“นักข่าวไม่ตกงาน” คำยืนยันจาก “หนุ่ย แบไต๋” ตัวพ่อไอที ผู้อยู่รอดทุกสถานการณ์

โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ 

......................

โลกทั้งโลกตื่นตัว ตื่นตระหนก ไปจนถึงตื่นกลัว กับสิ่งที่เรียกว่า AI หรือ คำเต็มว่า Artificial Intelligenceด้วยความกังวลว่า AI จะมาแย่งงาน แย่งอาชีพของมนุษย์ ในเวลาอันใกล้นี้ อาชีพสื่อมวลชน หรือ นักข่าว ก็ถูกประเมินว่า AI จะเข้ามารุกล้ำ แย่งงาน 

ใใใใใใใใ

ในอนาคตนักข่าวจะตกงาน ถูกแทนที่ด้วย AI จริงหรือ?องค์กรสื่อ – ผู้ผลิตคอนเทนท์ต้องปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์นี้ กองบรรณาธิการ “หนังสือวันนักข่าว” ประจำปี 2567 บุก beartai pod พูดคุยกับ “พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด

ที่ทุกคนรู้จักเขาในชื่อ หนุ่ย แบไต๋ พิธีกรรายการไอที ที่กำประสบการณ์ตั้งแต่ทีวียุคอนาล็อก ผ่านความเจ็บปวดจากยุคทีวีดิจิทัล ที่ทำให้เขาแทบหมดตัว หลังการเข้ามาของยุคออนไลน์ 

กระทั่งเขาฟื้นธุรกิจ เปิดช่อง beartai ในยูทูป มีผู้ติดตาม 1.3 ล้าน คน โพสต์ วิดีโอ 3.2 พันรายการ

มีพนักงานเบื้องหน้าเบื้องหลังกว่า 70 คน ขยายธุรกิจไปยังประเทศอาเซียน แต่ในยุคคนตื่นกลัว AI จะมาแย่งงาน เขาคิดอย่างไร มีคำตอบในบรรทัดจากนี้ 

AI เครื่องทุ่นแรง

เมื่อเริ่มต้นสนทนา “หนุ่ย” กางไอแพดไว้ข้างกาย เปิดพรีเซนเตชั่น ที่เขาไปบรรยายในงาน งานหนึ่งเกี่ยวกับ AI พร้อมหยิบโทรศัพท์มือถือ Samsung s24 ultra มาบันทึกเสียงสนทนา 

ก่อนตอบคำถามเรื่อง ความท้าทายของสื่อหนังสือพิมพ์ในยุค AI จะเป็นอย่างไร “หนุ่ย” บอกว่า AI คือการย่นย่อเวลา แน่นอนว่าทุกอย่างไวขึ้นกว่าโซเชียลมีเดีย ซึ่งโซเชียลมีเดียคือคนที่บรรจงพิมพ์ลงไปโดยไม่ต้องผ่านบรรณาธิการ มีโต๊ะที่ต้องเวียน แต่พอมีโซเชียลมีเดียทุกคนช็อตคัท ตัดตอนสู่เผยแพร่ได้เลย ต่อตรงจากสมองสู่ public 

แต่พอเป็น AI ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่คนแล้ว แต่เป็นคนสอนเครื่องไว้ว่าอยากได้ประมาณนี้ อยากได้สิ่งแบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่สื่อออกไปไม่จำเป็นต้องตรากตรำ หลังขดหลังแข็งเขียน แต่ในเวลาเดียวกัน AI มาเพื่อย่นย่อเวลา คือ Save time ดังนั้น มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยพูดว่าสะดวกสบายมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วคือ เร็วขึ้น 

“ผมมีสคริปต์อยู่ 1 สคริปต์ ตอนนี้ใช้คนเขียน แต่ทั้งหมดตรงนี้ในยุคนี้อาจไม่ใช้คนเขียนก็ได้ ผมใส่ Prompt (คำสั่ง) ว่าต้องการเรื่องอะไร generative ai ต่างๆ ไม่ว่า chat gpt , google bard ก็จะเขียนออกมา หรือ การสร้างพรีเซนเตชั่นในหลักวินาที ในเวลาแค่ดีดนิ้ว”

