ถอดประสบการณ์นักข่าวม็อบ 15 ปีในสถานการณ์การชุมนุม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง สื่อมวลชนเป็นคนกลุ่มแรกที่ปรากฏตัวในพื้นที่ เพราะการทำเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต้องไปก่อน กลับทีหลัง เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนอสู่สังคมอย่างครบถ้วนรอบด้าน

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นเวลา 15 ปีที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติการเมือง มีการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง “นักข่าวม็อบ” เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวในพื้นที่การชุมนุม

เริ่มจากการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกตัวเองว่า “คนเสื้อเหลือง” ที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

ต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

รวมถึง “มวลมหาชนประชาชน” ที่มีชื่อกลุ่มยาวที่สุดอย่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถูกก่อตั้งเพื่อต่อต้านการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2556 ก่อนที่จะขยายวงกว้างมาถึงการขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

จนมาถึงปัจจุบันกับการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ที่เคลื่อนไหวชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ คือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก , แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

อีกสิ่งหนึ่งที่มีพัฒนาการควบคู่ไปกับการทำหน้าที่สื่อมวลชนและผู้ชุมนุม คือ เครื่องมือสื่อสาร ที่แต่ละยุค “นักข่าวม็อบ” ต่างก็ต้องมีการปรับตัวไปในแต่ละเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน

ปี 2548 กับม็อบพันธมิตร อุปกรณ์ในการส่งข่าวที่สำคัญคือ “โทรศัพท์” โดยเฉพาะสถานีข่าวที่ต้องนำเสนอความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ “นักข่าวม็อบ” ต้องโทรส่งข่าวเป็นเนื้อหาสั้นๆ ทุกชั่วโมง

ส่วนการถ่ายภาพยังมีบางสื่อที่ใช้กล้องฟิล์มในการส่งภาพ “ช่างภาพม็อบ” นอกจากต้องใช้ความแม่นยำในการถ่ายแล้ว ยังต้องจำให้ได้ด้วยว่า 1 ม้วนฟิล์มมีภาพอะไรบ้าง นอกจากนั้นพวกเขายังเผื่อเวลาในการส่งภาพอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้แมสเซ็นเจอร์มารับม้วนฟิล์ม ก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนล้างและตีพิมพ์ต่อไป

ปี 2549 กับม็อบ นปช. สื่อหลายสำนักเริ่มใช้อีเมลในการส่งข่าว และเริ่มรู้จัก “ทวิตเตอร์” แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ต ยังไม่มีอย่างทั่วถึง อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการส่งข่าว คือ โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ Blackberry ที่มีฟังก์ชันช่วยให้การเขียนข้อความถูกนำเสนอผ่านโลกทวิตเตอร์ได้ทันที

ส่วนการถ่ายภาพนับตั้งแต่ปี 2549 ส่วนใหญ่ใช้กล้องดิจิทัลเป็นหลัก แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตยังมีไม่ทั่วถึงมากนัก ทำให้ช่างภาพที่ต้องส่งงานผ่านอีเมลหรือระบบเฉพาะของแต่ละสถานีข่าว ต้องวางแผนการส่งภาพ เพื่อไม่ให้คลาดกับช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ

ปี 2556 การชุมนุม กปปส.จนถึงปัจจุบัน ยุคที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพิม่ขึ้น “นักข่าวม็อบ” มีโทรศัพท์มือถือเป็นอาวุธสำคัญ ใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน ที่ในยุคนั้นมี WhatsApp , Line และ Telegram ที่ได้รับความนิยม ซึ่งสะดวกในการส่งทั้งภาพและเนื้อหาข่าว

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการชุมนุมหลายครั้ง สถานการณ์เคลื่อนไปสู่ความตึงเครียดมากขึ้น มีการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม เสี่ยงเกิดการความรุนแรงในหลายโอกาส

 “นักข่าวม็อบ” ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ไปด้วยเช่นกัน

พวกเขารับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร ?

