นีล ยัง พลังเพลงประท้วงยังกู่ก้อง

นีล ยัง

พลังเพลงประท้วงยังกู่ก้อง

พอล เฮง

paulheng_2000@yahoo.com

โฉมหน้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงการล่าอาณานิคมแบบใช้อาวุธเป็นหลัก มาสู่วิธีแยบยลกว่าด้วยการใช้กฎหมายพันธสัญญาทางการค้า สิทธิบัตร และอีกมากมายมาครอบครองควบคุมประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าให้อยู่ใต้อาณัติ เพราะการใช้กำลังอาวุธไม่คุ้มค่ากับทุนที่ลงไป

หยิบอัลบั้มที่ไม่อ้อมค้อมในการตั้งชื่อ ตรงไปตรงมาแบบบทเพลงประท้วงที่พุ่งตรงดิ่งสู่ความรู้สึกของคนฟัง นำสู่ญาณทัศนะในการกลั่นกรองถึงความถูกต้องดีงามมาฟัง

อัลบั้มนี้มีชื่อว่า ‘The Monsanto Years’

ถือเป็นอัลบั้มที่เป็นการประกาศศึกกับบรรษัทข้ามชาติในประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms - GMOs) หรืออรรถาธิบายได้ว่าคือสิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรม จากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) อย่างมิยอมอ่อนข้อและปล่อยวาง ให้ดนตรีและเสียงเพลงของเขาเป็นอาวุธเปิดประตูทางปัญญาให้กับคนอเมริกันและผู้คนทั้งโลกที่ถูกคุกคามจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้ยุทธศาสตร์จีเอ็มโอในการควบคุมพันธุ์พืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก

นีล ยัง เป็นนักร้อง-นักเขียนเพลงชาวแคนาเดียน เขาทำงานมาตั้งแต่วัยหนุ่ม โด่งดังจากยุคทศวรรษที่ 60 สมัยเพลงประท้วงในสไตล์โฟล์คยังเป็นกระแสหลักในสังคม

ยุคสงครามเวียดนาม บทเพลงประท้วงที่เป็นจำหลักของยุคสมัยอย่าง ‘Ohio’ ซึ่งเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่นักศึกษาถูกทหารปราบจลาจลยิงเสียชีวิต 4 คน หลังจากเสียบดอกไม้บนปลายปืนได้ไม่นาน

เขามีชื่อเสียงอย่างมากในยุคที่รวมตัวกับเพื่อนนักร้องและนักดนตรีอีก 3 คน ในนาม ครอสบี้ สติลส์ แนช แอนด์ ยัง โดยเฉพาะอัลบั้ม 'Deja Vu' ในสไตล์โฟล์คร๊อคประสานเสียงอันแสนไพเราะและทรงพลังดุจบทกวีที่เปี่ยมความหมายต่อชีวิตและสังคมในยุคบุปผาชน

การเป็นศิลปินเดี่ยวออกทั้งโซโล่อัลบั้มและในชื่อตัวเอง รวมกับวงที่มีชื่อว่า เครซี ฮอร์ส ก็ทำงานเพลงในแนวร๊อคที่จัดจ้านทั้งดนตรีและเนื้อหาในแบบของเขาเอง แม้จะไม่ใช่เพลงประท้วงที่หนักแน่นและเข้มข้น แต่ก็มีการแฝงความหมายทางสังคมไว้อย่างต่อเนื่อง

การที่ นีล ยัง กลับมาสู่รอยทางของเพลงประท้วงอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาอีกครั้งในรอบ 10 ปีหลังสุด เนื่องจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในนโยบายและการออกกฎหมายของนักการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งมีความซับซ้อนซ่อนทับผลประโยชน์และค้าสงครามอย่างแนบเนียน

วงดนตรีที่เล่นกับนีล ยัง ปัจจุบันมีชื่อว่า โพรมิส ออฟ เดอะ เรียล หรือแปลเป็นไทยว่า คำมั่นสัญญาแห่งความจริง มีสมาชิก 2 คนที่เป็นลูกชายของ วิลลี เนลสัน ตำนานดนตรีคันทรีนอกคอก คือ ลูคัส และมิคาห์ แน่นอน วิลลี เนลสัน ก็คือผู้สร้างคอนเสิร์ตฟาร์มเอดที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรอเมริกัน

มูลเหตุที่ทำให้ นีล ยัง ต้องออกมาเปิดหน้าสู้รณรงค์ต่อต้านมอนซานโต ก็เนื่องจากมีกลุ่มคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Working Group) กล่าวหาว่ามีการล็อบบี้ ส.ส. ในสภาสหรัฐฯ ให้รีบผ่านร่างกฎหมายเพื่อใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้รัฐเวอร์มอนต์สามารถอ้างใช้กฎหมายแปะฉลากจีเอ็มโอได้ โดยองค์กรอุตสาหกรรมอาหารที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ ได้ใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ไปกับการฟ้องร้องคดีและการล็อบบี้ให้มีการห้ามออกกฎหมายบังคับแปะฉลากจีเอ็มโอ

