รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
........................................
"การเล่าข่าวกับการวิเคราะห์ข่าวมีความแตกต่างกันในเรื่องของความลึก และสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง"
ปัจจุบันจะพบว่า รายการข่าวแนว"วิเคราะห์ข่าว-วิเคราะห์สถานการณ์ข่าว"ที่ไม่ใช่แค่การเล่าข่าวหรืออ่านข่าวทั่วไป พบว่าตอนนี้ มีรายการวิเคราะห์ข่าว เผยแพร่ทางสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย มากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด และหลายรายการ ก็ได้รับความสนใจ มีคนติดตามจำนวนมาก
ดังนั้น เราจึงไปสัมภาษณ์พูดคุยกับ”ผู้จัดรายการวิเคราะห์ข่าว-วิเคราะห์สถานการณ์" เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบ เบื้องหลัง-สไตล์การทำงานของคนที่จัดรายการแนววิเคราะห์สถานการณ์ข่าว ตลอดจน ข้อคิดเห็นของคนที่อยากจะเป็นคนจัดรายการวิเคราะห์ข่าวว่า ต้องมีคุณสมบัติ และทำการบ้านอย่างไรบ้าง ถึงจะทำงานในส่วนการวิเคราะห์ข่าวได้
คนแรกที่เราพูดคุยด้วยก็คือ "ประจักษ์ มะวงศ์สา"ที่หลายคนคงคุ้นเคยกับดี กับรายการ"มุมการเมือง"ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยก่อนอื่น "ประจักษ์"เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงานข่าวโดยเฉพาะข่าวสายการเมือง จนมาเป็นนักจัดรายการวิเคราะห์ข่าวในปัจจุบันว่า ตัวเขาผ่านประสบการณ์งานข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์-วิทยุ-โทรทัศน์ มามากมาย เช่นการเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2525 ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยทำมาแล้วหลายฉบับ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์เช่น หนังสือพิมพ์ทิศทาง-นิตยสารสู่อนาคต-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ -หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นต้น รวมถึงจัดรายการข่าว-วิเคราะห์ข่าวทางสถานีวิทยุฯมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนทีวี ก็ทำมาแล้วหลายแห่งเช่นกัน เช่น เคยเป็นบก.ข่าวการเมืองรุ่นแรกของสถานีไอทีวี ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง นอกจากนี้ ก็ยังทำอีกหลายช่องเช่น ทีวีของเครือเนชั่น ตั้งแต่ยังไม่เป็นช่องสถานีโทรทัศน์แบบปัจจุบัน -ไปจัดรายการที่ ช่อง NBT ,ช่อง NEW18 ,ช่อง now26 เป็นต้น
"ประจักษ์"เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันจัดรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ชื่อรายการ "มุมการเมือง" โดยจัดอยู่ประมาณสิบนาที ทุกวันจันทร์-ศุกร์ รวมถึงจัดรายการไลฟ์สดช่วง 10.00 ชื่อรายการ"ประจักษ์จับประเด็น"ที่จัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมดของไทยพีบีเอสที่จัดจันทร์-ศุกร์เช่นกัน โดยเป็นรายการเชิงวิเคราะห์กึ่งข่าว ที่จะมีการเชิญแขก-แหล่งข่าวเข้ามาร่วมวิเคราะห์-วิพากษ์ในแต่ละประเด็น และยังมีรายการข่าวเจาะย่อโลกทางไทยพีบีเอส ทุกช่วงวันเสาร์ นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดรายการวิทยุที่เป็นรายการในรูปแบบสัมภาษณ์กึ่งวิเคราะห์ข่าวการเมือง และประเด็นข่าวต่างๆที่นำมาอัพเดตในรายการ โดยตอนนี้จัดอยู่สองสถานี คือคลื่นเอฟเอ็ม 90.5 ชื่อรายการ "พูดนอกสภา"กับที่สถานีเอฟเอ็ม 96.5 ชื่อรายการ"ถกประเด็น"โดยจัดกับคุณ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.สำนักข่าวอิศรา และอีกสองช่วงผมจะเป็นคนดำเนินรายการและเชิญแขกมาวิเคราะห์ โดยการจัดวิทยุจะจัดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์
เล่าข่าวกับวิเคราะห์ข่าว
