สื่อต้องสร้างบรรทัดฐานจริยธรรม ให้สังคมยอมรับและเชื่อมั่น

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

----
การกํากับดูแลกันเองของสื่อมวลชน  (self regulation) เป็นกลไกสําคัญในการกํากับดูแลด้านจริยธรรมแทนที่จะเป็นการกํากับดูแลโดยรัฐ ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน  สื่อหลายประเทศทั่วโลกจึงรณรงค์และจัดตั้งกลไกการกํากับดูแลตนเองเพื่อให้เกิดการควบคุมกันเองด้านจริยธรรม ในไทยยึดหลักการกำกับกันเอง และอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท  พรบ.คอมพิวเตอร์ ส่วนการกำกับกันเองทางจริยธรรม ถูกสังคมวิจารณ์ ไม่มีความเข้มแข็งจริงจัง  บทลงโทษไม่แรง ทำให้สื่อไม่เกรงกลัว 

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ การกำกับดูแลกันเองภายใต้บริบทสื่อใหม่ ในงานสัมมนายุทธศาสตร์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ว่า  การกำกับดูแลตนเองของสื่อไม่ได้หมายความว่า ไม่มีมาตรฐาน แต่มันมีระเบียบที่องค์กรวิชาชีพกำหนดขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ร่วมกันกับสมาชิกซึ่งถือว่ามีความท้าทายอย่างมากสำหรับวงการวิชาชีพสื่อ

ตามมาตรฐานการกำกับกันเองมี 3 รูปแบบ คือ 1. รัฐกำกับและไม่ให้อำนาจอื่นใดกับองค์กรวิชาชีพ หลายประเทศเป็นอย่างนั้น เช่น เกาหลีเหนือ ทุกอย่างมาจากรัฐบาล สื่อไม่ได้มีอำนาจกำกับ  2. รัฐและองค์กรวิชาชีพร่วมกันกำกับดูแลเรียกว่า Co – regulation  3. รัฐมอบอำนาจทั้งหมดให้องค์กรสื่อกำกับกันเอง 

รูปแบบการกำกับกันที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างประเทศเบลเยี่ยม เขามี กสทช. พร้อมทั้งปล่อยให้ องค์กรวิชาชีพกำกับกันเอง กสทช. เบลเยี่ยมทั้งปีรับร้องเรียนแค่ 5 เรื่อง เขาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชน การก่อการร้ายที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ เพราะเคยมีกรณีการทำข่าวที่นักข่าวเตรียมถ่ายทอดสดหน้าหน่วยงานรักษาความมั่นคงของเบลเยี่ยมที่กำลังบุกไปจับผู้ก่อการร้าย แต่ปรากฏว่า นักข่าวไปถึงก่อนหน่วยงานความมั่นคง ก็เกิดเป็นประเด็นว่า นักข่าวไปเตรียมตัวทำข่าวได้อย่างไร

เนื้อหาประเภทอื่น กสทช. เบลเยี่ยมไม่ยุ่ง เขาบอกว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรมภายในวิชาชีพซึ่งปีหนึ่งก็รับเรื่องเยอะอยู่ และถ้ารับเรื่องตัดสินแล้วพบว่ามีความผิด เขาก็ให้สื่อนั้นออกแถลงการณ์ว่า รับผิด ว่าเพราะอะไร เราเสียใจกับการทำผิด และจะรักษามาตรฐานของเราอย่างไร หลายคนบอกถ้าแค่นี้สื่อที่ทำผิดจะกลัวหรือ แต่เขาถือว่า เรื่องนี้เป็นวิชาชีพของเขา ดังนั้นการออกแถลงการณ์แสดงว่า คุณยอมรับในวิชาชีพของคุณ เป็นตัวอย่างการกำกับกันเองที่ดี เพราะรัฐเอาไปแค่ 2 ประเด็น เรื่องที่เหลือเอกชนเมื่อสร้างความมั่นใจว่าทำได้และมีมาตรฐานก็เอาไปกำกับดูแลกันเอง

ดร.ชำนาญ ยกตัวอย่าง การกำกับกันเองของสื่อในสหราชอาณาจักร มีองค์กรอิสระกำกับคือ  Independent Press Standards Organisation หรือ IPSO  ไม่ขึ้นกับรัฐ ตัวอย่างของ IPSO  ประสบความสำเร็จในบางเรื่องแต่ก็มีข้อเสีย เช่น ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ เราจะเห็นข่าวไล่ตามติดชีวิตดารา เชื้อพระวงศ์  อีกประเด็นที่มีปัญหาคือ การซื้อข่าวจากปาปารัสซี่ที่เป็นกรณีศึกษาการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่ปาปารัสซี่ติดตามทำข่าวอย่างดุเดือดเพราะมีการสนับสนุนการซื้อข่าวอยู่ 

