สื่อไทยในวันเสรีภาพสื่อโลก โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย “ความอยู่รอด -เลิกจ้าง-คุณภาพ”

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

---

“เสรีภาพสื่อ”คือ หนึ่งในหัวใจสำคัญของเสรีภาพประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ “ยูเนสโก้”ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการมีเสรีภาพของสื่อมวลชนหมายถึงการมีเสรีภาพของประชาชน  “ทีมข่าวราชดำเนิน” สะท้อนมุมมองนักวิชาการ สื่อมวลชนต่อสถานการณ์สื่อในปี 2567 ตลอดจนข้อเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรวิชาชีพ

ธัญวัฒน์ พิวัฒน์เมธา อายุ 28 ปี ผู้สื่อข่าวโต๊ะการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า สถานการณ์สื่อปัจจุบันมองว่าอาจยังไม่ลำบาก พอไปได้ แต่ก็ยังมีวิกฤตอยู่ในคำว่าพอไปได้  ในส่วนเด็กที่จบใหม่ที่มาทำสื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นค่าตอบแทน สวัสดิการค่อนข้างน้อย รวมถึงเวลาในการทำงานเทียบกับหลายอาชีพที่เริ่มปรับตามเทรนด์ทำงาน 5 วัน แต่สื่อยังทำงาน 6 วัน ใครอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องทำโอที ทำให้สื่อรุ่นใหม่อยู่ในความยากลำบาก เมื่อค่าตอบแทน สวัสดิการถูกบีบ มันก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ข่าวที่มีคุณภาพลดน้อยลงด้วย เพราะสื่อเน้นเรตติ้งซึ่งก็ขัดแย้งกับเรื่องคุณภาพ แต่ด้านหนึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

“รุ่นพวกผม มองว่า นักข่าวดูเท่ห์ แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ ต้องวิ่งข่าวหลายที่ในวันเดียวโดยเฉพาะช่องข่าวเล็กๆ วันหนึ่งวิ่งข่าวประมาณ 4-5 หมาย แต่ละหมายไม่ได้ต่อเนื่อง เดี๋ยวไปอาชญากรรม การเมือง สังคม หมดไป 1 วันเราไม่ได้ตกตะกอนในเชิงประเด็น นักข่าวใหม่ๆ หลายคนปรับทุกข์เรื่องค่าตอบแทน บางคนเป็นผู้สื่อข่าวระยะสั้นและก็ลาออกไปที่อื่นที่บริหารจัดการเวลาได้ดีกว่า” ธัญวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่นักข่าวรุ่นใหม่อย่างธัญวัฒน์อยากเห็นคือ เพื่อนวิชาชีพควรได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสม เขายกตัวอย่าง พนักงานสถานีข่าวเสียชีวิตในที่ทำงานเมื่อปีที่แล้วจนเป็นข่าว ดูเหมือนไม่มีใครมาช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้เพื่อนวิชาชีพ พนักงานก็เป็นคู่ขัดแย้งกับองค์กรไม่ได้ เพราะเวลาออกข่าวไปแล้ว มีเพียงนักการเมืองไปพูดในสภา แต่ไม่มีการนำไปต่อยอดเหมือนประเด็นแรงงาน ค่าแรง จึงอยากให้มีคนกลางมาดูแลปัญหาการทำงานหนักเหล่านี้

“วอยซ์ทีวีถูกปิด นักการมืองออกมาพูดในโซเชียลกันเยอะมาก แต่เราไม่รู้ สิ่งที่พูดจะถูกขับเคลื่อนแก้ไขมากน้อยแค่ไหนก็ควรมีหน่วยงานกลางมาดูแลช่วยเหลือสวัสดิการปัญหานักข่าว ถ้าทีวีเกือบทุกที่ยังทำงานเกือบ 6 วัน ยังไม่มีความสมดุลของเวลาก็ทำให้เกิดวิกฤต คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็ไม่อยากเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ไม่เฉพาะนักข่าว แต่ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ วิกฤตกว่านักข่าวอีก” 

ธัญวัฒน์ ไม่คิดเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน เขาจบคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาธรณีวิทยา แต่เข้าสู่วงการนี้เพราะอยากพูดคุยหาความรู้กับผู้คน จนวันนี้ทำงานข่าวมาแล้ว 3 ปี อยู่ PPTV โต๊ะเฉพาะกิจ 1 ปี และอีก 2 ปีที่ช่อง3 โต๊ะการเมือง

“เราแค่อยากลองเป็นนักข่าว พอมาทำข่าวจริงๆ ผมรู้สึกว่า อินกับประเด็นการเมืองมากกว่า การได้คุยกับแหล่งข่าวแล้วเขามีมิติใหม่ๆ เราก็มีความสุข อยากทำข่าวทุกวัน เพราะเวลาเราถามแล้วเป็นประเด็นที่ได้ออกหลายสื่อ ขึ้นหน้า 1 บางประเด็นค่อนข้างแหลม นำสังคมได้จริงๆ ผมเลยภูมิใจและประทับใจในมิตรภาพนักข่าวภาคสนาม เพราะประเด็นข่าวแต่ละวันมันเคลื่อนไหวเร็ว สื่อคนเดียว ทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทุกคนแม้จะมาจากหลายสังกัดก็ช่วยกัน ทำให้ชอบอาชีพนักข่าวอยู่” 

