บทบาทสื่ออเมริกาความหวังถึงสื่อไทย ไม่เล่นข่าวปิงปอง – ตรวจสอบ fake news การเมือง

หลังจากสู้กันยืดเยื้อในที่สุด โจ ไบเดน ก็ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ หลังคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐประกาศรับรองให้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทว่า สิ่งที่ได้เห็นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คือ บทบาทสื่ออเมริกาที่โดดเด่นในการตรวจสอบคำปราศรัยหาเสียงหรือข้อกล่าวหาจากฝั่ง โดนัล ทรัมป์ ที่มาตลอด จนเกิดปรากฏการณ์ที่กล่าวขานเมื่อสื่อยักษ์ใหญ่อเมริกาหยุดถ่ายทอดสดการแถลงข่าวของทรัมป์ หลังกล่าวหาลอยๆว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง กรณีนี้เป็นเรื่องน่าสนใจที่สื่อไทยอาจนำปรับใช้ในการตรวจสอบข่าวความขัดแย้งทางการเมืองที่เต็มไปด้วยข้อมูลสาดโคลนป้ายสีจากแต่ละฝ่ายไม่น้อย

จุลสารราชดำเนินออนไลน์ พูดคุยกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เธอบอกว่า   หากจะให้สื่อไทยทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมที่นักการเมืองพูดก็คงทำแบบอเมริกาไม่ได้  แต่สิ่งที่สื่อควรทำให้เหมือนอเมริกาคือ ถ้าสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำประเทศพูดแล้วมีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรง สื่อสามารถ fact check และโต้แย้งให้ข้อมูลได้ ถ้าทำได้จะเป็นความดีงาม ซึ่งสื่อทั่วไปควรจะทำไม่ใช่ให้สื่อที่อยู่คนละข้างกับรัฐบาลคอยตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม การที่สื่อจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีปัจจัย คือ ข้อมูลต้องมีพร้อม แต่วันนี้สื่อไทยยังเข้าไม่ถึงข้อมูลทั่วไปเหมือนในอเมริกาที่สามารถค้นในอินเตอร์เน็ตได้ เราต้องมาทำระบบ open data ให้มากขึ้น รวมถึง นายทุน เจ้าของสื่อ  ต้องกล้าลงทุนให้เหมือนในอเมริกา เพราะสื่อไทยต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อาจไม่มีเวลาไปหาข่าวเจาะ ค้นข้อมูลโต้แย้ง

“สื่อไทยจะรวมตัวกันหยุดถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ไหม ถามง่ายๆ ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมาแล้ว สื่อไทยจะรวมกันไม่รายงานได้หรือไม่ ก็น่าจะยาก โดยเฉพาะสื่อทีวีเป็นเรื่องยากมาก เพราะกสทช.เขียนไว้ชัด ถ้ารัฐร้องขอในกรณีฉุกเฉิน สื่อก็ต้องทำตาม แต่ว่า ฉุกเฉินจริงหรือไม่ ก็ยังไม่รู้ เพราะกฎหมายเรายังต่างจากอเมริกาคือ รัฐธรรมนูญในอเมริการะบุว่า ห้ามรัฐออกกฎหมายอะไรมาบังคับสื่อ แต่รัฐธรรมนูญไทย เขียนว่า สื่อมีเสรีภาพ แต่ไม่ได้ห้าม รัฐไปจำกัดเป็นข้อยกเว้นได้  

สุภิญญา กล่าวว่า  ในบ้านเรายังไม่มีกลุ่มที่ทำเรื่องตรวจสอบข่าวปลอมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ  มีแต่สื่อที่เป็นขั้วที่สลับกันตรวจสอบกันเอง  ขณะที่ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีกันหมดแล้ว 

“ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ควรเป็นหน้าที่สื่อหลักที่จะต้องตรวจสอบ   เราอาจจะห้ามนายกฯ หรือ รัฐมนตรี พูดไม่ได้ แต่เมื่อเขาพูดแล้ว เราสามารถตรวจสอบว่า สิ่งที่เขาพูด จริงหรือไม่ ก็จะเป็นประโยชน์กับคนอ่านมาก ดีกว่ามารายงานปิงปองใครโต้กับใคร ถ้าต่อไปใครพูดอะไรแล้วสื่อตรวจสอบ พูดจริงหรือไม่ กี่เปอร์เซ็นต์ก็เป็นประโยชน์ เพราะการจะทำได้สื่อก็ต้องทำการบ้านค้นหลักฐานมารองรับด้วย”

กลับไปที่การใช้เฟคนิวส์ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐ สุภิญญา  ฉายภาพว่า ทรัมป์ใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก  โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ทรัมป์เป็นคนสร้างวาทกรรม เฟคนิวส์มาด้วยตัวเอง และว่า นักข่าวที่วิจารณ์เขาว่าเป็นเฟคนิวส์ จนช่วงแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง  เริ่มเห็นปรากฏการณ์ของสื่อหลายสำนักที่มีการ fact check  แบบเรียลไทม์ เช่น  ไบเดน ทรัมป์ พูดว่าอย่างไร ไม่นานสื่อก็จะตรวจสอบแล้วว่า พูดจริงหรือไม่  ในการตรวจสอบของสื่อ จะมีตัวเลขมารองรับด้วย

“อันนี้เป็นความพิเศษของสื่ออเมริกาซึ่งทำยาก แต่เขามีข้อมูลเปิดจากสถิติต่างๆ พอนักการเมืองพูดผิดก็จะ fact check ทันทีเพราะนักข่าวของอเมริกาเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ได้รวดเร็ว เพราะที่นั่นกฎหมายบังคับว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะจึงเข้าถึงในรูปแบบดิจิตัลไฟล์ไม่เหมือนประเทศไทยต้องไปถ่ายเอกสาร หรือหาในเว็บไม่เจอ หรือ ต้องโทรไปสัมภาษณ์ ขอข้อมูล”

สุภิญญา กล่าวว่า แม้แต่บทบาทของทวิตเตอร์ และ เฟสบุ๊ค ก็มีส่วนสำคัญในการสกัดข้อมูลข่าวปลอมช่วงเลือกตั้ง ที่ค่อนข้างชัดและฮือฮา คือ ช่วงที่ทรัมป์ออกมาพูดว่า เขาชนะการเลือกตั้งแล้ว ทวิตเตอร์ถึงขั้นปิดข้อความไม่ให้เห็น แต่ไม่ถึงกับลบ ต้องไปกดข้อความถึงจะเห็น และเขามีหมายเหตุว่า นั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง  ขณะที่ทวิตเตอร์เองก็จริงจังมากในการตรวจสอบข้อมูลที่ทรัมป์พูดว่า จริงหรือไม่จริง  ส่วนเฟสบุ๊คช่วงแรกๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่ช่วงหลังก็มีออกมาเตือน

สุภิญญา ย้ำว่า ในช่วงหาเสียงทรัมป์สร้างปรากฎการณ์หลายอย่าง กระทั่งเรื่องโควิดก็พูดข้อมูลผิดให้คนไปกินยาอะไรบางอย่างซึ่งเป็นอันตราย ซึ่งมันสุดโต่งมาก หลักเสรีภาพของอเมริกาจึงเอาไม่อยู่ เพราะสิ่งที่ทรัมป์พูดมันเลยเถิดไปหมด  ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติและความอลหม่าน จึงมีเหตุผลที่สื่อ และเอ็นจีโอในอเมริกา ออกมาเรียกร้องว่า จะต้องอะไรสักอย่างเพื่อให้เสียงของทรัมป์ไม่แพร่กระจายวงกว้างมากเกินไป หรือ อาจต้องมีการแก้ไขให้ทันท่วงที ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวและต้องมาทำ fact check กันมาก