บรรยากาศการชุมนุมจากอดีตถึงปัจจุบันเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ ?

“จุลสารราชดำเนิน” ร่วมหาคำตอบผ่านบทสนทนากับ 2 นักข่าว 1 ช่างภาพ ที่มีประสบการณ์การทำข่าวการชุมนุมจาก “คนเสื้อเหลือง” จนถึง “ม็อบราษฎร” ในปัจจุบัน

เสถียร วิริยะพรรณพงศา

บรรณาธิการบริหาร และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี

“เสถียร วิริยะพรรณพงศา” บรรณาธิการบริหารและผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี  เล่าความรู้สึกการทำงานยุค “ม็อบพันธมิตร” หรือ “คนเสื้อเหลือง” ที่นักข่าวขณะนั้นต้องทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ม็อบการเมือง” เพราะการเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น อาจทำให้ต้องย้อนเวลาไปถึงปี 2535 กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“นักข่าวภาคสนามช่วงนั้นใหม่กับเหตุการณ์แบบนี้มาก เพราะพวกพี่ๆที่เคยทำข่าวปี 2535 ส่วนใหญ่ก็ขึ้นไปเป็นหัวหน้าข่าวกันหมด ทำให้เราต้องไปทำข่าวม็อบพันธมิตรต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆกันใหม่หมด”

สิ่งที่นักข่าวม็อบต้องเรียนรู้ มีตั้งแต่วิธีหลบเลี่ยงอันตราย การประเมินสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง สัญญาณการเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม การปฐมพยาบาล รวมไปถึงการทำความรู้จักกับเครื่องยิงกระสุนชนิดต่างๆ

“ช่วงนั้นเริ่มมีการจับกลุ่มของนักข่าว แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ต้องคุยกันว่าถ้ามีระเบิดจะหลบอย่างไร เสียงแบบไหนให้วิ่ง แบบไหนให้หมอบ เราต้องเรียนรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า M79 บางช่วงมีระเบิดทุกคืน บางครั้งระเบิดลงห่างจากเต็นท์นักข่าวไม่มาก มีคนล้มลงต่อหน้า แก๊สน้ำตาก็เพิ่งรู้จัก เป็นความรุนแรงที่เราเพิ่งรู้จัก และเป็นเรื่องใหม่กับนักข่าวม็อบ”

ต่อมาในการชุมนุมกลุ่ม นปช. เขาเล่าว่า เป็นยุคที่นักข่าวต้องรู้จักกับเสื้อเกราะ และ หมวกกันกระสุน เพราะการชุมนุมในช่วงเวลานั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันได้แทบทุกเวลา

“ตอนม็อบพันธมิตรเรามีประสบการณ์ว่าถ้าเกาะกลุ่มกับเจ้าหน้าที่แล้วจะปลอดภัย แต่พอมายุค นปช.ต้องปรับองค์ความรู้ใหม่ ไม่รู้แล้วว่าฝ่ายไหนปลอดภัย ตอนนั้นน่ากลัวมาก เพราะมีการใช้อาวุธที่หลากหลายขึ้น”

การชุมนุมของ นปช. ทำให้สื่อมวลชนเริ่มเจรจากับแกนนำ เพื่อขอพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน เช่น การนำรั้วเหล็กมากั้นหลังเวทีปราศรัย เพื่อใช้ในการทำงานของสื่อ และมีสื่อหลายสำนักเลิกรายงานจำนวนผู้ชุมนุม และต้องระมัดระวังการใช้คำที่นำไปสู่ความเกลียดชัง