นักข่าวรุ่นใหม่ผู้นี้ทิ้งท้ายว่า สมัยเป็นเด็ก เราถูกสอนว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีแล้ว สื่อลำบากขึ้นมีความสามารถในการขับเคลื่อนสังคมน้อยลง มีคำพูดหนึ่งกล่าวกันว่า อาวุธของสื่อคือ คำถามอิสระที่มีพลังในการตรวจสอบ แม้วันนี้อาวุธยังมีอยู่แต่เหมือนถูกอะไรบางอย่างครอบไว้ อาจจะเป็นเรตติ้งจึงเปลี่ยนรูปแบบคนเสพ ขณะที่คนทำสื่อก็มีนิยามใหม่เป็น content creator  สำหรับเขายังมีสถานะเป็น reporter  ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันเป็น content creator กันส่วนใหญ่เพราะมาจากสำนักข่าวออนไลน์

ทำงานหนัก เผชิญความเครียด 

สุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานการสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนไทย ไม่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะมีรัฐบาลที่มาจัดการเลือกตั้ง มีคณะรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศแทนอำนาจจากกองทัพ  ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อมวลชนไทยมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สื่อมวลชนไทยจำนวนมากยังถูกจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์  สุ่มเสี่ยงถูกอำนาจรัฐ อำนาจทุนเข้ามาแทรกแซง ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้การรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศ ทำให้หน่วยงานของรัฐกลายเป็นแหล่งทุนใหญ่ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน

สุเมธ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคข่าวสารของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี การนําเสนอข่าวยังรวดเร็วแข่งขันสูง ภายใต้การการรัดเข็มขัดเงินลงทุน มีการเลิกจ้างนักข่าวและช่างภาพภาคสนามเป็นจำนวนมาก นักข่าวคนหนึ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่ต้นสังกัดไม่ให้โอทีไม่ได้  ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ  ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่อรองสภาพการจ้างงานได้  

“ปัญหาค่าตอบแทน หลายที่ไม่ได้เพิ่มมา 10 ปี ทำงานโอเวอร์โหลด วันนึงวิ่งข่าว 5 หมาย ทั้งทีวี  หนังสือพิมพ์ ออนไลน์ เพราะบุคลากร ลดน้อย แต่กองบก.ต้องการข่าวมากขึ้นข่าวกระแส แล้วเด็กจะวิ่งข่าวทันได้อย่างไร ก็ต้องไปขอข่าวเพื่อน สวัสดิการของนักข่าวหลายสำนักหายไป โอทีหาย บางที่ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุไม่มี แต่สื่อยังคงต้องทำข่าวในพื้นที่มากขึ้น การแข่งขันในภาคสนามก็เข้มข้น เวลาเกิดปัญหา นักข่าวเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่กองบก. เช่น กรณีข่าวหลวงปู่แสงที่นักข่าวไปไลฟ์สดกัน พอเกิดเรื่อง กองบก.ก็ลอยแพให้นักข่าวรับผิดชอบ การทำข่าวไม่มีความปลอดภัย นักข่าวก็ต้องแลกข่าว ขอคลิป ไม่ต้องลงพื้นที่ลดความเสี่ยง ลดความเหนื่อย ไม่คุ้มค่า กลับไปวงจรเดิมทำไมนักข่าวเซ็นเซอร์ตัวเอง”  

เลขาธิการสหภาพแรงงานการสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า คนทํางานด้านสื่อจำนวนมากในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเผชิญกับความเครียด  ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ self censor ของสำนักข่าวต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน บางสำนักข่าวหันไปใช้การนำเสนอข่าวกระแสจากสื่อพลเมืองแทน และปรากฎการณ์  news copy  ธุรกิจสื่อฟรีแลนซ์ที่รับเขียนงานให้กับแหล่งข่าวระบาดมากขึ้นในกลุ่มนักข่าวภาคสนาม

ข้อเรียกร้องต่อองค์กรสื่อ เขาเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรม นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน รับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญองค์กรสื่อ เจ้าของ หรือนายทุนสื่อควรลงทุนให้ความสำคัญกับข่าวที่เป็นผลิตเอง ให้ความสำคัญกับบุคลากรภาคสนาม ให้เห็นคุณค่าของนักข่าว ช่างภาพ และให้สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติงานสื่อมวลชนลดการเผชิญกับภาวะที่กดดัน เกิดความเครียด ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอเพราะต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา ส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นเป็นนายทวารข่าวสาร มีหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและต่อคุณภาพข่าวด้วย 

โจทย์ท้าทายเมื่อธุรกิจสื่อไม่เฟื่องฟู

รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม นักวิชาการประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความท้าทายของสื่อในปีนี้ มี 2 เรื่องใหญ่  ประเด็นแรก คนทำสื่อจะอยู่รอดอย่างไรในภาวะที่ธุรกิจสื่อไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีตและมีภาวะการขาดทุนสูง จึงทำให้เจ้าของสื่อที่เป็นนักลงทุนเมื่อเขาเห็นว่าไม่ตอบโจทย์เขาแล้วในแง่ธุรกิจและอุดมการณ์ของเขา เขาก็อาจจะลอยแพ  

วิไลวรรณ ยกตัวอย่างล่าสุด การปิดวอยซ์ทีวีที่สร้างความตกใจให้หลายคนเพราะไม่ใช่ปิดทีวีอย่างเดียว แต่ปิดทุกๆแพลตฟอร์ม โดยให้เหตุผล แบกรับการขาดทุนเป็นเวลานาน  ความท้าทายตรงนี้เราต้องแยกระหว่าง เจ้าของสื่อที่เป็นนักธุรกิจกับคนทำสื่อจริงๆ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้ของคนทำสื่อ ไม่ได้สูงมากจนทำให้เขามีชีวิตสุขสบาย แต่มันหล่อเลี้ยงจิตใจ และแรงขับเคลื่อนภายในที่อยากเห็นสังคมดีขึ้นผ่านบทบาทของคนทำสื่อตรงนี้ คือ สิ่งที่น่าเห็นใจอย่างมาก 

“กรณีวอยซ์แม้ว่าจะมีทั้งคนเห็นใจ และสะใจในภาวะของความขัดแย้ง อคติทางการเมืองที่เกิดในรอบ2ทศวรรษที่ผ่านมา ถ้ามองกลับไปดีๆ ในทศวรรษที่ผ่านมาที่มีความขัดแย้ง มันก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายมิติ เช่น การเห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากตัวสื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย นี่คือ ความท้าทายของคนทำงานที่หลังไปพิงธุรกิจสื่อ และอยู่ในองค์กรภารกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันหนึ่งภารกิจเฉพาะกิจบรรลุเป้าหมายแล้วก็ปิดช่อง น่าเห็นใจคนที่มาร่วมอุดมการณ์ เพราะเขาใช้ใจ เคสของวอยซ์น่าเป็นเคสตัวอย่างที่ดีสำหรับพัฒนาการสื่อไทย แต่อย่างน้อยภารกิจของวอยก็ทำให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการรับรู้สิทธิ ข่าวสารอีกมุมหนึ่ง” 

ประเด็นที่ 2 หากถามว่า อยากเห็นรัฐบาลสนับสนุนอะไรนั้น  ส่วนตัวไม่ต้องการเรียกร้องว่า รัฐบาลต้องมาสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่แค่อยากให้รัฐบาลไม่มาปิดกั้น คุกคาม สิทธิเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่คนทำสื่อกังวลจนกระทั่งเกิดความกลัว คือ กรณีตำรวจออกหมายจับช่างภาพ spacebar  และนักข่าวประชาไท โดยที่ทั้งสองคนมีต้นสังกัดชัดเจน แต่ไม่มีการออกหมายเรียก ตำรวจเข้าไปจับอย่างประชิดตัว นี่คือ วิธีการคุกคาม หรือ ทำให้กลัวอีกแบบหนึ่ง ส่งผลให้คนทำสื่อเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติ รัฐตั้งข้อสนับสนุนอย่างนี้ ก็เท่ากับตั้งข้อหาอะไรก็ได้ 

“รัฐไม่ต้องสนับสนุนอะไรสื่อ แต่ให้ทุกคนทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมแค่นั้นก็พอแล้ว เคารพบทบาทหน้าที่แต่ละฝ่าย เพราะกลไกของคนทำสื่อก็มีกลไกของเขา แต่ขอแค่ไม่มาใช้วิธีกดทับ หรือ จำกัดเสรีภาพสื่อซึ่งมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจากแต่ก่อนถือปืนมาที่แท่นพิมพ์ อันนี้ขู่ให้กลัว แต่แบบนี้มันขู่รายตัวแล้ว”  

กังวลการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลนี้หรือไม่ ...?  วิไลวรรณ มองว่า ถ้าคนทำสื่อเข้มแข็งจริง นักการเมืองก็ไม่กล้าคุกคามเรา คำถามคือ คนทำสื่อเข้มแข็งจริงหรือไม่ ยุคนี้ทุกอย่างโปร่งใส มีการตรวจสอบมากขึ้น ระดับล่างต้องแข็ง แต่ที่ผ่านมาระดับบนมันลอยละล่องไปกับการเมืองที่ต้องการตำแหน่ง  ส่วนเอกชนก็กลัวกระทบกับธุรกิจตัวเองที่เป็นธุรกิจหลัก ดังนั้น เอกชนที่ทำมาสื่อไม่ได้ต้องการมาเป็นสื่ออย่างแท้จริง แต่มาเป็นสื่อเพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าวดราม่า โดยไม่สนใจข่าวการเมืองแค่เล่นข่าวอีกประเภทเพื่อให้คนไปสนใจข่าวนั้นแทน  ทั้งที่สิ่งสำคัญของสื่อ คือ เป็นหมาเฝ้าบ้าน แม้ว่า วันนี้กลไกของสังคม มีคนอื่นมาช่วยเฝ้าเหมือนกัน 

--