ในมุมกลับการที่ทีวีหยุดถ่ายทอดสดทรัมป์แถลง เป็นการละเมิดเสรีภาพของทรัมป์ไหม?....สุภิญญา ตอบว่า เราอาจต้องมองว่า เป็นเสรีภาพของใคร ถ้าเป็นเสรีภาพฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐก็ต้องพิจารณาให้มาก เหมือนอย่างกรณีโฮเทล รูวันดา แล้วพูดออกอากาศ ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ออกมาฆ่ากัน หรือ กรณี 6 ตุลา 2519 ถ้าพูดแบบนั้นแล้วทำให้สังคมเกิดความโกลาหล  จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของบรรณาธิการ ที่จะตัดสินใจไม่นำเสนอได้  ส่วนที่ว่า อะไรคือ จุดแบ่ง สำหรับสื่ออเมริกา  เขาไม่มีใครมาบังคับ ถ้าเป็นการตัดสินใจของบรรณาธิการเองก็ว่าไม่ได้ เพราะเขาคิดว่า ถ้าปล่อยไปแล้วกระทบกับสังคมมากกว่า เขาเลือกไม่เอาออกอากาศ

“ปรากฏการณ์ของทรัมป์  แม้แต่คนที่เคยปกป้องเสรีภาพอินเตอร์เน็ต เขายังรู้สึกว่า จะต้องมีการอะไรบางอย่าง แต่เขาก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องไม่ให้ทรัมป์ได้พูด เช่น อาจต้องมีการขึ้นเตือน หรือ บอกว่า อันนี้เป็นเรื่องไม่จริง”

สุภิญญา สรุปว่า สื่ออเมริกาถ้าคงเส้นคงวา ใครเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องสามารถวิจารณ์ได้เหมือนเดิม ไบเดนมาเป็นประธานาธิบดี ก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้นำที่อำนาจนิยม  ข่มขู่ประชาชน ย่อมเป็นเรื่องที่สื่อต้องกลั่นกรอง เพราะถ้าปล่อยให้ออกสู่สาธารณะตลอดไป มันจะมีผลกระทบได้เหมือนกัน

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะอนุกรรมการกิจการระหว่างประเทศ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เห็นสื่ออเมริกาไม่ได้อ้างความเห็นของบรรดาคนที่เป็นนักวิเคราะห์มาประเมินการเลือกตั้ง  ทุกอย่างอาศัยข้อมูล การนับคะแนนที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เวลาสื่อรายงานทางทีวีก็จะไม่ใส่ความเห็น เป็นการทำหน้าที่ที่ดีมาก อะไรที่เห็นเป็นการใส่ร้าย หรือ เฟคนิวส์ หรือ การโกงเลือกตั้งที่ไม่มีข้อมูลมายืนยัน เขาจะตัดเนื้อหาการแถลงออก

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เห็นสื่อทีวียักษ์ใหญ่ ABC, CBS และ NBC หยุดถ่ายทอดสด ขณะที่ทรัมป์แถลงว่า ถูกโกงเลือกตั้ง สื่อตัดคำพูดทรัมป์ออกทันทีแล้วขึ้นโพสต์ว่า คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีหลักฐานมายืนยัน เขาไม่เกรงใจว่า ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาตัดคำพูดพวกนี้ออกหมดซึ่งไม่เคยปรากฏอย่างที่เห็นมาก่อน ระหว่างรายงานข่าว สื่อจะตอกย้ำผลการการนับคะแนนโดยไม่ใส่ความเห็น  บทบาทนี้สามารถเรียกศรัทธาสื่อขึ้นมาได้ และเมื่อฝั่งทรัมป์กล่าวหาว่า  มีการสวมสิทธิ์คนตายลงคะแนนเลือกตั้งให้ไบเดน  CNN  ส่งนักข่าวไปตรวจสอบเลยว่า มีการสวมสิทธิ์จริงหรือไม่  สุดท้ายพบว่าไม่จริง  หรือ กรณีอิริค ทรัมป์ ลูกชายทรัมป์เผยแพร่วิดีโอเท็จที่บอกว่า มีการเผาบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงให้ทรัมป์ มีการออกภาพและรีทวิตเป็นหมื่น  เมื่อตรวจเช็คโดยเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งพบว่า เป็นบัตรปลอม ตัวของโซเชียลมีเดียก็ตัดไม่ให้มีการรีทวิตคลิปนี้

