อนาคตคนข่าวและความท้าทาย ในยุค AI ปฏิวัติวงการ

โดย-จุลสารราชดำเนิน

AI ได้เข้ามีบทบาทในวงการสื่อ สนับสนุนการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวการการเงิน ข่าวกีฬา  การผลิตรายการทีวี การเป็นผู้ประกาศข่าว  กระทั่งบางองค์กรสื่อให้ AI มาช่วยเขียนข่าวเอง แม้แต่ยักษ์ใหญ่ Googleได้พัฒนา AI ให้เข้ามาช่วยเหลือผู้ผลิตคอนเทนต์ ช่วยในการเขียนข่าวในหลายรูปแบบ จนเกิดคำถามว่า AI จะเข้ามาแย่งอาชีพนักข่าวหรือไม่

ไทยพีบีเอสโดย Thai PBS World ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดงาน Thai PBS World Forum หัวข้อ "AI and the Future of Newsroom"  เมื่อไม่นานมานี้ เปิดพื้นที่ระดมความคิดมุมมององค์กรสื่อในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนทิศทางการทำงานสื่อมวลชนในอนาคต

นักข่าวลูกครึ่ง- คนกับหุ่นยนต์

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเปิดงานว่า  ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทและช่วยงานวงการสื่อหลายรูปแบบ  ดาวิด แคสเวลล์ จากบีบีซี ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง AI บอกว่า AI จะเปลี่ยนอนาคตการทำข่าวในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ไปมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นผลกระทบที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในห้องข่าว และในอุตสาหกรรมสื่อ

เขายกตัวอย่างผลกระทบว่า เมื่อปีที่แล้ว ในเยอรมนีมีนสพ.แทบลอยด์ Bild เนื้อหาซุบซิบดาราได้ใช้ AIเข้ามาทำงาน มีการเลิกจ้างพนักงาน จนเลิกการพิมพ์ขายเหลือแต่ออนไลน์เป็นหลัก  การนำ AI มาใช้จึงกระทบหมด หลักๆ กระทบ 2 ด้าน 1.การสร้างสื่อเชิงพาณิชย์ และ 2.สื่อสาธารณะ

AI ตอนนี้มี 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นยุคที่คนใส่ข้อมูล ความรู้เข้าไปในระบบ   ยุคต่อมา คือ Machine Learning เพิ่งเริ่มมา 2 ปี  ปัจจุบันเข้าสู่ยุคที่ 3 คือ Generative AI  เป็นระบบที่สามารถรับข้อมูลก้อนใหญ่ นำมาประมวลผล สร้างภาษากลั่นกรอง ให้เป็นภาษาของตัวเอง หรือ ทำหน้าที่เป็นล่ามแปล แปลงเป็นเสียงได้ ถ้าใส่ภาพเข้าไปสามารถแปลความออกมาได้ทันที  ปัจจุบันมีแอพที่เรียกว่า Midjourney เกี่ยวกับภาพ และ ChatGPt ที่เพิ่งมีแค่ 1 ปี แต่คนทั่วไปใช้อย่างแพร่หลาย

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า AI ถูกใช้ในห้องข่าวแล้วในหลายประเทศ ภารกิจหลักๆ 3 เรื่อง คือ 1. รวบรวมข่าวที่ปรากฏบนโซเชียลต่างๆ เข้ามาป้อนในห้องข่าว  หรือสร้าง Chatbot ไปสัมภาษณ์คนก็มี แต่ยังเป็นเรื่องใหม่ พบน้อย 2. ที่ใช้มากคือ การสร้างข่าวให้กองบรรณาธิการ และ 3. กระจายข่าว  AI เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคว่าจะต้องส่งข่าวชิ้นไหนตามความต้องการของคนเสพ  ซึ่งในอดีตเราดูจากทีวีแบบเก่าเราจะได้มุมมองเดียว แต่ปัจจุบัน AI  สามารถปรับเนื้อหาข่าวให้เข้ากับผู้บริโภคทุกกลุ่ม  

