เส้นทางสายปฎิรูปอนาคตสื่อมวลชนไทยบนทางหลายแพร่ง

เส้นทางสายปฎิรูปอนาคตสื่อมวลชนไทยบนทางหลายแพร่ง

 

จากข้อเสนอล่าสุดของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีถึงประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะเห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐยังคงมีความต้องการที่จะให้มีกลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม และภายหลังการการสิ้นสุดลงของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ

แม้ข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอันประกอบไปด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะสามารถบรรลุเจตนารมณ์ที่ไม่ให้มีการบรรจุข้อความกำหนดให้มีองค์กรตามกฎหมายขึ้นมากำกับควบคุมดูแลสื่อมวลชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างไปจากฉบับของนายบวรศักดิ์ที่ทำให้ผลของรัฐธรรมนูญมีสภาพบังคับให้รัฐต้องออกกฎหมายลูกตามมา

 

แต่ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจะยังไม่ระบุข้อความดังกล่าวไว้ แต่กลไกของรัฐก็ยังคงสามารถตรากฎหมายขึ้นมากำกับดูแลได้อยู่เช่นเดิม เพราะทั้งสัญญาณที่เคยส่งผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติในอดีตและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในปัจจุบันมีความแจ่มชัดมาเป็นลำดับ

 

ยิ่งเมื่อเห็นข้อเสนอที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่งถึงประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 จำนวน 5 ข้อ แนวคิดของรัฐที่มีต่อสื่อมวลชน ก็ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้น เพราะเป็นข้อเสนอที่ต้องการให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วย

1.กำหนดให้มีบทบัญญัติในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยวิธีการใดๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและการดูหมิ่นเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ

 

2.เสรีภาพของสื่อมวลชนย่อมดำเนินได้ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ยกเว้นกรณีที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ หรือกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล หรือก่อให้เกิดความเสื่อมถอยทางศีลธรรม จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองและมีบทลงโทษ

 

3.ผู้ประกอบกิจการหรือเจ้าของสื่อมวลชนประเภทใดก็ตามต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยและต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

4.กำหนดให้มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต

 

และ 5.ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ที่เป็นทรัพยากรของชาติ โดยมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแล ติดตามการใช้งบประมาณ โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงแห่งรัฐและประโยชน์ที่เกิดต่อสาธารณะตลอดจนมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาด้านสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมของชาติ

 

จากข้อเสนอดังกล่าวทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและความต้องการของฝ่ายรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันแพ็กเกจกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีกระทบต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสี่อสารมวลชนที่ใช้คลื่นความถี่

 

เป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อมวลชนที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงบนทางหลายแพร่ง ที่แม้แต่พวกเรากันเองก็มีความเห็นต่าง

 

เพราะคุมกันเอง ไร้ประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมี สภาวิชาชีพสื่อฯแห่งชาติ”

 

…… ขณะที่แผนปฏิรูปสื่อมวลชน  ภายใต้ชุดทำงาน “กรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” แม้ตัวคนทำงานจะหมดวาระไปพร้อมกับองค์กร แต่แผนงานปฏิรูปที่ถูกผลักดันออกมาสู่สังคม เป็นที่รับรู้กันใน 3 แผนปฏิบัติการ คือ 1.การปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ 2.การปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และ 3.การปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ โดยสาระสำคัญอยู่ที่ข้อเสนอให้จัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำกับกันเองที่ครอบคลุมสื่อทั้งหมดให้เป็นอิสระจากรัฐและทุน แทนกลไกที่สื่อมวลชนกำกับกันเองภายใต้สภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ ที่ไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมให้อยู่ในกรอบจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ.....

 

คำถามก็คือ..จำเป็นแค่ไหนที่วิชาชีพสื่อจะมี “ยักษ์” ตัวใหญ่มาถูกกระบอกคอยกำกับ หรือจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกฎหมายที่เป็นยาแรง มากำกับจริยธรรม คนข่าว แทนการกำกับกันเองของตัวแทนวิชาชีพ .....

 

คำตอบของคำถามนั้น  “บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.” ให้ความกระจ่างถึงแนวคิดว่า ตลอด 11 เดือนที่ กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ  ศึกษาและวิเคราะห์ จนออกมาเป็นข้อเสนอต่อแนวทางปฏิรูป คือ ต้องการส่งเสริมจริยธรรมและยกมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงให้อยู่ในระดับเดียวกัน ขณะเดียวกันหลักประกันของความมีเสรีภาพยังต้องมีอยู่ ขณะที่ภายใต้ธุรกิจสื่อฯ ที่เปรียบได้เป็นอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนที่เติบโต ต้องเปลี่ยนไปสู่การแข่งขันที่เสรีเป็นธรรมไม่ใช่การผูกขาด.....

 

“ประเด็นต้นเรื่องคือไทยอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นเผด็จการและคุกคามเสรีภาพสื่อฯ วงการสื่อฯ ได้หวาดกลัวที่จะมีกฎหมายมากำกับ จึงสมัครใจและลงสัตยาบรรณที่จะกำกับกันเอง แต่เมื่อได้ทดลองแล้วว่าการกำกับกันเอง โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่สามารถจัดการข้อแย้งได้ จนมีปรากฏการณ์ถอนตัวออกจากการกำกับกันเอง ขณะเดียวกันช่วงวิกฤตการเมือง สื่อฯ กลับร่วมขบวนความขัดแย้ง เลิกจับปากกา ไปจับไมโครโฟน ไม่อยู่สำนักงาน ไปอยู่บนถนน โดยองค์กรวิชาชีพที่ตั้งใจกำกับกันเองไม่สามารถชี้ได้ว่า นี่ผิดจริยธรรมหรือไม่”.....

 

ฐานะ นักปฏิรูปสื่อฯ และอดีตคนในวิชาชีพสื่อมวลชน  “บุญเลิศ” สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่นำไปสู่ทิศทางปฏิรูปสื่อมวลชน ด้วยข้อกำหนดให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ว่า เพราะผลพวงทางธุรกิจ ทำให้เครือข่ายวิชาชีพยอมหักหลัง ละทิ้งหลักการที่เป็นกติการ่วมกัน ทำให้ความเป็นเอกภาพ และประสิทธิภาพของการกำกับกันเองลดลง.....

 

“ความเป็นเอกภาพ คือ ความเป็นหนึ่งเดียว เป็นหลักการที่เรายอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อผู้บริหารของสื่อแต่ละองค์กรลงสัตยาบรรณไว้ ต่อมากาลเวลาเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ย สื่อมีตัวเล็ก ตัวน้อย ก็อยู่ลำบาก ไม่เคยจัดระบบ ขณะที่การทำงานเมื่อมีความผิดพลาดกลับปล่อยและไม่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ไม่ตระหนักถึงความล้มเหลว และไม่คิดจะเริ่มต้นคุยกันเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

 

..... ทำให้แนวคิด “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ถูกตั้งบนสมมติฐานที่ว่าวงการวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีบทบาทผดุงสังคม   “บุญเลิศ” ตีแผ่รายละเอียดว่า สภาวิชาชีพสื่อฯแห่งชาติ ต้องเป็นองค์กรที่มีหน้าที่แบบครบวงจร คือ กำกับจริยธรรม, ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ, คุ้มครองสวัสดิการ, วางหลักเรื่องสวัสดิภาพ ส่วนกรรมการสภาฯ ต้องคัดสรรเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมอย่างแท้จริง ขณะที่ขอบเขตการกำกับ และดูแลองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย ซึ่ง ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อมวลชน-นักวิชาชีพร่วมยกร่าง มาแล้ว 1 ฉบับ คือ“ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งร่างกฎหมายนี้ถูกส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเสนอเข้ากระบวนการตรากฎหมายแล้ว.....

 

“เมื่อมีคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของสภาวิชาชีพเกิดขึ้น ต้องจัดให้มีสภาวิชาชีพในระดับท้องถิ่น เช่น ระดับภาค หรือระดับจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงงานสู่บอร์ดใหญ่ในสภาวิชาชีพฯ โดยมีหน้าที่ สำคัญ คือ ทำสาระบบสื่อมวลชน ให้รู้ว่าเป็นใคร รวมถึงแผนรายปีต่อการพัฒนาบุคลการ การอบรวมที่เชื่อมโยงงานวิชาการ เสนอให้สภาวิชาชีพฯ พิจารณา ขณะเดียวกันบริษัทที่ทำสื่อต้องดูแลพนักงานของตนเอง   เพราะกรรมการจะไม่ไปก้าวก่ายงานภายในหรือเรื่องส่วนบุคคล”บุญเลิศขยายความ......

 

“บุญเลิศ” ขยายความประเด็นสิ่งที่มุ่งหวังต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คือ การกำกับจริยธรรมที่ครอบคลุมถึงชีวิตความเป็นอยู่ การสร้างขวัญกำลังใจ ขณะที่บทบาทต่อการดูแลเนื้อหา เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อ เนื่องจากขณะนี้มีหน่วยงานรัฐ คือ “กสทช.”มีหน้าที่ดูแลเนื้อหาตามกฎหมาย  หากสภาวิชาชีพฯ จะดูแลต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างไร เช่น ร้องเรียนผ่านสภาวิชาชีพฯ ระดับจังหวัด หากไม่พอใจสามารถอุทธรร์มายังระดับภาค เป็นต้น.....

 

ขณะที่บทบาท “สภาวิชาชีพฯ” ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นด่านหน้าชนกับผู้มีอำนาจ เมื่อถึงสถานการณ์คับขัน “บุญเลิศ” บอกได้ว่า ต้องประสานงานภาครัฐ ให้ร่วมกันเป็นกิจลักษณะมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในบทบาทพิพาทกับภาครัฐ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

มุมมองต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

“ผมไม่เชื่อว่าการมีกฎหมายตั้งองค์กรวิชาชีพกลางมาครอบจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ และจะยุ่งถึงขนาดมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีการชี้นำ ทำให้การกำกับดูแลกันเองผิดเพี้ยนไป”

 

ที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้

เดิมทีร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพูดถึงมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 ซึ่ง มีบทบัญญัตติถึงผู้ประกอบวิชาชีพ ย่อมได้รับการคุ้มครองในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพในที่นี้หมายถึงทั้งเอกชนและสื่อของรัฐ โดยแรกเริ่มก็มุ่งเน้นคุ้มครองสื่อในภาครัฐมากกว่า เพราะจะมีปัญหาเกี่ยวกับคนทำสื่อในภาครัฐที่ถูกย้ายถูกปลดหากทำหน้าที่ไม่ ถูกใจใครเข้า แต่หลักคิดนี้จะทำเฉพาะภาครัฐอย่างเดียวก็ไม่ได้ เมื่อเขียนแล้วก็ให้ครอบคลุมไปทั้งหมดเลย จึงพูดกันมานานแล้วว่ามีความจำเป็นและควรมีกฎหมายประกอบออกมาเพื่อขยายความ ตรงนี้ให้มีความชัดเจน

 

แต่ล่าสุดในการพิจารณาเมื่อสมัย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็มีเสียงคัดค้านพอสมควร

ในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไป ก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสื่อ คล้ายกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 แต่ถือว่าไปไกลมาก เพราะมีการเขียนเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อที่จะกำกับกันเอง ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่าการจะให้มีองค์กรดูแลสื่อ โดยมีกฎหมายรองรับ ไม่เคยมีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาทำกัน เพราะการมีองค์กรขึ้นมาโดยมีกฎหมายรองรับ ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งก็เป็นอำนาจทางปกครองหรืออาญาก็เป็นอำนาจรัฐ ประเด็นคือ เมื่อมีการใช้อำนาจรัฐ ใครจะเป็นคนเข้ามาใช้ ซึ่งจะมีปัญหาแน่ ตั้งแต่ กระบวนการสรรหาผู้เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรที่ว่า ก็ย่อมมีการวิ่งเต้น ที่สำคัยเมื่อเรากลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย มีพรรคการเมือง โอกาสที่จะถูกแทรกแซงมีสูง ส่วนตัวก็เห็นว่า เราต้องยืนยันหลักการในการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการกำกับดูแลกันเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เฉพาะในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น เพราะสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการกำกับดูแลที่ต้องทำร่วมกับ กสทช.อยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของสื่อออนไลน์ก็กำกับดูแลทางกฎหมายเป็นหลัก ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดูแล ส่วนการกำกับทางจริยธรรมก็มีสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็ต้องกำกับดูแลกันเอง และสมาชิกบางส่วนก็เป็นสมาชิกสภาฯ ซึ่งสามารถกำกับดูแลกันได้อยู่แล้ว

 