นอกจากนี้ มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้รับคำสั่งให้ทำลายบัตรเลือกตั้งที่เป็นของทรัมป์  เมื่อสืบไปมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ คนนั้นก็ยอมรับว่าโกหก จะเห็นว่า สื่อทำหน้าที่หลัก คือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นปราการด่านหน้าในการสกัดข่าวปลอม ข้อกล่าวหาทางการเมือง

บุญรัตน์ บอกด้วยว่า  การทำหน้าที่ของสื่อเมริกาครั้งนี้เรียกได้ว่า ยกระดับและเรียกศรัทธากลับคืนมาได้มาก  แม้กระทั่ง Fox News  4 ปีที่ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งจะชมช่องนี้มาก ครั้งหนึ่งผู้ดำเนินรายการเชิญโฆษกทำเนียบขาว เลขานุการสื่อมา แต่มาโกหกกลางทีวีว่า โดนโกงเลือกตั้ง เขาก็กล้าตัดออกเลย ถือว่า กล้าทำหน้าที่ไม่เหมือนกับสื่อไทยที่เราจะเห็นว่า ไปสัมภาษณ์นักการเมืองโดยที่ยังโกหกและก็ยังเอาคำโกหกนั้นมาลง ไม่กล้าที่จะตัดคำพวกนั้นออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้คำโกหกนั้นแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น  

“สื่อต้องมีความรับผิดชอบ สมัยก่อนเรายังรู้ว่าอะไรที่เป็นเท็จจะไม่นำเสนอ แต่สมัยนี้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเท็จก็ยังไปจ่อปากแล้วถามคนอื่นอีก ทำให้ถ้อยคำที่เป็นเท็จบานปลายออกไป เสรีภาพของคุณไม่ใช่จะพูดอะไรก็ได้  สิ่งสำคัญ ต้องไม่โกหก ใส่ร้ายป้ายสี ละเมิดใคร ถือว่าผิดกฎหมาย แต่สื่ออเมริกาเขาใช้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และตอนนี้เขาไม่อ้างความเห็นนักวิจารณ์ เขาบอกว่า ผลการนับคะแนน  ขนาดนี้ คือ เขาใช้ความจริง ความรู้”

บุญรัตน์สรุปว่า กรณีนี้ไม่ควรเฉพาะเกิดกับสื่ออเมริกา แต่ควรเป็นหน้าที่สื่อทั่วโลก ที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการเร่งนำเสนอข่าว ซึ่งหลายครั้งพบว่า เป็นข่าวเท็จ บิดเบือน อีกทั้ง ระยะหลังเราให้ความสำคัญกับข่าวโซเชียลมีเดียมาก  หลายข่าวไม่ครบถ้วน มีการบิดเบือน ฉะนั้นสื่อกลับมาทำหน้าที่เดิม คือ ตรวจสอบความจริง สร้างความเชื่อถือขึ้นมาใหม่ ไม่ให้สังคมถูกปกคลุมไปด้วยเฟคนิวส์

บุญรัตน์ กล่าวว่า ช่วงหลังสื่อไทยจำนวนไม่น้อยสอนให้คิดแต่เรื่องกำไรผลตอบแทน  การจะฟื้นศรัทธากลับมาต้องใช้ต้นทุนสูงมาก  การดึงนักข่าวที่มีประสบการณ์ หรือ อาวุโส ต้องทำให้เป็นประโยชน์  แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ดังนั้น อยู่ที่เจ้าของสื่อจะกล้าลงทุนหรือไม่