พอหลังเลือกตั้ง พรรคได้ส.ส.มา 36 คน เราก็ต้องมานั่งเรียงว่า ส.ส.ทั้ง 36 คนมีใครบ้าง ที่ก็จะไปดึงภาพจากที่ถ่ายไว้ตอนเลือกตั้ง มาเรียงภาพแต่ละคน ก็เลยทำให้จำส.ส.ของพรรคตอนนี้ได้หมดทุกคน รวมถึงอดีตผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ผมก็จำได้ เพราะเคยผ่านตา ตอนคัดรูป บางคนก็จำได้ เพราะเคยลงไปช่วยถ่ายภาพให้ตอนหาเสียงเลือกตั้งทั้งที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด อย่าง กทม.ที่พรรคส่งครบทุกเขต 33 คน ส่วนใหญ่ผมก็จำได้หมดทั้ง33 คน
ช่างภาพ ต้องรู้ประเด็นข่าว
ต้องทำการบ้าน -ติดตามข่าวสาร
แม้วันนี้ “ประเสริฐ”จะไม่ได้เป็นช่างภาพสายงานข่าว แต่เขาก็ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจถึงสิ่งสำคัญที่ช่างภาพจะต้องมี ก็คือ “การต้องรู้ประเด็นข่าว -รู้ทิศทางข่าว” เพื่อทำให้การถ่ายรูปออกมาดีที่สุด ภาพมีความสัมพันธ์กับข่าว ซึ่งเขาเล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับการทำงานในส่วนนี้ไว้ว่า เมื่อเราเป็นช่างภาพสายการเมือง เราต้องตามข่าวการเมืองตลอด อย่างสมัยก่อนทำงานหนังสือพิมพ์ เคยมีพี่ช่างภาพชื่อ”พี่จำลอง บุญสอง”เขาเคยสอนพวกช่างภาพไว้ว่า “ช่างภาพ ต้องอ่านข่าวอ่านหนังสือพิมพ์เยอะๆ ต้องอ่านประเด็นข่าว จับประเด็นให้ได้ แล้วจะถ่ายรูปออกมาได้”พี่เขาเน้นย้ำมากกับพวกผมที่เป็นทีมช่างภาพว่า “พวกมึงต้องอ่านหนังสือพิมพ์เยอะๆ “รวมถึงบอกกับพวกผมตลอดว่า ต้องดูภาพข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเยอะๆ พวกสำนักข่าวเอพี สำนักข่าวรอยเตอร์ เพราะที่เนชั่น จะมีไปซื้อภาพข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก เราก็นั่งเปิดดูตลอด คอยศึกษา
การเป็นช่างภาพต้องติดตามข่าว ต้องหาข้อมูล ต้องคอยประเมินวิเคราะห์ตามข่าวด้วย เช่น หากไปเฝ้าถ่ายภาพม็อบ ก็ต้องคอยดูว่าแนวโน้มม็อบจะเคลื่อนอย่างไร วันนี้จะไปไหน หรือหากติดตามถ่ายภาพพรรคการเมืองเช่นช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหว คอยประเมินว่าพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะไปทาบทาม พรรคการเมืองใดนมาร่วมตั้งรัฐบาลบ้าง
...หรืออย่างสมัยเป็นช่างภาพคอยถ่ายภาพม็อบ บางวันเราได้ข่าวมาว่าอาจจะมีการสลายการชุมนุม เราก็ต้องนอนค้างในม็อบเลย เช่นนอนแถวสะพานมัฆวานรังสรรค์ สมัยม็อบเสื้อเหลือง หรือม็อบเสื้อแดง ก็กินนอนข้างเวทีปราศรัยใหญ่เลยที่ราชประสงค์ ซึ่งบางม็อบช่างภาพ ต้องใส่เสื้อเกราะ หนักร่วมสิบกิโลกรัม แล้วก็ยังต้องหิ้วเลนส์ กล้อง โน๊ตบุ๊ค เรียกได้ว่านั่งทีหงายหลังเลย เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ก็ต้องทำ อย่างตอนม็อบเสื้อเหลือง ที่เคลื่อนไปชุมนุมหน้ารัฐสภา ผมได้รูปที่ตำรวจกำระเบิดไว้ข้างหลัง พอเช้ามาอีกวัน นายตำรวจใหญ่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เวลานั้นแถลงว่าเป็นภาพตัดต่อ ทั้งที่ผมถ่ายมากับมือเลย
“ภาพนิ่งข่าวการเมือง หากช่างภาพมีมุมคิดที่ดี มีมุมดีๆ มีการจับแอ็คชั่นที่ดี ที่เป็นข่าวที่ดีได้ ช่างภาพนิ่งก็ยังสำคัญและมีความจำเป็นอยู่ เพราะแม้ปัจจุบันจะมีโทรศัพท์มือถือสามารถ่ายภาพได้ แต่หากพูดถึงความละเอียด ภาพที่ถ่ายโดยกล้องของช่างภาพจะเห็นความละเอียดของภาพได้ชัดเจน ผมจึงมองว่าช่างภาพนิ่ง ช่างภาพข่าว ยังมีความจำเป็นสำหรับงานสื่ออยู่”
“สำหรับงานที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็ถือว่าสนุกไปอีกแบบ เพราะเราก็ได้ถ่ายรูปที่เราชอบ เพราะอย่างการถ่ายรูปการหาเสียงตอนเลือกตั้ง ผมก็เคยผ่านมาแล้ว สมัยเราเป็นช่างภาพการเมือง ตอนนั้นก็ไปตามถ่ายรูปพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคไปหาเสียง ไปถ่ายภาพบนเวทีปราศรัยที่ต่างจังหวัด เพียงแต่ตอนนั้น ไม่ได้เน้นตามพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ เพราะไปถ่ายหลายพรรค”ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย