อีกมุมจากสื่อญี่ปุ่นในไทย

อีกมุมจากสื่อญี่ปุ่นในไทย

วรรณภร สมุทรอัษฎงค์

///

1. ไทยในฐานะศูนย์รวมคนญี่ปุ่นของอาเซียน

ประเทศไทย มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานและพำนักอยู่ หรือที่เรียกว่า expat เป็นอันดับสี่ของโลก จำนวนกว่า 65,000 คน รองจาก สหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร (บางปีประเทศไทยแซงสหราชอาณาจักรขึ้นมา) กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองอันดับสี่ของโลกที่มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานพำนักอยู่ รองจากเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์กเท่านั้น และญี่ปุ่นยังเป็นต่างชาติที่ครองแชมป์ลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยติดต่อกันมานานหลายปี

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่นมากทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และคงจะไม่แปลกนักที่กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์รวมของสื่อสัญชาติญี่ปุ่นกว่า 10 สำนัก ถือว่าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้กระทั่งในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น wire service หนังสือพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์

 

สำหรับประเด็นข่าวที่สำนักข่าวญี่ปุ่นสนใจนั้น แม้อาจมีความหลากหลายแตกต่างไปตามนโยบายของแต่ละสำนักข่าว แต่โดยภาพรวมแล้วจะเน้นประเด็นข่าวที่มีคนญี่ปุ่นหรือผลประโยชน์ของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นจุดร่วมกัน

 

2. บทเรียนจากข่าว

- ว่าด้วยพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น

การนำเสนอข่าวอาชญากรรมของสื่อมวลชนไทยที่มักจะเปิดชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ ของผู้ต้องสงสัยหรือบุคคลในข่าวอย่างละเอียดเป็นขนบที่ไม่เป็นที่ปฎิบัติในสื่อญี่ปุ่นนัก แม้จะมีการแข่งขันสูงเหมือนสื่อไทยในปัจจุบันก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะสื่อญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฎิบัติว่า “หากบุคคลดังกล่าวยังไม่ถูกหมายจับหรือต้องข้อหาตามกฎหมายที่เป็นการยืนยันได้ว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างเป็นทางการแล้ว การเปิดชื่อและหน้าของบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นการตีตราว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดแล้วเกินสมควร” อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามกฎหมายจากบุคคลในข่าวอีกด้วย

 

กรณีนี้เห็นได้จากคดีพ่อชาวญี่ปุ่นที่จ้างหญิงไทยอุ้มบุญและเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2557 สื่อญี่ปุ่นไม่สามารถลงรายละเอียดชื่อ-นามสกุล หรือเปิดเผยพาสปอร์ตของพ่อชาวญี่ปุ่นต่อสาธารณะได้ เพราะอาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายจากบุคคลในข่าว จึงได้แต่เรียกเขาในทำนองว่า “ชายชาวญี่ปุ่น อายุ 25 ปี” ด้วยในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มบุญ ทำให้พ่อชาวญี่ปุ่นไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด แม้สิ่งที่เขาทำอาจถูกมองได้ว่าขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีก็ตาม

 

- ว่าด้วยบิ๊กแจ๊สที่สนามบินนาริตะ

ประเทศญี่ปุ่นยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมากแม้กระทั่งกับผู้กระทำความผิด จากกรณีที่ “บิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นเข้าจับกุมที่สนามบินนาริตะในข้อหาพกพาอาวุธปืน หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดบิ๊กแจ๊สถึงต้องสวมเสื้อมีฮู้ด คล้ายเสื้อกันฝนสีน้ำเงินเมื่อครั้งต้องเดินทางออกจากเรือนจำ นั่นก็เพราะว่าทางการญี่ปุ่นคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา จึงออกแบบเสื้อคลุมให้ผู้ต้องหาสวมเพื่อปกปิดกุญแจมือที่คล้องข้อมืออยู่นั่นเอง

 

- ว่าด้วยคดีฆาตกรรมครูชาวญี่ปุ่น

การเปิดเผยภาพของผู้เสียชีวิตสู่สาธารณะทั้งในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจให้ญาติผู้เสียชีวิตมาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังเช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่เกาะเต่า จนทำให้สถานทูตอังกฤษและประเทศในยุโรปต่างพากันเข้าพบสมาคมสื่อมาแล้ว

 

สำหรับญี่ปุ่นเองก็เคยเจอกรณีการลงภาพผู้เสียชีวิตในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน กล่าวคือ เป็นภาพชิ้นส่วนศพของครูชาวญี่ปุ่นที่ถูกภรรยาคนไทยฆาตกรรมและตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาพที่ส่งต่อๆ กันสร้างความบาดตาบาดใจให้กับผู้พบเห็นและญาติผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เสียชีวิตนั้นถูกฆ่าหั่นศพเป็นชิ้นๆ ก่อนจะนำมาทิ้งลงคลองเพื่อหวังจะทำลายหลักฐาน การส่งต่อภาพดังกล่าวอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นอย่างยิ่งในทุกสังคมไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นใครก็ตาม

 

 

3. ไทยในฐานะประเทศเปิดสำหรับสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมวลชนมีอิสรภาพสูงในการทำข่าว และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง (หากไม่คำนึงถึงเสรีภาพสื่อในประเด็นที่เข่าข่าย “ความมั่นคง” ภายใต้รัฐบาลไม่ปกติ) เห็นได้จากทุกครั้งที่มีคดีหรือกรณีใดที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก สื่อมวลชนจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลและแหล่งข่าวได้ในเชิงลึกและสามารถนำเสนอข่าวได้ครอบคลุมหลากหลายมิติ อีกทั้งจำนวนของนักข่าวมากมายหลายสัญชาติที่เข้ามาประจำในประเทศไทย นอกจากญี่ปุ่น ก็ยังมีตุรกี เวียดนาม สเปน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ จนนักข่าวชาวญี่ปุ่นยกให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัจจัยเอื้อหนุนต่อการทำข่าวมากที่สุดประเทศหนึ่ง

 

และด้วยโอกาสที่เปิดกว้างนี้เองนำมาซึ่งภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงและวิจารณญาณขั้นสูงที่สื่อมวลชนจำต้องมีในการทำข่าวตามมาด้วยเช่นกัน