“ผมเอาสิ่งนี้มาพรีเซนต์ได้ แต่ถ้าผมเอาพรีเซนต์เตชั่นที่ AI ผลิตออกมา แล้วไปบรรยายต่อนักลงทุน ซึ่งจ้างผมไปพูด ผมก็จะเป็นคนงานหยาบ ดังนั้น สุดท้าย ผมต้องมาทำใหม่อยู่ดี ใส่เป็นภาษาเล่าแบบผม” 

ส่วนอาชีพสื่อมวลชนจะส่งผลอย่างไร “หนุ่ย” มองว่า 1.AI พ่นคำออกมาได้จากสิ่งที่ที่เราให้โจทย์และมีข้อมูลออกมา ผมเคยตั้งคำถามกับความรู้สึกแรกในการเห็น chat gpt ในยุค chat gpt  3 ทุกคนฮือฮาตื่นเต้นมากมันเก่งเหลือเกิน ผมก็บอกว่าเฮ้ย มันก็ไม่ต่างจากการที่กดคีย์เวิร์ดเสิร์จและกูเกิลให้คำตอบนะ

ยุคที่อินเตอร์เน็ตไม่เร็วเนี่ยมันแปลกๆ มันก็ลุ้นออกมาทีละนิด แต่วันนี้อินเตอร์เน็ตมันเร็ว ไม่ต้องลุ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันกำลังคุยสด แต่จริงๆ มันก็ออกมาจากคลังสมองออกมานั่นแหละ แต่เพียงแต่คลังสมองมันเก๋ คือมันตอบไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว

“ถามคำถามเดียวกัน เช่น หนุ่ยพงศ์สุขเป็นใคร มันก็ตอบจากวิกิพีเดียนั่นแหละ  พิธีกรอายุ 45 ปี ซีอีโอบริษัทโชว์ไร้ขีดจำกัด  แต่บริบทที่ล้อมกรอบชุดคำนั้นไว้...มันเปลี่ยน เลยเกิดความเก๋ว่าไม่เหมือนเดิม เเล้วสิ่งที่อาจจะใช้คำว่ามันเคยคิดผิดกลายเป็นคิดถูก เช่น bing chat บอกหนุ่ยพงศ์สุขเป็นผู้หญิง ผมพิมพ์กลับไปว่าหนุ่ยพงศ์สุขเป็นผู้ชาย มันบอกขออภัยต่อไปนี้หนุ่ยพงศ์สุขเป็นผู้ชาย แล้วมันก็เมมไว้เลยว่าหนุ่ยเป็นผู้ชาย”

“ฉะนั้น ในมุมของการพัฒนาหรือไหลไปของข้อมูลปรับแต่งได้  เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนความเป็นมนุษย์มากกว่าที่เคยเป็นมา ผมจึงเอา AI มาทำสิ่งที่ใช้คำว่า Save time ทุ่นแรง” 

AI กับ Beartai 

“หนุ่ย” เปิดคลิปหนึ่ง ที่เป็นหน้าเขา แต่ไม่ใช่ตัวจริง กลับเป็น AI ก่อนอธิบายว่า “แบไต๋ เปิดตัวที่ สปป.ลาว ผม พูดลาวไม่ได้ สิ่งที่ทำคือ ใช้ AI บอทที่ถ่ายเพียงโครงร่าง และอัดเสียงไว้ แล้วใช้ generative ai เปลี่ยนเป็นภาษาให้พูดเป็นภาษาลาว”

“ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมจะพูดวีดีโออะไรก็ได้ ภาษาอะไรก็ได้ เพราะคนใส่คำเข้าไปคือผม มันถูกอนุมัติโดยสิ่งที่ผม approve แล้ว ว่าผมย่นย่อเวลาจากการทำ โดยไม่ต้องตั้งไฟถ่ายทำ”

“แต่ถามว่าตอนนี้ 100% หรือยัง...ยัง วันนี้จึงยังตั้งไฟอยู่ เพื่อให้มีความมั่นใจว่า เรายังคงมี personal touch กับคน จนถึงยุคที่เรียกว่า คนทั่วไปอยากเห็นบทความเป็นวีดีโอ หรือเสียงทั้งหมด” 

