นักข่าว-ผู้ประกาศ ตกงาน? หลังการเข้ามาของ AI ในวงการสื่อ

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

...............................................

“ไม่ตกงาน ยืนยันว่าไม่ตกงาน เพราะยังไง ท้ายสุด ก็ต้องใช้คนในการวิเคราะห์ผลสุดท้าย ก่อนจะนำไปเผยแพร่อยู่ดี เพราะไม่ถึงกับปล่อย AI  ให้ทำหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังไง ก็ต้องมีการคอนโทรล ..ในอนาคตข้างหน้า แต่ถามว่านักข่าวจะตกงานหรือไม่ ก็บอกได้ว่า นักข่าวไม่ตกงาน เพราะยังไง ก็ต้องมีนักข่าวมาวางไกด์ไลน์การทำข่าว เช่นสื่อจะทำข่าวแบบไหน”

         หลังจากที่ หลายวงการธุรกิจ-อุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยี  AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการดำเนินกิจการมากขึ้น 

ในส่วนของ”วงการสื่อสารมวลชน”แม้ปัจจุบันจะมีแค่บางองค์กรสื่อที่นำ AIเข้ามาทดลองใช้ในการรายงานข่าว-การเสนอข่าว แต่แนวโน้มระยะยาว ก็มีการคาดหมายกันว่า AI จะถูกนำมาใช้ในวงการสื่อสารมวลชนมากขึ้น

 และเมื่อถึงตอนนั้น จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง กับ”คนข่าว-วงการข่าว” เรื่องนี้ “ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”พูดคุยกับ ”ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” NIA : National Innovation Agency, Thailand ที่เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้เห็นทิศทางดังกล่าว

โดย“ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” พูดชัดๆว่า วงการสื่อสารมวลชน แนวโน้มจะมีการใช้  AI มากขึ้น แต่ยังไงเสีย จะไม่มีผลทำให้ นักข่าว-คนในวงการสื่อ ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นตกงาน-โดนเลิกจ้าง 

“ดร.กริชผกา” ตั้งข้อสังเกตเชิงให้ข้อมูลว่า วงการสื่อสารมวลชนว่า เริ่มมีการใช้งานมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา 2566 เห็นได้จากมีการจัดเสวนา -สัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง"สื่อมวลชนกับ AI"เยอะมาก ที่ก็น่าจะเป็นเพราะปัจจุบันสื่อมวลชน นำ AI มาใช้ประโยชน์กับวงการสื่อมากขึ้น จึงมีการจัดงานดังกล่าวกันหลายเวทีจะได้มีการนำ AI ไปใช้ในด้านวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยงานด้านข่าว -ผู้สื่อข่าว ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ตลอดจนสร้างคอนเทนต์ของข่าว-ข้อมูล การทำอินโฟกราฟิก รวมถึงการสร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง 

         "ในอนาคตใครที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ดีที่สุด ออกข้อมูลได้ตรงที่สุด มักจะได้รับการยอมรับ สื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกัน ที่เห็นสื่อมีการใช้งาน AI ก็มีเช่น ไทยพีบีเอส แต่ยังอาจใช้งานในลักษณะช่วยงานข้างหลัง เช่นการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการแปลข่าว ส่วนงานหน้าจอยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มเห็นบางทีเริ่มจะทำ แต่ในต่างประเทศ ก็มีทำแล้ว เช่นของ CNN ที่เป็นผู้ประกาศข่าว หรือ NHK ของญี่ปุ่น วงการสื่อ สามารถนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้ เพราะทำงานให้การทำงานของสื่อรวดเร็วขึ้น ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น เกิดประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เพราะ AI มีฐานข้อมูลเช่น ข้อมูลเรื่องคำต่างๆ ในเรื่องของภาษา"

         “ดร.กริชผกา”กล่าวอีกว่า ในมุมนวัตกรรมการสื่อสาร AI จะช่วยสร้างสื่อนวัตกรรมให้มีความน่าสนใจ ทั้งในด้านระบบประมวลผลข้อมูล ช่วยเรื่องของวิเคราะห์ทำนายเหตุการณ์หรือทิศทางข่าว (Foresight) ทิศทางข่าวเพื่อเตรียมรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ระบบการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างการแข่งขันการตลาดที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ฉลาด บวกกับคนสื่อที่เก่ง และมีประสบการณ์อยู่แล้ว AI เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ส่งเสริมให้งานสื่อมีประสิทธฺภาพมากขึ้น ถ้าใช้ในทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ถ้ามองในมุมความทันสมัย หวือหวา เทคโนโลยี AI อาจจะเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์การเสพสื่อที่แปลกใหม่ ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง การนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาใดๆจะมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

"ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ"ย้ำว่า  สิ่งที่วงการสื่อมวลชน จะต้องปรับตัว สำหรับสังคมปัญญาประดิษฐ์ ก็คือ สื่อต้องปรับตัวด้วยการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก AI และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชน

 เมื่อสื่อนำ AI มาใช้ สื่อก็ต้องช่วยในการโปรโมตให้ประชาชนรับรู้ถึงความสำคัญของ AI การใช้ประโยชน์จาก AI ,การควบคุม AI เพื่อทำให้โลกใบนี้ มันไม่ตื่นตระหนกว่า AI มันน่ากลัว เพราะบางที คนอาจกลัวเกินไป จนไม่มีการเปิดรับ เทคโนโลยีใหม่ๆ จึงควรเปิดรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้เต็มที่ 

         เมื่อตั้งคำถามว่า หากสื่อใช้ AI โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณ จริยธรรม หรือยังขาดองค์ความรู้ในเรื่อง AI ดีพอจะเกิดผลเสียหรือไม่ “ดร.กริชผกา”ย้ำหนักแน่นว่า          ก็มีผลเสีย หากมีการนำAIไปใช้ในทางที่ผิด มันก็จะเกิดผลกระทบมหาศาล เพราะด้วยความฉลาดของมัน หากเรานำมาวิเคราะห์แล้วใช้ข้อมูลถูกต้อง ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรานำไปใช้ในทางไม่ถูกต้องเช่นนำข้อมูลไปทำลายคนๆหนึ่ง แล้วไปวิเคราะห์ข้อมูลของคนนั้นทั้งหมด จนพบช่องมากมาย มันก็จะเป็นการใช้ AI ในทางที่มิชอบ ไปในทางกลั่นแกล้งคน ไปบิดเบือนข้อมูล ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเราใช้ AI ไปในทางที่ดี มันก็จะเกิดการสร้างสรรค์ เกิดผลในเชิงบวกกับการใช้ AI ในเรื่องนั้นๆ 

...หากจะบอกว่าเทคโนโลยีมันน่ากลัวในตัวของมันเองหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ณ วันนี้ เทคโนโลยีไม่น่ากลัว แต่ผู้ใช้งานเทคโนโลยี คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คุณใช้ในทางที่ดี ผลก็ออกมาดี แต่หากใช้ในเชิง negative  ผลก็ออกมาแบบ negative ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมเรื่องจริยธรรม 

         "ดังนั้น ภาคของสื่อมวลชน จึงสำคัญในการเฝ้าจับตามองว่า การใช้  AI  ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง และเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ แล้วส่งเสียงสะท้อนออกมา ซึ่งหากพบว่ามีอะไรตรงไหนไม่ดี คนที่เกี่ยวข้องเขาก็ต้องปรับแก้ไข เพราะมันอยู่ไม่ได้ ถ้าใช้แล้วออกมาในทางไม่ดี สร้างความเดือดร้อน ก็ต้องโดนสังคมต่อว่า"

การมาของ AI  จะทำให้วงการสื่อได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นักข่าว ผู้ประกาศ จะตกงาน?

         ไม่ตกงาน ยืนยันว่าไม่ตกงาน เพราะยังไง ท้ายสุด ก็ต้องใช้คนในการวิเคราะห์ผลสุดท้าย ก่อนจะนำไปเผยแพร่อยู่ดี เพราะก็ไม่ถึงกับปล่อย AI  ให้ทำหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังไง ก็ต้องมีการคอนโทรล และข้อมูลหลายข้อมูล AI  ก็ลงไปไปไม่ได้ และยิ่งของเรา Database (ฐานข้อมูล)  เป็นภาษาไทย มันก็มีข้อมูลจำกัด 

เรื่องบางเรื่อง ถ้ามันไม่ได้อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ได้อยู่ใน Database ระบบ AI ก็ไม่มีทางรู้ แต่นักข่าว ที่ลงพื้นที่ทำข่าว ยังไงก็ต้องรู้มากกว่าอยู่ดี แต่ถ้าในอนาคต information มันลงมาหมด  AI ก็อาจรู้ทุกอย่าง แต่ปัจจุบัน ด้วยความที่ data ของเรา ยังไม่ได้ละเอียด นักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ จึงยังมีความสำคัญอยู่ดี  

