สันติภาพที่เปราะบาง

 

สันติภาพที่เปราะบาง
โดย..ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ศูนย์ข่าวภาคใต้ไทยพีบีเอส


“ความสงบ” ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน อาจดูเหมือนห่างไกล แต่สำหรับคนข่าวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การได้มา ซึ่ง “ความสงบ” แม้อาจได้มาไม่ง่ายนัก แต่ก็ใช่ว่า จะไร้ความหวังไปเสียเลยทีเดียว
และหนึ่งในความพยายามให้ได้มา ซึ่ง “ความสงบ” ก็คือ การพูดคุยสันติภาพ หรือ ภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปในพื้นที่ มักเรียกติดปากว่า การเจรจา โดยเฉพาะเมื่อการพูดคุยสันติภาพถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ในรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หลังกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับผู้กลุ่มผู้เห็นต่างๆในสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องหยุดชะงักนานกว่า 1 ปี

แต่เพราะความเป็นรัฐบาลทหาร ที่มาจากการยึดอำนาจ ทำให้ในช่วงแรกของเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพ ที่ใช้ชื่อใหม่ว่า  การพูดคุยสันติสุข มีสารพัดคำถามจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวบุคคลที่มารับผิดชอบ หรือการเปลี่ยนม้ากลางศึก ในกระบวนการพูดคุย  ที่มีความจำเป็นอย่างมากเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างคู่ ขัดแย้ง หรือคู่เจรจา อีกทั้งภาพของรัฐบาลทหาร ที่ถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ก็ทำให้เกิดความกังวลว่า กระบวนการพูดคุยอาจต้องพบกับปัจจัยท้าทายอย่างมาก


แต่การเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ระหว่างการเดินทางไปเยือนมาเลเซีย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่  1 ธันวาคม ปี 2557 ก็ทำให้หลายคนเริ่มกลับมาจับตามองกระบวนการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2558 ซึ่งเป็นวันเปิดตัวกลุ่มมาราปาตานีต่อสื่อมวลชนครั้งแรก ซึ่งมีนายฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอเอ็มพี นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ประธานกลุ่มมารา ปาตานี นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น หัวหน้าคณะมาราปาตานี  นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอพีพี และนายอาบูอัครัน บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโล

คำถามที่ดังที่สุดจากสื่อทั้งใน และนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ  กลุ่มมาราปาตานีคือใคร ? และมีอำนาจในการสั่งการกลุ่มก่อเหตุที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จริงหรือไม่ ? ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่แตกต่างไปจากคำถามที่สื่อมวลชน และคนทั่วไปเคยถาม เมื่อการพูดคุยสันติภาพในรอบแรกเกิดขึ้น
และปัจจัยที่ยังทำให้เกิดคำถามมากมาย และเป็นปัจจัยที่บันทอนกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ เนื่องจากในการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไข หรือข้อตกลงอย่างชัดเจนระหว่างการพูดคุย เพื่อลดความรุนแรง ซึ่งแตกต่างจากการพูดคุยสันติภาพรอบแรกที่มีการทำข้อตกลงเพื่อขอให้ลดการใช้อาวุธในเดือนถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ทำให้ตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงลดลง แม้ว่าการขอพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ฝ่ายไทย ยื่นต่อกลุ่มมาร่าปาตานีไปบ้างแล้ว
คำถาม ความเคลือบแคลง และความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทวิเคราะห์ของสื่อต่าง ๆ  และจากภาคประชาชนในพื้นที่บางกลุ่ม ทำให้คู่เจรจา ทั้งฝ่ายไทย และกลุ่มมาราปาตานี พยายามสื่อสารมายังคนในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่ หรือแม้แต่สื่อมวลชนบางสำนัก ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อพูดคุยกับกลุ่มมาร่าปาตานี พร้อมเสนอแนะความคิดเห็น ต่อประเด็นการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   แต่เนื้อหาในการพูดคุย ไม่อาจเปิดเผยอย่างเป็นทางการได้ แต่ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการสื่อสารโดยตรง จากคู่ขัดแย้งมายังกลุ่มต่างๆ  เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะโดยตรง

ขณะที่ความพยายามที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งในการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐ  คือ  ความพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ ให้เอื้อต่อการพูดคุย โดยเฉพาะ “โครงการพาคนกลับบ้าน” ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิด หรือผู้ที่ถูกออกหมายจับตาม พรก.ฉุกเฉิน หรือ ถูกออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา ให้กลับมาต่อสู้คดี และช่วยเหลือเพื่อปลดหมายจับ ซึ่งมีผู้หลงผิดกว่า 1,000 คน เข้าร่วม รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ ทำให้เสียงสะท้อนต่อกระบวนสร้างสันติภาพจากคนใน เริ่มดังขึ้นต่อคู่ขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหา “ร่วม” ของคนในสามจังหวัด

แม้ว่าในปัจจุบันกระบวนการพูดคุยสันติสุขจะยังอยู่ในขั้นตอนของ “การสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจ” ระหว่างคู่ขัดแย้ง หรือคำถามที่ยังมีในใจของหลายคน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า  การพูดคุยสันติสุข ยังคงเป็นความหวังของคนในพื้นที่เพื่อสร้าง “ความสงบ” ส่งผลทำให้การสำรวจความคิดเห็นของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า การสุ่มสำรวจประชากรจำนวน 2,104 ตัวอย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีประชาชนร้อยละ 76.9 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการกับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และร้อยละ 80.2 ยอมรับและเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุข ที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความต่อเนื่องและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นั้นก็หมายความว่า


กระบวนการพูดคุยสันติสุข…แม้จะเปราะบาง แต่ก็ยังเป็นความหวังของคนในพื้นที่เพื่อสร้าง “ความสงบ” ที่ปลายด้ามขวาน