หรือ ในสหรัฐอเมริกา รัฐมอบอำนาจให้กับองค์กรอิสระวิชาชีพ 100% ในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ และพิจารณาความ ตัดสินด้วย โดยองค์กรด้านการสื่อสารประเทศสหรัฐอเมริกา FCC (Federal Communucations Commissios)  บางครั้งตัดสินและปรับโทษกันเป็นแสนล้าน น่าตกใจมาก เพราะเป็นการใช้อำนาจทางแพ่ง ไม่ใช่อำนาจรัฐ 

อย่างไรก็ตามรูปแบบการกำกับดูแลตามที่กล่าวมา ล้วนมีข้อดีข้อเสีย ไม่ว่าจะเป็นการกำกับกันเองแบบเพียวๆ หรือ จะกำกับร่วมกันกับภาครัฐ แต่ข้อดีการกำกับกันเอง เช่น ช่วยรักษาอิสรภาพแห่งวิชาชีพ ทำให้องค์กรสื่อดำรงความเป็นอิสระจากการกดดันของกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ เป็นเครื่องมือปกป้องสื่อจากการใช้อำนาจรัฐ สำคัญมากคือ ช่วยสร้างการยอมรับและเกิดความศรัทธาจากสังคม การกำกับดูแลกันเองยังเป็นการควบคุมกันเองมิให้สมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพสื่อประพฤติปฏิบัติตนในทางไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังมีความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย ตรงกับความต้องการสมาชิก 

ส่วนข้อเสียของการกำกับกันเองที่มีการทำวิจัยของนักวิชาการว่า อาจไม่บังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ส่วนตัวไม่แน่ใจเพราะบางประเทศเขากำกับกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ที่เบลเยี่ยมทั้งปี กสทช.รับเรื่องร้องเรียนแค่ 5 เรื่อง และที่ว่า กระบวนการบังคับมีความโปร่งใสต่ำ ก็ไม่แน่ใจเพราะถ้าทำอย่างชัดเจนมีมาตรฐานก็สามารถสร้างความโปร่งใสขึ้นมาได้ หรือ ไม่รายงานผลต่อองค์กรใดๆ แต่ตรงนี้มันก็ยังรายงานต่อองค์กรวิชาชีพ  รวมถึงคณะกรรมการองค์กรกำกับดูแลกันเองที่ไม่ใช่ภาครัฐ มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ตรงนี้ก็ต้องตั้งคำถามอยู่ เพราะเข้าใจอยู่วงการสื่อเราอาจมีแหล่งรายได้หลายแหล่ง แต่ถ้าเราเอาบรรทัดฐานวิชาชีพเป็นตัวตั้ง เรื่องผลประโยชน์มันก็อาจจะเรื่องรองๆ ก็ได้

อะไรคือ “ประโยชน์สาธารณะ” 

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ประเด็นต่อมา หากพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเรามักพูดถึงเรื่อง “ประโยชน์สาธารณะ” นิยามจากฝั่งตะวันตก ประโยชน์สาธารณะประกอบไปด้วย 3 เรื่อง 1.การตรวจสอบ ในทีนี้ไม่ใช่ตรวจสอบแบบบางรายการทีวีที่เอาเรื่องชาวบ้านมาเล่าทั้งรายการและตีเป็นข่าว แต่ตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูลอาชญากรรม สิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อมาตรฐานทางสังคมอย่างร้ายแรง เช่น อดีตนายกฯ คนหนึ่งของสหราชอาณาจักรในช่วงโควิดที่ให้ทุกคนกักตัว แต่ตัวเองและครม.กลับจัดปาร์ตี้  2. เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยสาธารณะ 3. การปกป้องสาธารณชนจากการถูกล่อลวง โดยพฤติกรรมปักเจกบุคคล หรือองค์กร เช่น คำสัญญาของนักการเมือง พรรคการเมือง  

ถ้าภายใต้หลักการเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า การกำกับดูแลกันเองอาจเป็นทั้งระดับปัจเจก และระดับองค์กร ถ้ามองถึงระดับองค์กร เราก็ต้องดูว่า มาตรฐานทางกฎเกณฑ์จริยธรรมควรมีอะไรบ้าง และเรามีกลไกในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ร้องเรียน ให้มีความถูกต้องและโปร่งใสอย่างไร ล่าสุด จากที่ได้ประชุมกับทางยุโรป มีข่าวว่าเขาจะออกมาตรฐาน ISO อันหนึ่งแสดงถึงความโปร่งใสของการบริหารจัดการในวงการสื่อมวลชน กล่าวคือ ถ้าสื่อไหนจะเข้ากฎกติกานี้ก็ต้องระบุว่า คุณรับเงินที่ไหนมาบ้าง  มีนักการเมือง พรรคการเมืองหรือไม่ 