ซึ่งข้อมูลที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ และการทำข่าว เร็วกว่ามนุษย์มาก แม้แต่ตอนนี้ ก็จะพบว่า มีการใช้ AI มา generate ให้เป็นนักข่าวเสมือนจริง คือไม่ต้องมีนักข่าวก็ได้ เช่นเราอยากได้คนนี้ ก็ดึงคาแรกเตอร์ที่เก่งๆ ของนักข่าวหลายๆ คนมา แล้วมาสร้างใหม่ก็ยังได้ ไม่ต้องใช้คนแล้ว แล้วก็มา INFORMATION generate  ในอนาคตข้างหน้า แต่ถามว่านักข่าวจะตกงานหรือไม่ ก็บอกได้ว่า นักข่าวไม่ตกงาน เพราะยังไง ก็ต้องมีนักข่าวมาวางไกด์ไลน์การทำข่าว เช่นสื่อจะทำข่าวแบบไหน 

                  ในบริบทสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในทางวิชาการ ทางเทคโนโลยี ทางภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหนก็ตาม รวมถึงประชาชน AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเรา ในฐานะที่เราอาจจะอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรือจะเป็นผู้สร้าง AI ขึ้นมาก็ตาม เรื่อง AI จึงเป็นอีกหนึ่งบริบทที่จะเกี่ยวข้องกับคนในทุกๆมิติ จึงอยากให้มอง AI ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต AI จะมีประโยชน์อย่างไร หากเราใช้งานอย่างเหมาะสม และในภาครัฐเอง การจะดูเรื่องการควบคุม ก็ต้องดูว่าจะควบคุมกำกับดูแลแบบไหน

 ส่วนภาคสื่อ จะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างไร จะคอนโทรลเรื่องจริยธรรมอย่างไร รวมถึงประชาชน จะใช้ประโยชน์จาก AI แบบไหน จากที่ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จาก Chat GPT จะเห็นได้ว่า เราก็ใช้ประโยชน์จาก AI เยอะ แต่ท้ายที่สุด เราก็ต้องมาวิเคราะห์อยู่ดีว่า สิ่งที่ AI  ได้ generate มาถูกต้องหรือไม่

 ดังนั้น การคิด วิเคราะห์ จึงอยู่ในมนุษย์ ที่จะใช้งานตรงนี้อยู่ AI  จึงใช้เป็นแค่เครื่องมือให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้มนุษย์ จึงยังควบคุม AI  อยู่ ยังไม่ใช่ AI ควบคุมมนุษย์

         หัวใจสำคัญของการใช้ AI ในสื่อมวลชนต้องได้รับการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบและจริยธรรม เพราะ AI ไม่ได้ถูกสอน หรือถูกฝึกมาในเรื่องการของความรับผิดรับชอบ ความเข้าใจในกฎหมายของบริบทนั้นๆ  ข้อพึงระวัง AI เรื่องของความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ความสมดุลของข้อมูลกับการนำเสนอข่าว นำเสนอเนื้อหาอย่างระแวดระวัง

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://workpointtoday.com/nia-dr-krichpaka-promo/

“ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ”กล่าวย้ำปิดท้าย ถึงผลกระทบของการเข้ามาของ AI กับเรื่องการจ้างงานในภาพรวมของธุรกิจ-อุตสาหกรรม ว่า เรื่องที่หลายคน อาจเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบกับการจ้างงานนั้น อยากบอกว่า คนเราสามารถ Upskill- Reskill ตัวเองได้ เราควรเรียนรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ดีกว่า อย่าไปกลัว AI เลย เมื่อเรารู้ว่า AI มีประโยชน์อย่างไร เราก็ต้องเรียนรู้วิธีการที่จะใช้งานมัน

“ ดังนั้นอย่าไปกังวลเรื่องว่าจะตกงานอะไร เราต้องเรียนรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยี แล้วใช้เทคโนโลยีนั้นให้เกิดประโยชน์กับการทำงานจะดีที่สุด AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบแน่นอน แต่ AI จะเป็นกระแสที่อยู่ในโลกนี้ตลอดไป บอกได้เลย AI มันจะอยู่กับเราตลอดไป”