หากมีการติดตามรายงานข่าวเรื่องความขัดแย้งในการติดฉลากจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์อาหารในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าเป็นเรื่องมหากาพย์ที่ต้องสู้กันยาวนาน เว็บไซต์การ์เดียน ออนไลน์ ได้ทำสกู๊ปรายงานว่า บริษัทไบโอเทค และซูเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ ทุ่มงบกว่า 25 ล้านดอลลาร์ (ราว 900 ล้านบาท) เพื่อขัดขวางกฎหมายบังคับติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ผู้บริโภครู้ก่อนตัดสินใจว่า จะซื้ออาหารที่มีส่วนประกอบของพืช/สัตว์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็ม) หรือไม่

โดยมีการนำเอกสารบันทึกการใช้จ่ายหาเสียงมาแฉ ซึ่งมีการระบุว่า มอนซานโต เป็นกำลังหลักในการต่อต้านกฎหมายติดฉลากอาหารจีเอ็มในทั้งรัฐโอเรกอนและรัฐโคโลลาโด ส่วนผู้บริจาครายอื่นๆ มี เป็ปซีโค คราฟต์ ฟู้ด เจเนรัล มิลส์ เฮอร์ชีย์ โคคา โคลา เคลล็อก และฟลาวเวอร์ ฟู้ด โดยพวกเขาเคยประสบความสำเร็จในการคว่ำกฎหมายฉลากอาหารจีเอ็มในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐวอชิงตันในปี 2555 และ 2556 มาแล้ว

สิ่งที่มอนซานโต และบรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ รวมถึงบริษัทไบโอเทคต่างๆ กลัวมาก ก็คือ รัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งเป็นรัฐแรกในสหรัฐ ที่ผ่านกฎหมายติดฉลากอาหารจีเอ็มผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าในปี 2559 และกำลังถูกฟ้องร้องจากการรวมพลังกันของบรรษัทอาหารเหล่านี้

นี่เป็นเหตุที่ให้ นีล ยัง ต้องออกมาขับขานบทเพลงเพื่อเรียกร้องให้คนอเมริกันตื่นขึ้นมาสู้ หากชนะก็จะเป็นมาตรฐานทั้งสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก บทเพลง ‘Monsanto Years’ ที่ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มและนำมาตั้งชื่ออัลบั้มแบบไม่เกรงกลัวอิทธิพลของบรรษัทยักษ์ใหญ่ ถือเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง วิพากษ์บอกเล่าออกมาตรงๆ อย่างไม่ประนีประนอมจากมุมมองของเขาเอง

และมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือบทเพลง ‘A Rock Star Bucks A Coffee Shop’ ที่อยู่ในอัลบั้มชุดนี้เช่นกัน ก็เป็นการประท้วงร้านกาแฟยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่ครองตลาดทั่วโลก ซึ่งมีส่วนสนับสนุนทุนเพื่อผนึกกำลังกับมอนซานโตฟ้องรัฐเวอร์มอนต์ให้หยุดกฎหมายการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ

โดยนีล ยัง เคยให้สัมภาษณ์อย่างเกรี้ยวกราดในปี 2557 ก่อนที่จะเขียนเพลงนี้ว่า เขาจะไม่เข้าและซื้อกาแฟร้านนี้อีกต่อไป แม้ทุกเช้ากิจวัตรประจำวันของเขาต้องออกจากบ้านไปที่ร้านเพื่อซื้อกาแฟลาเต้หนึ่งแก้วเสมอ เรียกว่าเขาเป็นคนที่ไม่เคยเทศนาหรือเขียนเพลงสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อและไม่กระทำ นีล ยัง ทำตัวเหมือนกับเพลงที่เขาบอกกล่าวและกู่ก้องประท้วงออกมาให้ทุกคนรู้

ทั้งหลายทั้งปวง ทำให้เข้าใจได้ว่าอัลบั้มของเขาชุดนี้ ‘The Monsanto Years’ mew,จึงไม่ขึ้นติดชาร์ตในอเมริกาแต่อย่างใด หรือเว็บไซต์สตรีมมิ่งต่างๆ ก็ไม่มีเพลงในอัลบั้มชุดนี้ของเขา หรือแม้แต่ในยูทูบก็มีอยู่น้อยมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวรบด้านดนตรีและบทเพลงประท้วงในยุคนี้ แม้ยังทรงพลังแต่ไม่ใช่วาระของสังคมอีกต่อไป

และเมื่อมาคิดถึงเพลงประท้วงของไทย ที่แต่งขึ้นมาเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมอย่างตรงไปตรงมาในยุคปัจจุบัน ไม่มีและเลือนหายไป ทั้งที่สภาพการณ์ของสังคมถึงยุคที่เรียกว่า หม่นหมองมืดมัวทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ทุกอย่างๆ อยู่ในภาวะวิกฤต แต่กลับไม่มีเสียงเพลงกู่ก้องบอกกล่าวเรื่องราวเหมือนในวันเก่าก่อนอีกแล้ว...