“ต้องเข้าใจว่าสื่อเป็นเป้าของทุกม็อบ อย่างยุค นปช. บางวันพาดหัวข่าวไม่ดี แกนนำก็นำมาอ่านฟ้องมวลชนบนเวทีปราศรัย มวลชนเริ่มมอนิเตอร์ข่าวจากเรา บางครั้งเราทวีตข้อความว่ามีเหตุชุลมุนผู้ชุมนุมทำร้ายคนที่คาดว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ผ่านไปไม่กี่นาทีมีมวลชนเดินมาหาเลย มาต่อว่า มาตำหนิเป็นนักข่าวชั่วก็มี รายงานสดก็ถูกล้อมวงดู ทำให้ทุกสื่อต้องใช้ศิลปะในการสื่อสารด้วยความรัดกุมมากขึ้น”

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเคลื่อนมาถึงการชุมนุมกลุ่ม กปปส.จนถึงปัจจุบัน “เสถียร” เชื่อว่า นักข่าวอ่านสถานการณ์ได้เด็ดขาดมากขึ้น รวมถึงกองบรรณาธิการก็เข้าใจการรายงานข่าวและใช้ภาพที่ไม่เติมเชื้อไฟได้ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ยังพบคือ การรายงานข่าวแบบเหมาภาพรวม ทำให้ประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มย่อยที่มาร่วมชุมนุมหายไป

“ใต้ร่มแห่งความขัดแย้ง มันมีปัญหาปลีกย่อยอย่างหลากหลาย เป็นเรื่องที่สื่อต้องพยายามสะท้อนภาพระดับไมโครให้ได้ เพราะหน้าที่ของเราคือต้องเป็นสะพานให้ฝ่ายต่างๆ เช่น นักเรียนเรียกร้องอยากให้ปฏิรูปการศึกษา คนไม่อยากเกณฑ์ทหาร เพราะไม่อยากให้มีทหารรับใช้บ้านนายพล ต้องแตกประเด็นเหล่านี้ออกมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้และนำไปแก้ไข”

ส่วน “ภัทราพร ตั๊นงาม” ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เริ่มทำข่าวม็อบมาตั้งแต่ปี 2549 เช่นกัน เธอย้ำเป้าหมายพื้นฐาน 2 ข้อในการทำหน้าที่ภาคสนามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ คือ “ม็อบทำอะไร” และ “ม็อบพูดอะไร” ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ภัทราพร ตั้นงาม

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

“การรายงานว่าม็อบทำอะไร อาจทำได้สะดวกกว่าม็อบพูดอะไร เพราะเราไม่สามารถไปรับรองได้ว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้อง หรือไม่เป็นความจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่มีการพาดพิงบุคคลอื่น อาจล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล หรือละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ดังนั้นการรายงานว่าม็อบพูดอะไร เป็นสิ่งที่ต้องกลั่นกรองอย่างเคร่งครัด”

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตทุกม็อบล้วนมีช่องทางการสื่อสารของตัวเองผ่านสถานีโทรทัศน์ แต่การชุมนุมในยุคปัจจุบันของ “ม็อบราษฎร” มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับกข่าวม็อบในยุคปัจจุบันก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องสำคัญในการทำงานเช่นกัน ดังนั้นการใช้เครื่องมือของสื่อต้องรู้เท่าทันสถานการณ์

“ภัทราพร” ย้ำว่า การนำเสนอข่าว โดยเฉพาะการรายงานผ่าน Facebook Live ต้องยึดหลัก นำเสนอให้เห็นสถานการณ์และบรรยากาศที่เป็นจริงให้ครบถ้วนที่สุด โดยไม่ล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลและละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกพาดพิง และต้องคำนึงถึงศรัทธาของสังคมและกฎหมายพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากการหาข้อมูลและทำความเข้าใจบริบททางการเมืองแล้ว “ภัทราพร” แนะนำหลักปฏิบัติสำหรับนักข่าวม็อบ ดังนี้

1.ต้องเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่เชิดชูและไม่ทับถมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะการใช้ภาษารายงานข่าวต้องรัดกุมบนหลักความเป็นกลาง

