CLICKBAIT เรื่องปวดหัวของคนทำสื่อ

CLICKBAIT

เรื่องปวดหัวของคนทำสื่อ

กิตตินันท์ นาคทอง


เป็นที่ทราบกันดีว่า สื่อกระแสหลักต่างลงมาทำ “เว็บไซต์ข่าว” เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวไปพร้อมกับการสร้างรายได้จากโฆษณาอีกทางหนึ่ง บางแห่งเป็นรายได้หลักของออฟฟิศเสียด้วยซ้ำ

การแข่งขันของเว็บไซต์ข่าวแต่ละแห่ง ถูกจัดอันดับโดยเว็บไซต์ truehits ที่จะศึกษาพฤติกรรมการท่องเว็บไซต์แต่ละแห่ง ทั้งจำนวนคลิก คุณภาพเนื้อหา และระยะเวลาการเข้าชม ซึ่งจะมีผลไปถึงการพิจารณาลงสื่อโฆษณาอีกด้วย

ในอดีตเว็บไซต์ข่าวแต่ละแห่ง จะประสบปัญหา ถูก “เว็บท่า” ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการคัดลอกเนื้อหาข่าวไปโพสต์ในเว็บของตนเอง ปัจจุบันได้แก้ไขโดยการทำเอ็มโอยู หรือเว็บท่าบางแห่งลงทุนตั้งกองบรรณาธิการข่าวเป็นของตนเอง

ปัจจุบัน พฤติกรรมการเสพสื่อจากเดิมมักจะเข้าผ่าน URL เว็บไซต์โดยตรง อิทธิพลของสมาร์ทโฟน ทำให้การท่องอินเตอร์เน็ตผูกติดอยู่กับโซเชียลมีเดีย ผู้ชมมักจะอ่านเนื้อหาที่สนใจ“ผ่านลิงก์” มากกว่าเลือกชม “ผ่านหน้าเว็บไซต์ข่าว” โดยตรง

เรื่องที่น่าปวดหัวของคนทำสื่อในยุคนี้ก็คือ การที่จะต้องมาแข่งขันกับเว็บไซต์ที่เน้นพาดหัวล่อเป้า ชวนให้คนสนใจอยากรู้อยากเห็น ทั้งๆ ที่ในเนื้อหานั้นบางทีก็ไม่มีอะไรเสียด้วยซ้ำ เรียกกันว่า “คลิกเบท” (clickbait)

วิวัฒนาการของ clickbait เริ่มจากเว็บไซต์ข่าวบางแห่งพาดหัวลักษณะดึงดูดให้คนอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่มีเนื้อหาอย่างละเอียด บางครั้งแปะเฉพาะวีดีโอคลิป ทำให้คนในแวดวงเดียวกันมองว่าทำงานแบบฉาบฉวย หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ที่มุ่งเน้นหารายได้จากแบนเนอร์โฆษณาโดยการเป็นพาร์ทเนอร์ เช่น Google ก็ใช้วิธีสีเทา ด้วยการคัดลอกเนื้อหาจากเว็บไซต์ข่าว กระทู้ หรือเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย พาดหัวหรือแปะภาพแบบ clickbait เพื่อล่อให้คนเข้าชม

“ต้นตำรับ” ของเว็บ clickbait  ในตำนาน คือเว็บไซต์ Ohozaa ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเว็บท่าเมื่อ 12 ปีก่อน มีทั้งบริการรับฝากรูปหรือไฟล์ ชมทีวีออนไลน์ย้อนหลัง ภายหลังได้หันมาคัดลอกเนื้อหาไปทำ clickbait เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก

แต่แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้เว็บไซต์ Ohozaa ก้าวขึ้นมาติด 1 ใน 5 ของเว็บไซต์ข่าวยอดนิยมของเมืองไทย แต่การละเมิดลิขสิทธิ์เนื้อหาก็ทำให้สื่อกระแสหลัก 5 สำนัก มอบหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซต์อย่าง “ณัฐวุฒิ บำรุงสรณ์” แม้เจ้าตัวจะไหวตัวทัน ประกาศปิดเว็บไซต์ แต่ไม่นานนักก็เกิดเว็บไซต์ “ตระกูลซ่า” (อาทิเว็บไซต์Bigza เว็บไซต์ Boxza ฯลฯ) กลับมาช่วงชิงเรตติ้งกันอีกครั้ง ด้วยวิธีเดิมๆ คือคัดลอกเนื้อหาและภาพจากเว็บไซต์ข่าว เรียบเรียงเนื้อหาจากโซเชียลมีเดียโดยไม่มีการตรวจสอบ

ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ clickbait เจ้าหนึ่งได้หยิบสเตตัสเฟซบุ๊กของผู้ใช้รายหนึ่ง อ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารชายแดนใต้ถูกสะเก็ดระเบิด ต้องการเลือดกรุ๊ปโอด่วน แต่เมื่อสื่อมวลชนตัวจริงตรวจสอบ ทั้งจากตำรวจภูธรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่ห้องคลังเลือด โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ยืนยันว่าไม่มีการขอรับบริจาค แต่กลับมีผู้เข้ารับบริจาคเลือดจำนวนมากแสดงให้เห็นจุดอ่อนของบรรดา clickbait ที่ทำให้เว็บไซต์ข่าวตัวจริงมีทางออกที่จะรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน นอกจากเว็บไซต์ข่าวทุกแห่งต่างมุ่งที่จะรายงานข่าวโดยใช้แหล่งข้อมูลจากโซเชียลมีเดียแล้ว บางสำนักเริ่มที่จะพัฒนาตนเอง ด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียเพื่อแสวงหาความจริงมากขึ้น เฉกเช่น เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ที่นอกจากจะขยายผลผ่านสกู๊ปออนไลน์แล้ว ปัจจุบันยังได้มี “สายตรวจโซเชียล” ทำหน้าที่แสวงหาความจริงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และยังนำไปต่อยอดในรายการโทรทัศน์ช่องไทยรัฐทีวีของตนเองอีกด้วย

นอกจากสื่อกระแสหลักที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดแล้ว ในส่วนของนักท่องโซเชียล ที่เห็นพาดหัวแบบ clickbait ก็เริ่มรู้สึกรำคาญ เหมือนถูกหลอกให้คลิก เพราะเมื่อเข้าไปดูเนื้อหากลับพบว่าไม่มีอะไร อีกทั้งเต็มไปด้วยแบนเนอร์โฆษณากลายเป็นการแจ้งเกิดเฟซบุ๊กเพจที่มีชื่อว่า “จบข่าว” ตอบสนองคนอ่านที่ไม่อยากถูกหลอกให้คลิก โดยแปะภาพลิงก์ข่าวบรรดาคลิกเบทที่แคปเจอร์จากหน้าจอ ก่อนย่อความเนื้อหาในลิงก์แบบกระชับคล้าย SMS ข่าว จบด้วยแฮชแท็ก #จบข่าว

เฟซบุ๊กเพจ “จบข่าว” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2558 ด้วยสโลแกน “Data 3G ท่านมีประโยชน์ โปรดอย่าเสียให้แก่ Clickbait” สร้างปรากฎการณ์ผู้คนให้ความสนใจติดตามนับแสนคนในชั่วข้ามคืน พร้อมกับเสียงชื่นชมตามมา แม้ปัจจุบันเฟซบุ๊กเพจดังกล่าวจะมีผู้ติดตามราว 4 แสนยูสเซอร์ ซึ่งอาจดูน้อยเมื่อเทียบกับผู้เข้าชมบรรดาเว็บ clickbait ต่างๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าในโลกโซเชียลเริ่มมีคนรู้ทันกับพาดหัวล่อเป้า และต้องการเสพสิ่งที่ได้สาระ สะดวก รวดเร็ว  แม้พฤติกรรมการทำเว็บแบบล่อเป้าคนดูจะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่โซเชียลมีเดียยังคงมีบทบาทสำคัญสำหรับคนเสพสื่อ แต่สุดท้ายแล้ว คนทำสื่อที่ยึดจริยธรรมเป็นหลักก็ยังคงมองว่า “กระแสมาแล้วก็ไป สิ่งที่เหลืออยู่คือคอนเทนต์ดีๆ”

ขึ้นอยู่กับว่า “คอนเทนต์ดีๆ” เหล่านี้จะมีโอกาส มีที่ยืนในโลกโซเชียลหรือไม่ คนอ่าน คนเสพสื่อจะเป็นผู้ตัดสิน.