แบบนี้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังมีความจำเป็นอยู่ไหม

ต้อง ยอมรับว่าสาเหตุที่เป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือสื่อกำกับดูแลกันเองไม่ได้ อย่างสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อไม่พอใจก็ลาออก ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันว่าจะมีหลักประกันอะไรให้สังคมมองว่าคุณกำกับ ดูแลกันได้ ในส่วนของวิทยุโทรทัศน์วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะ กสทช.ยังไม่มีการประกาศเรื่องการรวมกลุ่มขององค์วิชาชีพ ทั้งนี้เบื้องต้นควรสนับสนุนให้สื่อแต่ละแห่งเริ่มดูแลทางจริยธรรมกันเองภาย ในองค์กรก่อน เริ่มจาก

1.กำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมในองค์กร เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ก็ดำเนินการภายในเสียก่อน แต่ต้องกำหนดด้วยว่า คณะกรรมการที่ว่าต้องมีสัดส่วนของคนนอกไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เป็นต้น หากจัดการตรงนั้นไม่ได้ จึงค่อยมาที่สภาวิชาชีพ

2.ต้องปรับปรุงเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนให้เร็วขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีคนร้องมาต้องดำเนินการเสร็จและมีคำตอบภายในกี่วัน หรือต้องแจ้งความคืบหน้าอย่างไร

และ 3.ต้องสร้างหลักประกันร่วมกันในสมาชิกว่า ต้องอยู่ในการเป็นสมาชิกโดยลาออกไม่ได้ภายในกี่ปี หากจะลาออกต้องเสียค่าปรับ เป็นต้น

 

ในฐานะประธานสภาการฯก็มีหน้าที่ต้องเร่งผลักดันทั้ง 3 ข้อเสนอ

ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและอาจต้องมีการปรับปรุงข้อบังคับจริยธรรมบางข้อที่ไม่ชัดเจนของสภาการฯเองด้วย เช่น การเสนอภาพข่าวที่อุจาด หรือทำให้หวาดเสียว ต้องมีแนวปฏิบัติมาเพิ่มเติม ว่าแบบไหนเรียกว่าอุจาด แบบไหนเรียกว่าหวาดเสียว เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้น ฝ่ายสื่อเองต้องเข้มงวดกันมากขึ้น แสดงให้สังคมเห็นว่า เราพยายามในการกำกับกันเองมากขึ้น แต่ต้องแยกกันให้ชัดว่าอะไรเป็นปัญหาจากสื่อกระแสหลัก อะไรเป็นปัญหาจากโซเชี่ยลมีเดีย เพราะวันนี้ทุกคนแยกกันไม่ออก

 

ถ้ามีกฎหมายสิทธิเสรีภาพสื่อขึ้นมาจริงๆ จะครอบคลุมปัญหาต่างๆของสื่อได้ทั้งหมดไหม

ผมไม่เชื่อในเรื่องการที่มีกฎหมาย เพราะจะวุ่นวายตั้งแต่การสรรหาตัวบุคคล และจะยุ่งถึงขนาดมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีการชี้นำ ทำให้การกำกับดูแลกันเองผิดเพี้ยนไป และเชื่อว่าจะทำอะไรไม่ได้ จะเป็นการสร้างความวุ่นวาย สร้างปัญหาให้กับการทำหน้าที่ของสื่อมากกว่า เพราะในระบอบประชาธิปไตยต้องมีสื่อที่เป็นอิสระ ภายใต้บรรยากาศปราศจากความหวาดกลัว ต้องไม่มีอะไรที่เป็นกฎหมายที่มาจำกัดการทำหน้าที่ จนเกิดความลังเลว่า หากทำแบบนี้ไปแล้วจะถูกฟ้องถูกปรับหรือไม่ ดังนั้น ไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยประการทั้งปวง

 

ร่างกฎหมายฉบับของ สปช.ถือว่าตกไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถือว่าจบไปแล้วหรือไม่ หรือเราจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป

เราได้แสดงเจตจำนงกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า เราไม่ต้องการให้มีบทบัญญัติที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ และหากมีโอกาสได้พูดคุยกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เราคงเสนอไปว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯเดิมที่เสนอโดย สปช. นั้นเป็นร่างที่เราคิดว่าไม่มีความจำเป็น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนมาเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนตรงนี้

 

จุดยืนตอนนี้เราเสนอให้ทิ้งไปเลย หรือสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

ณ ตอนนี้ ต้องให้ทิ้งไปเลย เพราะหลักการเปลี่ยนไปแล้ว จากที่คิดว่าคุ้มครองคนทำงาน กลายมาเป็นการควบคุมสื่อมากกว่า เจตนารมณ์มันผิดไปแล้ว