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ในการกำกับดูแลร่วมกันโดยความสมัครใจ สิ่งสำคัญเราต้องทำให้สังคมตระหนักว่า ถ้าเราทำแบบนี้จะทำให้สังคมดีขึ้นและให้สังคมมาร่วมกันพัฒนาเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ช่วยให้การทำงานของสื่อทำได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าองค์กรสื่อออกแถลงการณ์แล้ว สังคมเกิดการยอมรับว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาในการพัฒนามาตรฐานทางจริยธรรมให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ว่า เราต้องพัฒนาควบคู่กัน ทั้งองค์กรวิชาชีพและสังคม ที่ต้องเข้าใจเรียนรู้วัฒนธรรม บรรทัดฐานเหล่านี้ เหมือนในประเทศอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้  ขณะที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ แต่ทำไมอังกฤษถึงอยู่ร่วมกันได้ เพราะเขาเคารพบรรทัดฐานทางสังคมที่รู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด 

เสรีภาพที่ไม่สุดโต่ง

ประเด็นต่อมา เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำเสนอได้ทุกเรื่อง เพราะถ้ามันไปทับซ้อนกับเรื่องอื่นเราอาจต้องสมัครใจในการลดเสรีภาพลงมา เช่น การแสดงเรื่องอันตราย การแสดงถึงสิ่งที่กระทำผิด อาชญากรรม การจลาจล การเหยียดหยาม สิ่งเหล่านี้มันอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยสาธารณะขึ้นเพราะถ้าบอกว่า มีบุคคลมายั่วยุให้เกิดการจลาจล ปฏิวัติ และเรานำไปบอกเล่าซ้ำๆ มันอาจไม่มีประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงการแสดงออกถึงความเกลียดชังไม่ว่า จะต่อเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ สุดท้ายแล้วการรายงานข่าวมาจบที่ต้องเป็นกลาง มีมุมมองหลากหลาย มีควาวมสมดุลในการเล่าเรื่อง ไม่แบ่งฝักฝ่าย 

รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เวลาเราจะดูว่า เสรีภาพในการแสดงออกกับผลประโยชน์สาธารณะ หรือ การคุ้มครองส่วนบุคคล สถานการณ์แบบไหนมีความเหมาะสมกว่ากัน ทั้งหมดต้องดูผลกระทบของมันด้วย เช่น สมมุติว่า มีการเปิดโปงนักการเมืองบางคนทำผิดทางจริยธรรม กับ อีกฝ่ายกำลังบอกว่าจะเปิดโปงเด็ก 16 ปีบางคน ที่ทำผิดทางจริยธรรม น้ำหนักความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกัน หลักการเหล่านี้ มันต้องใช้การกำกับทางวิชาชีพเท่านั้นมันถึงจะเข้าใจถึงคำว่า เหมาะสม 

“คำถามที่ว่า เสรีภาพในยุคปัจจุบัน มีขอบเขตตรงไหน ก็ต้องดูว่า เสรีภาพ ในการแสดงออกต้องไม่กระทบประโยชน์สาธารณะ หรือ กระทบต่อการคุ้มครองส่วนบุคคล แต่ผมมองว่า เสรีภาพที่เติบโตขึ้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะประโยชน์สาธารณะก็เพิ่มมากขึ้นตาม  อย่างสมัยก่อน มีใครมาปกป้องสิทธิเสรีภาพกันไหม ไม่มี เพราะแต่ก่อน พ่อแม่ตีลูกได้ถือเป็นการสั่งสอน  ปัจจุบัน ตีไม่ได้เพราะสังคมพัฒนาขึ้น มีการเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนเติบโตด้วยความคิดที่หลากหลายมากขึ้น แม้แต่การตระหนักถึงสิทธิต่างๆ มากขึ้น กระทั่งห้ามทารุณกรรมสัตว์” 