แตกต่างกันที่"ความลึก"
"ประจักษ์"เล่าให้ฟังถึงการทำงานของตัวเองโดยเฉพาะการเลือกประเด็นข่าวมาวิเคราะห์ว่า โดยหลักจะเป็นคนกำหนดและหาประเด็นที่จะนำจัดรายการแต่ละวันเอง แต่ก็มีบางครั้งที่จะพูดคุยหารือกับทีมงานว่าเราน่าจะวิเคราะห์เรื่องอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นที่ทางไทยพีบีเอสกำลังนำเสนอ โดยการเลือกประเด็นเราก็จะอิงอยู่กับสถานการณ์บ้างในระดับหนึ่ง แต่ว่าโดยส่วนใหญ่หากไม่อิงกับสถานการณ์เลย บางทีในยุคสมัยปัจจุบันก็เป็นเรื่องยาก เพราะคนที่จะทำรายการวิเคราะห์ข่าวหรือว่าจัดรายการข่าว ซึ่งผู้บริโภคข่าว ณ ปัจจุบัน ที่จะเน้นเนื้อหา เอาข้อเท็จจริง หรือจะเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ กลุ่มนี้อาจมีไม่มากนัก แต่ว่าเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง ที่ผมจะให้น้ำหนักกับกลุ่มผู้บริโภคข่าวกลุ่มนี้พอสมควร กับอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มผู้บริโภคโดยทั่วไป ที่มักจะอิงเรื่องกระแสหรือสถานการณ์ทั่วไป
อย่างตอนที่มีข่าวเรื่องกรณีานายศรีสุวรรณ จรรยา โดนดำเนินคดี เรื่องตบทรัพย์ฯ คนทั่วไปก็จะสนใจเรื่องนี้เป็นหลัก ทำให้ในช่วงจังหวะเวลาที่ข่าวศรีสุวรรณกำลังเป็นที่สนใจ ผมก็จะเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศรีสุวรรณและเรื่องที่ใกล้เคียงกันเช่นเรื่องของพวก"นักร้องเรียน"มานำเสนอ ที่ก็คือ การเลือกประเด็นก็จะอิงอยู่กับสถานการณ์ระดับหนึ่งเช่นกัน
...การที่เราต้องเลือกประเด็นที่อิงกับเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ เพราะผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อยากได้ข้อมูลข่าวสารที่มันอิงกับเหตุการณ์ เรื่องที่สังคมหรือผู้บริโภคต้องการรู้ ให้ความสนใจ และการที่เราเลือกประเด็นที่อิงกับเหตุการณ์ ทำให้เราสามารถที่จะนำเสนอข้อมูล ที่แตกต่างจากสิ่งที่เป็นข่าวหรือการเล่าข่าวโดยทั่วไป สามารถที่จะสอดแทรกเรื่องที่นำไปสู่ข้อมูลที่เพิ่มเติมขึ้น หรือทำให้ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารได้รับรู้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่งเพื่อนำมาประกอบกัน
อย่างกรณีข่าวของนายศรีสุวรรณ ข่าวโดยทั่วไป ก็จะนำเสนอว่ากลุ่มของนายศรีสุวรรณกับพวก ใช้วิธีการในการเรียกตบทรัพย์แบบร้องไปรีดไป แต่ว่าในมุมของผม ก็จะสอดแทรกข้อมูลบางอย่างควบคู่กันไปด้วย ก็คือ หากไม่มีเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่มีเรื่องที่ชอบมาพากล ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากสำหรับคนที่ถูกร้องเรียน เพราะโครงการของภาครัฐโดยทั่วไป คนวงนอกน้อยคนที่จะรู้ หรือหากจะรู้ ก็รู้เพียงผิวเผินเท่านั้นเอง แต่การรู้ข้อมูลแบบลึกๆว่าโครงการไหนมีรายละเอียดอย่างไร เป็นโครงการที่มีจุดด้อย หรือเป็นโครงการที่จะนำไปสู่การแสวงหารายได้ผลประโยชน์ได้ จะต้องเป็นคนวงในเป็นหลัก คนนอกจะรู้น้อยมาก ซึ่งคนใน ก็จะมีทั้งคนที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่เขาคิดว่ามีความน่าสงสัย มีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อต้องการให้คนสนใจ กับอีกส่วนหนึ่ง มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยเพราะมีการขัดแข้งขัดขา ความไม่พอใจซึ่งกันและกันภายในองค์กร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหน แต่สะท้อนให้เห็นว่า โครงการของภาครัฐมีอะไรผิดปกติ และสังคมควรรับรู้เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน
..เวลาที่ผมวิเคราะห์ประเด็นข่าวกรณีของนายศรีสุวรรณ จะไม่ได้เน้นแค่เรื่องพฤติการณ์ของกลุ่มนายศรีสุวรรณ แต่ผมจะตั้งข้อสังเกตุสอดแทรกเข้าไปว่าโครงการนั้นๆ หากมันไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องไม่ชอบมาพากล มันเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก ที่คนซึ่งถูกร้องเรียน จะไปทำสิ่งที่ผิดปกติเช่นไปเจรจา ไปเคลียร์ที่แสดงว่ามันผิดปกติ
"การเล่าข่าวกับการวิเคราะห์ข่าวมีความแตกต่างกันในเรื่องของความลึก และสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง"
...การเล่าข่าว ณ ปัจจุบัน ข้อมูลที่ไปเล่าข่าว ก็จะมาจากแหล่งเดียวกันหมด คือเป็นข่าวสารที่มาจากสื่อหลายสำนัก ทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่ทำให้การเล่าข่าวของแต่ละคน แตกต่างกันก็คือ ตัวคนที่เป็นผู้เล่าข่าวที่เป็นผู้นำเสนอ แต่คนที่มาวิเคราะห์ข่าว จะไม่ใช่แค่นำข่าวสารมาเล่า แต่จะนำเสนอแบบลึกลงไปในเนื้อหา ประเด็นที่มันซุกซ่อนอยู่ในข่าวที่เกิดขึ้นของประเด็นที่หยิบมาวิเคราะห์"
"ประจักษ์"กล่าวต่อไปว่า ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมืองหรือข่าวเศรษฐกิจหรือข่าวสังคมที่ออกมาเชิงการเมือง ก็คือคนที่เป็นข่าวหรือคนที่อยากออกมาสื่อสาร ย่อมอยากจะให้ประชาชนโดยทั่วไปเชื่อหรือคิดตามในสิ่งที่เขาพูด แต่ว่าอะไรที่มันซุกซ่อนอยู่ในสิ่งที่เขาพูด อันนั้นจะต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ หรือคนที่วิเคราะห์ข่าว สามารถหยิบยกเรื่องนั้นมาตั้งข้อสงสัยหรือตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาได้ เพื่อให้ผู้บริโภคข่าวสารได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคข่าวสารในยุคปัจจุบันอย่างมาก
"ตรงนี้คือสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาที่ทำให้คนที่จัดรายการวิเคราะห์ข่าว มีความแตกต่างจากนักเล่าข่าวโดยทั่วไป"
ประสบการณ์ด้นสด
เปลี่ยนประเด็นหน้างาน
"ประจักษ์-นักจัดรายการวิเคราะห์ข่าว"เล่าประสบการณ์การทำงานให้ฟังด้วยว่า มีบ่อยครั้งมาก ที่มีการเตรียมประเด็น ข้อมูลไว้ว่าจะนำเสนอวิเคราะห์ไว้ประเด็นหนึ่ง แต่สุดท้ายต้องเปลี่ยนมาเป็นอีกประเด็นหนึ่งเพราะมีเรื่องสำคัญที่น่าสนใจเข้ามา ก็เลยทำให้ต้องด้นสดจัดรายการกันหลายครั้ง แต่ว่า สิ่งที่ช่วยได้ก็คือ "ประสบการณ์"เพราะอยู่ในวงการข่าวมาสามสิบปี ชีวิตผมอยู่กับข่าวมาตลอด ทำให้เวลามีประเด็นข่าวอะไรเกิดขึ้น ผมก็จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น อย่างหากมีเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร ผมก็รู้จักติดตามข่าวของนายทักษิณ ตั้งแต่ยังเป็นนักธุรกิจตอนที่เรียกกันว่าอัศวินคลื่นลูกที่สาม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมก็จะนึกถึงตั้งแต่ยุค"ขวาพิฆาตซ้าย"ตั้งแต่ยุคสมัยแสวงหาฯ พวกเหตุการณ์เดือนตุลาคมฯ ในการเมืองไทย
..ข้อมูลเหล่านี้ เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วน หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเรื่องที่จะวิเคราะห์ หรือแม้แต่เรื่อง-ประเด็นที่เราคิดและเตรียมไว้ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาขยายความในการวิเคราะห์ได้ ทำให้เรามี แบ็คกราวด์ -ข้อมูล-องค์ความรู้ ที่สามารถแชร์ไปยังผู้บริโภคข่าวสารได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในสถานการณ์แบบนั้น
..ประเด็นที่ผมหยิบยกมาใช้วิเคราะห์-นำเสนอแต่ละวันในช่วงเช้าที่ไทยพีบีเอส ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ส่วนใหญ่ผมจะรอจนถึงประมาณสองทุ่ม ผมถึงจะกำหนดประเด็นว่าจะพูดเรื่องใด แต่ส่วนรายการ ประจักษ์จับประเด็น ที่จัดตอนสิบโมง ผมจะมากำหนดประเด็นในช่วงเช้าของวันที่จัดรายการแต่ละวัน เพื่อให้จะได้มีข้อมูลที่อัพเดตที่สุด จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของข่าวที่เป็นประเด็นร้อนในแต่ละวัน เพราะหากเราจะมาพูดในเรื่องที่มันหายไปจากกระแสของข่าวเลย บางทีคนที่จะมาติดตามอาจจะน้อยกว่าปกติ และเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ที่ต้องดูว่าผู้บริโภคสนใจเรื่องอะไร ก็จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งก็ทำให้ผมก็ต้องทำการบ้าน รวมถึงการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยี
..สำหรับตัวผมเอง มีการปรับตัวในเรื่องเทคโนโลยีมาตลอด โดยหากเทียบกับคนรุ่นเดียวกันหรือคนยุคสมัยนี้ ผมเชื่อว่าผมปรับตัวมากกว่าถึงสิบเท่า เพื่อให้เราไม่ตกเทรนด์ ไม่ตกยุค โดยการใช้เทคโนโลยีก็เพื่อให้เนื้องานของเรา ทำให้ผู้บริโภคข่าวที่ติดตามเราไม่ผิดหวัง และเชื่อมั่นในตัวเรา ว่าสิ่งที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรอง มีการตรวจสอบความถูกต้องเสมอ ไม่มีการหยิบยกข้อมูลมาพูดแบบไม่มีที่มาที่ไป หรือมโนขึ้นมา โดยไม่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง และความรับผิดชอบ
นักวิเคราะห์ข่าว
ต้องเป็นคนชอบมองรอบด้าน
"ประจักษ์"กล่าวด้วยว่า สำหรับน้องๆ นักข่าวหรือเพื่อนๆ สื่อมวลชนที่ต้องการจะเป็นผู้วิเคราะห์ข่าวโดยเฉพาะข่าวการเมืองว่า การจะเป็นคนที่วิเคราะห์ข่าวได้ ต้องมีคุณสมบัติคือต้องเป็นคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง และเป็นคนที่ชอบตั้งประเด็นข้อสงสัย ตั้งประเด็นคำถามตลอดเวลา และต้องเป็นคนที่ชอบศึกษาคนในแวดวงการเมือง เพราะพอเราเป็นคนสนใจข่าวสาร ชอบตั้งประเด็นคำถาม และชอบที่จะมองประเด็นข่าวในมิติที่แตกต่างออกไป จะทำให้เราเป็นคนที่มีมุมมองข่าวกว้างกว่าปกติธรรมดา ก็เหมือนกับเหรียญ หากมองผิวเผินก็ได้แค่ด้านเดียว แต่ถ้าเรามองทั้งสองด้าน ก็จะเห็นสิ่งที่มันซุกซ่อนอยู่
"คนที่จะมาเป็นนักวิเคราะห์ข่าวต้องเป็นคนที่มีความรู้รอบด้าน มีมุมมองทั้งสองด้าน คือด้านที่เราเห็นและด้านที่เรายังมองไม่เห็นเสมอ เพราะอย่างที่บอกข้างต้น คนที่พยายามออกมาสื่อสารต่างๆ เช่นกลุ่มการเมือง เขาอยากให้คนเชื่อ คนเข้าใจเฉพาะสิ่งที่เขาพูด แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาจะไม่พูดถึงเลย ดังนั้นการจะเป็นนักวิเคราะห์ข่าวที่ดี เราต้องมีความรอบด้านในด้านนี้ และต้องเป็นคนที่มีจุดยืน ความรับผิดชอบทางสังคม มีคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณสื่อมวลชน รวมถึงต้องคิดด้วยว่าเรื่องที่เรานำเสนอจะเป็นประโยชน์กับสังคมหรือไม่ เพราะข่าวบางข่าว เรื่องบางเรื่องที่ไม่ได้มีประโยชน์ ก็ไม่ควรไปใส่ใจหรือนำเสนอ"
จากนักข่าวสู่นักวิเคราะห์ข่าว
ประสบการณ์-ทีมงานแบ็กอัป
มีส่วนสำคัญกับการจัดรายการ
และนักจัดรายการวิเคราะห์ข่าวอีกคนที่เราพูดคุยด้วยก็คือ "อุดร แสงอรุณ-บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวโทรทัศน์ ของสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์"ที่ ปัจจุบันออกอากาศที่ช่อง 18 ช่อง JKN โดยจัดรายการวิเคราะห์ข่าวที่ชื่อว่า TOP HEADLINE ทุกวันจันทร์-ศุกร์
ก่อนจะคุยกันถึงเรื่องที่ว่าคนที่จะเป็นนักวิเคราะห์ข่าวได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง "อุดร-บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวโทรทัศน์ท็อปนิวส์"เล่าถึงการทำงานในแต่ละวันของตัวเองให้ฟังว่า ด้วยความที่อยู่ในตำแหน่งบริหารฝ่ายข่าว โดยนอกจากจะทำข่าวเชิงวิเคราะห์และบทบรรณาธิการของช่องท็อปนิวส์แล้ว ก็ยังต้องคอยดูแลเรื่องข่าวที่จะซัพพอร์ตทุกรายการที่เผยแพร่ในช่องท็อปนิวส์ ทำให้ต้องมีการวางแผน-ประชุมข่าวร่วมกับกองบก.ของแต่ละโต๊ะในแต่ละวัน
และเมื่อมีข่าวประจำวันที่เรียกกันว่าข่าวรูทีนจากแต่ละโต๊ะข่าวส่งเข้ามายังกองบก.ข่าว เราก็จะมีการประชุมวิเคราะห์กันว่า ประเด็นใดที่ต้องมาเจาะลึกและขยายความเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและมองไปข้างหน้าว่า ข่าวนั้น ผลที่ตามมาจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดผลดี-ผลเสีย อะไรกับประเทศชาติ-ประชาชน และต้องเอาข้อมูลต่างๆ มาประกอบเช่น ข้อมูล-กฎหมาย-รายละเอียดข่าวที่เกี่ยวข้อง เอามาอธิบายเพิ่มเติม
ซึ่งก่อนที่จะมาถึงรายการ TOP HEADLINE ในช่วงค่ำที่ผมในแต่ละวัน ก็จะมีรายการข่าวเชิงวิเคราะห์ของสถานีอยู่ประมาณ 3-4 รายการ ซึ่งด้วยดีเอ็นเอของเราที่ก่อนหน้านี้ทางพี่ต้อย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เคยเป็นผู้บริหารท็อปนิวส์ ก็เคยเคี่ยวกรำ-ฝึกสอนพวกผมว่า ข่าวแต่ละเรื่องที่จะนำเสนอหรือวิเคราะห์ ต้องคิดให้ได้ว่า สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากข่าวนั้น และควรต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่รายงานข่าวแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น
"อุดร-ผู้จัดรายการวิเคราะห์ข่าวจากท็อปนิวส์"กล่าวต่อไปว่า ทางท็อปนิวส์มีนโยบายข่าวตั้งแต่เริ่มแรกในการก่อตั้งแล้วว่า เราจะไม่ทำข่าวแบบแจ้งเพื่อทราบ แต่เราจะทำเชิงความรู้ ให้ข้อมูล-ข้อเท็จจริงกับประชาชน
..ปัจจุบัน รายการข่าวเชิงวิเคราะห์ของท็อปนิวส์ทางคุณฉัตรชัย ภู่โคกหวาย ผู้บริหารท็อปนิวส์ อยากให้มีรายการที่เป็นการนำเสนอโดยกองบรรณาธิการข่าวของท็อปนิวส์ ในประเด็นเจาะลึก และวิเคราะห์ข่าวแบบให้ความรู้กับประชาชนสักหนึ่งรายการ ก็เลยเกิดรายการวิเคราะห์ข่าว TOP HEADLINE ที่จัดในช่วงค่ำวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จากเดิมทีซึ่งจัดกันทุกวันอาทิตย์ช่วงเย็น ที่ก็เป็นรายการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่มีการเปิดสถานีท็อปนิวส์ โดยจัดกับคุณสำราญ รอดเพชร แต่ด้วยความที่กว่าจะถึงวันอาทิตย์ มันก็นาน สถานการณ์ในรอบสัปดาห์มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ประเด็นก็เปลี่ยนไปเรื่อย เลยมีการเปลี่ยนมาจัดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์เพื่อจะได้เติมข้อมูลในแต่ละวัน ที่ก็จะมาจากการประชุมข่าวของกองบก.ท็อปนิวส์ เพียงแต่ประเด็นที่จะไปวิเคราะห์ในรายการก็จะเลือกมาประมาณสามประเด็นใหญ่ๆ เอามาวิเคราะห์แบบเจาะลึก ขยายความเพื่อให้ประชาชนได้ติดตาม เกิดความเข้าใจ
สำหรับประเด็นที่นำไปวิเคราะห์ในรายการ จะไม่ใช่ข่าวแบบข่าวทั่วไป ข่าว current news จะไม่ค่อยถูกเลือกขึ้นมา แต่จะเลือกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ -ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ยังมีความสงสัย ก็จะมีการให้ทีมข่าวไปเจาะมาเพิ่ม ขยายประเด็นเพิ่ม สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพิ่มเติม
ขณะที่มุมมองว่า "การเล่าข่าว"กับ"การวิเคราะห์ข่าว" มีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น ทัศนะของ""อุดร-บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวท็อปนิวส์""มองว่า ข่าวทุกชิ้น ตัวของผู้เล่าข่าวหรือผู้ดำเนินรายการข่าว จะไม่ใช่คนที่ไปทำข่าวมา ยกตัวอย่างเช่นข่าวที่เป็นข่าว mass ปัจจุบัน มักจะเป็นข่าวที่นักข่าวต่างจังหวัดหรือที่วงการข่าวเรียกกันว่า สตริงเกอร์ หรือข่าวที่เกิดจากการทำข่าวของผู้สื่อข่าวในกองบก.ที่ถูก assign ให้ไปตามประเด็น และเมื่อตัวนักข่าวเขียนข่าวขึ้นมาในบริบทหนึ่งแล้วส่งข่าวเข้าไปยังกองบก.
... ส่วนคนที่นำข่าวมาเล่า จะมีสองรูปแบบจากที่ผมสัมผัสในการทำงานทั้งการเป็นกองบรรณาธิการและการเป็นผู้ประกาศด้วย แบบแรกคือ คนเห็นเนื้อข่าวแล้ว ก็หยิบมาเล่าเลยโดยอาจจะมีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก หรือมีจุดเร่งเร้าเพื่อทำให้ลีลาอาการของผู้ประกาศข่าวแต่ละคนก็จะมีลีลาประกอบไปเพื่อสร้างอรรถรส กับอีกรูปแบบหนึ่งคือ คนที่มีประสบการณ์ข่าวมาก เขาก็จะดูว่า ข่าวที่เขาจะอ่านมีความสมบูรณ์หรือยัง หากเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ เขาก็จะแจ้งกลับมาที่ตัวนักข่าวหรือกองบก.ว่าให้เติมประเด็นเพิ่มเติม เช่นไปสัมภาษณ์เพิ่มเติม เพื่อให้การเล่าข่าวมีความสมบูรณ์ นี้คือนักเล่าข่าวจากประสบการณ์ที่ผมเห็น
แต่สำหรับการวิเคราะห์ข่าว ตัวข่าวหนึ่งข่าว บางเรื่องมีองค์ประกอบของหลายส่วนมาก ซึ่งข่าวนั้น บางทีไม่สามารถนำรายละเอียดมานำเสนอได้หมด ผมยกตัวอย่างกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่หลังเดินทางกลับมาเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 เราก็มีการปูพื้นต่างๆ เช่นคดีความของทักษิณ -ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนหลังได้รับพระราชทานลดโทษเหลือหนึ่งปี เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มีการรายงานวิเคราะห์ข่าวไปโดยเฉพาะการเน้นเรื่องที่ว่าทักษิณจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด ซึ่งตอนแรก ก็เป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะของกรมราชทัณฑ์-กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ทราบข้อมูลหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับนักโทษทุกคน เพื่อให้เห็นว่า หากนายทักษิณ เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย-ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ตัวนายทักษิณ จะได้รับการพักโทษเมื่อใด แล้วก็นับวันกันทางกองบก.ก็มีการเตรียมข้อมูลกันไว้ตลอด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ให้คนที่ติดตามข่าวสารได้เห็น
"อุดร-นักจัดรายการวิเคราะห์ข่าว"มองว่า หน้าที่ของนักวิเคราะห์ข่าว การเติมข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนได้ จึงต้องมีพื้นฐานของข้อมูลที่จะมาซัพพอร์ตในการวิเคราะห์ข่าว เพื่อให้คนดูเข้าใจว่า ที่มาที่ไปมันเป็นแบบนี้ การเป็นนักวิเคราะห์ข่าว จึงต้องค้นคว้าข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่จะวิเคราะห์ให้เข้าใจ อย่างเราอ่านข่าวแต่ละชิ้นแล้วเรามีคำถาม ถ้าเรายังไม่เข้าใจ เราก็ต้องหาคำตอบ ไปถามคนที่เขารับผิดชอบเรื่องนั้นมาอธิบายให้เราเข้าใจ พอเราเข้าใจ ก็จะมีการประสานกับทีมงานเช่น ถอดความประเด็นดังกล่าวมาทำเป็นกราฟฟิก เพื่อจะได้นำไปเล่าให้คนที่ติดตามรายการได้เข้าใจภายใต้เวลาที่ไม่ได้มีมากนักให้เขาเกิดความเข้าใจ
..การเป็นนักเล่าข่าวจำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องข่าวมาก่อน จากนั้นเมื่ออัพเลเวลตัวเองแล้ว ก็จะขึ้นมาเป็นนักวิเคราะห์ข่าวได้ เช่นยกตัวอย่าง เรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งที่เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยนำไปหาเสียง แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถทำนโยบายดังกล่าวออกมาได้ โดยหากเป็นนักเล่าข่าวปกติ ก็อาจบอกว่า เรื่องนี้ทำได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร ติดขัดตรงส่วนไหน ถ้าเป็นนักเล่าข่าว ก็อาจเล่าเท่านี้ แต่หากเป็นนักวิเคราะห์ข่าว ก็ต้องไปพูดลงลึกอีกว่า ทำไม ตอนหาเสียงเลือกตั้ง กกต.ถึงปล่อยผ่านให้หาเสียงได้ หรือมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องอีกบ้างที่นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงเช่น พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วก็นำข้อกฎหมายมาแนบประกอบการวิเคราะห์ข่าว รวมถึงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ทำไมเคยมีบางรัฐบาลออกกฎหมายกู้เงินมาทำได้ เหตุใดตอนนั้นถึงทำได้ มีสถานการณ์หรือปัจจัยอะไรที่ทำให้สามารถออกกฎหมายกู้เงินมาให้ประชาชนได้ แล้วเหตุใด ดิจิทัลวอลเล็ต ถึงทำไม่ได้
หากคนที่ไม่เข้าใจโครงสร้างหรือบริบทของเรื่องต่างๆ แล้วไปวิเคราะห์เลย มันก็อาจไปคนละทาง เพราะขนาดบางประเด็น เราเคยคิดว่ามันควรเป็นแบบนี้ แต่เมื่อไปสอบถามผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ เขาก็ให้ข้อมูลว่า มันอาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องไปดูข้อกฎหมายเพิ่มเติม เขาก็แนะนำมา เราก็ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมจนได้ข้อมูลครบถ้วน ก็ทำให้เห็นว่า มันใช่แบบนั้นจริง สิ่งนี้ผมคิดว่า สำคัญที่สุด อย่าไปมั่นใจในตัวเอง แล้วคิดว่าตัวเองต้องถูก แบบนี้ไม่ได้
เมื่อถามว่า ทีมงานหลังบ้าน พวกทีมแบ็คอัพต่างๆ มีความสำคัญแค่ไหนกับการทำรายการวิเคราะห์ข่าว "อุดร บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์"ย้ำว่า ทีมงานมีความสำคัญมากกับการทำรายการวิเคราะห์ข่าว ซึ่งตัวผมอาจโชคดีอยู่บ้างที่ไม่ได้ทำในรูปแบบรายการแต่ทำในลักษณะกองบรรณาธิการ ซึ่งแต่ละประเด็นข่าวที่เราเลือกมาว่าจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข่าว ส่วนไหนที่เป็นข้อกฎหมาย การมองสถานการณ์ ตัวผมก็จะเป็นผู้กำหนดประเด็น แต่คนที่จะไปตามประเด็น-ไปสัมภาษณ์เพิ่มเติม เก็บข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะเป็นบก.ข่าวแต่ละโต๊ะที่รับผิดชอบในสายงานนั้นๆ
..อย่างตัวผมมีทีมโปรดิวเซอร์ ทีมกราฟฟิกที่ทำงานด้วยกันมานานหลายปี พอเราสรุปประเด็นต่างๆ ให้ฟัง แล้วขอให้เขาไปช่วยออกแบบกราฟฟิก ไปช่วยคิดคำให้มันดูน่าสนใจ ก็จะเป็นทีมโปรดิวเซอร์ ทีมกราฟฟิกที่ก็ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้(ข่าว)
การวิเคราะห์ข่าวหรือการรายงานข่าวปกติทั่วไป การได้ทีมงานที่เป็นคนชอบติดตามข่าวด้วย เป็นสิ่งสำคัญ เพราะด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา การผลิต-การออกอากาศ มันไม่มีเวลาเกินหนึ่งวัน เต็มที่ก็ครึ่งวัน ดังนั้น ถ้าทีมซัพพอร์ต ไม่เข้าใจ ก็อาจมีปัญหา อย่างที่เคยเจอก็มีเช่น ก่อนที่จะมีการออกอากาศ มีชื่อคนในข่าวที่จะนำเสนอ ชื่อเหมือนกันสะกดเหมือนกัน แต่ว่าคนละนามสกุล เอาหน้าไปใส่ผิด ดีว่ากระบวนการคัดกรองสุดท้าย เราไปเห็นก่อน ก็ไปทำความเข้าใจกับทีมงานว่าเรากำลังจะเสนอข่าวเรื่องอะไร และชื่อคนที่จะพูดหมายถึงใคร เราก็ได้ฝึกสอนทีมงานไปด้วย เพราะการทำงานไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์เต็มร้อยทุกอย่าง มันก็อาจเกิดข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็ต้องอาศัยการตรวจทาน การทำความเข้าใจกับทีมงาน เพราะทีมงานแบ็คอัพมีความสำคัญ ลักษณะงานแบบนี้ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะข่าวแต่ละวันเกิดขึ้นหลากหลาย บางประเด็นต้องเจาะเพิ่มเติม ก็ต้องให้ทีมงานเข้ามาช่วย
เมื่อถามถึงประสบการณ์ในการทำงาน เคยมีหรือไม่ ที่ว่าเตรียมข้อมูล ประเด็นที่จะนำเสนอ จะพูดไว้หมดแล้ว แต่พอดีเกิดข่าวหรือประเด็นสำคัญขึ้นมากลางคัน ทำให้ต้องเปลี่ยนประเด็นไปพูดเรื่องใหม่ทันทีก่อนเริ่มรายการ "อุดร-นักวิเคราะห์ข่าว จากท็อปนิวส์"เล่าประสบการณ์ในส่วนนี้ว่า เจอบ่อย อย่างสมมุติมีจัดรายการวันจันทร์ ซึ่งในช่วงวันอาทิตย์ เราก็จะเตรียมประเด็น เตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะนำเสนอประเด็นที่เตรียมไว้ แต่ปรากฏว่า ตอนเช้าวันจันทร์ มีแถลงข่าวสำคัญเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันด่วน พอมีการแถลงข่าวเสร็จตอนเช้า ทีมงานก็ต้องมานั่งประชุมรายการ และกองบก. เพราะเรื่องที่เราออกแบบไว้ จะใช้กับทุกช่วงรายการที่เป็นประเด็นรายการข่าว โดยเฉพาะรายการข่าวการเมือง ก็ระดมทีมงานกันไปทำประเด็นใหม่ดังกล่าว โดยหากเป็นประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนเร่งด่วน ก็จะใช้วิธีเช่น โฟนอินแหล่งข่าวเพิ่มเติม เพราะบางทีจะส่งทีมงานไปสัมภาษณ์ก็ทำไม่ทัน ก็ใช้วิธีการโฟนอิน
ส่วนเรื่องข้อมูล-ข้อกฎหมาย ที่จะใช้ในประเด็นข่าวใหม่ที่เกิดขึ้น พอดีว่าเรามีทีมที่ปรึกษากฎหมาย มีผู้ใหญ่ที่คอยให้คำปรึกษาเรา ก็เลยทำให้ปรับเปลี่ยนได้ง่าย เพราะพอเป็นรายการวิเคราะห์ข่าว ทำให้ไม่ต้องไปเน้นกับ current มาก เพราะรายการทุกรายการข่าวสถานี ก็เป็นข่าวแบบ current อยู่แล้ว ก็เน้นไปที่สถานการณ์ไป เมื่อรายการที่ทำอยู่เป็นรายการวิเคราะห์ข่าว ก็เน้นที่ทำให้ลึก นำเสนอข้อมูลครบถ้วน ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์ของรายการ และทำให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่นำเสนอ
...รายการวิเคราะห์ข่าว อาจไม่ได้ถึงเป็นรายการที่พีก ปัง หรือสนุกเหมือนกับรายการเล่าข่าว หรือรายการข่าวที่เสนอข่าวแบบหลากหลาย แต่ที่ผ่านมา จากการทำรายการเชิงวิเคราะห์ข่าว ก็มีแฟนรายการ บอกว่า ขอบคุณที่เล่าเรื่องที่ยังอาจไม่เคลียร์คัตและมีการเติมข้อมูล ให้เขาเข้าใจและได้มองไปข้างหน้าว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ หรือเหตุการณ์นี้ ใครควรต้องออกมาแอ็กชั่นหรือควรต้องออกมารับผิดชอบในบางเรื่อง จากเหตุผลอะไร ข้อกฎหมายอะไร
..ทำให้ผมคิดว่า สิ่งต่างๆที่นำเสนอในรายการข่าวเชิงวิเคราะห์จะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่มากกว่าแค่การรับรู้ข่าวสาร ที่เขาอาจรับรู้ข่าวสารแล้ว แต่สิ่งที่เราไปเติมให้คือ แล้วข่าวนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป เราก็ไปเติมให้ ซึ่งอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด แต่ทำให้คนที่ติดตามได้รู้ว่า มันเป็นแบบนี้ และอาจจะเกิดอะไรขึ้น ที่ผลสุดท้าย อาจไม่ได้ถึงกับถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากการวิเคราะห์ และจากข้อมูลที่มี ทำให้เมื่อมองไปแล้วทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะเป็นแบบนั้นหรือควรจะเป็นแบบนั้น