“หรือในยุคต่อไป ผมเองทำข่าวแบไต๋ เว็บแบไต๋ก็มีข่าวอยู่ประมาณ 40-50 ข่าวต่อวัน เราทำวิดีโอหรือเราหยิบยกมาทำวีดีโอ อย่างมากก็วันละคลิป แต่ถ้าเราต้องการจะมีทุกคลิป ทุกข่าว เราก็ต้องเอา AI มาอ่าน เราก็จะใช้รูปแบบนี้ในยุคต่อไป”

นักข่าวไม่ตกงาน 

แล้วนักข่าวจะตกงานไหม “หนุ่ย” ตอบทันทีว่า   “นักข่าวไม่ตกงานครับ” 

เพราะสุดท้ายหุ่นจะเก่งแค่ไหนต้องมีมนุษย์ที่ควบคุมหุ่น เช่น ถ้าผมให้หุ่นทำพรีเซนเตชั่น แล้วผมเอาออกมาใช้เลย ในงานที่มีคนจ้างผมเรือนแสน ผมก็จะงานหยาบ ดังนั้น ในมุมของมนุษย์จะมีเวลามากขึ้นในการคิดสร้างสรรค์ และสั่งให้หุ่นทำสิ่งที่เป็นรูทีน 

งานรูทีน เช่น ที่เราตื่นมาเขียนบทความ  2 ชั่วโมง แล้วส่งไปให้บรรณาธิการ ตัดต่อ นักข่าวสามารถเขียน Prompt ให้โจทย์มันเขียนออกมา นักข่าวก็ตรวจได้เลย ผมมองว่าเราจะมีผลผลิตมากขึ้นต่างหาก 

ถ้าในแง่ของคนทำงานมืออาชีพ เราก็คงไม่ปล่อยตัวเองว่าง แม้ AI จะมาย่นย่อเวลาแล้ว เราก็คงต้องหาทำอะไรเพิ่ม พอเราหาทำอะไรเพิ่มก็แปลว่าเราได้ผลผลิตเพิ่ม

“ดังนั้น เราอย่ากลัว AI แต่ให้กลัวคนใช้ AI ทำงานเดียวกับคุณ เพราะเขาจะเสร็จก่อนคุณและเขาจะทำได้มากกว่าคุณ และเมื่อผลวัดกันเชิงปริมาณ เราก็อาจจะพ่ายแพ้ แต่ถ้าวัดเชิงคุณภาพ ผมเชื่อว่า Ai เป็นตัวทำงานเบื้องต้น เพื่อให้มนุษย์คุณภาพตรวจสอบมัน”

“เราคงไม่สุกเอาเผากิน เอาสิ่งที่ AI คายออกมาส่งลูกค้า เราคงต้องนั่งสแกนก่อนที่เราจะเผยต่อคนอ่าน เพราะผมก็เป้นคนตรวจทานเสมอ ในมุมนี้ผมคิดว่า AI เสิร์ฟสิ่งที่เป็นเบื้องต้นมาให้เราปรุงต่อ นักข่าวไม่ตกงานครับ ยังไงในโลกนี้คนที่อยากสื่อสารกันเองคือคน เราคงไม่อยากคุยกับหุ่นมากมายถ้าเราไม่ซึม เศร้า เหงา เพราะรักเกินไปนัก”

“ผมพูดในมุมที่มนุษย์ยังคงไหวกาย ใช้ชีวิต ต้องออกจากบ้านมาทำงาน เพราะถึงคุณมีเงินมากพอ ที่จะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว คุณก็ต้องทำงานอยู่ดี เราปล่อยตัวเองว่างไม่ได้ เราอยากมี living purpose เราทุกคนต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้ชีวิต เราคงไม่นั่งนอนอยู่บ้านดูทีวีอย่างเดียว ทำได้อย่างมากอาทิตย์เดียว คุณจะโคตรเบื่อเลย มนุษย์เป้นสิ่งมีชีวิตที่ต้องไปนู่นไปนี่” 

นักข่าวต้องอัพสกิลการใช้

สกิลอะไรที่ควรเพิ่มมาในยุค AI ซีอีโอแบ๋ไต๋ ตอบทันทีว่า “สกิลการใช้ไงฮะ ทุกยุคทุกสมัยคือสิ่งเดียวกัน ตั้งแต่มีโต๊ะทำงานขึ้นมา เราก็ต้องหัดใช้วงเวียน เรียนรู้เครื่องมือบนโต๊ะ เครื่องคิดเลข จนมาถึงวันนี้ซอฟต์แวร์คือสิ่งที่คนเรียนรู้ การเข้าถึงซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่จะเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง”

นักข่าวต้องฝึกการการเขียน promt สั่ง AI ไหม? เขาตอบว่า ไม่ต่างกับการฝึกว่าเราจะเสิร์จอะไร ยุคหนึ่งผมทำรายการซีเมนต์ไทย ไอทีจีเนียส ที่ช่อง 9 อสมท. เอาเด็กมาแข่งรายการ รอบแรก รอบสอง คลิกเมาส์ตอบคำถาม รอบลึกๆ แข่งขันเสิร์ชข้อมูล 

ในวันนั้นเราต้องเอาสิ่งนี้มาแข่งกันออกทีวีว่าเสิร์จยังไง แต่วันนี้ไม่ต้องแล้ว ทุกคนเสิร์จเป็น และทุกวันนี้เสิร์จฉลาดขึ้น เราไม่ได้สลับอักษร เราพิมพ์ไทยด้วยแป้นอังกฤษ ยังให้คำตอบเราได้เลย เพราะมันฉลาดแล้ว  เช่นเดียวกัน prompt ก็จะต้องง่ายขึ้น แต่วันนี้ prompt เป็นเหมือนเสิร์จเอนจิ้นยุคแรก และผมว่าสะดวกสบายและประหยัดต้นทุน 

แบไต๋ รอดทุกสถานการณ์

เขาเคยประสบความสำเร็จกับ “แบไต๋” ในยุคทีวีอนาล็อก และ ทีวีดาวเทียม แต่พอถึงยุคทีวีดิจิทัล เขาล้มเหลว แต่นาทีนี้ เขาผ่านมาได้ทุกยุค อะไรที่ทำให้ “แบไต๋” อยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ 

“หนุ่ย” กล่าวว่า การที่เราย่นย่อเวลา แทนที่เดิมเราผลิตรายการทีวี มี process ขอนัดท่านนั้น ท่านนี้ เพื่อที่จะขอเวลามาออนแอร์ ต้องประชุมกับทีมรายการ ฝ่ายผลิต ออกมาเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ จ่ายค่าผลิต จ่ายค่าเวลา อยู่ๆ เราก็ อินเตอร์เน็ตนี่สิ อยากทำอะไร ทำเลย ไอเดียอะไรขึ้น ขึ้นเลย

เมื่อก่อนก็เหมือนทุกคน ว่า จะต้อง develop idea ก่อนสักพัก พอมั่นใจแล้วค่อยถ่าย แต่พอยุคอินเตอร์เน็ต เราถ่ายเลย อยากทำแบบนี้ งั้นลอง พอปล่อยออกไป ถ้ามหาชนยอมรับเราก็ทำต่อ ถ้ามหาชนไม่ยอมรับเราก็จบ มี EP 0 เต็มไปหมด พอดีไม่พอเราก็หยุด เราก็ไม่เลือดออก แต่พอรายการทีวี พอไม่ดีคุณหยุดได้เหรอ contact นี้ 6 เดือน 1 ปี ต้องทำจนจบ พอทำไปทำมาปรากฏเจ๊ง รู้ว่าเจ๊งแต่ยังหยุดไม่ได้ 

อินเตอร์เน็ตจะไม่มีผิดที่ผิดทาง เพราะเมื่อคุณอัปโหลดขึ้นไปแล้ว คนที่ชอบคุณไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน หรือเวลาใด เขาก็จะมาดูคุณเอง แต่พอมาเป็นหนังนัดฉายที่มีตารางเวลามาออก 

“โลกนี้มีแค่ 2 อย่าง ฟอร์ม กับ คอนเทนท์ และต้องไปด้วยกัน คุณทำคอนเทนท์ให้ดีแค่ไหน แต่คุณไม่มีฟอร์มที่ดีด้วยใครจะกด หรือ คุณมีฟอร์มดี..มาก แต่คอนเทนท์คุณอ่อนปวกเปียก สุดท้ายคุณก็ไปอยู่ดี ฟอร์มกับคอนเทนท์ที่ดีต้องไปด้วยกัน” 