 ความท้าทายสื่อ

ประเด็นที่วงการวิชาชีพสื่อกำลังเผชิญความท้าทาย ดร.ชำนาญ มองว่า มีหลายเรื่อง เช่น “ขอบเขตของสื่อมวลชน”  หรือใครก็ตามที่ควรเป็นสื่อ  ปัจจุบันเราเจอเพจมากมาย หลายเพจก็นำเสนอข้อมูล บางเพจก็โฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้น อาจต้องกำหนดว่า สื่อมวลชนควรมีแค่ไหน สิ่งสำคัญคำว่า จริยธรรมสื่อ การรู้เท่าทัน ไม่ใช่ต้องอยู่กับสื่ออย่างเดียวแล้ว แต่พลเมือง เด็ก เยาวชนในประเทศ ควรจะรู้ด้วยว่า อะไรควรนำเสนอหรือไม่  สิ่งท้าทายอันแรก คือ ใครที่จะเป็นสื่อมวลชน แล้วเราจะกำกับดูแลกันเองอย่างไร

ข้อมูลมหาศาล – ปัจจุบันเรามีข้อมูลมหาศาลมากมาย แต่มันไม่ได้ช่วยให้เราฉลาดขึ้นเสมอไป อยู่ที่ว่า เราสามารถวิเคราะห์ จำแนกข้อมูลได้แค่ไหน ซึ่งบางทีไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ควรเป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มที่ต้องทำหน้าที่ติดสลากของข้อมูลข่าวสารให้เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดก็ติดไปเลยว่า ยังขาดข้อเท็จจริง  ส่วนข้อมูลที่มาจากสำนักข่าว มีมาตรฐานทางจริยธรรม ก็บอกไปว่า เป็น ข่าว ข้อมูลไหนเป็นความเห็นก็บอกให้ชัดๆ   แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือ สิ่งที่เป็นความเห็น ทัศนคติ หลายคนไปตีความว่า อันนี้ต้องเป็นความจริงแน่นอนซึ่งไม่ใช่เสมอไป  

การแพร่ข้อมูลเท็จ -ปัจจุบันมีเยอะมาก กองทุนสื่อฯเคยทำวิจัยว่า มีสำนักข่าวไหนบ้างที่เอาข้อมูลจากโซเชียลมานำเสนอพบว่า 99% เอาไปใช้หมดเลย ซึ่งเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นสิ่งที่ต้องระวังไม่ควรนำมาเปิดเผย  

ประเภทและผลกระทบเนื้อหา  -  เวลาเรามองเรื่องการกำกับกันเอง มันมีกฎหมายหลายตัวที่ดูแลเนื้อหาบางเรื่องอยู่ เช่น เรื่องความมั่นคงก็มีบางเนื้อหาที่อยู่ในพื้นที่ที่การกำกับไปไม่ถึง อย่างเช่น กสทช. ไม่สามารถกำกับเนื้อหาในโลกออนไลน์ได้ และบางเรื่องก็อาจเข้มงวดเกินไป แต่เราจะประยุกต์มาใช้ได้แค่ไหน เช่น กสทช. เบลเยียมดูแลเรื่องเด็กเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องอื่นเขาคิดว่า วงการวิชาชีพทำได้ดีกว่าเขา เนื้อหาแต่ละประเภทมีผลกระทบไม่เหมือนกัน เช่น อาหาร มีผลกระทบน้อยกว่ายา ดังนั้น ต้องกำกับดูแลคอนเท้นท์ยามากกว่าอาหาร ตรงนี้ก็เช่นกัน

การขาดความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสของสื่อมวลชน - ถ้าดูสถิติความน่าเชื่อถือตกลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ พอไปดูความน่าเชื่อถือของสื่อในรัสเซียในยุคปูติน หลังสงครามยุคปูติน ปรากฏว่า เพิ่มขึ้น น่าสนใจทำไมประเทศเผด็จการ ความน่าเชื่อถือจึงเกิดขึ้นได้ 

 การกระจายของกลุ่มเป้าหมาย - ถ้าเรามองในโลกออนไลน์มันกว้างมาก มุมมองแบบเดิมที่เราเคยบอกว่า เนื้อหาที่รุนแรง หรือ เหมาะกับผู้ใหญ่ ต้องดูหลังสี่โมงทุ่ม สำหรับเด็กเยาวชน 4-6 โมงเย็น ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป คำถามคือ เรื่องเหล่านี้สื่อทำเองไม่ได้ แต่แพลทฟอร์มและผู้ให้บริการโครงข่ายต้องช่วยว่า เนื้อหาอย่างไรที่เหมาะสมกับวัย อายุ

นิยามประโยชน์สาธารณะสำหรับคนไทย คืออะไร-  ถ้าตะวันตกเขามองว่า เมืองไทยเราอาจนิยามไม่เหมือนกับเขา เราเป็นสังคมตะวันตกเขาไม่คิดมาก หนึ่งไปสองไปสาม แต่บ้านเราสังคมตะวันออก มองร้อยแปดพันเก้า ประโยชน์สาธารณะบ้านเราจึงซับซ้อนกว่าตะวันตก