2.การรวมตัวเป็นม็อบมักมีปัจจัยด้านอารมณ์มาผสมกับปัจจัยด้านเหตุผลในระดับต่างๆ ดังนั้นนักข่าวม็อบการเมือง ต้องหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม ซึ่งรวมถึงแกนนำด้วย ในทุกกรณี  เช่นต้องระมัดระวังในการตั้งคำถาม อย่าให้ผู้ถูกถามเกิดความรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น หรือถูกจับผิด หรือควรหลีกเลี่ยงการรายงานจำนวนผู้ชุมนุม เป็นต้น

3.ต้องรายงานเฉพาะข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงการออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ 

4.ต้องยึดหลัก "ความถูกต้องสำคัญกว่าความเร็ว"

5.ต้องไม่รายงานสิ่งที่ไม่ประจักษ์ชัด หรือไม่มีหลักฐานชัด หรือที่ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลโดยบุคคลที่มีสถานะรับผิดชอบได้

6.ต้องระวังการรายงานข่าวที่อาจบิดเบือนโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์สกัดกั้นม็อบหรือสลายม็อบ เช่น การรายงานว่า "เจ้าหน้าที่กำลังตั้งแถวเพื่อรักษาความสงบ" หรือ  "เจ้าหน้าที่กำลังฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นไปตามหลักสากล" เป็นต้น

ขณะที่ “ภานุมาศ สงวนวงษ์” อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและช่างภาพ Thai News Pix เล่าถึงการถ่ายภาพการชุมนุมตั้งแต่ปี 2548

ภานุมาศ สงวนวงษ์

อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและช่างภาพ Thai News Pix

“ภานุมาศ” เล่าว่า การทำงานของช่างภาพข่าวภาคสนามจะรวมกันเป็นกลุ่ม คนที่มีประสบการณ์มากจะดูแลคนมีประสบการณ์น้อย แม้ว่าจะอยู่กันคนละค่าย แต่ในภาคสนามทุกคนจะช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันทุกคนก็จะต้องเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานในการดูแลในการลงพื้นที่ไปด้วย

“ปี 2553 การชุมนุม นปช.เป็นครั้งแรกที่ผมต้องใช้เสื้อเกราะ กับหมวกกันกระสุน ไม่นับรวมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในมุมของช่างภาพเท่ากับว่าคุณต้องแบกอุปกรณ์ไปเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า การเคลื่อนที่ของคุณก็จะช้าลงด้วย จึงต้องมีการประเมินสถานการณ์ และทำการบ้านก่อนลงพื้นทุกครั้ง”

พัฒนาการของสื่อ ตั้งแต่การชุมนุม “คนเสื้อเหลือง” จนถึงปัจจุบัน “ภานุมาศ” มองว่า แต่ละสื่อเริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองค่อนข้างสูง ซึ่งรวมถึงผู้ชุมนุมเองด้วยเช่นกัน

“ทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ทุกคนมีบทเรียนจากการชุมนุมที่เสียเลือดเนื้อมาพอสมควร เราจึงเห็นสถานการณ์ปัจจุบันว่าต่างฝ่ายต่างใช้ความรัดระวังมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ต้องระวังด้วย”

ความยากของการถ่ายภาพในสถานการณ์การชุมนุม นอกจากเรื่องความปลอดภัยของตนเองแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือการระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้อื่น ทั้งอายุของผู้ชุมนุม รวมถึงประเด็นข้อเรียกร้องที่มีความอ่อนไหวเพิ่มมากขึ้น

“ภานุมาศ” ย้ำว่าในฐานะช่างภาพ ยังต้องทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ให้กับสังคม แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ เพื่อไม่ให้กระทบทั้งกฎหมายและจริยธรรม อาทิ อย่าถ่ายติดหน้าเด็กนักเรียน หรือระวังข้อความที่อยู่ในป้ายต่างๆ ที่มีลักษณะหมิ่นประมาทตัวบุคคล

ทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าที่ถูกถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 15 ปีที่มีต่อ “ม็อบการเมือง” ด้วยความคาดหวังว่า สื่อมวลชนยังคงทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม