จบข่าว เจษฎา ถึง #sharecarefully
โลกออนไลน์ เดินหน้ากำจัด “จุดอ่อน”
แยก “เรื่องลวง” ออกจาก “เรื่องจริง”
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
พัฒนาการรับ-ส่งข่าวสารในโลกเสมือนของไทยในปี 2558 ดูเหมือนจะเป็นปีที่คนในสังคมออนไลน์หันมาทบทวนตัวเอง หลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดมายาวนาน (ด้วยความเชื่อที่ว่า“ใครๆ ก็เป็นสื่อได้”) กระทั่งหลายคนทำนายว่า จะเข้ามา “แทนที่” สื่อดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ในไม่ช้า
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ยิ่งนานไป สื่อสมัยใหม่กลับแสดง “จุดอ่อน” ของตัวเองออกมาเรื่อยๆ จาก “จุดเด่น” ที่ตัวเองมีนั่นคือความรวดเร็ว ไร้อาณาเขต ไร้กาลเวลา ทำให้เผยแพร่ข่าวสารต่อกันได้กว้างไกลนำไปสู่การโหมแชร์ข้อมูลที่บางครั้งขาดการตรวจสอบ จนกลายเป็นการ “แพร่ข่าวลือ-กระพือข่าวเท็จ” โดยปริยาย
อย่างคำพูด “"Forgiveness is between them and God. It's my job to arrange the meeting." (การให้อภัยกับผู้ก่อการร้ายเป็นหน้าที่ของพระเจ้า แต่หน้าที่ของผมคือส่งคนเหล่านั้นให้พระเจ้า) ที่อ้างว่าเป็นของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย หลังกลุ่มไอเอสก่อเหตุวินาศกรรมกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 13 พ.ย.2558 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย ซึ่งมีคนแชร์ล้นหลาม สุดท้ายกลายเป็นว่า “ไม่ใช่คำพูดของปูติน” แต่เกิดจากนักข่าวคนหนึ่งทวิตยกเมฆขึ้นมา
แน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถหมุนเข็นนาฬิกากลับ และยากที่สื่อดั้งเดิมจะมามีอิทธิพลได้ดังเดิม
เห็นได้จากยอดคนอ่านหนังสือพิมพ์และคนดูทีวีที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนผู้ใช้โซเชียลฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อมูลปี 2557 มีคนไทยใช้ไลน์ 33 ล้านบัญชี เฟซบุ๊ก 28 ล้านบัญชี ทวิตเตอร์ 4.5 ล้านบัญชี และอินสตาแกรมอีก 1.7 ล้านบัญชี
คำถามก็คือสื่อสมัยใหม่จะปรับตัวอย่างไร ให้ไม่กลายเป็นแค่โลกแฟนตาซี ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องลวงปะปนกันจนแยกไม่ออก ?
หนึ่งในการปรับตัวเพื่อลบจุดอ่อนตัวเองของสื่อสมัยใหม่ที่น่าสนใจ คือการเกิดขึ้นของเพจอย่าง “จบข่าว” ที่แม้ปัจจุบันจะมียอดไลค์อยู่ที่แค่กว่า 4 แสนไลค์ แต่การทำหน้าที่เป็นปฏิปักษ์กับเว็บไซต์ประเภท clickbait ที่พาดหัวลวงให้คนเสียเวลาคลิกเข้าไปอ่านข้อมูลที่แทบจะไร้ประโยชน์ (แถมบางครั้งเป็นข้อมูลเท็จ) ด้วยการแหวกวงล้อมถ้อยคำหวือหวาเกินจริงทั้งหลาย เช่น พลาดไม่ได้! รู้แล้วจะต้องอึ้ง! คุณจะไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น! ฯลฯ ไปสู่การสรุป “สาระ-ประเด็น” ของข่าวนั้นๆ สั้นๆ ไม่กี่บรรทัด
และแม้ปัจจุบันพวกเว็บ clickbait จะยังมีอยู่ แต่ผู้ใช้เน็ตก็เริ่ม “รู้ทัน” ลูกไม้เก่าๆ ของเว็บหากินกับความอยากรู้อยากเห็นของคนเหล่านี้ (อ่านต่อ “clickbait เรื่องปวดหัวของคนทำสื่อ”ได้ที่หน้า...)