กับดักสื่อเก่า 

อะไรที่สื่ออย่าง องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ ดั้งเดิม “ติดกับดัก” ไม่ประสบความสำเร็จ เขาตอบว่า หลายคนพูดว่า สื่อเก่าคือ long form สื่อใหม่คือ short form แต่ผมลองทุก form แล้ว ผมค้นพบว่าจะอยู่ในสื่อใหม่เป็น long form ก็ไม่ผิด เพราะหนัง 2 ชั่วโมงในเ Netflix คนยังดูเลย ซีรียส์ 1 ชุด คนดู 3 วัน ทำไมคนยอมไม่นอนแล้วนั่งดู

“ผมตอบโจทย์อย่างเดียว การเล่าเรื่องต้องสนุกตลอด ถ้าการเล่าเรื่องสนุกตลอดได้ ทำให้เนื้อหาดำเนินกับคนดู กับคนอ่านไปจนจบ” 

“เมื่อก่อนเราเขียนบทความกันเยอะๆ ถมให้เต็มหน้า แล้วเราก็พิมพ์ออกจำหน่าย และเรารู้แค่ยอดจำหน่าย ขายได้กี่ฉบับต่อวัน ไปกี่ภาค ไปจังหวัดไหนบ้าง แต่สิ่งที่คนไม่รู้เลยว่าคนอ่านหมดหรือเปล่า” 

“วันนี้ออนไลน์ เราดูได้หมด ใน youtube คนดูดร็อปที่นาทีไหน คนดูจบหรือเปล่า และเราเอาสิ่งนี้มาปรับปรุง เรามีประชุมที่เรียกว่า sixty minute ในทุกๆ ละสัปดาห์ เรามีประชุม 60 นาที เพื่อดูสถิติเราจ้างนัก data analytic รวบรวมข้อมูลมาเสนอ เราค้นพบว่าคลิปนี้เราได้ คลิปนี้เราพลาด คลิปนี้ล้านวิว แต่คนออกตั้งแต่ 10 วินาทีแรกแสนคน เราต้องเอาสิ่งนี้มานั่งทบทวน ถ้าออกไป 10% เราไม่ว่า แต่ถ้าออกไปเกินครึ่งเราก็ต้องทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ในมุมผม data ก็สำคัญที่เราเอามาดู”

เขาทิ้งท้ายว่า เรายังคงต้องการมนุษย์ เพราะมนุษย์มี empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) มีสัมผัสที่แสดงออกต่อกัน ในขณะที่หุ่น ถึงพูดเพราะแค่ไหนก็เป็นหุ่น มันไม่ใช่คน ดังนั้น มนุษย์ที่มี empathyอยู่ได้ในยุคที่หุ่นจะมาเป็นเหตุผลแทนเรา

นักข่าวยุค AI Phone 

หนุ่ยหยิบ Samsung S24 ultra ที่อัดเสียงสนทนาไว้ขึ้นมา เขากดบันทึกและโชว์ให้ดูว่า “นักข่าว” จะต่อยอดการใช้ AI Phone ที่มาแทน Smart Phone อย่างไร 

เขาบอกว่า สิ่งที่ทำได้มากกว่าการถอดเสียง คือสามารถจัดการทำความสะอาดเสียง เพราะบางช่วงเราอยู่ใกล้ไมค์ บางช่วงอยู่ไกลไมค์ โทรศัพท์ AI จะจูนเสียงเพื่อให้ได้คำ สามารถถอดเป็น text ได้ และทำได้มากกว่าการที่คุยมายาวๆ แล้วแปลงเป็นข้อความ หรือ เนื้อข่าว คือการสรุป ให้ว่าเราคุยหัวข้ออะไร มีทั้งดีเทลแบบสั้น กับแบบยาว  

หนุ่ย สรุปว่า นักข่าวไม่ตกงาน ไม่ต้องกลัว AI แต่ให้กลัวคนใช้ AI ก่อนปลีกตัวไปลุยงานต่อ

“นักข่าวไม่ตกงานครับ  ในมุมของมนุษย์จะมีเวลามากขึ้นในการคิดสร้างสรรค์ และสั่งให้หุ่นทำสิ่งที่เป็นรูทีน”