“ข้อดีของ AI สามารถจัดการกับก้อนข้อมูลชุดใหญ่ๆได้ หรือ ข่าวใหญ่ๆ เมื่อเรามีแอพหลายอย่าง เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น ข้อมูลการเงินของบริษัท เขาสามารถสรุปข่าวการเงินได้ หรือ ข่าวกีฬา เราป้อนข้อมูลผลการแข่งขันพรีเมียร์ลีก เขาสามารถสร้างสคริปต์ให้เราได้... นี่จึงเป็นความท้าทายของเรา ทุกองค์กรว่า จะนำ AI ปรับใช้อย่างไรในห้องข่าว เพราะ AI ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เราต้องนำ AI มาสร้างคุณค่าให้มากขึ้น  การนำ AI เข้ามา ยังท้าทายวัฒนธรรมในองค์กรด้วยเพราะยังมีกลุ่มคนเก่าที่ทำงานในองค์กร สุดท้ายก็ต้องปรับตัว

“ AI จะมีผลกระทบกับบริษัทสื่อ เพราะบริษัทจะลดต้นทุนจากการใช้ AI  ที่อาจสร้างผลผลิตได้มากกว่า ดังนั้น นักข่าวต้องเตรียมตัวในการใช้ AI และเราต้องรู้การใช้ข้อดีของเขา” ดร.สมเกียรติ กล่าว 

แล้วต้องระวังอะไรในการนำ AI มาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจริยธรรม?...  1.เราต้องดูว่า อะไรคือ เฟคนิวส์  บางที AI ก็อาจเผลอสร้างข่าวที่ไม่จริงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราป้อนข้อมูลอะไรแต่แรก ถ้าไม่จริง AI ไม่รู้ เพราะเขาทำข่าวตามนั้น เช่น เคยมีกรณีนิตยสารเยอรมันไล่ออกบรรณาธิการเพราะใช้ AI มาผลิตข่าวไมเคิล ชูมัคเกอร์ แชมป์โลกนักแข่งรถชาวเยอรมัน ทั้งที่ความจริงนักข่าวไม่ได้สัมภาษณ์เอง  2. เวลาเราใส่ข้อมูลใน AI เขาจะสร้างภาพข้อมูลขึ้นมาเอง จากการพยายามคาดเดา ความเป็นไปได้ว่า คำต่อไปคืออะไร ทั้งที่เราไม่ได้สั่ง เพราะเขาจะฝึกตัวเอง และเรียบเรียงคำ อันนี้เป็นฟังก์ชั่นสำคัญของ AI บางทีเขาก็อ้างอิงแบบคิดขึ้นมาเอง ทั้งที่ไม่เป็นจริง 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า คำถามสำคัญแล้ว AI จะมาทดแทนนักข่าวหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่า AI จะช่วยให้นักข่าวทำงา มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในอนาคตตอันใกล้ เราอาจมีนักข่าวลูกครึ่ง คือ คนกับหุ่นยนต์ หรือ Smart Cyborg Journalists  โดยอาจแบ่งนักข่าวเป็น 4 ประเภท 1. นักข่าวที่เก่งและสามารถใช้ AI อย่างชาญฉลาด 2. นักข่าวที่อาจไม่ได้เก่งด้านการทำข่าว แต่เขานำ Smart AI  มาใช้ ทำให้เขาดูดีขึ้น  3. นักข่าวที่เก่งแต่ไม่ได้ใช้ AI   4. นักข่าวทั่วไปแต่ไม่ใช้ AI

ภายในงานเสวนาครั้งนี้ ยังมีการระดมความเห็นในหัวข้อ “AI and the Future of Newsroom อนาคตของห้องข่าวกับเอไอ” โดยตัวแทนสื่อเอเชียหลายสำนักได้แลกเปลี่ยนการใช้ AI ในองค์กรตนเอง 

AIสรุปข่าว-ทำคลิป

ทาคาฮิโระ มูชิซากิ วิศวกรอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี NHK  ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า  NHK ได้เสนอข่าวทางออนไลน์มากขึ้น ปกติการสรุปข่าว การผลิตข่าว ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะการทำคลิปข่าวสั้นๆ เราจึงใช้ AI  มาช่วยทำสรุปข่าวผ่านการสร้างโปรแกรมใหม่  เพียงแค่ใส่คลิปวีดีโอข่าวเข้าไป แล้ว AI ก็จะช่วยรวบรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ตัดต่อให้เอง ส่งข้อความข่าวทาง smsด้วย 

เรายังใช้ AI สร้างผู้ประกาศข่าวขึ้นมาเอง โดยดูจากคลิปวีดีโอที่เราป้อนให้ แล้ว AI จะคัดว่า ควรเป็นผู้ประกาศหน้าตาแบบไหนให้เข้ากับเนื้อหาข่าวแต่ละประเภท  AI ยังหาคีย์เวิร์ด ขัดเกลาภาษาข่าว สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหว เนื้อหา สคริปต์ ได้หมด ปัจจุบัน NHK มีชื่อเสียงในการใช้ AI สรุปข่าว นำเสนอคลิป โพสต์ข่าว ในอนาคตทางสถานีจะใช้แนวทางนี้มากขึ้นและจะขยายการใช้ AI ทำรายการแนวอื่นด้วย