อีกหนึ่งการปรับตัว คือการที่คนดังในโลกออนไลน์หันมาให้ข้อเท็จจริงอีกด้านที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกแชร์กระหน่ำ เช่นกรณีที่ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” แอดมินเพจ Drama-Addict พยายามให้ข้อมูลแก้ไขความเชื่อทางการแพทย์ผิดๆ ที่เผยแพร่กันทางทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไปจนถึงไลน์ เช่น กินมะนาวโซดารักษามะเร็ง เจาะเลือดปลายนิ้วรักษาอาการเส้นเลือดในสมองแตก เด็กจมน้ำให้ห้อยหัวลง ฯลฯ
หรือกรณี “อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะคอยแก้ข้อมูลที่แชร์กันผิดๆ ในโลกออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant อยู่เรื่อยๆ (อ.เจษฎา เป็นหนึ่งในผู้จับผิดคำพูดของปูตินข้างต้นด้วย) (อ่านเรื่องของ อ.เจษฎา ได้ที่หน้า..)
ไม่รวมถึงพฤติกรรมของตัว “ผู้ใช้เน็ต” เอง ที่หันมาตั้งคำถามกับข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์มากขึ้นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และหยุดคิด-พิจารณาก่อนที่จะแชร์หรือรีทวิต ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยกรณีนี้เห็นได้ชัดจากเหตุลอบวางระเบิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 ที่แม้จะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ ทว่าก็มีการท้วงติงกันเองผ่านแฮชแท็ก #เช็กก่อนแชร์ #sharecarefully ซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าแฮชแท็กให้กำลังใจอย่าง #prayforthailand
ในอีกด้าน สื่อดั้งเดิมก็เปิดพื้นที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ เช่น คอลัมน์ “คุณแชร์เราเช็ก” ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฯลฯ อันเป็นการนำข้อได้เปรียบของสื่ออาชีพที่เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบและเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายกว่า มาปรับใช้
ขณะที่แอดมินเพจชื่อดังต่างๆ ก็เริ่มหันมาร่วมมือกับหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ในการขยับประเด็นทางสังคมต่างๆ ผ่านการแพร่ข่าวสารให้กับลูกเพจที่มีจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน สิ่งเหล่านี้ คือเทรนด์ที่น่าสนใจ ในยามที่สื่อในโลกจริงและโลกเสมือนไม่ได้แข่งกันว่า “ใครจะอยู่-ใครจะไป” แต่ใช้ข้อดีของแต่ละฝ่ายเกื้อหนุนกัน และหาที่ทางที่ “อยู่ร่วมกันได้” โดยคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือตัวผู้รับข่าวสารเพราะไม่ต้องมาคอยปวดหัว (หรือปวดหัวน้อยลง?) กับความลวงที่ปะปนมากับความจริง
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
“เจษฎา เด่นดวงบริพัทธ์”
นักวิทย์ฯ ผู้ถล่ม myth บ้าบอ บนโลกออนไลน์
จุดคบไฟนำทางผู้ใช้เน็ต “คิดก่อนแชร์”
มิตรสหายท่านหนึ่ง (เป็นคำเรียกชื่อบุคคลๆ หนึ่งในโลกออนไลน์ที่ไม่ขอระบุนาม เกิดขึ้นจากเพจชื่อเดียวกันที่มีจุดเด่นคือการดึงโคว้ทที่น่าสนใจจากโลกโซเชียลมีเดียมาเผยแพร่ต่อ) เคยระบุว่า
“อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์นี่มีคุณูปการในการถล่ม Myth บ้าๆ บอๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตของคนไทยมากในระดับที่ไม่ควรจะให้รางวัลแล้ว แต่ควรจะให้ชื่อแกเป็นชื่อรางวัลเลย"
ชื่อของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โด่งดังมาจากการเปิดเผยข้อมูลในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิปราว 5-6 ปีก่อนว่า เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 ที่กองทัพบกซื้อมาใช้ตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ภาคใต้ ไม่น่าจะสามารถใช้งานได้จริง “GT200 ไม่ใช่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงการอุปทานหมู่ของผู้ใช้ คล้ายกับไม้ล้างป่าช้าที่ชี้หาศพไร้ญาติตามความเชื่อ ใช้พลังจิตหาเอา” ก่อนที่รัฐบาลขณะนั้นจะสั่งให้ยุติการซื้อ GT200 หลังตรวจสอบแล้วพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง แม้กองทัพบกโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ขณะนั้น จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า กองทัพบกจะยังใช้ GT200 ต่อไป ก็ตาม
หลังจากนั้น อ.เจษฎา ก็เดินหน้าใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบข้อมูลความเชื่อต่างๆ ที่มีการบอกต่อๆ กันมา โดยเฉพาะข้อมูลจากฟอร์เวิร์ดเมล์ แต่ช่องทางในการเผยแพร่ข้อค้นพบหลักในขณะนั้น หากไม่เป็นในเว็บไซต์พันทิป ก็เป็นการให้ข้อมูลตามงานสัมมนาหรือการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ กระทั่งเริ่มใช้เฟซบุ๊ก เมื่อปี 2556 ในชื่อ Jessada Denduangboripantทำให้ได้พบช่องทางสื่อสารกับสาธารณะ ที่มีพลังมากกว่าเดิม (ปัจจุบัน เขามีจำนวนผู้ติดตามราว 1.6 แสนคน)
และได้แสดงบทบาท “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communicator)” คอยอธิบายเรื่องเหลือเชื่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กในเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างเต็มที่ และอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งมีคำพูดกันในโลกโซเชียลฯ ว่า “ถ้าอยากรู้เรื่องนี้จริงหรือไม่จริงให้ลองถาม อ.เจษฎา” สื่อกระแสหลักหันมาใช้บริการอาจารย์จุฬาฯ รายนี้บ่อยครั้งขึ้น เมื่อต้องการคำอธิบายต่อปรากฎการณ์เหนือธรรมดาใดๆ ที่ชวนสงสัย
ดร.เจษฎาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เมื่อเดือนกันยายน 2558 ว่า เหตุที่ต้องมาทำบทบาทเช่นนี้ ไม่ใช่ความตั้งใจแต่แรก แต่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา
“สังคมไทยเป็นสังคมเชื่อตามกัน หรือสังคมที่ไม่ตั้งคำถาม แล้วมันก็โยงไปเรื่องรอบตัวต่าง ได้ อย่างเรื่องศาสนา เรื่องพื้นบ้าน ทำไมคนยังถูกหลอกอยู่เรื่อยๆ ให้ไปทำพิธีไสยศาสตร์ มันเป็นไปได้อย่างไรว่าคนยังเชื่อเรื่องพวกนี้อยู่ ก็กลับมาคำถามเดิม ทำไมคนไม่ตั้งคำถามกับชีวิต ทำไมยังเชื่อตามกัน แล้วมาปีหลังๆ ยิ่งเห็นภาพชัด มันกระเทือนไปไกลกว่านั้น เป็นเรื่องการเมือง การเมืองบ้านเราก็เป็นแบบเชื่อตามกัน เราศรัทธาคนนี้ คนนี้พูดอะไรก็ถูกหมด เราไม่คิดเลยว่าเขาจะมีทั้งจุดถูกและจุดผิด ทั้งสองฝ่าย หรือหลายๆ ฝ่ายก็ตาม ทุกคนเชื่อแต่ผู้นำของตัวเอง แล้วมองว่าฝั่งตรงข้ามผิดหมดเลย ซึ่งกระบวนการวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามทีละเรื่อง แยกแยะ คิดวิเคราะห์
“ตอนแรกผมก็แอนตี้สังคม ไม่เล่นเฟซบุ๊ก มันไม่ดีหรอก เล่นแล้วติด จนเพื่อนบอกว่าต้องเล่นนะ เอาไว้คุยงาน แค่ประมาณเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แป๊บเดียวก็รู้สึกได้ว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีพลังกว่าที่คิดมาก”
เขาว่า นอกจากโลกออนไลน์จะง่ายต่อการ “สร้างพลัง” ในการสื่อสาร-ชี้แจง-อธิบาย-ทำความเข้าใจ โลกออนไลน์ยังง่ายต่อการช่วย “หาข้อมูล” ด้วยว่า เรื่องที่เล่าลือกัน มีความจริงมากน้อยขนาดไหน
“บางทีเรื่องที่คนทั่วๆ ไปมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ บางทีมีรูปภาพแปลกๆ มีรอยพญานาค งูตกจากฟ้า ผมก็ตอบให้ พยายามหาคำตอบให้ ประเด็นที่ตามมา คนก็เริ่มสงสัยอาจารย์เป็นอะไร ทำอะไร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหนกันแน่ อะไรก็ตอบ เรื่องไหนถามมาก็ตอบ จริงๆ มันง่ายนะ คือ ข้อมูลในยุคเราตอนนี้ มันเป็นยุคที่สนุกมากเลยสำหรับข้อมูล ข้อมูลมันเต็มไปหมดในอินเทอร์เน็ต ในที่ต่างๆ เพียงแต่คุณหาข้อมูลเป็นหรือเปล่า หาแล้วคุณจะวิเคราะห์ได้ไหม”
เขากล่าวว่า หลังจากทำหน้าที่นี้มากว่า 2 ปี สังคมไทยเริ่มมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการเช็กข้อมูลก่อนแชร์ว่ามีความเป็นไปได้ไหม ผู้คนทั่วไปหรือนักข่าวก็ช่วยกันตรวจสอบ บางเรื่องที่วนกลับมาใหม่ ก็มีคนเอาข้อมูลที่ตนทำไว้แล้วไปแชร์ซ้ำเพื่อขจัดข้อสงสัย
ท้ายที่สุด อ.เจษฎาอยากให้ผู้คนในโลกออนไลน์รู้จักตั้ง “คำถาม” เมื่อพอข้อมูลใดๆ บนโลกออนไลน์“ให้เช็กก่อนแชร์ เวลารับเรื่องราวต่างๆ มาปุ๊บ ตั้งคำถามก่อนว่าจริงหรือเปล่า ถ้าตั้งคำถามแล้วเห็นอะไรผิดปกติเยอะ เช่น มันไม่มีที่มาชัดเจน มันอ้างเรื่องราวขึ้นมา แต่ว่าใครก็ไม่รู้ไม่มีชื่อคน ไม่มีแหล่งข่าว ไม่มีอ้างอิง ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแชร์ไป ถามผู้เชี่ยวชาญก่อน Google เองก็ยังได้ เอาคำต่างๆ เข้าไปใส่ ดูสิว่าคำๆ นี้ มันโผล่อะไรขึ้นมาบ้าง ถ้ามีรูปภาพ สั่งGoogle Image Search ก็ได้ มันก็จะช่วยค้นหาว่ารูปนี้ เคยมีคนโพสต์มาก่อนแล้วไหม บางทีเอารูป 2-3 รูปที่ไม่เกี่ยวกันมาจับรวมกันให้คนตื่นเต้นตกใจ ถ้าเราแค่เช็กรูปภาพ เราก็จะรู้แล้ว”
เป็นอีกหนึ่งเสียงที่กระตุกให้หยุดคิด ก่อนที่ผู้ใช้เน็ตจะแชร์-รีทวิต ข้อมูลใดๆ
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