“วันนี้ AI อาจยังไม่สมบูรณ์ เรายังไม่สามารถใช้ได้ 100%  แต่ช่วงนี้ก็ถือเป็นการทดสอบ NHK เราคุยกันว่า การที่เราเอา AI มาประยุกต์ใช้บนเป้าหมายว่า แค่ให้หวังพึ่งรวบรวมข้อมูล แต่ไม่ใช่ให้ AI เป็นคนสุดท้ายในการผลิตงาน เพราะยังต้องเป็นคนในการตัดสินใจเป็นหลัก” 

นาโอกิ นากาทานิ วิศวกรศูนย์นวัตกรรมสื่อ NHK

นาโอกิ นากาทานิ วิศวกรศูนย์นวัตกรรมสื่อ NHK   กล่าวเสริมว่า อีกภารกิจหนึ่ง NHK คือ ใช้ AI มาช่วยแจ้งเตือนประชาชนในกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการได้ยิน ผ่านการใช้ภาษามือในเว็บไซต์ โดยเราได้สร้างล่ามภาษามือที่เป็นผู้ประกาศข่าว AI เตือนภัยข่าวพยากรณ์อากาศ  เหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ  เราใช้โปรแกรมป้อนข่าวเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วแปลงเป็นอังกฤษ จากนั้นก็มาแปลงเป็นภาษามือในขั้นตอนสุดท้าย  ปัจจุบันในญี่ปุ่น มีประชาชนราว3.4 แสนคน ที่มีปัญหาหูหนวกและการได้ยิน ในจำนวนนี้ 18.9% ใช้ภาษามือเป็นภาษาหลัก   AIจึงช่วยให้เราทำงานเร็วขึ้นในการแจ้งเตือนประชาชน   (ตัวอย่างประกอบ https://www.nhk.or.jp/handsign/)

วิเคราะห์-วางแผน

หยาง  เฉิงซี ผู้สื่อข่าวอาวุโส CGTN  จากประเทศจีน กล่าวว่า  เขาใช้ AI  ในการถอดคำสัมภาษณ์ สรุปประเด็นจากการเสวนาการประชุม ช่วยย่นเวลาในการทำงาน  เพราะการสัมภาษณ์มักใช้เวลายาวนาน แต่สุดท้ายก็ต้องมาฟังใหม่ เพราะอาจมีบางคำที่ถอดมาไม่ถูกต้อง  ในการทำคลิปสัมภาษณ์ยังใช้ AI ช่วยในการ ทำซับไทเทิล หรือให้มาช่วยเขียนสคริปต์  การสร้างคำบรรยายเสียงแบบอัตโนมัติในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง ทางสถานีฯ ข่าวก็นำเครื่องมือนี้มาช่วยลดเวลาการทำงานด้วยของทีมตัดต่อด้วย นอกจากนี้ยังใช้ ChatGPT ในการเขียนภาษาอังกฤษที่เป็นทางการ หรือหาข้อมูล  ทำวิจัย ตรวจสอบในเรื่องที่ข้อมูลทางออนไลน์มีไม่ทั่วถึง

“การใช้AI ต้องระวัง ยิ่งถ้าทำไลฟ์สด หรือนำ ChatGPT ต้องดูเนื้อหาที่ใส่ในเว็บเพื่อไม่ให้มันผิดพลาด มันต้องมีมาตรฐานในการนำAI มาใช้  ต้องมีการทดสอบอีกเยอะ ผมไม่คิดว่า AI จะมาแทนคนได้  แต่ในระยะสั้น AI อาจมาทดแทนบางอย่างได้ เพราะมนุษย์ยังต้องการ  human touch ระหว่างคนกับคน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับมนุษย์ เช่น มันมีถ่ายทอดสดดนตรีสตรีมมิ่ง แต่เราก็ยังอยากไปคอนเสิร์ตที่คนแสดงอยู่ดี”  

ส่วนหนึ่งของการใช้ AI ของสถานีโทรทัศน์ KBS

ซองโฮ จีออน ผู้อำนวยการฝ่ายระบบ UHD ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ ระบุว่า  เป็นปรากฏารณ์ใหม่ที่เรานำ AI  มาใช้กับสถานี เช่น ใช้วิเคราะห์ข่าว มอนิเตอร์สื่อ สร้างซับไทเทิล ทำคลิปข่าว สคริปต์ข่าว ถ่ายทอดไปยังวิทยุให้ AI พูด  เรายังใช้  AI  เผยแพร่ผลแข่งขันฟุตบอลหลายคู่พร้อมๆกัน  ในการผลิตรายการทีวีเรายังสามารถดึงภาพจากกล้องหลายตัวมาผลิตทีเดียว และใช้ AI ประมวลผลว่า ช่องไหนดูรายการไหนเป็นหลัก  ช่วงไหนที่มีคนดูมากที่สุด สามารถมอนิเตอร์ได้เรียลไทม์ วิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการรายงานให้ถูกจังหวะ เทียบกับการรายงานของช่องอื่น 

AI  ยังช่วยเราเก็บข้อมูลสื่อคู่แข่ง  ดูมุมกล้องในการนำเสนอว่า แบบไหนคนดูเยอะ เหมือนคนเล่นติ๊กต๊อกเก่งๆ เราใช้ AI ทำโทนสีในการนำเสนอภาพเพื่อวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคชอบสีแบบไหน ดีกว่าต้องมานั่งจินตนาการเอง  AI ยังเป็นช่างภาพ ช่างกล้อง แนะนำเราว่าควรถ่ายมุมไหนมานำเสนอในช่วงที่มีการรายงานข่าว

เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

กนกพร ประสิทธิ์ผล ผอ.สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส

นส.กนกพร ประสิทธิ์ผล  ผอ.สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสมีตัวอย่างหลายแบบที่ใช้AI เช่น  ในเว็บข่าว มีหมวดบริการ “อ่านให้ฟัง” หรือ Text to speech จากเสียงสังเคราะห์อัตโนมัติ กดคลิกเนื้อหาก็สามารถเปิดไฟล์เสียงข่าว สามารถเลือกได้ว่า จะฟังเสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอสคนไหน และมีภาษาให้เลือกถึง  3 เสียง  สามารถดาวน์โหลดและแชร์ต่อได้ ตอนนี้มีกว่า 3 หมื่นไฟล์ข่าวบนเว็บไซด์   (www.thaipbs.or.th/ai-audio-news )

“ตอนแรกเรา สร้าง ผู้ประกาศAI แต่ถูกวิจารณ์บางเรื่อง เสียง การอ่าน คำถูกผิด การสะกดคำ ซึ่งก็ต้องให้ AI เรียนรู้ก่อน จึงยกเลิกไป  แต่ในปีหน้า เราจะมีผู้ประกาศจาก AI  เสมือนผู้ประกาศข่าวจริงของไทยพีบีเอสมาอ่านข่าวในภาษาต่างๆ”

นส.กนกพร  กล่าวว่า  ไทยพีบีเอสยังมีแพลตฟอร์ม VIPA  ซึ่งเป็น OTT Streaming สามารถกำหนด Playlist ตรงใจผู้ชม มีระบบวิเคราะห์ว่าช่วงเวลาไหนที่คนชอบดูมากที่สุด และมีแผนว่าจะนำไปใช้กับเว็บไซต์ข่าวในอนาคตด้วย เพื่อดูเอนเกจเมนต์ว่าผู้ชมชอบคอนเทนต์ลักษณะใด โดยวิเคราะห์จากประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เพื่อการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ปัจจุบัน มี 450เนื้อหาที่จะสามารถเข้าชมได้  มีสมาชิก 144,000 คน ดาวน์โหลดแล้ว 531,000 ครั้ง  ในปีหน้า เราจะเน้นการเผยแพร่รายงานสด Live Streaming บนมือถือ ที่ดูง่ายขึ้น ไม่ต้องหมุนโทรศัพท์เป็นแนวนอน แต่สามารถดูทางขวางได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับอุปกรณ์

 นส.กนกพร กล่าวว่า  AI เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการทำงานข่าวง่ายขึ้น นักข่าวยุคใหม่ต้องปรับตัว เติมทักษะด้านเทคโนโลยีให้ใช้ AI อย่างเท่าทัน เราไม่ควรกลัว AI แต่ควรใช้มันให้เกิดประโยชน์ AI ควรกลัวคนมากกว่า ทักษะการตรวจสอบข่าวจะเป็นความท้าทายที่ยากขึ้นในยุคที่มีการใช้ AI